บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ – ผู้คนอย่างน้อยที่สุดพันกว่าคนเสียชีวิต และอีกจำนวนมากยังคงสูญหายภายหลังเกิดคลื่นสึนามึถล่มใส่เกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซียเมื่อวันศุกร์ (28 ก.ย.) ที่ผ่านมา ตามหลังแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงก่อนหน้านั้นไม่นาน
มีการส่งสัญญาณเตือนภัยสึนามิ แล้วก็มีการประกาศยกเลิกไปหลังจากนั้น 30 กว่านาที แต่ถึงอย่างไรมันก็ดูชัดเจนว่าการเตือนดังกล่าวประเมินขนาดของคลื่นใต้น้ำที่เกิดตามมาคราวนี้อย่างต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก ทำไมจึงเกิดความผิดพลาดกันถึงขนาดนี้?
เหตุที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นยังไงกันแน่?
แผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดคราวนี้เกิดขึ้นมาเมื่อเวลา 18.03 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันศุกร์ (28 ก.ย.) ตรงกับ 17.03 น.เวลาเมืองไทย โดยที่ศูนย์กลางเหนือแผ่นดินไหวอยู่นอกเกาะสุลาเวสีนิดเดียว แล้วจากนั้นยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายสิบครั้ง
BMKG สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย ได้ออกคำเตือนสึนามิ แทบจะทันทีภายหลังเกิดแผ่นดินไหวหนแรก โดยคำเตือนระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดคลื่นสูงซัดกระหน่ำฝั่งขนาด 0.5 จนถึง 3 เมตร
แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปแค่ครึ่งชั่วโมงเศษ สำนักงานก็ยกเลิกคำเตือนนี้
ปรากฏว่า ปาลู ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีประชากรจำนวนราว 335,000 คนในเกาะสุลาเวสี โดยตั้งอยู่ริมอ่าวลักษณะยาวรีแคบๆ แห่งหนึ่ง ถูกถล่มด้วยคลื่นที่มีความสูงถึง 6 เมตร ความแรงของกระแสน้ำที่พุ่งพรวดกระหน่ำใส่ฝั่งทำให้อาคารหลายหลังพังครืน และสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง ขณะนั้นมีผู้คนหลายร้อยคนชุมนุมกันเพื่อร่วมงานเทศกาลริมชายหาด และตรงนั้นเองที่กลายเป็นฉากของโศกนาฎกรรมหฤโหด เมื่อคลื่นยักษ์โถมขึ้นสู่หาด และกวาดทุกสิ่งทุกอย่างตามเส้นทางผ่าน
สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ (National Disaster and Mitigation Agency) ของอินโดนีเซีย ระบุว่า เหยื่อที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมด (อย่างน้อยที่สุดก็จากการค้นหาในช่วงสองสามวันแรก) อยู่ในเขตเมืองปาลู โดยเป็นผลจากสึนามิ
ผู้คนรู้ตัวกันไหมว่าเกิดคลื่นสึนามิ?
มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กล่าวหากันมากว่า BMKG ยกเลิกคำเตือนสึนามิเร็วกันไป ถึงแม้ทางสำนักงานบอกว่า จริงๆ แล้วในขณะคลื่นยักษ์โถมขึ้นฝั่งนั้น คำเตือนยังมีผลบังคับอยู่ ยังไม่ได้มีการยกเลิก
ดวิโคริตา คาร์นาวาตี (Dwikorita Karnawati) ประธานหญิงของ BMKG บอกกับหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ ว่า ทางสำนักงานตัดสินใจยกเลิกคำเตือน หลังจากได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องคลื่นสึนามิขึ้นฝั่งแล้ว รวมถึงได้รับรายงานการสังเกตการณ์ภาคสนามจากลูกจ้างพนักงานคนหนึ่งของ BMKG ในเมืองปาลู
เธอกล่าวอีกว่า คำเตือนสึนามิสิ้นสุดลง ณ เวลา 18.37 น. หลายนาทีหลังจากคลื่นสึนามิลูกที่สามและลูกสุดท้ายเข้าถล่มฝั่งไปแล้ว เธอบอกด้วยว่า หลังจากยกเลิกคำเตือนไป ก็ไม่มีคลื่นสึนามิเข้ามาอีก
ทว่ายังมีปัญหาใหญ่โตกว่านั้น กล่าวคือ ถึงแม้มีการแจ้งคำเตือนออกไป และตามคำชี้แจงของกระทรวงคมนาคม ได้มีการส่งคำเตือนภัยสึนามินี้ต่อไปถึงชาวบ้านชาวเมืองในรูปของข้อความผ่านโทรศัพท์ แต่เอาเข้าจริงแล้วพวกเขาอาจจะไม่ได้รับไม่ได้รู้เรื่องเลยก็ได้
โฆษกผู้หนึ่งของสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวว่า แผ่นดินไหวได้ทำให้ไฟฟ้าดับและการสื่อสารโทรคมนาคมถูกตัดขาด รวมทั้งตามแนวชายฝั่งบริเวณนี้ก็ไม่ได้มีการติดตั้งระบบไซเรนเตือนภัย –ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นว่าคำเตือนภัยดังกล่าวโดยสาระสำคัญแล้วอาจจะไม่ได้มีประโยชน์อะไร
วิดีโอคลิปหนึ่งที่มีการแชร์อย่างกว้างขวางทางสื่อสังคม แสดงให้เห็นภาพผลพวงต่อเนื่องติดตามมาที่ชวนสยดสยอง มีทั้งภาพของชายผู้หนึ่งกำลังตะโกนเตือนภัยไปที่ผู้คนจำนวนมากซึ่งอยู่ตามชายหาด โดยที่คนเหล่านี้ไม่ได้มีท่าทีรู้เรื่องเลยว่าคลื่นยักษ์มหึมากำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาแล้ว
อินโดนีเซียมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าหรือเปล่า ?
อินโดนีเซียมีระบบเช่นนี้อยู่ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าคลื่นสึนามิของอินโดนีเซียในปัจจุบัน ประกอบด้วยสถานีบรอดแบนด์ตรวจจับสัญญาณแผ่นดินไหว (seismic broadband station) 170 สถานี, สถานีวัดความเร่ง (accelerometer station) 238 สถานี, และบรรทัดวัดคลื่น (tidal gauge) 137 จุด
แต่ตามปากคำของ เราะห์มัต ตริโยโน (Rahmat Triyono) หัวหน้าศูนย์แผ่นดินไหวและสึนามิ ของ BMKG ระบบที่ติดตั้งใช้งานได้อยู่ในปัจจุบัน ยังคงมีความสามารถที่ “จำกัดมาก”
“เครื่องมืออุปกรณ์ของเราอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนเป็นอย่างมาก” เขาบอกกับบีบีซีภาคภาษาอินโดนีเซีย
“ในทางเป็นจริงแล้ว จากจำนวนอุปกรณ์เซนเซอร์จับสัญญาณแผ่นดินไหว 170 เครื่องที่เรามีอยู่นั้น เรามีงบประมาณสำหรับการบำรุงรักษาเพียงแค่ 70 เครื่องเท่านั้น”
อย่างไรก็ดี เราทราบแน่ๆ ว่าระบบที่ว่านี้ถึงอย่างไรก็จับสัญญาณคลื่นสึนามิได้จริงๆ เนื่องจากได้มีการออกคำเตือนภัย ทว่ามันบกพร่องล้มเหลวอย่างร้ายแรงในเรื่องการวัดขนาดที่แท้จริงของสึนามิ
BMKG เผยว่า tidal gauge แห่งที่อยู่ใกล้กับเมืองปาลูที่สุดนั้น อยู่ไกลออกไปประมาณ 200 กิโลเมตร
Tidal gauge ซึ่งทำหน้าที่วัดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล บันทึกได้เพียงว่า น้ำทะเลสูงขึ้น “อย่างไม่มีความหมายสำคัญ” เพียงแค่ 6 เซนติเมตร BMKG จึงประมาณการว่าความสูงของคลื่นสึนามิจะน้อยกว่า 0.5 เมตร
“เราไม่มีข้อมูลจากการสังเกตการณ์ใดๆ เลยที่ปาลู ดังนั้นเราจึงต้องใช้ข้อมูลที่เรามีอยู่ และส่งคำเตือนโดยอ้างอิงกับข้อมูลดังกล่าว” ตริโยโนบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์
“ถ้าเรามี tide gauge หรือมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนในปาลู แน่นอนทีเดียวว่ามันจะต้องดีกว่านี้ นี่เป็นเรื่องซึ่งเราต้องประเมินกันสำหรับแก้ไขในอนาคต”
ควรที่จะต้องสามารถรักษาชีวิตให้ได้มากกว่านี้หรือไม่?
มีความเป็นไปได้ที่จะรักษาชีวิตได้มากกว่านี้ อันที่จริงแล้วอินโดนีเซียมีระบบเตือนภัยสึนามิที่ก้าวหน้าทันสมัยยิ่งกว่านี้อีก เป็นต้นว่า เครือข่ายทุ่นลอยน้ำ (buoy) ตรวจวัดสึนามิ 21 ทุ่น ซึ่งควรสามารถส่งคำเตือนภัยล่วงหน้าโดยอิงอยู่กับข้อมูลที่รวบรวมโดยอุปกรณ์เซนเซอร์ที่อยู่ใต้ทะเลลึก
อย่างไรก็ตาม ทุ่นเหล่านี้ (ซึ่งบริจาคให้อินโดนีเซียโดย สหรัฐฯ, เยอรมนี, และมาเลเซีย ภายหลังเกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิ5]j,มหาสมุทรอินเดียปี 2004 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปร่วมๆ 250,000 คน) ไม่มีทุ่นไหนเลยที่ใช้งานได้ บางทุ่นได้รับความเสียหายจากพวกเที่ยวทำลายทรัพย์สิน ขณะที่ทุ่นอื่นๆ ถูกขโมย
การจัดหาระบบมาเปลี่ยนทดแทนต้องชะลอออกไป เนื่องจากไม่มีงบประมาณ
เนื่องจากอยู่ในสภาพเช่นนี้ BMKG จึงทำนายสึนามิหลังแผ่นดินไหวโดยใช้ระบบการสร้างภาพจำลอง (modelling system) โดยอิงกับระดับความลึกของศูนย์กลางแผ่นดินไหวและขนาดความรุนแรงของแผ่นดินไหว
ถ้าได้ข้อมูลจากทุ่นพวกนี้แล้ว “ระดับการเตือนภัยสึนามิของเราก็จะแม่นยำขึ้นมาก” ตริโยโนบอกกับบีบีซีภาคภาษาอินโดนีเซีย
ภัยพิบัติล่าสุดที่เกิดขึ้นมานี้เป็นการตอกย้ำถึงค่าใช้จ่ายที่อินโดนีเซียต้องแบกรับ จากการที่ไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้าซึ่งละเอียดประณีตยิ่งกว่านี้ใช้งาน
BPPT หน่วยงานซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการระบบทุ่นเตือนภัย ได้ยอมรับเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลโฟกัสความพยายามส่วนใหญ่ไปที่การบรรเทาทุกข์ภายหลังแผ่นดินไหว ขณะที่ให้ความสำคัญ “น้อยที่สุด” แก่เรื่องการคาดการณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ
แต่ถึงยังไงก็เป็นที่คาดกันอยู่แล้วไม่ใช่หรือว่าจะเกิดสึนามิขึ้นมา?
ไม่เชิง
แผ่นดินไหวคราวนี้ไม่ได้เป็นประเภทที่มักก่อให้เกิดคลื่นสึนามิรุนแรง ทั้งนี้ตามความเห็นของศาสตราจารย์ ฟิลิป ลี-ฟาน หลิว (Philip Li-fan Liu) รองประธานของภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม (department of civil and environmental engineering) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore)
เขากล่าวว่า ปกติแล้วแผ่นดินไหวประเภทที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามินั้น คือแผ่นดินไหวซึ่งทำให้มีการเคลื่อนตัวขนาดใหญ่ในแนวดิ่ง แต่ในกรณีนี้ แผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น “กำลังเสียดสีกันและกันในแนวนอน และเมื่อการเสียดสีนี้ก่อให้เกิดรอยแยกขึ้นมา ก็เป็นการเคลื่อนไหวในแนวนอนเป็นสำคัญ ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวในแนวตั้งมากมายอะไรเลย”
ในอีกด้านหนึ่ง การที่สึนามิซึ่งถล่มใส่ปาลูมีกำลังรุนแรงถึงขนาดนี้ บางทีอาจอธิบายได้ด้วยลักษณะธรรมชาติของตัวอ่าวซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่
ตามคำอธิบายของ ดร.ฮัมซา ลาตีฟ (Hamza Latief) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล (oceanographer) แห่งสถาบันเทคโนโลยีบันดุง (Bandung Institute of Technology) ปาลูได้เคยประสบกับสึนามิมาหลายครั้งในอดีต และเมื่อคลื่นสึนามิโถมเข้ามาภายในอ่าวที่มีลักษณะยาวรีและแคบๆ ของมัน ก็ทำให้แรงกระทบถูกขยายรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก