xs
xsm
sm
md
lg

ผู้อพยพฮอนดูรัสครึ่งหมื่นเดินเท้าถึงเม็กซิโก 'ทรัมป์'ขู่ฟอดใช้กำลังเต็มพิกัดสกัดเข้าสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คาราวานผู้อพยพจากอเมริกากลาง ส่วนใหญ่เป็นชาวฮอนดูรัส  ขณะเดินไปตามทางหลวงของเม็กซิโก ใกล้ๆ พรมแดนติดต่อกับกัวเตมาลา  ในเขตเมืองทาปาชูลา ทางภาคใต้ของเม็กซิโก เมื่อวันอาทิตย์ (21ต.ค.)
เอเจนซีส์ - คาราวานผู้อพยพชาวฮอนดูรัสหลายพันคนเดินเท้าถึงเมืองทางภาคใต้ของเม็กซิโก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเดินทางต่อไปให้ถึงสหรัฐฯ อันเป็นจุดหมายปลายทางที่วาดหวังไว้ ท่ามกลางคำขู่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่า จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ผู้อพยพผิดกฎหมายทะลักเข้าอเมริกา ซึ่งรวมถึงการปิดพรมแดนติดต่อกับเม็กซิโกและการใช้กำลังทหาร

ทรัมป์ออกมายืนกรานเสียงเข้มใน วันอาทิตย์ (21 ต.ค.) ว่าจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหยุดยั้งคาราวานผู้อพยพผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการปิดพรมแดนติดต่อกับเม็กซิโกและการใช้กำลังทหาร อีกทั้งสำทับว่า พวกที่ไม่ทำเรื่องขอลี้ภัยในเม็กซิโกจะถูกผลักดันกลับประเทศ

ผู้นำอเมริกายังจิกกัดว่า สถานการณ์นี้เป็นเพราะกฎหมายผู้อพยพที่อ่อนแอซึ่งพวกเดโมแครตผลักดันออกมาบังคับใช้

ขณะเดียวกัน ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนว่า ผู้อพยพอาจเป็นเหยื่อของแก๊งค้ามนุษย์หรือพวกแกนนำในคาราวานบางคนที่หวังผลทางการเมือง

กระนั้น ผู้บัญชาการตำรวจเม็กซิโกที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้อพยพระบุว่า มีผู้อพยพราว 3,000 คนเดินเท้าข้ามพรมแดนเข้าสู่เม็กซิโกแล้วเมื่อวันอาทิตย์

นอกจากนี้ยังมีผู้อพยพอีกประมาณ 1,000 คน ติดค้างอยู่บนสะพานข้ามพรมแดนจากกัวเตมาลาเข้าสู่เม็กซิโก โดยทางการแดนจังโก้ยืนยันให้ผู้อพยพบนสะพานยื่นขอลี้ภัยครั้งละ 1 คน

รายงานระบุว่า ผู้อพยพราว 900 คนตัดสินใจว่ายข้ามแม่น้ำด้านล่างแทนที่จะรอเข้าคิวยาวเหยียดบนสะพาน ขณะที่ตำรวจเม็กซิโกไม่ได้ขัดขวางแต่อย่างใดเมื่อคนเหล่านั้นปีนขึ้นฝั่งเม็กซิโก

ผู้อพยพอีกกลุ่มราว 1,000 คนรวมตัวกันที่เมืองเอสกิปูลาส ทางตะวันออกของกัวเตมาลา และเริ่มเดินเท้ามุ่งหน้าเม็กซิโก ก่อนต่อไปยังอเมริกาเป็นปลายทางสุดท้าย

ทั้งนี้ หลังจากใช้เวลาเดิน 7 ชั่วโมงท่ามกลางอากาศร้อนชื้น ผู้อพยพกลุ่มใหญ่ไปถึงเมืองทาปาชูลา เมืองทางภาคใต้ของเม็กซิโกเมื่อวันอาทิตย์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่มีระยะทางอย่างน้อย 3,000 กิโลเมตรไปยังพรมแดนระหว่างเม็กซิโกกับอเมริกา

เกษตรกรฮอนดูรัสคนหนึ่งบอกว่า ที่ต้องรอนแรมไกลขนาดนี้เพราะต้องการเอาชีวิตรอดจากแก๊งอันธพาลข้างถนน บางคนบอกว่า แม้ถูกแดดเผาและเท้าเป็นแผลพุพอง แต่กำลังใจของพวกเขาเข้มแข็งกว่าคำขู่ของทรัมป์

ผู้อพยพจำนวนมากนอนบนถนนแทนศูนย์พักพิงที่เม็กซิโกจัดไว้ให้ในเมืองทาปาชูลา เพราะกลัวโดนกักตัว หลายคนยังไม่ยอมให้แพทย์ของสภากาชาดรักษา เพราะไม่อยากคลาดกับขบวนคาราวานหรือกลัวถูกส่งกลับประเทศ

แอนเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโกต้นเดือนธันวาคมนี้ เรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้อพยพอย่างเป็นธรรม และเผยว่า กำลังหารือกับแคนาดาและเม็กซิโกเพื่อตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่ยากจนในอเมริกากลางและทางใต้ของเม็กซิโก ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาผู้อพยพ

คาราวานผู้อพยพเหล่านี้ออกจากซานเปโดร ซูลา ทางเหนือของฮอนดูรัสเมื่อกว่าสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากบาร์โตโล ฟูเอสเตส สมาชิกพรรคของอดีตประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย มานูเอล เซลายา เรียกร้องผ่านโซเชียลมีเดียเชิญชวนชาวฮอนดูรัสร่วมขบวนคาราวานผู้อพยพภายใต้สโลแกนว่า “เราไม่ได้อยากทิ้งประเทศ แต่เรากำลังถูกความรุนแรงและความยากจนขับไล่”

แหล่งข่าวเผยว่า ขบวนคาราวานนี้มีผู้อพยพ 3,000-5,000 คนระหว่างเดินเท้าผ่านกัวเตมาลา

ประธานาธิบดีจิมมี มอราเลสของกัวเตมาลา กล่าวว่า ผู้อพยพกว่า 5,000 คนเดินทางเข้าสู่กัวเตมาลาแล้ว แต่มีราว 2,000 คนที่ถูกส่งกลับฮอนดูรัส

มอราเลสและประธานาธิบดีฆวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ของฮอนดูรัส แถลงร่วมกันหลังการประชุมว่า คาราวานผู้อพยพข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี เฮอร์นันเดซยอมรับว่า ปัญหาสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชนทิ้งประเทศ

ผู้อพยพหลายคนยืนยันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง แต่ต้องการหนีความยากจน การคอร์รัปชัน และความไม่ปลอดภัยในฮอนดูรัส ทั้งนี้ ผลศึกษาของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งหนึ่งระบุว่า ด้วยสถิติการฆาตกรรม 43 ต่อ พลเมือง 100,000 คน ทำให้ฮอนดูรัสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความรุนแรงที่สุดในโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น