xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ก่อสงครามการค้า คือสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนที่เขาสัญญาจะสนับสนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เคน โมค


‘ทรัมป์’ก่อสงครามการค้า คือสร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนที่เขาสัญญาจะสนับสนุน
โดย เคน โมค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Trump is hurting the people he pledged to support
By Ken Moak
17/10/2018

สงครามการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อขึ้นมาเพื่อเล่นงานจีน กำลังสร้างความสูญหายให้แก่ทั้งสองฝ่ายตลอดจนเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯนั้น พวกที่จะลำบากเดือดร้อนที่สุดก็คือพวกที่เป็นฐานเสียงให้ความสนับสนุนทรัมป์อย่างแข็งขันที่สุดนั่นเอง

อย่างที่ผู้เขียน (เคน โมค) ได้ชี้ให้เอาในบทความชิ้นที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กำลังพ่ายแพ้ในสงครามการค้าที่เขาเริ่มต้นขึ้นมา และกำลังพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อกลับคืนเป็นฝ่ายรุกอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการข่มขู่ที่จะขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรจากสินค้าจีนเพิ่มมากขึ้นอีก ตลอดจนบีบบังคับให้ สตีเวน มนูชิน (Steven Mnuchin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเขา ต้องประทับตราประเทศจีนว่าเป็นนักปั่นค่าเงินตรา (currency manipulator) อย่างไรก็ตาม การขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไปจะไม่ทำให้ชนะสงครามขึ้นมาได้หรอก เนื่องจากนโยบายต่างๆ ของเขานั้นจะทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งดึงลากเอาส่วนอื่นๆ ของโลกจมถลำลงพร้อมกับมันด้วย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ระเบิดออกมาเต็มที่ จะผลักดันให้โลกตกลงสู่ความบ้าคลั่งทางเศรษฐกิจ นี่เป็นคำพูดทั้งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF), ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB), รวมทั้งองค์การทางเศรษฐกิจรายอื่นๆ ตลอดจนพวกผู้ช่วยเหลือทั้งหลาย

ไอเอ็มเอฟพยากรณ์เอาไว้ว่าจีนจะได้รับความเสียหายหนักกว่าสหรัฐฯในสงครามการค้าที่ระเบิดออกมาเต็มขั้น โดยคาดการณ์ว่ามันจะส่งส่งผลกระทบทำให้จีดีพีของจีนลดลงมา 1.6% ขณะที่จีดีพีของสหรัฐฯตกลง 0.9% ในปี 2019 อย่างไรก็ดี เคลาดิโอ กาลิมเบอร์ติ (Claudio Galimberti) นักวิเคราะห์อาวุโสที่ทำงานกับ เอสแอนด์พี โกลบอล แพลตส์ (S&P Global Platts) กลุ่มวิจัยทางด้านพลังงานซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ทำนายว่า สหรัฐฯอาจจะได้รับความเสียหายหนักหน่วงกว่า โดยเขากำลังประมาณการว่า จีดีพีของสหรัฐฯจะเสียหายไป 1.5% ในปีดังกล่าว ขณะที่จีดีพีของจีนจะถอยลง 1%.ในปี 2019 ทางด้าน ECB ก็แสดงความเห็นเช่นกันว่า ภายหลังจากสงครามการค้าที่สู้รบกันอย่างเต็มตัวแล้ว เศรษฐกิจของจีนน่าที่จะก้าวออกมาในสภาพที่แข็งแรงกว่า

ทุกๆ ฝ่ายต่างต้องเกิดความสูญเสียในสงครามการค้า

องค์การใดหรือนักวิเคราะห์คนไหนจะพยากรณ์ออกมาได้ถูกต้อง อาจจะเป็นเรื่องที่ไร้ความหมาย ในเมื่อทุกๆ ฝ่ายต่างจะต้องเกิดความเสียหายบังเกิดความพ่ายแพ้กันทั้งสิ้น ดังที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะถดถอยลงไปประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์ในปี 2019 เนื่องจากความเสียหายของโลกาภิวัตน์ การถูกก่อกวนขัดขวางของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯเป็นผู้สร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มพูนการประหยัดอันสืบเนื่องจากขนาด (economies of scale) และความสามารถในการแข่งขัน โดยผ่านความชำนาญเฉพาะทางในปัจจัยอินพุตของแต่ละภูมิภาค (regional input factor specialization) ตัวอย่างเช่น จีนที่เน้นหนักเรื่องแรงงาน เมื่อมาผสมเข้ากับสหรัฐฯที่เน้นหนักเรื่องเงินทุน ก็จะลดราคาต้นทุนต่อหน่วยของเครื่องไอแพดและเครื่องไอโฟน เปิดทางให้บริษัทแอปเปิลสามารถทำกำไรได้อย่างเป็นปรากฏการณ์จากสินค้า 2 ตัวนี้

ในสหรัฐฯนั้น ความย้อนแย้งอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ พวกผู้สนับสนุนทรัมป์กำลังกลายเป็นผู้ที่ต้องจ่ายด้วยราคาแพงสูงสุด จากการเที่ยวตั้งกล่าวหาตามอารมณ์ความรู้สึกและขาดไร้ปราศจากแหล่งข้อมูลข่าวสาร ฐานสนับสนุนของเขาจึงมีความเชื่ออย่างมืดบอดว่า วาทกรรมต่อต้านจีนแรกสุดทีเดียวป่าวร้องโฆษณาออกมาโดยพวกสื่อมวลชนที่ “เป็นอิสระและเป็นกลาง” และตอนนี้ถูกนำมาขยายให้ดังกึกก้องโดยคณะบริหารทรัมป์ ยิ่งกว่านั้นทั้งชาวพรรคเดโมแครตและชาวพรรครีพับลิกันต่างสามัคคีกันในการคัดค้านต่อต้านจีน

ความรู้สึกว่าได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปและจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่เช่นนี้ บางทีอาจจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้กำลังใจทรัมป์ในการขยายสงครามการค้า (และสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย) เพื่อต่อต้านคัดค้านจีนให้บานปลายออกไปเรื่อยๆ

ผู้พ่ายแพ้ในสหรัฐฯ

ตามรายงานชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ salon.com เขียนโดย แซม แนตาพอฟฟ์ (Sam Natapoff) ชี้เอาไว้ว่า พวกที่ได้รับบาดเจ็บสูญเสียรายแรกๆ ในสงครามคราวนี้ คือประชาชนพวกที่กำลังพำนักอาศัยอยู่ในเขต “รัสต์ เบลต์” (Rust Belt พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพเสื่อมทรุด) และ “ฟาร์ม เบลต์ (Farm Belt บริเวณเกษตรกรรมของสหรัฐฯ) ภูมิลำเนาของพวกที่สนับสนุนทรัมป์อย่างแข็งขันนั่นเอง ตามข้อเขียนของนาตาพอฟฟ์ สินค้าอเมริกันมูลค่ามากกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งอยู่ในบัญชีถูกขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อตอบโต้แก้เผ็ดของทางฝ่ายจีนนั้น มาจากภูมิภาคเหล่านี้ พวกเกษตรกรถั่วเหลืองในรัฐโอไฮโอและรัฐเกษตรกรรมอื่นๆ กำลังถูกเล่นงานจาก “เคราะห์ร้ายสองชั้นซ้อน” กล่าวคือกำลังสูญเสียจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของพวกเขา พร้อมๆ กับที่ราคาถั่วเหลืองกำลังตกฮวบเนื่องจากผลผลิตที่ออกมาอย่างอุดมสมบูรณ์เกินกว่าปกติ

ในอีกด้านหนึ่ง สงครามการค้าครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดอาการ “ปวดหัวไมเกรน” ขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ในเมื่อจีนหยุดซื้อน้ำมันสหรัฐฯทั้งหมด และลดการบริโภคก๊าซธรรมชาติของประเทศตนลงมาอย่างฮวบฮาบ ทั้งนี้ ถัดจากแคนาดาแล้ว จีนนี่แหละคือผู้ซื้อน้ำมันสหรัฐฯมากเป็นอันดับที่ 2 โดยซื้อกัน 330,000 บาร์เรลต่อวัน มิหนำซ้ำในความเป็นจริงแล้วน้ำมันส่วนใหญ่ที่ “ส่งออก” ไปยังแคนาดานั้น เพียงแค่เป็นการปรับเส้นทางเพื่อความสะดวกเท่านั้น กล่าวคือ ถูกส่งผ่านออกไปยังจุดเริ่มต้นสายท่อขนส่งน้ำมันซึ่งตั้งต้นอยู่ทางฝั่งแคนาดา ก่อนที่จะถูกลำเลียงไปยังพวกโรงกลั่นซึ่งอยู่ทางฟากสหรัฐฯ

และเนื่องจากสงครามการค้าที่กำลังดุเดือดร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้อตกลงด้านพลังงานมูลค่ากว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งจีนทำไว้กับรัฐอะแลสกา ระหว่างที่ทรัมป์ไปเยือนเมื่อปี 2017 จึงกำลังเป็นปัญหาขึ้นมา มีความเป็นไปได้อยู่มากที่ข้อตกลงดังกล่าวอาจถูกเก็บถูกหมกเข้าตู้ไปตลอดกาล สืบเนื่องจากการที่ทรัมป์ “กำลังเปลี่ยนแปลงกฎกติกาของเกมการเล่น” อยู่เรื่อยๆ อาจเร่งรัดให้จีนหันไปซื้อหาน้ำมันและก๊าซเพิ่มมากขึ้นจากรัสเซีย, ตะวันออกกลาง, และเวเนซุเอลา ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศเหล่านี้ยังมีความเต็มอกเต็มใจที่จะเปลี่ยนจากการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นเงินสกุลเหรินหมินปี้ (หยวน) ของจีน ในการเป็นตัวกลางของการซื้อขายแลกเปลี่ยน อิหร่านนั้นถึงกับเสนอที่จะให้ใช้เรือของพวกเขาเองในการลำเลียงขนส่งน้ำมันมายังจีน

พวกธุรกิจต่างๆ และผู้บริโภคของสหรัฐฯกำลังรู้สึก “หนาว” จากสงครามการค้ากันแล้ว ตามข้อมูลตัวเลขของสำนักงานสถิติของสหรัฐฯ, กระทรวงพาณิชย์, ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ยอดการลงทุนสุทธิทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้ตกลงสู่แดนลบในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 เหตุผลสำคัญก็คือบรรยากาศการลงทุนขาดความแน่นอน ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯในเรื่องการลงทุนจากฝ่ายจีนและในเรื่องสงครามการค้า

พวกผู้บริโภคของสหรัฐฯดูเหมือนได้สูญเสียความมั่นอกมั่นใจของพวกเขา โดยที่ตัวเลขการบริโภคเพิ่มขึ้นเพียงนิดเดียวแค่ 0.1% ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ตามตัวเลขที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ การที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดหมายกันไว้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรเซอร์ไพรซ์อะไร เพราะอัตราเงินเฟ้อซึ่งส่วนใหญ่เหนี่ยวนำโดยภาษีศุลกากรนั่นเอง กำลังอยู่ในระดับสูงกว่า 2% จึงเขมือบกลืนกินค่าจ้างแรงงานที่ตามตัวเลขมีการเพิ่มขึ้นในปริมาณเดียวกัน ทั้งนี้ตามข้อมูลสถิติของรัฐบาลสหรัฐฯ

ถ้าหากทรัมป์ยังคงตามซ้ำ ด้วยการขยายความตึงเครียดกับจีนทั้งในด้านการค้า, ค่าเงินตรา, และทางภูมิรัฐศาสตร์ให้บานปลายต่อไปอีก เศรษฐกิจของสหรัฐฯและความมั่นคงของสหรัฐฯก็อาจจะตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ถ้าการข่มขู่ของเขาที่จะประทับตราจีนว่าเป็นประเทศผู้ปั่นค่าเงินตราเกิดกลายเป็นความจริงขึ้นมา มันก็จะน่าจะเกิดสงครามค่าเงินตราขึ้นซึ่งอาจส่งผลทำให้ระบบการเงินของโลกพังทลายได้ทีเดียว ถ้ากองทัพเรือสหรัฐฯยังคงตามซ้ำ ด้วย “การปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ” เพิ่มมากขึ้นอีกในทะเลจีนใต้ สงครามแบบที่มีการยิงใส่กันซึ่งเปิดฉากขึ้นมาด้วยอุบัติเหตุไม่ใช่ความตั้งใจ ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกปัดได้ว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้น จีนนั้นมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการพิทักษ์ปกป้องการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของตน ดังที่แสดงให้เห็นแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ในเหตุการณ์ “ใกล้จะชนกัน” ระหว่างเรือรบของจีนกับเรือพิฆาตอเมริกัน

ผู้แพ้พ่ายทางฝ่ายจีน

ผู้ปราชัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอาจจะเป็นบรรดาโรงงานซึ่งกำลังผลิตสินค้าสำหรับตลาดสหรัฐฯ ตลอดจนพวกนักลงทุนรายย่อยระดับบุคคลซึ่งกำลังเล่นหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ความสูญเสียเหล่านี้น่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเนื่องจากประชากร 1,400 ล้านคนของจีน บวกกับความสัมพันธ์ทางการค้าที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ กับประเทศอื่นๆ, และแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ควรที่จะเข้าแทนที่ตลาดสหรัฐฯได้

เหมือนกับที่พวกเขาได้เคยกระทำในระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกปี 2008 คนงานจำนวนมากน่าจะเดินทางกลับหมู่บ้านของพวกเขาเพื่อรับมือกับความยากลำบากคราวนี้ และแน่นอนทีเดียวว่ารัฐบาลจีนจะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อลดทอนความเจ็บปวดระยะสั้นซึ่งการค้าจะก่อให้เกิดขึ้น ในปี 2008 นั้น แพกเกจมาตรการกระตุ้นจูงใจขนาดมหึมาได้ส่งผลทำให้การทรุดตัวทางเศรษฐกิจมีอันเลี้ยวกลับ 180 องศา โดยทำให้การเติบโตของจีดีพีจีน พุ่งขึ้นจากระดับ 6.5% เป็น 9.2% ในปี 2009

ผู้คนในโลกตะวันตกที่อ้างว่าการเทขายอย่างมโหฬารในตลาดหลักทรัพย์จีน คือสัญญาณแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังพ่ายแพ้ในสงครามคราวนี้ กำลังโกหกหลอกลวง ตลาดหลักทรัพย์ของจีนนั้นไม่เหมือนกับตลาดหุ้นของสหรัฐฯ โดยมีลักษณะเป็นเหมือนกับ “บ่อนกาสิโน” มากกว่าเป็น “ตัวบ่งชี้” ถึงผลงานทางเศรษฐกิจ พวกผู้ซื้อหุ้นนั้นเต็มไปด้วยปัจเจกบุคคลซึ่งต้องการที่จะ “รวยเร็วๆ” และพร้อมเทขายหุ้นของพวกเขาด้วยความตื่นตระหนกในทันทีที่เกิด “พายุ” กระหน่ำเข้ามา ทว่า “พายุ” เหล่านี้ไม่ได้ยืนยาวอะไรหรอก ดังเห็นได้จากการที่มูลค่าของหุ้นจีนกระเตื้องดีดตัวกลับในปี 2017 และอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมของปีนี้

ข้อคิดเห็น

เมื่อพิจารณาจากฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ทุกๆ อย่างที่อาจเป็นไปได้แล้ว จีนอาจจะปรากฏโฉมออกมาจากสงครามการค้าครั้งนี้ในสภาพที่ร่ำรวยกว่าและแข็งแรงกว่าสหรัฐฯ การห้ามปรามกีดกันพวกบริษัทจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯ มีแต่ทำให้พวกเขาเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ยิ่งขึ้นอีกในความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรม ดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้วในกรณีของ หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ไฮเทคของจีน ซึ่งกำลังใช้จ่ายงบประมาณจำนวนเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาชิปและเซมิคอนดักเตอร์

สงครามการค้าครั้งนี้กำลังกลายเป็นการกระตุ้นรัฐบาลจีนและประชาชนจีน ทำให้พวกเขา “ลุกยืนขึ้นมา” เพื่อเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การข่มเหงรังแก” ของสหรัฐฯ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าทำไมจีนจึงกำลังดำเนินขั้นตอนจังหวะก้าวที่ห้าวหาญมากในการตอบโต้การขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และในการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้

บทสรุปของการถกเถียงอภิปรายคราวนี้ก็คือ ผู้พ่ายแพ้ปราชัยรายใหญ่ที่สุดในสงครามซึ่งทรัมป์กระทำเพื่อต่อต้านคัดค้านจีน อาจจะเป็นพวกผู้สนับสนุนที่แข็งขันที่สุดของเขา พวกเขากำลังสูญเสียตลาดอันใหญ่โตทำกำไรงามซึ่งพวกเขาได้ใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อบ่มเพาะพัฒนาขึ้นมา ขณะเดียวกันก็กำลังต้องจ่ายเงินแพงมากขึ้นสำหรับซื้อสินค้าต่างๆ

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer

หมายเหตุผู้แปล

เคน โมค ยังได้เขียนบทความอีกชิ้นหนึ่งในประเด็นปัญหาเดี่ยวกันนี้ เผยแพร่ทางเอเชียไทมส์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม จึงขอเก็บความนำมาเสนออย่างต่อเนื่องกันในที่นี้:


‘ทรัมป์’กำลังพ่ายแพ้สงครามการค้าและหาเรื่องอื่นๆ มาประณามโจมตี ‘จีน’
โดย เคน โมค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Trump is losing the trade war and blaming China
By Ken Moak
05/10/2018

บางทีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตระหนักดีว่าสหรัฐฯกำลังปราชัยในสงครามการค้าที่เขาก่อขึ้นเล่นงานจีน และจึงกำลังพยายามสร้างปัญหาต่างๆ มากขึ้น และประณามกล่าวโทษจีนว่าทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ คุยโวว่าเขากำลังมีชัยชนะในสงครามการค้าครั้งนี้ โดยบอกกับพวกผู้แทนในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์กเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังบูมกำลังเฟื่องฟู ขณะที่เศรษฐกิจของจีนกำลังซวนเซ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากอาการหัวเราะคิกคักและกระทั่งปล่อยฮาก๊ากใหญ่ของผู้แทนเหล่านี้แล้ว ดูเหมือนแทบไม่มีผู้เข้าร่วมประชุมใดๆ เลยที่รู้สึกจริงจังกับสิ่งที่เขาพูด ซึ่งบางทีก็น่าจะเป็นท่าทีที่มีเหตุผลดีทีเดียว

ข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการและความเป็นจริง บ่งบอกให้ทราบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะไม่ได้ไปได้สวยอย่างที่ทรัมป์กล่าวอ้างหรอก จำนวนของผู้คนที่ไร้บ้านไร้ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นในปี 2017 ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองและผลิตสินค้าการเกษตรอื่นๆ มีความกังวลเรื่องกำลังสูญเสียตลาดจีนซึ่งทำกำไรได้งดงามไป เวลาเดียวกัน บรรดาธุรกิจของสหรัฐฯกำลังห่วงใยว่าพวกเขาอาจจะต้องตกอยู่กลางสนามรบของสงครามการค้าคราวนี้ พวกผู้บริโภคที่กำลังต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้อยู่แล้ว กังวลว่าพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งคณะบริหารทรัมป์ประกาศเก็บเพิ่มขึ้นอาจถึงกับทำให้พวกเขาชักหน้าไม่ถึงหลัง เหล่านี้เป็นเพียงแค่ไม่กี่ตัวอย่างของความวิตกกังวลล่าสุดเท่านั้น

ความวิตกกังวลของธุรกิจสหรัฐฯ

ผลการสำรวจเมื่อเดือนกันยายนโดย หอการค้าอเมริกันในประเทศจีน (American Chamber of Commerce in China) พบว่า มากกว่า 60% ของธุรกิจสหรัฐฯในจีนจะได้รับความเดือดร้อนจากขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ และมีเพียง 6% เท่านั้นที่จะโยกย้ายกลับบ้านเนื่องจากมาตรการดังกล่าว ตัวเลขท้ายสุดนี้น่าสนใจมาก และบ่งบอกเรื่องราวหลายๆ ประการ

ประการแรก เหตุผลหลักที่ทำให้พวกบริษัทสหรัฐฯไม่ได้โยกย้ายกลับไปยังอเมริกานั้นน่าจะเนื่องจากผลประโยชน์ในทางธุรกิจ ตลาดจีนที่มีประชาชนจำนวน 1,400 ล้านคน แถมส่วนใหญ่ของพวกเขามีเงินออมมากพอจับจ่ายใช้สอยและมีหนี้สินในระดับต่ำ ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่สามารถทำกำไรงดงามยิ่งจนเกินกว่าจะละทิ้งไป นอกจากนั้นแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯกำลังมีผลิตภาพต่ำกว่าของจีน เนื่องจากฝ่ายหลังได้สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานอันครอบคลุมทั่วถ้วนยิ่งและทรงประสิทธิภาพยิ่ง ตั้งแต่การคมนาคมขนส่งไปจนถึงห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเหตุนี้การโยกย้ายกลับไปยังดินแดนสหรัฐฯจะทำให้พวกธุรกิจสหรัฐฯมีความสามารถในการแข่งขันลดลงด้วยซ้ำ

ประการที่สอง ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเลือกว่าอะไรคือผลประโยชน์ของพวกเขา และก็มีสิทธิที่จะทำให้ผลประโยชน์ของพวกเขาเกิดการงอกเงยเบ่งบานได้สูงสุด ในเศรษฐกิจแบบตลาดเฉกเช่นสหรัฐฯ ความคาดหวังเกี่ยวกับผลกำไรคือตัวตัดสินวินิจฉัยที่สำคัญยิ่งตัวหนึ่งในเวลาที่จะทำการลงทุน ซึ่งทำให้การลงทุนก็คือการไปตามที่ๆ สามารถหาเงินหาทองได้ อันที่จริงแล้วทรัมป์อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดของการไม่กลับคืนสู่สหรัฐฯก็เป็นได้ เพราะนโยบายต่างๆ ทางการค้าของเขาเป็นตัวเพิ่มต้นทุนทางการผลิต อาทิเช่น การขึ้นภาษีศุลกากรต่อเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้า และความตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) ที่เพิ่งบรรลุกันได้เมื่อเร็วๆ นี้ (เพื่อทดแทนความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา)

บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ออกมาร้องโวยเรียบร้อยแล้วว่า การขึ้นภาษีเอากับเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้าอาจลดผลกำไรของบริษัทลงไปถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บทบัญญัติว่าด้วยอุตสาหกรรมการผลิต-รถยนต์ ในความตกลง USMCA ซึ่งกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในท้องถิ่น (local content) เป็นจำนวน 75% และให้ค่าจ้างแรงงานของเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเป็น 16 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นอีก

พวกผู้บริโภคก็เช่นเดียวกัน ต้องการให้เงินทองของพวกเขาส่งเสียงได้ดังสนั่นที่สุด ดังเห็นได้จากการที่พวกเขาจะซื้อจากใครก็ตามที่เสนอราคาต่ำสุดให้แก่พวกเขา จริงๆ แล้วผู้บริโภคสหรัฐฯส่วนใหญ่อยู่ในอาการเสพติดสินค้าจีนที่มีราคาถูกกว่ากันแล้วทั้งนั้น ยิ่งเมื่อคำนึงถึงสภาพที่พวกเขาเป็นหนี้เป็นสินกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแล้ว การเสพติดดังกล่าวก็ดูจะทวีขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรรู้สึกเซอร์ไพรซ์อะไรเลยที่จะมองเห็นว่าการลงทุนในสหรัฐฯทั้งที่เป็นการลงทุนในประเทศเองและที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ต่างกำลังลดต่ำลง และน่าที่ถดถอยลงต่อไปอีกถ้าหากสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ตามตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ การลงทุนภายในประเทศของสหรัฐฯได้เข้าสู่แดนลบ คืออยู่ที่ – 8,200 ล้านดอลลาร์ในรอบไตรมาสแรกปีนี้ ขณะที่การลงทุนของจีนในอเมริกาก็หล่นวูบลงถึง 92% สืบเนื่องจากในสหรัฐฯเกิดกระแสความกังวลสนใจเรื่อง “ความมั่นคงแห่งชาติ”

ความวิตกกังวลของเกษตรกรสหรัฐฯ

พวกผู้ผลิตสินค้าอาหารของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ --ตั้งแต่ชาวประมงจับกุ้งล็อบสเตอร์ ไปจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง และคนอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างสองขั้วนี้— สามารถที่จะบอกเล่าให้เราฟังได้ว่า พวกเขาต้องทำงานกันเป็นแรมปีอย่างหนักหน่วงแค่ไหนในการเจาะเข้าตลาดจีน ตัวอย่างเช่น ต้องใช้เวลาหลายๆ ปีทีเดียวกว่าที่จะสามารถปลุกปล้ำช่วงชิงเอาพวกผู้ซื้อถั่วเหลืองชาวจีนกลับคืนมาจากบราซิลได้สำเร็จ แต่แล้วมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัม์ป์ได้ทำลายความพยายามเหล่านี้ให้หมดค่าไปได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน เพราะจีนกำลังหันไปหาบราซิลและประเทศผู้ปลูกถั่วเหลืองรายอื่นๆ แล้วทันทีที่มีการก่อตั้งความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับพวกเกษตรกรที่ไม่ใช่สหรัฐฯขึ้นมาแล้วเช่นนี้ อเมริกาก็มีหวังที่จะสูญเสียตลาดจีนซึ่งใหญ่มหึมาและทำกำไรได้งดงามไปตลอดกาล

สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารอย่างอื่นๆ ว่ากันว่าภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นตัวการรับผิดชอบให้เนื้อวัวอเมริกันปริมาณหลายพันล้านกิโลกรัมยังต้องเก็บแช่เย็นเอาไว้เพราะหาผู้ซื้อไม่ได้ อุตสาหกรรมสัตว์ปีกและอุตสาหกรรมเนื้อหมูก็เช่นเดียวกัน กำลังกังวลใจกับจุดยืนทางการค้าแบบ “ผู้ชนะกินรวบหมด” ของทรัมป์ เพราะเท่าที่เป็นอยู่จนถึงบัดนี้จีนคือตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับผลผลิตทั้ง 2 อย่างนี้ ที่จริงแล้ว เนื้อหมูและเนื้อไก่คือ “เนื้อสัตว์แห่งชาติ” ของประเทศจีน โดยที่ประชาชนชาวจีนรับประทานทุกๆ ส่วน ไล่ตั้งแต่เท้าไปถึงเครื่องใน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเนื้อของสัตว์ 2 ประเภทนี้ มาถึงตอนนี้พวกเกษตรกรผลิตเนื้อหมูและเนื้อไก่ของสหรัฐฯอาจจะต้องได้จูบอำลาผู้บริโภคจำนวน 1,400 ล้านเสียแล้ว นี่ย่อมต้องขอบพระคุณทรัมป์กันให้จงหนัก

คนจนและคนไร้ที่อยู่ในสหรัฐฯกำลังเพิ่มขึ้น

ตามตัวเลขสถิติทั้งของศูนย์กลางนโยบายภาษีสหรัฐฯ (US Tax Policy Center) และอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ, ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve), ไปจนถึงกระทรวงการเคหะและการพัฒนาสังคมของสหรัฐฯ (US Department of Housing and Social Development) จำนวนคนยากจนและผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในอเมริกากำลังเพิ่มสูงขึ้นหรือกำลังลำบากอัตคัดยิ่งขึ้นในยุคการบริหารปกครองของทรัมป์

กระทรวงการเคหะฯประมาณการว่า มีผู้คนเกือบๆ 540,000 คนต้องนอนหลับกันตามท้องถนนในปี 2017 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นเกือบ 1% รายงานฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ ของยูเอ็นก็พบว่า คนยากจนในสหรัฐฯอยู่ในภาวะลำบากแร้นแค้นเพิ่มขึ้นนับแต่ที่ทรัมป์เข้ากุมบังเหียนประเทศ อันเป็นการประเมินซึ่งสอดคล้องกับของนักการเมืองสหรัฐฯบางราย เป็นต้นว่า วุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) สืบเนื่องจากความไม่เสมอภาคทางด้านความมั่งคั่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯก็เปิดเผยว่า มากกว่า 40% ของคนงานชาวอเมริกันกำลังใช้ชีวิตอย่างชักหน้าไม่ถึงหลัง โดยต้องดิ้นรนอยู่ให้ได้จากวันรับเงินสัปดาห์หนึ่งไปชนวันรับเงินอีกสัปดาห์หนึ่ง

เปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯกับของจีน

พวกองค์การซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการพยากรณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ –องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), ธนาคาโลก (เวิลด์แบงก์), และอื่นๆ – ต่างคาดหมายกันว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯซึ่งสูงถึง 4.2% ในไตรมาส 2 จะไม่เกิดซ้ำอีกในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้

ตามรายงานการศึกษาของศูนย์กลางนโยบายภาษีสหรัฐฯ มาตรการตัดลดภาษีมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ที่ผลักดันให้ออกมาจนสำเร็จโดยคณะบริหารทรัมป์และรัฐสภาที่อยู่ใต้การควบคุมของพรรครีพับลิกันนั้น ก่อนอื่นเลยจะให้ประโยชน์แก่พวกที่มีรายได้ระดับสูงที่สุด 1% การค้นพบเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าการบริโภคของสหรัฐฯในอนาคตจะลดต่ำลงหรือไม่ก็แค่ระดับทรงตัว นอกจากนั้นแล้ว การใช้จ่ายของรัฐบาลที่ได้ช่วยเหลือเพิ่มพูนอัตราการเติบโต “อย่างแข็งแรง” ของไตรมาสที่ 2 ก็มีผลเป็นการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯให้สูงขึ้นอยู่ดี

ภาระหนี้สินจากการขาดดุลงบประมาณสะสมอย่างมหาศาลของอเมริกา อาจกลายเป็นตัวขวางกั้นทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดทำแพกเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ไอเอ็มเอฟนั้นทำนายว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯน่าจะตกลงมาระหว่าง 1 – 2 % ในไตรมาสและในปีต่อๆ ไปจากนี้ และประมาณการว่าตลอดทั้งปี 2018 นี้จะอยู่ในระดับ 2.9% และปี 2019 จะถอยลงมาเหลือ 2.5%

ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะถูกกระทบกระเทือนจากสงครามการค้าเช่นเดียวกัน แต่ทั้งไอเอ็มเอฟและองค์การอื่นๆ ประมาณการว่าแดนมังกรยังจะสามารถเติบโตได้ในอัตรา 6.8% และ 6.5% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ แท้จริงแล้ว เอชเอสบีซี (HSBC) และไอเอ็มเอฟพยากรณ์ว่า จีนจะเข้าแทนที่สหรัฐฯกลายเป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งใหญ่โตที่สุดของโลกได้ภายในปี 2030 ถ้าหากไม่เกิดขึ้นเร็วกว่านั้นอีก เวลาเดียวกัน หนี้สินของจีนทั้งในภาคสาธารณะและในภาคผู้บริโภคต่างอยู่ในระดับต่ำกว่าจากของสหรัฐฯมาก

แล้วสำหรับผู้ที่เสนอแนะว่าราคาหุ้นที่กำลังลดต่ำลง คือสัญญาณหนึ่งซึ่งแสดงว่าจีนกำลังเป็นฝ่ายปราชัยในสงครามการค้านั้น อย่าเพิ่งมั่นใจเร็วเกินไปนัก ประดาตลาดหุ้นของจีนโดยสาระสำคัญแล้วคือบ่อนพนันสำหรับพวกนักลงทุนรายเล็กที่ต้องการทำเงินอย่างรวดเร็ว มันไม่ได้เป็นเครื่องชี้ผลประกอบการทางเศรษฐกิจอย่างเช่นพวกตลาดหลักทรัพย์ในโลกตะวันตกหรอก

มีนักวิจารณ์ทางสื่อในด้านเศรษฐกิจบางรายตั้งข้อสังเกตว่า สงครามการค้ากับจีนที่ดุเดือดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยกำลังสร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนให้แก่อเมริกามากพอๆ กันกับจีน ถ้าหากไม่ใช่มากยิ่งกว่าเสียอีก บางทีทรัมป์ก็อาจมองเห็นเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะเขาดูเหมือนอยู่ในอาการย่ำแย่ จึงกำลังสร้างปัญหาต่างๆ มากขึ้นและประณามกล่าวโทษจีนว่าทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ เขากระทั่งบอกกับโลกระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จีน “กำลังก้าวก่ายแทรกแซงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ตลอดจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ (ในอีก 2 ปีข้างหน้า)” สืบเนื่องจากประเทศ “คอมมิวนิสต์” รายนี้กล้าหาญที่จะตอบโต้แก้เผ็ดเขา

อีกเรื่องหนึ่งอีกปัญหาหนึ่งซึ่งกลายเป็นข่าวตูมตามออกมาก็คือเรื่องเกี่ยวกับ “การปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ” ของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ โดยที่เรือพิฆาตของจีนลำหนึ่งได้ขับไล่เรือรบของฝ่ายอเมริกันให้พ้นไปจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 ไมล์ (12-mile exclusive economic zone) ของจีน โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นและสื่อมวลชนด้านข่าวของสหรัฐฯต่างรายงานว่า กองทัพจีน “แสดงพฤติการณ์ที่ไม่รับผิดชอบและก้าวร้าว” สื่อเหล่านี้ดูจะวาดหวังหาความสนับสนุนให้แก่การขยายสงครามมุ่งคัดค้านจีนทางด้านการค้าให้บานปลายออกไป รวมทั้งให้แก่การทำสงครามทางทหารที่อาจระเบิดขึ้นมาได้ ดูเหมือนว่า “สื่อมวลชนมุ่งสร้างผลกำไรอย่างไร้จรรยาบรรณ” (yellow journalism) ซึ่งเน้นการปลุกเร้าอารมณ์จากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อจะได้ขายหนังสือพิมพ์ได้มากขึ้นหรือมีผู้มาเฝ้าชมทีวีเพิ่มขึ้นนั้น ยังคงมีอยู่และอยู่ได้อย่างดีมีความสุขในสหรัฐอเมริกา

ทรัมป์ควรที่จะตระหนักรับรู้ถึงผลพวงต่อเนื่องของการทำสงครามซึ่งอิงอยู่กับ “ข่าวปลอม” ทั้งหลาย เขาควรที่จะปรึกษากับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้ซึ่งน่าที่จะมีรอยแปดเปื้อนทางประวัติศาสตร์อย่างชนิดล้างไม่ออกสืบเนื่องจากสงครามอิรัก ทั้งนี้ไม่ควรลืมด้วยว่าสงครามเวียดนามของลินดอน จอห์นสัน นั้นไม่เพียงทำให้ทหารอเมริกันตายไปกว่า 50,000 คนเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาต้องประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวาระที่ 2

ทรัมป์ควรที่จะตระหนักรับรู้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จีนจะเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามยิ่งกว่ามากมายนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น