เอเอฟพี - ชาวมาซิโดเนียมากกว่าร้อยละ 90 ลงประชามติสนับสนุนให้เปลี่ยนชื่อประเทศเสียใหม่เป็น ‘มาซิโดเนียเหนือ’ (North Macedonia) เมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) เพื่อยุติความขัดแย้งยาวนานหลายสิบปีกับกรีซ และปูทางไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกนาโตและสหภาพยุโรป (อียู)
คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เผยผลการนับคะแนนซึ่งผ่านไปแล้วราวๆ 93% โดยพบว่าร้อยละ 91.3 ของผู้ที่ลงประชามติเห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นมาซิโดเนียเหนือ ขณะที่ร้อยละ 5.7 คัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ประชามติคราวนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 1.8 ล้านคน
กระทรวงการต่างประเทศของกรีซได้มีถ้อยแถลงตอบรับผลประชามติดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับกรุงสโกเปียเมื่อเดือน มิ.ย. นั่นคือเลิกขัดขวางการเข้าร่วมกลุ่มอียูและนาโตของมาซิโดเนียหากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศ
นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส แห่งกรีซ ยังได้โทรศัพท์ไปให้กำลังใจแก่ผู้นำมาซิโดเนีย โดยยกย่อง “ความตั้งใจจริงและความกล้าหาญ” ของนายกรัฐมนตรี โซราน เซฟ ในการที่จะ “ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างสมบูรณ์แบบ”
ประชามติซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายนี้ยังต้องรอรัฐสภามาซิโดเนียให้สัตยาบันด้วยเสียงเกิน 2 ใน 3 และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภากรีซด้วย
เซฟ และรัฐบาลผสมของเขาจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส.ฝ่ายค้านอย่างน้อยสิบกว่าคน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ
“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่จะต้องทำให้มาซิโดเนียดีขึ้นสำหรับเราทุกคน” เซฟ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อค่ำวานนี้ (30)
พรรคฝ่ายค้าน VMRO-DPMNE ได้ออกมาแถลงค่อนขอดว่า ยอดผู้ใช้สิทธิ์แค่ 1 ใน 3 สะท้อนให้เห็นว่าประชามติครั้งนี้ "ล้มเหลวอย่างมาก" โดย ฮริสเทียน มิกคอสกี (Hristijan Mickoski) หัวหน้าพรรคถึงกับปรามาสรัฐบาลว่า “หมดความชอบธรรมแล้ว”
อย่างไรก็ตาม พรรค VMRO-DPMNE ซึ่งเคยเป็นรัฐบาลปกครองมาซิโดเนียอยู่ราว 1 ทศวรรษจนถึงปี 2017 ก็มีอาการ ‘เสียงแตก’ เช่นกัน เพราะในขณะที่ มิกคอสกี บอยค็อตต์ประชามติ แต่ ส.ส. ของพรรคหลายคนกลับออกไปใช้สิทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่รองประธานพรรค มิตโก ยันเชฟ
สหภาพยุโรปได้แถลงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพผลประชามติครั้งนี้
“เวลานี้ผมหวังว่าผู้นำทางการเมืองทุกฝ่ายจะเคารพการตัดสินใจของประชาชน และผลักดันให้สำเร็จด้วยความรับผิดชอบสูงสุด และความสามัคคีของทุกพรรค” โยฮันเนส ฮาห์น กรรมาธิการด้านนโยบายเพื่อนบ้านและการขยายอาณาเขตของอียู ระบุในถ้อยแถลง
เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต ก็ได้ทวีตข้อความชื่นชมผลประชามติครั้งนี้ว่าเป็น “โอกาสครั้งประวัติศาสตร์” พร้อมระบุว่า “ประตูสู่นาโตได้เปิดออกแล้ว”
ผู้นำมาซิโดเนียระบุว่า หากรัฐสภาไม่ยอมให้สัตยาบันต่อข้อตกลงเปลี่ยนชื่อประเทศ ตนจะประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด คือเพียง 2 ปีหลังจากครั้งล่าสุดที่ผ่านมา
อดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาซิโดเนียได้แยกตัวออกจากยูโกสลาเวียอย่างสันติในปี 1991 และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘สาธารณรัฐมาซิโดเนีย’ แต่ก็ถูกรัฐบาลกรีซคัดค้านและกล่าวหาว่ากรุงสโกเปียขโมยชื่อจังหวัดทางตอนเหนือของตนซึ่งเรียกว่า ‘มาซิโดเนีย’ เช่นกัน
ข้อพิพาทเรื่องชื่อบ้านนามเมืองนี้พัวพันไปถึงประวัติศาสตร์ยุคโบราณ โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างว่าเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักร ‘มาเกโดนีอา’ หรือ ‘มาซิดอน’ ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งกินอาณาเขตครอบคลุมดินแดนทั้งสองประเทศในปัจจุบัน
ประธานาธิบดี ยอร์ช อิวานอฟ แห่งมาซิโดเนียไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงที่ เซฟ ทำร่วมกับกรีซเมื่อเดือน มิ.ย. และสนับสนุนฝ่ายค้านชาตินิยมที่เรียกร้องให้ผู้คนบอยค็อตต์การทำประชามติครั้งนี้
ชาวมาซิโดเนียส่วนใหญ่ไม่รู้สึกยินดีกับการเปลี่ยนชื่อประเทศ และมองว่าพวกตนกำลังถูกกรีซข่มขู่อย่างไม่เป็นธรรม แต่ความปรารถนาที่จะผูกพันอนาคตและแชร์ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกับโลกตะวันตกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งยอมออกมาโหวต ‘เยส’