รอยเตอร์ – คณะกรรมการโนเบลของนอร์เวย์ตัดสินมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2018 ให้กับ เดนิส มุกเวเก และ นาเดีย มูรัด สำหรับความพยายามของพวกเขาในการยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธในสงครามและความขัดแย้ง ผู้ได้รับรางวัลทั้งสองคนสร้างผลงานสำคัญในการให้ความสนใจและต่อสู้กับอาชญากรรมสงครามประเภทนี้
เดนิส มุกเวเก เป็นผู้ช่วยเหลือที่อุทิศชีวิตของเขาให้กับการปกป้องเหยื่อเหล่านี้ นาเดีย มูรัด เป็นพยานผู้บอกเล่าการล่วงละเมิดที่เกิดกับตัวเธอเองและคนอื่นๆ พวกเขาต่างมีส่วนช่วยให้ความรุนแรงทางเพศในสงครามถูกเปิดเผยมากขึ้น ทำให้สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบการกระทำของตน
นายแพทย์ เดนิส มุกเวเก ใช้ชีวิตช่วงวัยผู้ใหญ่ของเขาส่วนใหญ่ไปกับการช่วยเหลือเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก นับตั้งแต่โรงพยาบาลปันซีถูกตั้งขึ้นในเมืองบูกาวูเมื่อปี 2008 การล่วงละเมิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริบทของสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อที่คร่าชีวิตชาวคองโกไปแล้วกว่า 6 ล้านคน
เดนิส มุกเวเกเป็นสัญลักษณ์สำคัญทั้งในประเทศและระหว่างประเทศของความพยายามต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศในสงครามและความขัดแย้งรุนแรง หลักการพื้นฐานของเขาคือ “ความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน” ชายและหญิง เจ้าหน้าที่และทหาร หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานระหว่างประเทศต่างมีหน้าที่เหมือนกันที่จะต้องรายงานและต่อสู้กับอาชญากรรมสงครามประเภทนี้
ความสำคัญของความพยายามอย่างอดทน ทุ่มเท และไม่เห็นแก่ตัวของ ดร.มุกเวเกในด้านนี้ไม่อาจถูกกล่าวอ้างเกินจริง เขาประณามการละเว้นโทษให้กับการข่มขืนหลายครั้ง และวิจารณ์รัฐบาลคองโกและประเทศอื่นๆ ว่าพยายามไม่มากพอที่จะยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในฐานะกลยุทธ์และอาวุธของสงคราม
นาเดีย มูราด เป็นเหยื่อของอาชญากรรมสงคราม เธอไม่ยอมรับกฎระเบียบทางสังคมที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องไม่ปริปากและทนอับอายรู้สึกผิดจากการถูกล่วงละเมิด เธอแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญอย่างโดดเด่นในการบอกเล่าความทุกข์ของตัวเธอเองและออกมาพูดในนามของเหยื่อรายอื่นๆ
นาเดีย มูรัด เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดีในตอนเหนือของอิรัก ซึ่งเธออาศัยอยู่กับครอบครัวของเธอในหมู่บ้านโคโชอันห่างไกล ในเดือนสิงหาคมปี 2014 กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เปิดฉากการโจมตีอย่างโหดเหี้ยมและเป็นระบบต่อหลายหมู่บ้านในเขตซินจาร์ มุ่งเป้าฆ่าล้างประชากรชาวยาซิดี
ในหมู่บ้านของ นาเดีย มูรัด ผู้คนหลายร้อยถูกสังหารหมู่ เด็กสาวรวมถึงเด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกลักพาตัวและจับไปเป็นทาสกาม ในขณะเป็นเชลยของไอเอส นาเดีย มูราดถูกข่มขืนและกระทำทารุณอื่นๆ หลายครั้ง คนร้ายขู่ว่าจะฆ่าเธอหากเธอไม่เปลี่ยนมานับถืออิสลามในแบบที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและไร้มนุษยธรรม
นาเดีย มูรัด เป็นเพียงหนึ่งในเด็กสาวและผู้หญิงชาวยาซิดีราว 3,000 คนที่เป็นเหยื่อการข่มขืนและการล่วงละเมิดอื่นๆ โดยกองทัพไอเอส การล่วงละเมิดเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ทางทหาร พวกเขาใช้มันเป็นอาวุธในการต่อสู้กับชาวยาซิดีและชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอื่นๆ
หลังจากสามเดือนแห่งฝันร้าย นาเดีย มูรัด สามารถหลบหนีออกมาได้ ภายหลังการหลบหนี เธอเลือกที่จะบอกเล่าสิ่งที่เธอได้ประสบมา ในปี 2016 ด้วยวัยเพียง 23 ปี เธอได้รับแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรีเพื่อศักดิ์ศรีของผู้รอดชีวิตจาการค้ามนุษย์คนแรกขององค์การสหประชาชาติ
ปีนี้เป็นปีที่สิบนับตั้งแต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นรับรองมติ Resolution 1820 ซึ่งระบุว่า การใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธในสงครามและความขัดแย้งนั้นถือเป็นอาชญากรรมสงครามและภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มันยังถูกบรรจุในธรรมนูญโรม 1998 ที่ควบคุมการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ด้วย
ธรรมนูญโรมระบุว่า ความรุนแรงทางเพศในสงครามและความขัดแย้งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง โลกที่สงบสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงและสิทธิขั้นพื้นฐานและความปลอดภัยของพวกเธอได้รับการยอมรับและปกป้องในสงคราม
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของปีนี้เป็นไปตามบรรทัดฐานความตั้งใจของ อัลเฟรด โนเบล ทั้ง เดนิส มุกเวเก และ นาเดีย มูรัด ต่างเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงในการต่อสู้กับอาชญากรรมสงครามอย่างกล้าหาญและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อ พวกเขาส่งเสริมภราดรภาพของชาติต่างๆ ผ่านการใช้หลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ