เอเอฟพี - องค์การสหประชาชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ทุกประเทศทั่วโลกต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน” เพื่อหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมย้ำว่าเหลือเวลาน้อยเต็มทีที่จะยับยั้งภัยพิบัตินี้
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งจัดประชุมที่เมืองอินชอนของเกาหลีใต้ได้เผยแพร่รายงานชิ้นสำคัญวันนี้ (8 ต.ค.) โดยระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกนั้นร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและเป็นตัวการก่อภัยพิบัติร้ายแรงอื่นๆ เช่น พายุขนาดใหญ่ น้ำท่วมฉับพลัน และภัยแล้ง เป็นต้น โดยอุณหภูมิเฉลี่ยยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส
รายงานของ IPCC ยังระบุ “ด้วยความมั่นใจอย่างยิ่ง” ว่า หากทั่วโลกยังคงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปัจจุบันจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในปี 2030 และอย่างช้าไม่เกินกึ่งศตวรรษนี้
“ช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอาจเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ” เดบรา โรเบิร์ตส์ ผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนสิ่งแวดล้อมและปกป้องสภาพอากาศ (Environmental Planning and Climate Protection Department - EPCPD) ในเมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประธานร่วมของ IPCC บอกกับเอเอฟพี
รายงานสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย (Summary for Policymakers) ความยาว 400 หน้ากระดาษยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนล้ำหน้าความพยายามของมนุษยชาติที่จะยับยั้งมัน พร้อมเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบขั้นเลวร้ายที่สุด
ก่อนที่จะมีการลงนามข้อตกลงภูมิอากาศปารีสเมื่อปี 2015 งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกือบ 10 ปีได้ตั้งเป้าหมายยับยั้งอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้พุ่งเกิน 2 องศาเซลเซียส จึงจะปกป้องสภาพอากาศโลกให้ปลอดภัยแก่การอยู่อาศัยของมนุษย์ได้
อย่างไรก็ตาม รายงานของ IPCC ชี้ว่า ผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดคิดไว้
“สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้เกิดขึ้นแล้ว ณ วันนี้” เจนนิเฟอร์ มาร์แกน ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซอินเตอร์เนชันแนล ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
IPCC ชี้ว่า ทั่วโลกจะต้องสร้าง ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (carbon neutral) ภายในปี 2050 เพื่อที่จะเหลือโอกาสอย่างน้อย 50/50 ในการคงอุณหภูมิของโลกไว้ที่ระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
“นั่นหมายความว่า ทุกๆ 1 ตันของก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่เราปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะต้องถูกชดเชยด้วยการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 1 ตันเช่นกัน” ไมเลส แอลเลน หัวหน้าโครงการวิจัยสภาพอากาศของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุ
รายงานซึ่งสรุปจากงานวิจัยราว 6,000 ชิ้นยังคาดการณ์ว่า ทั่วโลกต้องปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 420,000 ล้านตัน เพื่อจะมีโอกาส 2 ใน 3 ที่จะคงระดับอุณหภูมิเฉลี่ยไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้ามองจากแนวโน้มในปัจจุบันโควตาดังกล่าวก็จะถูกใช้หมดภายในเวลาแค่ 10 ปี
สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น น้ำ แสงอาทิตย์ และกระแสลมจะต้องเพิ่มจาก 20% เป็น 70% ภายในกึ่งศตวรรษนี้ ส่วนการใช้ถ่านหินต้องลดลงจาก 40% ในปัจจุบันให้เหลือแค่ตัวเลข 1 หลัก
เพื่อที่จะคุมอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั่วโลกยังจำเป็นต้องทุ่มเงินปีละไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาระบบพลังงานระหว่างปี 2016 จนถึง 2035 หรือคิดเป็นราวๆ 2.5% ของจีดีพีโลก ซึ่งแม้จะฟังดูมหาศาล แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเทียบกับหายนะที่จะเกิดขึ้นหากทุกฝ่ายยังคงนิ่งเฉย