xs
xsm
sm
md
lg

รบ.อิเหนาสั่งอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ 'ต่างชาติ’ ออกจากเขตภัยพิบัติ ‘ดินไหว-สึนามิ’ ที่สุลาเวสี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานค้นหาและช่วยชีวิต ISAR-Germany นำน้ำที่ผ่านเครื่องกรองจนสะอาดมาให้เด็กๆ ในเมืองปาลูทดลองดื่ม เมื่อวันที่ 9 ต.ค.
รอยเตอร์ - รัฐบาลอินโดนีเซียมีคำสั่งวันนี้ (9 ต.ค.) ให้ชาวต่างชาติที่เข้าไปเป็นอาสาสมัครกู้ภัยอิสระเดินทางออกจากเขตภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิบนเกาะสุลาเวสี และให้องค์กรต่างชาติถอนบุคลากรออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวด้วย

รัฐบาลอินโดนีเซียมักจะบอกปัดความช่วยเหลือในยามเกิดภัยพิบัติเนื่องจากไม่อยากถูกมองว่าต้องพึ่งต่างชาติ และเมื่อตอนที่เกิดแผ่นดินไหวบนเกาะลอมบ็อกในปีนี้รัฐบาลจาการ์ตาก็ปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือจากภายนอก

เหตุการณ์แผ่นดินไหว 7.5 และคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนริมชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุลาเวสีไปอย่างน้อย 1,948 ศพ ทำให้ทางการอิเหนาจำใจต้องเปิดประตูรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ถึงกระนั้น องค์กรบรรเทาทุกข์ต่างชาติก็ยังเผชิญอุปสรรคในการขออนุญาตนำเจ้าหน้าที่และเครื่องไม้เครื่องมือเข้าไป และมีความสับสนเรื่องกฎระเบียบต่างๆ อยู่พอสมควร

ล่าสุด สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอิเหนาได้ออกประกาศเป็นภาษาอังกฤษห้ามเอ็นจีโอต่างชาติ “เข้าไปในพื้นที่โดยตรง” และจะต้องประสานกับหน่วยงานท้องถิ่น “ในทุกๆ กิจกรรม”

“พลเมืองต่างชาติที่ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอต่างชาติ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้นในพื้นที่ประสบภัย”

“เอ็นจีโอต่างชาติที่ส่งบุคลากรชาวต่างชาติเข้าไปในพื้นที่ ขอให้ถอนเจ้าหน้าที่เหล่านั้นออกมาทันที”

ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกาะสุลาเวสีอยู่ที่ 1,948 คนในวันนี้ (9) โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเมืองปาลู (Palu)

จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบจำนวนผู้สูญหายที่แน่ชัด โดยเฉพาะในชุมชนทางใต้ของเมืองปาลูซึ่งเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินเหลว (soil liquefaction) แต่สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติอินโดนีเซียคาดว่าตัวเลขอาจพุ่งสูงถึง 5,000 คน

ภัยพิบัติครั้งนี้ยังทำให้ประชาชนราว 70,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

อาสาสมัครกู้ภัยต่างชาติจำนวนไม่มากนักได้เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตตามซากปรักหักพังในเมืองปาลู ขณะที่เอ็นจีโอสัญชาติเยอรมันได้เครื่องกรองน้ำสะอาดเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิต

นอกจากต้องการโชว์ศักยภาพว่าสามารถรับมือภัยพิบัติได้ด้วยตัวเองแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียทุกยุคทุกสมัยยังปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างชาติเพราะเกรงจะถูกศัตรูทางการเมืองยกไปเป็นประเด็นโจมตี โดยเฉพาะการอนุญาตให้ทหารต่างชาติเข้ามานั้นอาจถูกมองว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของชาติ

“เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นการเมืองที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ส่วนอธิปไตยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” คีธ เลอเวิร์ด นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยง Concord Consulting ระบุ

รัฐบาลอิเหนาได้อนุมัติงบประมาณ 560,000 ล้านรูเปียะห์ (ราว 1,213 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูภัยพิบัติที่เกาะสุลาเวสี และมีอีกราวๆ 20 ประเทศที่เสนอมอบความช่วยเหลือ




กำลังโหลดความคิดเห็น