xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียฮึ่ม'สุดอันตราย'และจะเจอตอบโต้ หลัง'ทรัมป์'ระบุเตรียมยกเลิกสัญญาแบน'อาวุธนุก' ด้านวุฒิฯมะกันเผย เรื่องนี้มุ่งรับมือ'จีน'ด้วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขณะพูดหาเสียงที่สนามบินในเมืองเอลโก รัฐเนวาดา เมื่อวันเสาร์ (20 ต.ค.) อันเป็นวันที่เขาแถลงว่าเตรียมที่จะถอนตัวจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รัสเซียเตือนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (21 ต.ค.) ว่า แผนการของเขาที่จะโยนทิ้งสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งทำไว้กับรัสเซียในสมัยสงครามเย็นนั้น เป็นก้าวเดินที่มีอันตราย และจะต้องถูกตอบโต้ หลังจากประมุขทำเนียบขาวออกมายืนยันเรื่องนี้ในวันเสาร์ (20) โดยอ้างว่ามอสโกละเมิดข้อตกลงนี้มาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ดี วุฒิสมาชิกพันธมิตรของทรัมป์ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวคราวนี้มุ่งหมายที่จะรับมือจีนด้วย

เซียร์เก รีอับคอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวในวันอาทิตย์ว่า การที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากสนธิสัญญาฉบับนี้แต่ฝ่ายเดียวเช่นนี้จะเป็น “อันตรายมาก” และจะนำไปสู่การถูกตอบโต้ “ทางทหาร-ทางเทคนิค” นอกจากนั้นเขายังเตืนอวอชิงตันว่ากำลังเสี่ยงที่จะถูกประณามจากนานาชาติ ในความพยายามที่จะแสวงหา “การมีอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จ” ในด้านการทหาร

เขายืนยันว่ามอสโกเคารพปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง และใช้อักษรย่อว่า INF “อย่างเคร่งครัดที่สุด” ขณะเดียวกันก็กล่าวหาวอชิงตันว่า “ละเมิดอย่างโจ่งแจ้ง” มาแล้วหลายครั้ง

สนธิสัญญาฉบับนี้ลงนามกันไว้เมื่อปี 1987 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดี มิกาอิล กอร์บาชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต

เมื่อวันอาทิตย์ (21) กอร์บาชอฟ ออกมากล่าวประณามความเคลื่อนไหวคราวนี้ของวอชิงตันว่า เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ทรัมป์นั้น “ขาดไร้สติปัญญา” และเป็น “ความผิดพลาด”

ขณะที่โฆษกของรัฐบาลเยอรมนีแถลงว่า เยอรมนี “เสียใจต่อการวางแผนจะถอนตัวเช่นนี้” และเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องปรึกษาหารือกันในหมู่ประเทาศสมาชิกองค์การนาโต้ พร้อมกับเรียกสนธิสัญญา INF ว่า เป็น “ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการควบคุมอาวุธ”

สำนักข่าว อาร์ไอเอ โนโวสติ ของรัสเซียอ้างแหล่งข่าวในกระทรวงการต่างประเทศซึ่งระบุว่า แรงจูงใจของวอชิงตันก็คือความใฝ่ฝันที่จะทำให้โลกนี้ “มีขั้วอำนาจเพียงหนึ่งเดียว” ซึ่งไม่มีวันสำเร็จได้

ทรัมป์พูดถึงการถอนตัวออกจาก INF เมื่อวันเสาร์ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อที่เมืองเอลโก รัฐเนวาดา โดยเขาบอกว่า “เราเป็นฝ่ายเดียวที่ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามสนธิสัญญาฉบับนี้ ในขณะที่รัสเซียไม่ได้เคารพมัน ดังนั้น เราจึงมีแผนที่จะยกเลิกสนธิสัญญาและถอนตัวออกมาเสีย”

“รัสเซียละเมิดข้อตกลง พวกเขาทำเช่นนี้มานานหลายปีแล้ว ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมประธานาธิบดี (บารัค) โอบามา ถึงไม่พยายามเจรจาถอนตัว แต่เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์และผลิตอาวุธทั้งๆ ที่เราทำไม่ได้”
<i>จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 27 มิ.ย. 2018)  มีรายงานว่าเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ทรัมป์เห็นชอบการถอนตัวออกจากสนธิสัญญา INF </i>
จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปถึงกรุงมอสโกในคืนวันอาทิตย์ และพบปะหารือกับ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียในสัปดาห์หน้า โดยรายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่าเพื่อกรุยทางไปสู่แผนประชุมซุมมิตครั้งที่ 2 ระหว่าง ทรัมป์ กับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียที่คาดว่าจะมีขึ้นภายในสิ้นปีนี้

โบลตัน ยังมีกำหนดหารือกับ นิโคไล พาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย และ ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยของปูติน ขณะที่ ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกของทำเนียบเครมลิน ระบุว่า “มีความเป็นไปได้” ที่ โบลตัน จะได้รับอนุญาตให้เข้าพบประธานาธิบดี ปูติน ด้วย

รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรีอับคอฟของรัสเซียกล่าวในวันอาทิตย์ว่า เขาหวังว่าโบลตันจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับแผนการของสหรัฐฯ “อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังมากขึ้นและอย่างแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น”

คณะบริหารทรัมป์ร้องโวยมาพักหนึ่งแล้วว่า การที่รัสเซียนำขีปนาวุธ 9M729 ซึ่งมีพิสัยเดินทางมากกว่า 310 ไมล์ (500 กิโลเมตร) มาใช้งานนั้นถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขของ INF

สนธิสัญญา INF ซึ่งข้อกำหนดห้ามทั้งสองฝ่ายติดตั้งใช้งานขีปนาวุธที่สามารถเดินทางได้ระหว่าง 310-3,400 ไมล์ได้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ที่เริ่มขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากสหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธพิสัยกลางติดหัวรบนิวเคลียร์ SS-20 มาประจำการโดยพุ่งเป้าโจมตีเมืองหลวงยุโรป

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าพยายามหาข้ออ้างที่จะล้มสนธิสัญญานิวเคลียร์ INF

สื่อหมีขาว 3 สำนักอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่ระบุว่า สหรัฐฯ พยายามทำลายพื้นฐานของข้อตกลงฉบับนี้ทีละน้อยๆ มานานหลายปีแล้ว

“การตัดสินใจนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายถอนตัวออกจากข้อผูกมัดทางกฎหมายกับนานาชาติ ซึ่งกำหนดให้สหรัฐฯ ต้องมีความรับผิดชอบเท่าเทียมประเทศหุ้นส่วน และทำให้ความพิเศษเหนือชาติอื่น (exceptionalism) ของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง”

อเล็กเซย์ พุชคอฟ วุฒิสมาชิกรัสเซีย ได้ทวีตข้อความวิจารณ์ประกาศของ ทรัมป์ ว่า “เป็นการทำลายระบบความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของโลกครั้งที่ 2” หลังจากที่วอชิงตันเคยถอนตัวจากสนธิสัญญาระบบต่อต้านขีปนาวุธ (ABM) มาแล้วเมื่อปี 2001

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานว่า โบลตัน พยายามหว่านล้อม ทรัมป์ ให้ถอนสหรัฐฯ ออกจาก INF และยังขัดขวางการเจรจาเพื่อต่อสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (New START) ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในปี 2021

ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ จะถอนตัวจาก INF นั้นอาจเป็นไปเพื่อรับมือจีนด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาปักกิ่งไม่ได้เป็นภาคีข้อตกลงฉบับนี้ และมีสิทธิพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
<i>วุฒิสมาชิกลินซีย์ เกรมแฮม ของสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 4 ก.ย. 2018)  เขาออกมาสนับสนุนการที่ทรัมป์ถอนตัวจาก INF โดยระบุว่า รัสเซียละเมิดข้อตกลงนี้มานานแล้ว  ขณะที่จีนก็ไม่ได้เข้าร่วมใน INF  สหรัฐฯจึงจำเป็นต้องมีอิสระเพื่อต้านทานรับมือกับจีน </i>
มุ่งรับมือ 'จีน' ด้วย

ทางด้าน ลินด์ซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกคนสำคัญของพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพันธมิตรของทรัมป์ กล่าวในรายการ “ฟอกซ์ นิวส์ ซันเดย์” ทางสถานีทีวีข่าวช่องฟอกซ์นิวส์ในวันอาทิตย์ (21) แสดงความสนับสนุนแผนการของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะถอนตัวจาก INF โดยระบุว่าสหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องมีอิสรเสรี เพื่อไว้ตอบโต้รับมือกับการสร้างสมอาวุธนิวเคลียร์ของจีนด้วย

เกรแฮมซึ่งช่วงหลังๆ กลายเป็นพันธมิตรปากกล้าของทรัมป์ กล่าวว่า ทรัมป์กำลัง “เคลื่อนไหวไปในทางที่ถูกต้องอย่างที่สุด ฝ่ายรัสเซียนั้นกำลังหลอกลวง ฝ่ายจีนก็กำลังสร้างสมขีปนาวุธของพวกเขา … และเราจำเป็นต้องตอบโต้พวกเขา”

บ็อบ คอร์เกอร์ วุฒิสมาชิกอาวุโสสังกัดพรรครีพับลิกันอีกผู้หนึ่ง กล่าวในรายงานของสถานีโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นในวันเดียวกัน แสดงความเห็นพ้องที่ว่ารัสเซียได้ละเมิดข้อตกลงฉบับนี้มานานปีแล้ว

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ชำนาญการด้านกลาโหมบางรายพูดว่า “เพราะจีนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ (INF) พวกเขาจึงกำลังพัฒนาระบบต่างๆ ซึ่งจะไปไกลกว่าที่พวกเรามีอยู่”

แต่คอร์เกอร์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของสภาสูงอเมริกัน บอกว่า เขาคาดหวังว่าจุดยืนของทรัมป์นี้กำหนดออกมาเพียงเพื่อบีบคั้นรัสเซียให้หวนกลับมาปฏิบัติตาม INF เท่านั้น

“ผมหวังว่าเราจะสามารถหาหนทางที่จะอยู่ในสนธิสัญญาฉบับนี้กันต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น