xs
xsm
sm
md
lg

'ปักกิ่ง'ก้าวทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลกในยุคของ'โดนัลด์ ทรัมป์'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อัลเฟรด ดับเบิลยู. แมคคอย


Beijing’s Bid for Global Power in the Age of Trump, “America First” Versus China’s Strategy of the Four Continents
By Alfred W. McCoy
21/08/2018

ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โลกก็ได้พบเห็นเป็นพยานเรียบร้อยแล้วถึงความเป็นปรปักษ์ที่ตัดแย้งกันอย่างชัดเจนเหลือเกิน ระหว่างสี จิ้นผิง ผู้แสดงตนเป็นนักสากลนิยมซึ่งสนับสนุนการประสานงานร่วมมือกันในระดับโลกในรูปแบบใหม่ๆ กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ประกาศลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ เวอร์ชั่น "อเมริกา เฟิร์สต์”

ขณะปีที่ 2 แห่งการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯของโดนัลด์ ทรัมป์ และปีที่ 6 แห่งการเป็นประธานาธิบดีจีนของ สี จิ้นผิง ขยับใกล้เข้ามา โลกดูเหมือนกำลังเป็นพยานของการปะทะกันครั้งใหญ่ยิ่งระดับยุคสมัยครั้งหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะของอำนาจในโลกกันทีเดียว ทำนองเดียวกับที่ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีอเมริกัน วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) กับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลอยด์ จอร์จ (Lloyd George) ผลิดอกออกผลกลายเป็นสันติภาพที่ประสบความล้มเหลวในช่วงเวลาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 [1], การแข่งขันชิงดีกันระหว่างจอมเผด็จการสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) กับ ประธานาธิบดีอเมริกัน แฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman) จุดชนวนให้เกิดสงครามเย็นขึ้นมา, และความเป็นปรปักษ์กันระหว่างผู้นำสหภาพโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ได้นำพาโลกเข้าสู่ปากเหวแห่งสงครามนิวเคลียร์ เช่นเดียวกัน 2 ประธานาธิบดีที่ทรงอำนาจของสหรัฐฯและของจีนในเวลานี้ ต่างกำลังใช้ความพยายามอย่างห้าวหาญ ในการผลักดันวิสัยทัศน์ของแต่ละคนที่มีลักษณะความเป็นส่วนตัวอย่างเข้มข้นยิ่ง วิสัยทัศน์ที่กล่าวถึงนี้เป็นเรื่องว่าด้วยระเบียบใหม่ของโลก ซึ่งมีศักยภาพที่จะปรับเปลี่ยนเส้นทางโคจรของศตวรรษที่ 21 กันใหม่ --หรือไม่ก็ดึงลากเส้นทางโคจรเหล่านั้นให้หล่นแอ้งแม้งตกลงมาทั้งหมด

เวลาเดียวกันนั้น ทั้ง 2 ประเทศก็เฉกเช่นเดียวกับผู้นำของพวกเขา มีคุณลักษณะเด่นหลายอย่างหลายประการที่แตกต่างตัดแย้งกันเป็นตรงกันข้าม จีนเป็นอภิมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา, กำลังขี่กระแสคลื่นแห่งการเติบใหญ่ขยายตัวทางเศรษฐกิจอันรวดเร็วยิ่ง ซึ่งพร้อมพรั่งด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมและทางเทคโนโลยีที่ผลิหน่อออกผลอย่างว่องไว, ส่วนแบ่งในการค้าโลกก็ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ , และความมั่นอกมั่นใจในตนเองกำลังพุ่งพรวด ส่วนสหรัฐฯคือเจ้าผู้ครอบงำโลกที่กำลังตกต่ำถดถอย , โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อยู่ในสภาพทรุดโทรม, มีระบบการศึกษาที่ล้มเหลว, มีส่วนแบ่งในเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลดต่ำลงทุกที, และพลเมืองก็เกิดการแตกแยกแบ่งขั้วกันอย่างล้ำลึก หรือหากนำเอาผู้นำมาเปรียบเทียบกัน สี จิ้นผิง นั้นเป็นผู้ที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในฐานะเป็นบุคคลวงในของวงการเมืองระดับสูงสุด จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของจีนในปี 2013 และกำลังนำเอาวิสัยทัศน์แบบนักสากลนิยมที่ห้าวหาญซึ่งมุ่งหวังที่จะบูรณาการเศรษฐกิจของเอเชีย, แอฟริกา, และยุโรปเข้าด้วยกัน โดยผ่านการลงทุนอย่างใหญ่โตมโหฬารในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในที่สุดแล้วจะสามารถขยายและแผ่กว้างระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ ภายหลังช่วงเวลาสั้นๆ แห่งการฝึกงานทางการเมืองในฐานะเป็นผู้ป่าวประกาศทฤษฎีสมคบคิด [2] ก็ได้ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2017 ในฐานะนักชาตินิยมเชิดชู “อเมริกาเฟิร์สต์” ผู้กระตือรือร้น ซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจที่จะก่อกวนหรือกระทั่งทุบทำลายระเบียบระหว่างประเทศเดิมที่อเมริกันเป็นผู้สร้างขึ้นมาและยังคงอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบงำ ทว่าตัวทรัมป์แสดงรังเกียจเหยียดหยาม เนื่องจากเข้าใจไปว่ากำลังเป็นเครื่องจำกัดขัดขวางความแข็งแกร่งของประเทศชาติของเขา

ถึงแม้ในภาพรวม ประเทศทั้งสองเริ่มต้นย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นี้ด้วยความมีมิตรไมตรีต่อกัน แต่ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ จีนกับสหรัฐฯกลับมีความเคลื่อนไหวมุ่งไปสู่การแข่งขันชิงดีกันทางการทหาร และเกิดความขัดแย้งกันทางเศรษฐกิจอย่างเปิดเผย เมื่อตอนที่จีนได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ในปี 2001 วอชิงตันมีความเชื่อมั่นว่าปักกิ่งจะเล่นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีการกำหนดจัดวางเอาไว้แล้ว และกลายเป็นสมาชิกผู้โอนอ่อนยอมตามรายหนึ่งของประชาคมระหว่างประเทศที่นำโดยอเมริกา ในตอนนั้นดูเหมือนแทบไม่ได้มีความตระหนักรับรู้ [3] กันเอาเสียเลยว่า อาจจะเกิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง ในเมื่อหนึ่งในห้าของมนุษยชาติได้เข้าร่วมในระบบโลกในฐานะผู้มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจรายหนึ่งเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลา 500 ปี

เมื่อถึงเวลาที่ สี จิ้นผิง กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ของจีน ระยะเวลา 1 ทศวรรษแห่งการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วว่องไวด้วยอัตราเฉลี่ย 11% ต่อปี และการมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศพุ่งพรวดจนไปสู่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนในพื้นพิภพนี้ ก็ได้ก่อเกิดศักยภาพทางเศรษฐกิจอันมหึมามหาศาลสำหรับการปรับเปลี่ยนดุลอำนาจของทั่วโลกอย่างรวดเร็วและอย่างรุนแรง เพียงไม่กี่เดือนที่อยู่ในตำแหน่ง สีเริ่มต้นอาศัยทุนสำรองที่มีมากมายเหล่านี้มาเปิดตัวเกมทางภูมิรัฐศาสตร์อันห้าวหาญ นับเป็นการท้าทายอย่างแท้จริงต่อฐานะของสหรัฐฯที่เป็นผู้ครอบงำเหนือมหาทวีปยูเรเชียตลอดจนส่วนอื่นๆ ของโลกที่อยู่เลยไกลไปจากนั้น แต่ว่าด้วยความอิ่มเอิบเปล่งปลั่งในฐานะของตนที่เป็นอภิมหาอำนาจเพียงรายเดียวของโลกเรื่อยมา ภายหลังจากเป็น “ผู้ชนะ” ในสงครามเย็นแล้ว ตอนแรกๆ วอชิงตันจึงดูมีความยากลำบากทีเดียวแม้กระทั่งในการบังเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นจริงระดับโลกที่กำลังมีการพัฒนาใหม่ๆ เช่นนั้นขึ้นมา และมีความเชื่องช้าอืดอาดในการตอบโต้รับมือ

จังหวะเวลาในการก้าวเข้ามาแข่งขันประลองฝีมือของจีน คงจะไม่สามารถเหมาะเจาะเหมาะเหม็งได้ยิ่งกว่านี้อีกแล้ว โดยที่วอชิงตันหลังจากครองฐานะเป็นเจ้าใหญ่ของพื้นพิภพมาเป็นเวลาร่วมๆ 70 ปี ฐานะครอบงำเศรษฐกิจโลกของพวกเขาก็ได้เริ่มจางคลายเรียวเล็กลงไป และกำลังแรงงานของอเมริกาซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในระดับเหนือชั้นอย่างมากๆ ก็ได้สูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันไปเยอะ อันที่จริงแล้ว เมื่อถึงปี 2016 กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจซึ่งก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนโยกย้ายไปหาสถานที่ตั้งใหม่ๆ พร้อมๆ กับที่อเมริกันสูญเสียฐานะในการเป็นผู้ครอบงำโลกของตนเองไปด้วย ได้จุดชนวนให้บรรดาผู้ได้รับบาดเจ็บจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ลุกฮือก่อกบฎขึ้นในประเทศประชาธิปไตยต่างๆ ทั่วโลก ตลอดจนในดินแดนใจกลางของอเมริกา และนำพาเอา โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ประกาศตัวเองเป็น “นักประชานิยม” ขึ้นสู่อำนาจ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสกัดกั้นการถดถอยเสื่อมทรุดของประเทศชาติของเขา ทรัมป์ได้ต้อนรับนำเอานโยบายการต่างประเทศแบบแข็งกร้าวและสร้างความแตกแยกเข้ามาใช้ ซึ่งกำลังสร้างความเดือดดาลให้แก่เหล่าพันธมิตรที่สหรัฐฯได้เคยฟูมฟักผูกพันมาอย่างยาวนานทั้งในเอเชียและยุโรป และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากำลังกลายเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นใหม่ๆ ให้แก่ความถดถอยเสื่อมทรุดดังกล่าว

ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ทรัมป์ก้าวเข้าไปนั่งทำงานในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ของทำเนียบขาว โลกก็ได้เป็นพยานเรียบร้อยแล้วถึงความเป็นปรปักษ์ที่ตัดแย้งกันอย่างชัดเจนเหลือเกิน ระหว่าง สี ผู้ออกมาสนับสนุนรูปแบบใหม่ของการประสานงานร่วมมือกันในระดับโลก กับ ทรัมป์ผู้เสนอลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจในเวอร์ชั่นของตัวเอง และในกระบวนการดังกล่าวนี้ มนุษยชาติดูเหมือนจะกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงขณะแห่งประวัติศาสตร์อันพบเห็นได้ยากยิ่ง เมื่อความเป็นผู้นำในระดับชาติและสภาพแวดล้อมในระดับโลกกำลังก่อให้เกิดช่องทางเปิดกว้างสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรูปร่างลักษณะของระเบียบโลก

นโยบายการต่างประเทศที่ก่อความแตกแยกไปทั่วของ โดนัลด์ ทรัมป์

ถึงแม้กองกำลังผู้เชี่ยวชาญนโยบายการต่างประเทศในวอชิงตันพากันส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นผู้นำของ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ [4] แต่แทบไม่มีใครในหมู่คนเหล่านี้เลยซึ่งเข้าใจรู้ซึ้งว่าการกระทำของเขาส่งผลกระทบเต็มๆ ต่อรากฐานทางประวัติศาสตร์ของอำนาจในระดับโลกของอเมริกันขนาดไหน ระเบียบโลกที่วอชิงตันสร้างขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ตั้งอยู่บนสิ่งที่ผมเรียกว่า “ทวิลักษณ์ที่มีความซับซ้อนละเอียดอ่อนมาก” (delicate duality) กล่าวคือ การปกครองสูงสุดแบบจักรวรรดิของอเมริกันซึ่งประกอบด้วยอำนาจทางทหารอันดิบเถื่อนกับอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่งงานสมรสกับประชาคมของเหล่าชาติอธิปไตย, มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้หลักนิติธรรม และบริหารปกครองโดยผ่านพวกสถาบันระหว่างประเทศอย่างเช่น สหประชาชาติ และ องค์การการค้าโลก

แต่ในอีกด้านหนึ่งของทวิลักษณ์ดังกล่าว ซึ่งก็คือด้านที่เป็นการเมืองตามความเป็นจริง (realpolitik) วอชิงตันได้สร้างเครื่องมือกลไก 4 ชั้นขึ้นมา (ได้แก่ การทหาร, การทูต, เศรษฐกิจ, และการปฏิบัติการอย่างปิดลับซ่อนเร้น ) เพื่อผลักดันเดินหน้าเครือจักรภพระดับโลกซึ่งมีทั้งความมั่งคั่งร่ำรวยและทั้งอำนาจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในอดีตที่ผ่านมา เครื่องมือกลไกนี้ตั้งอยู่บนโครงข่ายฐานทัพทางทหารหลายร้อยแห่งในยุโรปและเอเชีย [5] ซึ่งทำให้สหรัฐฯกลายเป็นมหาอำนาจรายแรกในประวัติศาสตร์ที่มีฐานะครอบงำ (ถ้าหากไม่ถึงกับมีฐานะควบคุม) มหาทวีปยูเรเชีย

แม้กระทั่งหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ซิกนิว เบรซินสกี (Zbigniew Brzezinski) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ก็ยังออกมาเตือน [6] ว่าวอชิงตันจะสามารถเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นเหนือกว่าใครๆ ในโลกได้ ก็ต่อเมื่อยังคงรักษาฐานะครอบงำทางภูมิรัฐศาสตร์เหนือยูเรเชียเอาไว้ได้เท่านั้น อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษก่อนหน้าทรัมป์ได้รับการเลือกตั้ง มีสัญญาณหลายๆ ประการปรากฏให้เห็นเรียบร้อยแล้วว่า ความเป็นเจ้าผู้ครอบงำโลกของอเมริกากำลังอยู่ในวงโคจรขาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ส่วนแบ่งในอำนาจทางเศรษฐกิจโลกของอเมริกาได้ตกฮวบจากระดับ 50% เมื่อปี 1950 ลงมาเหลือแค่ 15% ในปี 2017 [7] เวลานี้มีคำพยากรณ์ทางการเงินจำนวนมากซึ่งคาดการณ์ [8] ว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นไปเป็นระบบเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกได้ภายในปี 2030 ถ้าหากไม่สามารถทำได้ก่อนหน้านั้นเสียอีก

ในยุคสมัยแห่งความเสื่อมถอยนี้ เมื่อพิจารณาจากกระแสกระหน่ำทวิตเตอร์และการพูดจาแบบฉับพลันอย่างไม่ได้มีการเตรียมตัวไว้ก่อนของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว เราสามารถมองเห็นได้อย่างน่าประหลาดถึงวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของอเมริกาในระเบียบโลกปัจจุบันนี้ โดยเป็นวิสัยทัศน์ซึ่งทั้งมีความสอดคล้องต่อเนื่องกันและก็ทั้งช่างขึงขังเลวร้าย แทนที่ทรัมป์จะสามารถขึ้นครองอำนาจสืบต่อไปอย่างมั่นอกมั่นใจเหนือประดาองค์การระหว่างประเทศ, กลุ่มพันธมิตรพหุภาคี, และเศรษฐกิจที่ถูกครอบงำโดยโลกาภิวัตน์ กลับมีหลักฐานอันชัดเจนแสดงว่าเขามองเห็นภาพอเมริกาเวลานี้อยู่ในสภาพกำลังยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพัง และถูกโอบล้อมอยู่ในโลกที่มีแต่ความลำบากยุ่งยากมากขึ้นทุกที อเมริกากำลังถูกขูดรีดเอาเปรียบจากพวกพันธมิตรซึ่งมุ่งแสวงหาประโยชน์ของพวกเขาเอง, กำลังถูกกระหน่ำตีด้วยเงื่อนไขทางการค้าที่ไร้ความเท่าเทียม, กำลังถูกคุกคามจากกระแสคลื่นของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ, และกำลังถูกทรยศหักหลังจากพวกชนชั้นนำซึ่งมุ่งรับใช้ตัวเอง แถมขี้ขลาดตาขาวหรือขี้แพ้อ่อนแอเกินกว่าจะพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ

แทนที่ทรัมป์จะเดินหน้าสืบต่อพวกข้อตกลงการค้าพหุภาคี อย่างเช่น ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA), ความตกลงหุ้นส่วนภูมิภาคแปซิฟิก (TPP), หรือแม้กระทั่งองค์การการค้าโลก (WTO) เขากลับนิยมชมชื่นในข้อตกลงแบบทวิภาคี โดยเฉพาะที่จะมีการเจราทำความตกลงกันใหม่เพื่อให้สหรัฐฯเป็นผู้ที่ได้เปรียบ (อย่างน้อยที่สุดก็ในความคิดเห็นของเขา) แทนที่จะพึงพอใจเมื่อถูกแวดล้อมไปด้วยเหล่าชาติพันธมิตรประชาธิปไตยของอเมริกา เป็นต้นว่าแคนาดาและเยอรมนี เขากลับกำลังพยายามหันไปถักร้อยสร้างโครงข่ายความผูกพันส่วนตัวกับประดาผู้นำซึ่งยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเป็นนักชาตินิยมและผู้เผด็จการ ทว่าเป็นผู้นำประเภทซึ่งตัวเขาเองนิยมยกย่อง อันได้แก่ วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย, วิกตอร์ ออร์บัน (Viktor Orbán) แห่งฮังการี, นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) แห่งอินเดีย, อาเดล ฟาตะห์ เอล-ซิซี (Adel Fatah el-Sisi) แห่งอียิปต์, และมกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมัน (Crown Prince Mohammad bin Salman) แห่งซาอุดีอาระเบีย

แทนที่จะสานต่อมิตรไมตรีกับกลุ่มพันธมิตรเก่าแก่อย่างเช่นองค์การนาโต้ ทรัมป์กลับชื่นชอบแนวร่วมหลวมๆ ซึ่งประกอบไปด้วยพวกประเทศที่มีความคิดคล้ายๆ กับเขา จากที่เขามองเห็นภาพนั้น อเมริกาที่เขาจะกลับพลิกฟื้นคืนพลังขึ้นมาอีกครั้งนั้น จะนำพาเอาโลกเดินตามไปด้วย ขณะที่ทำการบดขยี้พวกผู้ก่อการร้ายและทำความตกลงกับพวกรัฐอันธพาลอย่างอิหร่านและเกาหลีเหนือได้สำเร็จ ด้วยหนทางซึ่งมีลักษณะพิเศษส่วนตัวในแบบของเขา

วิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ ปรากฏออกมาเป็นคำแถลงที่สมบูรณ์ที่สุดในเอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ของคณะบริหารของเขา ซึ่งเผยแพร่ออกมาในเดือนธันวาคม 2017 [9] เอกสารฉบับนี้วาดภาพว่า ในตอนที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ประเทศชาติต้องเผชิญกับ “โลกที่มีอันตรายอย่างมากมายเป็นพิเศษ อุดมไปด้วยภัยคุกคามต่างๆ หลากหลายกว้างขวาง” แต่แล้วภายในเวลาไม่ถึง 1 ปีใต้การนำพาของเขา เอกสารนี้ระบุว่า “เราก็ได้สร้างมิตรภาพของเราขึ้นมาใหม่ในตะวันออกกลาง ... เพื่อช่วยผลักดันขับไสพวกผู้ก่อการร้ายและพวกสุดโต่ง ... เวลานี้บรรดาชาติพันธมิตรของอเมริกากำลังมีคุณูปการเพิ่มมากขึ้นต่อการป้องกันร่วมของพวกเรา กำลังเพิ่มความเข้มแข็งมากขึ้นอีกให้แก่กลุ่มพันธมิตรของพวกเรา แม้กระทั่งกลุ่มพันธมิตรซึ่งมีความแข็งแกร่งที่สุดอยู่แล้ว” มนุษยชาติจะได้รับประโยชน์จาก “วิสัยทัศน์อันสวยงาม” ของประธานาธิบดีผู้นี้ ซึ่งถือว่า “ถืออเมริกาต้องมาเป็นอันดับแรก” และส่งเสริมสนับสนุน “ดุลอำนาจชนิดที่ทำให้สหรัฐฯเป็นฝ่ายได้เปรียบ” กล่าวโดยสรุปคือ ทั่วทั้งโลกจะ “กระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้นจากการฟื้นคืนพลังขึ้นมาใหม่ของอเมริกา”

แต่ทั้งๆ ที่มีการกล่าวอ้างด้วยถ้อยคำโวหารแสนยิ่งใหญ่มลังเมลืองเช่นนี้ ปรากฏว่าเที่ยวการเดินทางไปต่างแดนของประธานาธิบดีทรัมป์แต่ละเที่ยว กลับกลายเป็นภารกิจแห่งการทำลายสร้างความเสียหายเมื่อพิจารณาในแง่ของอำนาจระดับโลกของอเมริกาแล้ว มันดูเหมือนกับว่าในการเดินทางของเขาแต่ละเที่ยว มีการวางแผนเอาไว้เพื่อสร้างความแตกแยกและก่อความเสียหายเท่าที่เป็นไปได้ต่อกลุ่มพันธมิตรทั้งหลายของอเมริกา ซึ่งได้เคยเป็นรากฐานแห่งการครองอำนาจระดับโลกของวอชิงตันมาโดยตลอดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา

ระหว่างการเดินทางไปเยือนต่างประเทศเที่ยวแรกในฐานะเป็นประธานาธิบดีของเขาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 เขารีบออกปากส่งเสียงแสดงความไม่พอใจ [10] ต่อเรื่องที่เขากล่าวหาว่าพวกพันธมิตรยุโรปของวอชิงตันปฏิเสธไม่ยอมควักกระเป๋าช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านการการทหารของนาโต้ใน “สัดส่วนที่เป็นธรรม” แต่ปล่อยให้สหรัฐฯต้องเป็นคนเคลียร์บิลเหล่านี้ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังประพฤติตนในสิ่งที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีอเมริกันคนไหนทำมาก่อนเลย นั่นคือปฏิเสธไม่ยอมแม้กระทั่งออกปากรับรองหลักการแห่งการร่วมกันป้องกัน (collective defense) ซึ่งถือเป็นหลักการหัวใจขององค์การนาโต้ จุดยืนเช่นนี้ของทรัมป์ถือเป็นสิ่งที่สุดโต่งอย่างมากๆ เมื่อพิจารณาจากสภาพของการเมืองโลกในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ในเวลาต่อมาเขาถูกบีบบังคับให้ต้องยอมลดราวาศอกในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ [11] ทว่าเมื่อถึงตอนนั้นเขาก็ได้แสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามพวกชาติพันธมิตรเหล่านี้ในลักษณะที่ไม่มีทางลืมเลือนกันได้เสียแล้ว

ระหว่างการเดินทางไปเยือนนาโต้ครั้งที่ 2 ซึ่งก็ก่อให้เกิดความแตกแยกไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลยเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2018 นี้ เขาได้กล่าวหาเยอรมนีว่าเป็น “เชลยของรัสเซีย” [12] และบังคับกดดันให้ชาติพันธมิตรนาโต้ต้องยอมรับพันธะในการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของพวกเขาขึ้นไปอีกเท่าตัวทันที [13] นั่นคือไปสู่ระดับเท่ากับ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (อันเป็นระดับที่แม้กระทั่งวอชิงตันก็ไม่เคยไปถึง ทั้งๆ ที่มีงบประมาณรายจ่ายให้แก่กระทรวงกลาโหมอย่างมากมายมหาศาลนี่แหละ [14]) ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ว่าข้อเรียกร้องเช่นนี้ได้ถูกพวกชาติพันธมิตรนาโต้ทั้งหมดเพิกเฉยไม่แยแสให้ความสนใจ จากนั้นในอีกไม่กี่วันต่อมา เขาก็กลับตั้งคำถามต่อไอเดียเรื่องการร่วมป้องกันขึ้นมาอีกครั้ง โดยตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากชาติพันธมิตรนาโต้ “รายเล็กๆ” อย่าง มอนเตเนโกร ตัดสินใจที่จะ “กระทำการอย่างก้าวร้าว” แล้วละก้อ “ขอแสดงความยินดีด้วย คุณตกเข้าไปอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 3 เรียบร้อยแล้ว”[15]

ครั้นเมื่อเดินทางต่อไปที่อังกฤษ ทรัมป์ก็รีบเตะตัดขาพันธมิตรผู้ใกล้ชิดอย่าง เทเรซา เมย์ โดยบอกกับหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ของอังกฤษฉบับหนึ่ง [16] ว่า นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษผู้นี้ดำเนินการผิดพลาดย่ำแย่มากในเรื่อง “เบร็กซิต” การนำประเทศของเธอถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และ “เข่นฆ่าสังหารโอกาสที่จะทำข้อตกลงการค้าอันสำคัญใดๆ กับสหรัฐฯ” จากนั้นเขาก็ไปที่กรุงเฮลซิงกิ เพื่อประชุมซัมมิตกับวลาดิมีร์ ปูติน โดยเห็นได้ชัดว่าเขาแสดงความนอบน้อมอย่างมาก เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งการจองล้างจองผลาญองค์การนาโต้ผู้นี้ มันช่างงดงามสมบูรณ์แบบจนเพียงพอที่จะทำให้เกิดการประท้วงอย่างโกรธเกรี้ยวช่วงสั้นๆ จากพวกผู้นำในพรรครีพับลิกันของเขาเอง [17]

ในเดือนพฤศจิกายน 2017 ระหว่างที่ทรัมป์ออกตระเวนทัวร์เอเชียครั้งใหญ่ เขาได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมซัมมิตของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC) ซึ่งจัดขึ้นในประเทศเวียดนาม [18] โดยที่พูดขยายความประณามต่อต้านประดาข้อตกลงการค้าพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การ WTO ทรัมป์บอกว่าเพื่อต่อต้านกับสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็น “การประพฤติปฏิบัติอย่างมิชอบในด้านการค้า” จนไม่อาจอดทนอดกลั้นได้ เป็นต้นว่า “การใช้สินค้าทุ่มตลาด, การใช้มาตรการอุดหนุนเข้าช่วยเหลือสินค้าชนิดต่างๆ, การปั่นค่าเงินตรา, และการใช้นโยบายทางอุตสาหกรรมที่มุ่งปล้นชิงขโมยจากคนอื่น” เขาสาบานว่าเขาจะ “ผลักดันให้ถืออเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง” เสมอไป และจะไม่ยอมปล่อยปละให้อเมริกา “ถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไปแล้ว” ในขณะที่บรรเลงเพลงสวดว่าด้วยการล่วงละเมิดทางการค้า ซึ่งเขาพรรณนาว่าไม่ได้แตกต่างจาก “การรุกรานทางเศรษฐกิจ” ต่ออเมริกาอยู่นั้น เขาก็เชิญชวนทุกๆ ฝ่ายทุกๆ คนให้เข้าร่วมในโลกแห่ง “ความฝันอินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific dream) ของเขา [19] ซึ่งจะเป็น “กลุ่มดาวอันสวยสดงดงาม” ที่ประกอบไปด้วย “ชาติเอกราชต่างๆ ที่เข้มแข็ง, มีอธิปไตย” แต่ละชาติต่างกำลังทำงานเหมือนๆ กันกับสหรัฐฯ ในการสร้าง “ความมั่งคั่งและเสรีภาพ” ขึ้นมา

จากการที่มหาอำนาจซึ่งกำลังเป็นผู้นำของพื้นพิภพ กลับแสดงออกถึงลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจอันคับแคบเช่นนี้ สี จิ้นผิง จึงได้โอกาสอันสมบูรณ์พร้อมสำหรับการตอบโต้ ด้วยการการเข้าบทบาทแสดงตนเป็นรัฐบุรุษของโลก และเขาก็เข้าฉวยคว้าโอกาสดังกล่าวอย่างหนักแน่นมั่นคง เขาเรียกร้อง [20] เอเปกให้สนับสนุนระเบียบทางเศรษฐกิจซึ่ง “เปิดกว้างยิ่งขึ้น, ให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น, และมีความสมดุลยิ่งขึ้น” เขาพูดถึงแผนการต่างๆ ทางเศรษฐกิจในอนาคตของจีน ในฐานะที่เป็นความพยายามอันทรงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อไปสู่ “การพัฒนาที่มีการเชื่อมโยงประสานกัน และบรรลุความมั่งคั่งรุ่งเรืองร่วมกัน … ทั้งในทวีปเอเชีย, ยุโรป, และแอฟริกา”

เหมือนกับที่จีนได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 60 ล้านคนของตัวเองให้พ้นจากระดับความยากจนได้สำเร็จแล้วในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี อีกทั้งยังกำลังมุ่งมั่นให้สัญญาที่จะกำจัดความยากจนให้หมดสิ้นไปจากแดนมังกรภายในปี 2020 ดังนั้นเขาจึงเรียกร้องให้มีระเบียบโลกซึ่งมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น “เพื่อนำเอาผลประโยชน์ต่างๆ ของการพัฒนาไปสู่ประเทศต่างๆ ตลอดทั่วทั้งพิภพ” สำหรับในส่วนของแดนมังกรเองนั้น เขาให้ความมั่นใจแก่ผู้ฟังของเขาว่า จีนพร้อมแล้วที่จะ “ทำการลงทุนนอกประเทศเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์” --โดยจำนวนมากเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาของยูเรเชียและแอฟริกา (แน่นอนทีเดียวว่าการลงทุนอย่างมากมายเช่นนี้ ยังจะทำให้อาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้มีความใกล้ชิดแนบแน่นกับจีนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย) พูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า มันเป็นคำปราศรัยของประธานาธิบดีจีนในเวอร์ชั่นยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งช่างเหมือนกับคำพูดของประธานาธิบดีอเมริกันแห่งยุคศตวรรษที่ 20 เหลือเกิน ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับประพฤติปฏิบัติตัวคล้ายๆ กับอดีตประธานาธิบดีฮวน เปรอง (Juan Perón) แห่งอาร์เจนตินา [21] มากกว่า ยกเว้นแต่ไม่ได้มีเหรียญตรามากมายประดับประดาที่หน้าอกเสื้อเท่านั้น สิ่งที่เหมือนกับการตอกตะปูอีกตัวหนึ่งปิดฝาโลงศพแห่งฐานะครอบงำโลกของอเมริกัน ก็คือ พวกชาติหุ้นส่วนในข้อตกลงการค้าภูมิภาคแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่เหลืออยู่อีก 11 ราย นำโดยญี่ปุ่นและแคนาดา ได้ประกาศในระหว่างการประชุมซัมมิตเอเปกคราวนี้ว่า มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญในการผลักดันจัดทำข้อตกลงฉบับนี้ในขั้นสุดท้าย [22] –โดยที่ไม่มีสหรัฐฯเข้าร่วม

ไม่เพียงองค์การนาโต้เท่านั้นที่กำลังถูกบ่อนทำลายให้ยับเยินลงไป การเป็นพันธมิตรกับชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของอเมริกา ซึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมัน ได้ทำหน้าที่เป็นจุดค้ำจุนรองรับน้ำหนักในการคุ้มครองป้องกันภูมิภาคอเมริกาเหนือ และในการช่วยเหลือให้สหรัฐฯมีฐานะครอบงำเอเชีย เวลานี้ก็กำลังเสื่อมทรุดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ได้แก่ การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าระหว่างนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการพบปะหารือเป็นส่วนตัวถึง 10 ครั้ง และมีการพูดจากันทางโทรศัพท์อยู่บ่อยครั้ง ในตลอดช่วงเวลา 18 เดือนแรกแห่งการเข้าดำรงตำแหน่งของฝ่ายหลัง แต่นโยบายการค้าแบบอเมริกาต้องมาเป็นอันดับหนึ่งของทรัมป์ ก็ก่อให้เกิด “ความขึงตึงอย่างสำคัญ” [23] ในความเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกลุ่มพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของวอชิงตันในภูมิภาคแถบนี้ ประการแรกเลยก็คือ ทรัมป์ไม่แยแสสนใจต่อการขอร้องของอาเบะ [24] และยังคงเดินหน้ายกเลิกไม่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ TPP ไม่เพียงแค่นั้น มันเหมือนกับว่าเขายังส่งข้อความออกมาไม่ชัดเจนเพียงพอ ทรัมป์ยังได้เร่งประกาศขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรอย่างหนักหน่วงต่อเหล็กกล้าญี่ปุ่นซึ่งนำเข้าอเมริกาอีกด้วย [25] ในทำนองเดียวกัน เขาก็ได้กล่าวประณามนายกรัฐมนตรีแคนาดาว่า “ไม่ซื่อสัตย์” [26] และพูดล้อเลียนสำเนียงพูดของนายกรัฐมนตรีโมดีแห่งอินเดีย [27] ถึงแม้ว่าในเวลาใกล้เคียงกันนั้น เขาได้แสดงความสนิทสนมกับ คิม จองอึน ผู้เผด็จการแห่งเกาหลีเหนือ แถมกล่าวอ้าง [28] อย่างไม่ถูกต้อง [29] ว่า เกาหลีเหนือ “ไม่ได้เป็นภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ (ของอเมริกา) อีกต่อไปแล้ว”

ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการเสริมเติมเข้าไปในสูตรแห่งการเสื่อมโทรมถดถอยต่อไปด้วยฝีก้าวที่รวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

มหายุทธศาสตร์ของปักกิ่ง

ในเวลาเดียวกับที่อิทธิพลของวอชิงตันในเอเชียกำลังถอยหลังลงเรื่อยๆ นั้น อิทธิพลของปักกิ่งกลับกำลังเติบใหญ่ขยายตัวเข้มแข็งขึ้นทุกที ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนไต่ระดับขึ้นไปอย่างรวดเร็วจาก 200,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2001 จนถึงขีดสูงสุดอยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2014 [30] ประธานาธิบดีสีก็ได้เปิดตัวแผนการริเริ่มใหม่ที่จะมีการนำเข้าอย่างมากมายมหาศาลเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้เมื่อเดือนกันยายน 2013 ขณะไปกล่าวปราศรัยในคาซัคสถาน ดินแดนหัวใจของเส้นทางที่กองคาราวานเคลื่อนไปตาม “เส้นทางสายไหม” ตั้งแต่ยุคโบราณ เขาก็ประกาศ “แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (one belt, one road initiative) [31] ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะบูรณาการเชื่อมโยงผืนแผ่นดินอันใหญ่โตมโหฬารของยูเรเชียเข้าไว้ด้วยกันโดยที่มีปักกิ่งเป็นผู้นำ เขาเสนอว่า โดยผ่าน “การค้าที่ไร้อุปสรรคเครื่องกีดขวาง” และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน มันมีความเป็นไปได้ที่จะติดต่อเชื่อมโยง “มหาสมุทรแปซิฟิกกับทะลบอลติก” ด้วยการสร้างพื้นที่แถบเศรษฐกิจไปตามเส้นทางสายไหม” โดยที่อาณาบริเวณนี้รวมแล้วจะ “มีจำนวนประชากรเกือบๆ 3,000 ล้านคน” เขาทำนายว่า นี่จะกลายเป็น “ตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีศักยภาพอันมหาศาลชนิดที่ไม่มีสิ่งใดสามารถเทียบเคียงได้”

ภายในเวลาเพียง 1 ปี ปักกิ่งก็ได้จัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) [32] ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 56 ราย และมีเงินทุนอันน่าประทับใจถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็เปิดตัว “กองทุนเส้นทางสายไหม” (Silk Road Fund) ของตนเองมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้าลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มีศักยภาพเติบโต (private equity) [33] เมื่อตอนที่จีนจัดการประชุมครั้งใหญ่ที่ปักกิ่งเรียกว่า “การประชุมสุดยอดแถบและเส้นทาง” (belt and road summit) ซึ่งมีผู้นำโลก 28 คนเข้าร่วม ณ กรุงปักกิ่งในเดือนพฤษภาคม 2017 สีก็สามารถกล่าวยกย่องชมเชยแผนการริเริ่มของเขานี้ว่าเป็น “โครงการแห่งศตวรรษนี้” [34] ซึ่งถือว่ามีเหตุผลดีทีเดียว

ถึงแม้สื่อสหรัฐฯมักบรรยายถึงโครงการต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของ สี จิ้นผิง ด้วยถ้อยคำเชิงลบอย่างเช่น สูญเปล่า [35], ฟุ่มเฟือย [36], มุ่งขูดรีดหาประโยชน์ [37], หรือกระทั่ง เป็นลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ [38] แต่แค่ดูจากขนาดและขอบเขตของแผนการริเริ่มนี้เพียงประการเดียวก็เพียงพอแล้วที่เราจะต้องเข้าไปพินิจพิจารณากันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เป็นที่คาดหมายกันว่าปักกิ่งจะใส่เงินจำนวนมหาศาลถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์เข้าไปในความริเริ่มนี้ภายในปี 2027 [39] นับเป็นการลงทุนอย่างใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทีเดียว มากกว่า 10 เท่าตัวของแผนการมาร์แชล (Marshall Plan) อันมีชื่อเสียงของอเมริกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพียงโครงการเดียวเท่านั้นที่สามารถนำมาเปรียบเทียบคู่เคียงได้ โดยที่โครงการหลังนี้มีการใช้จ่ายสูงกว่า 110,000 ล้านดอลลาร์เล็กน้อย [40] (เมื่อคำนวณโดยปรับตัวเลขตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว) เพื่อฟื้นฟูบูรณะยุโรปที่เสียหายยับเยินภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เงินกู้เพื่อโครงสร้างพื้นฐานต้นทุนต่ำ [41] ของปักกิ่งซึ่งให้แก่ 70 ประเทศจากทะเลบอลติกไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังมีบทบาทให้การสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อสร้างท่าเรือซึ่งมีความแออัดคึกคักที่สุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นั่นคือที่เมืองไพรีอัส ประเทศกรีซ [42], โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหญ่ในอังกฤษ, ทางรถไฟมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ที่ตัดผ่านบริเวณเขตเขาของลาว [43], และระเบียงการคมนาคมขนส่งมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งสร้างไปตามแนวยาวของปากีสถาน [44] การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ถ้าหากประสบความสำเร็จ ย่อมช่วยถักร้อยประสานยุโรปและเอเชีย สองทวีปที่มีพลวัต (โดยรวมกันแล้วมีจำนวนประชากรคิดเป็น 70% ของพลโลกทีเดียว รวมทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรต่างๆ) เข้าเป็นตลาดที่เป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างที่ไม่มีที่อื่นบนพิภพนี้เทียบเคียงได้

เบื้องลึกลงไปของกองฝุ่นที่ปลิวว่อนและคอนกรีตซึ่งกำลังไหลทะลักทลาย คณะผู้นำจีนดูเหมือนจะมีแบบแปลนซึ่งมุ่งเอาชนะระยะทางอันห่างไกลที่เคยเป็นตัวแยกเอเชียกับยุโรปออกจากกันมาโดยตลอดยุคประวัติศาสตร์ ในตอนเริ่มต้นเลย ปักกิ่งลงมือสร้างเครือข่ายอันสลับซับซ้อนของสายท่อส่งก๊าซและสายท่อส่งน้ำมันข้ามทวีป เพื่อนำเอาเชื้อเพลิงเหล่านี้ออกมาจากไซบีเรียและเอเชียกลาง เข้าไปยังศูนย์กลางทางประชากรแห่งต่างๆ ของจีนเอง เมื่อระบบนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว มันก็จะกลายเป็นโครงข่ายพลังงานภาคพื้นดินข้ามทวีป (โดยต้องนับรวมเครือข่ายสายท่อส่งอันใหญ่โตแผ่กว้างของรัสเซียด้วย) ที่จะมีความยาวเหยียดและแผ่สยายเป็นระยะทาง 6,000 ไมล์ตลอดทั่วทั้งยูเรเชีย ตั้งแต่แอตแลนติกเหนือไปจนถึงทะเลจีนใต้ ถัดจากนั้น ปักกิ่งก็ดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟที่กว้างขวางของยุโรป เข้ากับระบบทางรถไฟความเร็วสูงซึ่งขยายออกไปมากแล้วของแดนมังกรเอง โดยอาศัยเส้นทางรถไฟข้ามทวีปที่ผ่านเอเชียกลาง และเสริมด้วยเส้นทางเชื่อมสาขาหลายๆ เส้น ซึ่งวิ่งลงใต้ไปจนถึงสิงคโปร์ และไปทางตะวันตกเฉียงใต้โดยผ่านปากีสถาน

สุดท้าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การขนส่งทางทะเลรอบๆ ริมฝั่งด้านใต้ที่แผ่ออกไปอย่างกว้างขวางทวีปนี้ จีนก็ได้ดำเนินการซื้อหาหรือไม่ก็กำลังอยู่ในกระบวนการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านท่าเรือรวมเป็นจำนวนมากกว่า 30 แห่ง [45] ไล่ตั้งแต่บริเวณช่องแคบมะละกา ข้ามมหาสมุทรอินเดีย, ไปรอบๆแอฟริกา, และไปตามแนวชายฝั่งอันแผ่สยายของยุโรป [46] ไม่เพียงเท่านั้น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อใช้ประโยชน์จากน่านน้ำของอาร์กติกซึ่งสามารถเปิดการเดินเรือได้มากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ปักกิ่งได้เริ่มวางแผนการสำหรับ “เส้นทางสายไหมขั้วโลก” (Polar Silk Road) [47] ถือเป็นแผนซึ่งเข้ากันได้ดีกับพวกโครงการอันทะเยอทะยานของรัสเซีย [48] และสแกนดิเนเวีย [49] ที่จะสถาปนาเส้นทางขนส่งทางทะเลที่สั้นลง รอบๆ ชายฝั่งตอนเหนือของยูเรเชียไปยังยุโรป

ถึงแม้ยูเรเชียคือจุดโฟกัสสำคัญที่สุดของแดนมังกร แต่จีนก็กำลังแสวงหาหนทางเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแอฟริกาและละตินอเมริกาด้วย เพื่อสร้างสิ่งที่อาจจะตั้งฉายาให้ว่า ยุทธศาสตร์แห่ง 4 ทวีป (strategy of the four continents) เพื่อผูกพันแอฟริกาเข้าไว้ในเครือข่ายยูเรเชียที่วางโครงการเอาไว้แล้วของตน ปักกิ่งได้เพิ่มการค้ากับทวีปนั้นขึ้นเป็นสองเท่าตัวจนอยู่ในระดับ 222,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 [50] ซึ่งเท่ากับสามเท่าตัวของการค้าที่สหรัฐฯทำกับกาฬทวีปทีเดียว ทั้งนี้ต้องขอบคุณการที่ปักกิ่งทุ่มเทเงินทุนเข้าไปอย่างมหาศาลโดยคาดหมายกันว่าจะไปถึงขีด 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 เงินทุนดังกล่าวนี้จำนวนมากเป็นการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการประเภทสกัดขุดค้นสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งได้ทำให้แอฟริกากลายเป็นแหล่งที่มาของน้ำมันดิบที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีนไปเรียบร้อยแล้ว

ในทำนองเดียวกัน ปักกิ่งได้ลงทุนอย่างหนักในละตินอเมริกา [51] และกำลังครอบครองทรัพยากรต่างๆ ตัวอย่างเช่น เป็นผู้ควบคุมแหล่งน้ำมันดิบสำรองของเอกวาดอร์เอาไว้มากกว่า 90% ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ พาณิชยกรรมที่แดนมังกรทำกับทวีปนี้ได้เพิ่มเป็นสองเท่าตัวภายในเวลา 10 ปี โดยไปถึงระดับ 244,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 แซงหน้าการค้าของสหรัฐฯซึ่งทำกับทวีปที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่าเป็น “สนามหลังบ้าน” ของสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ

ความขัดแย้งที่มีผลพวงต่อเนื่อง

การแข่งขันชิงดีกันระหว่างลัทธิโลกนิยม (globalism) ที่ส่งเสริมเรื่องโลกาภิวัตน์ ของสี กับลัทธิชาตินิยมของทรัมป์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แวดวงของการถกเถียงทางไอเดียแนวความคิดที่ไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มหาอำนาจทั้งสองได้เข้าพัวพันเกี่ยวข้องทั้งในการเป็นปรปักษ์กันทางการทหารที่บานปลายขยายตัวออกไปเรื่อยๆ และในการแข่งขันกันทางการพาณิชย์อย่างโหดเหี้ยมทารุณ นอกเหนือจากการต่อสู้กันแบบแอบแฝงซ่อนเร้น [52] เพื่อแย่งชิงฐานะการเป็นผู้ครอบงำอวกาศและไซเบอร์สเปซ [53] แล้ว ยังมีการแข่งขันขยายแสนยานุภาพทางนาวีที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนและมีศักยภาพที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันคาดการณ์ล่วงหน้าได้ยากอีกด้วย ทั้งนี้ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเข้าควบคุมเส้นทางทะเลต่างๆ รอบๆ เอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ ในเอกสารสุดปกขาวฉบับหนึ่ง [54] ซึ่งออกมาเมื่อปี 2015 ปักกิ่งเน้นย้ำว่า “เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับจีนที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างกำลังทหารทางนาวีที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ส่วนกับความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติของตน” นอกจากหนุนหลังด้วยขีปนาวุธภาคพื้นดินที่มีอานุภาพร้ายแรง, เครื่องบินขับไล่, และระบบดาวเทียมที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกแล้ว จีนยังได้สร้างกองเรืออันทันสมัยดังกล่าวนี้ขึ้นมาโดยที่มีจำนวนเรือ 320 ลำ ในจำนวนนี้มีทั้งเรือดำน้ำ และเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของแดนมังกร

ภายในระยะเวลา 2 ปีมานี้ พลเรือเอก จอห์น ริชาร์ดสัน (Admiral John Richardson) ผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ (U.S. Chief of Naval Operations) ได้รายงาน [55] เอาไว้ว่า “กองเรืออันทันสมัยและเติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ” ของจีน กำลังทำให้ความได้เปรียบแต่ไหนแต่ไรมาของอเมริกันในแปซิฟิก “หดตัวลงเรื่อยๆ” พร้อมกับเตือนว่า “เราจะต้องขจัดร่องรอยใดๆ ของความพึงพอใจหรือความนิ่งนอนใจออกไปให้หมดสิ้น” ภายใต้งบประมาณด้านกลาโหมปีล่าสุดของทรัมป์ที่มีมูลค่ามากกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์ วอชิงตันก็ได้ตอบโต้ต่อการท้าทายนี้ด้วยโครงการเร่งด่วนที่จะต่อเรือใหม่ๆ 46 ลำ ซึ่งจะทำใหกองนาวีของสหรัฐฯมีจำนวนเรือรวมทั้งสิ้นเป็น 326 ลำภายในปี 2023[56] ขณะเดียวกับที่จีนกำลังสร้างฐานทัพเรือแห่งใหม่ๆ ที่สะพรั่งด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งในทะเลอาหรับ และทะเลจีนใต้ กองทัพเรือสหรัฐฯก็ได้เริ่มดำเนินการแล่นตรวจการณ์สำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ”ใกล้ๆ กับสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นของจีน จึงเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งกันขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในปริมณฑลพาณิชยกรรมว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากรต่างหาก ซึ่งการแข่งขันชิงดีกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนได้เคลื่อนตัวเข้าสู่การสู้รบขัดแย้งกันอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง ประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งประกาศความเชื่อของตัวเองที่ว่า “สงครามการค้าเป็นสิ่งที่ดีและสหรัฐฯเอาชนะได้อย่างง่ายดาย” [57] ได้ประกาศมาตรการเพิ่มพิกัดอัตราศุลกากรอย่างหนัก [58] มาแล้วหลายครั้งหลายหน โดยพุ่งเป้าหมายสำคัญที่สุดไปที่ประเทศจีน ทั้งด้วยการเล่นงานเหล็กกล้านำเข้าจากจีนเมื่อเดือนมีนาคม และจากนั้นอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมาก็ประกาศลงโทษพฤติการณ์ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศนั้นอีก ด้วยการให้สัญญาขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าเข้าของจีนมูลค่าอีก 50,000 ล้านดอลลาร์[59] ครั้นเมื่อภาษีศุลกากรเหล่านี้มีผลบังคับใช้จริงๆ ในที่สุดในเดือนกรกฎาคม จีนก็ได้ทำการตอบโต้ทันทีทันควัน [60] ต่อสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น “การข่มเหงรังแกทางการค้าตามแบบฉบับ” (typical trade bullying) ด้วยการขึ้นภาษีทำนองเดียวกันต่อสินค้าเข้าของสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ออกมาเตือนว่า การตอบโต้กันแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เช่นนี้สามารถบานปลายขยายตัวไปเป็น “สงครามการค้าเต็มรูปแบบ … ซึ่งจะเป็นเรื่องเลวร้ายมากสำหรับเศรษฐกิจโลก” [61] ขณะที่ทรัมป์ยังข่มขู่คุกคามที่จะเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้านำเข้าของจีนอีก 500,000 ล้านดอลลาร์ [62] และได้ตั้งข้อเรียกร้องที่ชวนสับสนและกระทั่งขัดแย้งกันเอง [63] ซึ่งทำให้ปักกิ่งไม่น่าจะสามารถกระทำตามได้ พวกผู้สังเกตการณ์จึงบังเกิดความวิตกกังวลว่าสงครามการค้าที่ทำท่าจะยืนยาวถาวรนี้ อาจจะสั่นคลอนเสถียรภาพของสิ่งที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เรียกว่า “ภูเขาแห่งหนี้สิน” ที่เป็นตัวประคับประคองเศรษฐกิจจำนวนมากของจีนเอาไว้ [64] ในกรุงวอชิงตัน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯซึ่งปกติใช้ท่าทีเคร่งขรึมไม่แสดงความคิดเห็นอะไรนัก ถึงกับต้องออกคำเตือนที่ไม่ธรรมดาระบุว่า “ความตึงเครียดทางการค้า … อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอันร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก” [65]

จีนจะกลายเป็นเจ้าครอบงำโลก?

ถึงแม้ว่าการเข้าถึงและครอบงำทั่วโลกของวอชิงตันกำลังเสื่อมสลายลงเรื่อยๆ อยู่แล้วในเวลานี้ โดยที่ได้รับแรงกระตุ้นและเป็นไปได้ด้วยว่าได้ถูกเร่งตัวทวีความเร็ว เนื่องจากการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ แต่รูปร่างลักษณะของระเบียบโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นยังคงไม่มีความชัดเจนเอาเลย ณ ปัจจุบัน จีนเป็นเพียงรัฐเดียวเท่านั้นซึ่งมีปัจจัยอันจำเป็นต่างๆ อยู่แน่ๆ ที่จะก้าวขึ้นเป็นเจ้ารายใหม่ของพิภพใบนี้ การที่แดนมังกรมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างพรวดพราดชนิดสร้างปรากฏการณ์ บวกกับการขยายตัวทางการทหารและความสามารถดีเยี่ยมทางเทคโนโลยีซึ่งกำลังเติบใหญ่ เหล่านี้ทำให้ประเทศนี้มีพื้นฐานต่างๆ อย่างเห็นได้ชัดเพื่อการขึ้นสู่สถานะความเป็นอภิมหาอำนาจ

กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือรัฐอื่นใดๆ ก็ดูเหมือนยังไม่ได้มีองค์ประกอบต่างๆ เพื่อเสริมเติมความยิ่งใหญ่อย่างสมบูรณ์เต็มพร้อม สำหรับการเข้าแทนที่สหรัฐฯในฐานะผู้นำที่มีฐานะครอบงำโลก นอกเหนือจากอิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจและทางการทหารที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว จีนก็คล้ายๆ กับรัสเซียผู้เป็นพันธมิตรของตนในบางครั้งบางคราว ตรงที่ว่ามีวัฒนธรรมแบบชอบยกยออ้างอิงตัวเองว่าเป็นเลิศ, มีโครงสร้างทางการเมืองซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย, และมีระบบกฎหมายที่ยังอยู่ระหว่างกำลังพัฒนา ซึ่งสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลเพื่อปฏิเสธได้ว่า ประเทศนี้ยังมีเครื่องมือกลไกหลักๆ บางส่วนที่ไม่พรักพร้อมสำหรับฐานะความเป็นผู้นำของโลก

ทั้งนี้นอกจากพื้นฐานต่างๆ ของความเป็นมหาอำนาจทางการทหารและทางเศรษฐกิจแล้ว โชยา ชัตเตอร์จี (Joya Chatterji) นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตั้งข้อสังเกต [66] ว่า “จักรวรรดิที่ประสบความสำเร็จทุกๆ ราย จำเป็นต้องมีวาทกรรมอันละเอียดประณีตซึ่งทั้งมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวางและก็เปิดให้ผู้คนในที่อื่นๆ เข้าร่วม” จึงจะสามารถชนะใจเรียกหาความสนับสนุนจากพวกรัฐบริวารต่างๆ ในโลกและเหล่าผู้นำของรัฐเหล่านี้ได้ การเปลี่ยนผ่านจากจักรวรรดิหนึ่งไปสู่อีกจักรวรรดิหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จนั้น นอกจากอาศัยแรงขับดันจากอำนาจปืนและอำนาจเงินอันแข็งกร้าวแล้ว ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการโน้มน้าวชักจูงทางวัฒนธรรมแบบอำนาจละมุนที่เป็นตัวชโลมปลุกปลอบใจบำรุงขวัญอีกด้วย จึงจะสามารถมีฐานะครอบงำโลกได้อย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จ สเปนนั้นสนับสนุนศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และลัทธิเชิดชูมรดกทางวัฒนธรรมภาษาสเปน (Hispanism), สำหรับจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) คือศาสนาอิสลาม, สหภาพโซเวียตคือลัทธิคอมมิวนิสต์, ฝรั่งเศสพึ่งพาวัฒนธรรมภาษาฝรั่งเศส, และอังกฤษก็อาศัยวัฒนธรรมภาษาอังกฤษ แท้ที่จริงแล้ว ระหว่างเวลาราวๆ 1 ศตวรรษแห่งการมีฐานะครอบงำโลก ประมาณจากปี 1850 ถึง 1940 อังกฤษถือเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของการใช้อำนาจละมุนดังกล่าวนี้ ด้วยการประกาศอย่างเปิดเผยถึงการใช้หลักการพื้นฐานทางวัฒนธรรมในเรื่องการแข่งขันอย่างยุติธรรม และตลาดเสรีมาเป็นเครื่องโน้มน้าวจูงใจ โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อไปถ้วนทั่วผ่านทางคริสตจักรแองกลิคัน (Anglican church), ภาษาอังกฤษ, และวัฒนธรรมอังกฤษ และโดยอาศัยประดิษฐกรรมซึ่งอันที่จริงแล้วคือการตอกย้ำหลักจริยธรรมยุคใหม่ (คริกเก็ต, ฟุตบอล, เทนนิส, รักบี้, และการแข่งขันเรือพาย) ในทำนองเดียวกัน ณ ยามรุ่งอรุณแห่งการขึ้นสู่ฐานะครอบงำโลกของสหรัฐฯนั้น ประเทศนี้ได้เกี้ยวพาพันธมิตรต่างๆ ทั่วโลกโดยอาศัยโปรแกรมทางอำนาจละมุนอย่างการส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตยและการพัฒนา สิ่งเหล่านี้ถูกปรุงแต่งให้มีรสชาติถูกปากถูกใจยิ่งขึ้นอีกด้วยมนตร์เสน่ห์ของสิ่งต่างๆ อย่างเช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด, องค์กรทางประชาสังคมอย่างเช่น โรตารีสากล [67], และกีฬาซึ่งเป็นที่นิยมของมวลชนอย่างเช่น บาสเกตบอล และเบสบอล

จีนไม่มีอะไรที่สามารถเทียบเคียงได้เลย ระบบการเขียนของแดนมังกรมีตัวอักษรถึงราว 7,000 ตัวไม่ใช่แค่ 26 ตัว อุดมการณ์คอมมิวนิสต์และวัฒนธรรมแบบมวลชนของแดนมังกรมีความชัดเจนโดดเด่นและกระทั่งเป็นที่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่ามีลักษณะเฉพาะตัวของจีนเอง แล้วคุณไม่ต้องมองหาไปไกลๆ เลยสำหรับตัวอย่างของมหาอำนาจเอเชียอีกรายหนึ่งซึ่งได้เคยพยายามสร้างฐานะครอบงำในย่านแปซิฟิกโดยปราศจากการอาบชโลมปลุกปลอบใจบำรุงขวัญของอำนาจละมุน กล่าวคือ ระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 [68] ปรากฏว่ากองทหารญี่ปุ่นได้แปรเปลี่ยนจากการได้รับการยกย่องเชิดชูในฐานะที่เป็นกองกำลังของผู้ปลดแอกภูมิภาคนี้จากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก กลายไปเป็นว่าได้ถูกก่อกบฏลุกฮือต่อต้านอย่างเปิดเผยไปทั่ว ภายหลังแดนอาทิตย์อุทัยประสบความล้มเหลวไม่สามารถโฆษณาชวนเชื่อให้บังเกิดความนิยมเชื่อถือในวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของพวกเขาได้

ในศตวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้มีหลายช่วงเวลาทีเดียวที่จีนหรือรัสเซียได้เคยมีฐานะเป็นรัฐทรงอำนาจทางการทหาร-เศรษฐกิจ ทว่าพวกเขาก็ไม่เคยพัฒนาระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระหรือระบบการบริหารปกครองอย่างเป็นอิสระที่อิงอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์ อันเป็นเครื่องประคับประคองระบบระหว่างประเทศสมัยใหม่เอาไว้ ทั้งนี้นับตั้งแต่การก่อตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ขึ้นที่กรุงเฮกในปี 1899 และจากนั้นก็ส่งผ่านสู่การก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ภายใต้กฎบัตรปี 1945 ขององค์การสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ ของโลกต่างแสดงความมุ่งมาดปรารถนาที่จะแก้ไขความขัดแย้งทั้งหลายด้วยการมีผู้ตัดสินชี้ขาดหรือมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แทนที่จะอาศัยการสู้รบขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธ หากมองกันให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก เศรษฐกิจแห่งโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ในเวลานี้สามารถประคับประคองตัวดำเนินกันไปได้ ก็โดยอาศัยเครือข่ายของอนุสัญญา, สนธิสัญญา, สิทธิบัตร, และสัญญาข้อตกลงซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนตัวบทกฎหมายข้อบัญญัติต่างๆ นั่นเอง

สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นนับตั้งแต่สถาปนาขึ้นมาเมื่อปี 1949 ก็ได้ให้ความสำคัญมากที่สุดแก่พรรคและรัฐของตน ขณะที่ในเรื่องระบบกฎหมายอย่างเป็นอิสระและหลักนิติธรรมได้ถูกชะลอการเติบโตขยายตัว บททดสอบครั้งหนึ่งถึงทัศนคติของจีนที่มีต่อระบบธรรมาภิบาลระดับโลกเช่นนี้ บังเกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก ตัดสิน [69] อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การที่จีนกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้นั้น “เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับอนุสัญญา (ว่าด้วยกฎหมายทะเล) และจึงไม่มีผลในทางกฎหมาย” ปรากฏว่ากระทรวงการต่างประเทศของปักกิ่งได้ปฏิเสธ [70] เอาดื้อๆ ว่า คำตัดสินซึ่งให้ผลลบต่อตนเองนี้ “เป็นโมฆะ” และไม่มี “ผลผูกพันใดๆ” ประธานาธิบดีสียังได้แถลงยืนยัน [71] ว่า “อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิทางทะเล” ของจีนนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขณะที่สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนเรียกคำตัดสินนี้ [72] ว่า เป็นคำตัดสินที่ “เป็นโฆษะและไม่มีผลบังคับอย่างชัดเจนอยู่แล้ว” ถึงแม้จีนอาจจะอยู่ในฐานะอันดีที่จะเข้าแย่งชิงแทนที่อำนาจทางเศรษฐกิจและทางการทหารของวอชิงตัน แต่ศักยภาพของแดนมังกรในการเข้ารับบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้นำโดยผ่านมิติอื่นๆ แห่งทวิลักษณ์อันละเอียดอ่อนซับซ้อนของอำนาจระดับโลก, และเครือข่ายแห่งองค์กรระดับระหว่างประเทศซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนหลักนิติธรรมนั้น ยังคงเปิดกว้างให้แก่การตั้งคำถามแสดงความข้องใจสงสัย

ถ้าวิสัยทัศน์ว่าด้วยระเบียบโลกของโดนัลด์ ทรัมป์ คือสัญญาณแสดงถึงอนาคตของอเมริกัน และหากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของปักกิ่งที่คาดการณ์กันไว้ว่าจะอยู่ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่ใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์โลกจวบจนถึงเวลานี้ สามารถประสบความสำเร็จในการถักร้อยผูกพันพาณิชยกรรมและการคมนาคมของเอเชีย, แอฟริกา, และยุโรป ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว บางทีกระแสแห่งอำนาจทางการเงินและความเป็นผู้นำระดับโลกก็จะเอาชนะอุปสรรคเครื่องกีดขวางทั้งหลายทั้งปวง และไหลบ่าไปทางปักกิ่งอย่างไม่มีทางหยุดยั้งได้ ราวกับว่ามันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติทีเดียว ทว่าหากแผนการริเริ่มอันห้าวหาญนี้ต้องประสบความล้มเหลวลงไปในท้ายที่สุดแล้ว มันก็จะกลายเป็นครั้งแรกในรอบ 500 ปีที่ผ่านมาซึ่งโลกอาจต้องเผชิญหน้ากับช่วงการเปลี่ยนผ่านจากจักรวรรดิหนึ่งไปสู่อีกจักรวรรดิหนึ่ งโดยที่ไม่มีผู้ก้าวขึ้นมาสืบทอดฐานะความเป็นเจ้าซึ่งครอบงำโลกอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น มันยังจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นบนพิภพที่ “ความเป็นปกติอย่างใหม่” (new normal) [73] ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ [74] (การที่ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรต่างๆ [75] มีอุณหภูมิสูงขึ้น, การเกิดภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง และอัคคีภัย [76] อย่างรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ, การเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ของระดับน้ำทะเลซึ่งจะสร้างความวิบัติหายนะให้แก่บรรดาเมืองใหญ่ริมชายฝั่ง [77], และความเสียหายซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ [78] ต่อโลกที่มีประชากรอาศัยกันอย่างหนาแน่นอยู่แล้ว) เหล่านี้อาจหมายความว่า เจ้าแนวความคิดว่าด้วยการมีเจ้าใหญ่รายหนึ่งที่ครอบงำโลกเอาไว้ กำลังกลายเป็นแค่เรื่องในอดีตเรื่องหนึ่งไปอย่างรวดเร็ว

(ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ TomDispatch.com)

อัลเฟรด ดับเบิลยู แมคคอย เป็นศาสตราจารย์แฮริงตันทางด้านประวัติศาสตร์ (Harrington Professor of History) ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มที่ปัจจุบันกลายเป็นงานคลาสสิกไปแล้ว นั่นคือเรื่อง The Politics of Heroin: CIA Complicity in the Global Drug Trade ซึ่งติดตามสืบสวนการเชื่อมต่อโยงใยกันของการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายกับการปฏิบัติลับต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 50 ปี หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา คือ In the Shadows of the American Century: The Rise and Decline of U.S. Global Power (สำนักพิมพ์ Dispatch Books)

เชิงอรรถ

[1] http://www.bbc.co.uk/history/worldwars/wwone/versailles_01.shtml
[2] http://time.com/5356443/trump-conspiracy-theories-qanon/
[3] http://www.independent.org/pdf/tir/tir_08_1_6_hsiung.pdf
[4] https://www.washingtonpost.com/opinions/global-opinions/the-decline-of-us-influence-is-the-great-global-story-of-our-times/2017/12/28/bfe48262-ebf6-11e7-9f92-10a2203f6c8d_story.html?tid=ss_tw&utm_term=.d466c10b57eb
[5]http://www.tomdispatch.com/blog/176043/tomgram%3A_david_vine,_our_base_nation/
[6] https://www.amazon.com/Grand-Chessboard-American-Geostrategic-Imperatives/dp/046509435X/ref=sr_1_1?s=books&ie=UTF8&qid=1534097225&sr=1-1&keywords=Zbigniew+Brzezinski%2C+The+Grand+Chessboard
[7] https://www.statista.com/statistics/270267/united-states-share-of-global-gross-domestic-product-gdp/
[8] http://fortune.com/2017/02/09/study-china-will-overtake-the-u-s-as-worlds-largest-economy-before-2030/
[9] https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2017/12/NSS-Final-12-18-2017-0905.pdf
[10] https://www.apnews.com/2ed02c1ee7c64061a2bf146bfb0a4b2c/Trump-scolds-fellow-NATO-leaders:-Spend-more-for-military
[11] https://www.cnn.com/2017/06/09/politics/trump-commits-to-natos-article-5/index.html
[12] https://www.cnn.com/2018/07/10/politics/donald-trump-nato-summit-2018/index.html
[13] https://www.nytimes.com/2018/07/11/world/europe/trump-nato-live-updates.html
[14] https://www.cnn.com/2018/07/11/politics/trump-defense-spending/index.html
[15] https://www.nytimes.com/2018/07/18/world/europe/trump-nato-self-defense-montenegro.html
[16] https://www.thesun.co.uk/news/6766531/trump-may-brexit-us-deal-off/
[17] https://www.bbc.com/news/world-europe-44852812
[18] https://www.theguardian.com/us-news/2017/nov/10/trump-attacks-countries-cheating-america-at-apec-summit
[19] https://www.whitehouse.gov/briefings-statements/remarks-president-trump-apec-ceo-summit-da-nang-vietnam/
[20] http://www.xinhuanet.com/english/2017-11/11/c_136743492.htm
[21] https://www.britannica.com/biography/Juan-Peron
[22] https://www.nytimes.com/2017/11/11/business/trump-tpp-trade.html?_r=0
[23] https://www.cnbc.com/2018/06/07/abe-faces-pressure-to-join-trade-war-against-the-u-s.html
[24] http://www.xinhuanet.com/english/2017-01/24/c_136010021.htm
[25] https://www.ft.com/content/c7fc9ae0-37e4-11e8-8b98-2f31af407cc8
[26] https://www.washingtonpost.com/politics/trump-attacks-canada-to-show-north-korea-hes-strong-aide-says/2018/06/10/afc16c0c-6cba-11e8-bd50-b80389a4e569_story.html?utm_term=.2e0634e97161
[27] https://slate.com/news-and-politics/2018/01/trump-reportedly-quotes-indian-prime-minister-narendra-modi-with-an-indian-accent.html
[28] https://www.cnbc.com/2018/06/13/trump-says-north-korea-no-longer-a-nuclear-threat.html
[29] https://www.washingtonpost.com/world/national-security/us-spy-agencies-north-korea-is-working-on-new-missiles/2018/07/30/b3542696-940d-11e8-a679-b09212fb69c2_story.html?utm_term=.383f6220d88b
[30] https://files.stlouisfed.org/files/htdocs/wp/2017/2017-001.pdf
[31] http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjdt_665385/zyjh_665391/t1078088.shtml
[32] https://www.nytimes.com/2015/12/05/business/international/china-creates-an-asian-bank-as-the-us-stands-aloof.html
[33] http://www.iras.ir/en/doc/article/3171/obor-infrastructure-investment-connectivity
[34] http://www.xinhuanet.com/english/2017-05/14/c_136282982.htm
[35] https://www.nytimes.com/2017/09/13/magazine/what-the-worlds-emptiest-international-airport-says-about-chinas-influence.html
[36] https://www.nytimes.com/2018/08/01/business/china-belt-and-road.html
[37] https://www.forbes.com/sites/harrybroadman/2017/05/31/china-new-silk-road-flawed-one-way-design-will-flop/#3b88b0e81853/
[38] https://www.nytimes.com/2017/05/02/magazine/is-china-the-worlds-new-colonial-power.html
[39] https://www.ajot.com/news/imf-aims-to-nudge-xis-silk-road-plan-away-from-spending-splurge
[40] https://www.economist.com/finance-and-economics/2018/03/08/will-chinas-belt-and-road-initiative-outdo-the-marshall-plan
[41] https://www.economist.com/finance-and-economics/2018/03/08/will-chinas-belt-and-road-initiative-outdo-the-marshall-plan
[42] https://www.nytimes.com/2017/08/26/world/europe/greece-china-piraeus-alexis-tsipras.html
[43] https://www.nytimes.com/2017/05/13/business/china-railway-one-belt-one-road-1-trillion-plan.html
[44] https://www.wsj.com/articles/china-to-unveil-billions-of-dollars-in-pakistan-investment-1429214705
[45] https://www.nytimes.com/2018/06/25/world/asia/china-sri-lanka-port.html
[46] https://foreignpolicy.com/2018/02/02/why-is-china-buying-up-europes-ports/
[47] https://www.reuters.com/article/us-china-arctic/china-unveils-vision-for-polar-silk-road-across-arctic-idUSKBN1FF0J8
[48] https://foreignpolicy.com/2018/03/08/putin-and-xi-are-dreaming-of-a-polar-silk-road-arctic-northern-sea-route-yamal/
[49] https://www.ajot.com/premium/ajot-baltic-ports-see-business-opportunities-inherent-in-polar-silk-road-to-china
[50] https://www.nytimes.com/2015/07/30/world/africa/obama-on-chinas-turf-presents-us-as-a-better-partner-for-africa.html
[51] https://www.nytimes.com/2018/07/28/world/americas/china-latin-america.html
[52]http://www.tomdispatch.com/blog/176331/tomgram%3A_alfred_mccoy%2C_the_global_war_of_2030
[53]http://www.tomdispatch.com/blog/176324/tomgram%3A_alfred_mccoy%2C_how_the_pentagon_snatched_innovation_from_the_jaws_of_defeat
[54] https://fas.org/sgp/crs/row/RL33153.pdf
[55] https://fas.org/sgp/crs/row/RL33153.pdf
[56] https://www.defensenews.com/smr/federal-budget/2018/02/13/us-navy-to-add-46-ships-in-five-years-but-355-ships-is-well-over-the-horizon/
[57] https://www.cnbc.com/2018/03/02/trump-trade-wars-are-good-and-easy-to-win.html
[58] http://www.latimes.com/business/la-fi-trump-steel-tariffs-20180301-story.html
[59] https://www.cnbc.com/2018/03/22/trump-moves-to-slap-china-with-50-billion-in-tariffs-over-intellectual-property-theft.html
[60] https://www.nytimes.com/2018/07/06/business/china-trump-trade-war-tariffs.html
[61] https://www.ft.com/video/68769d60-0269-48e0-82d6-ae9750373f3f
[62] https://www.reuters.com/article/us-usa-trade-china/trump-threatens-tariffs-on-all-500-billion-of-chinese-imports-idUSKBN1KA18Q
[63] https://www.nbcnews.com/think/opinion/trump-s-trade-war-china-has-everyone-confused-what-america-ncna900761
[64] https://www.nytimes.com/2018/08/14/world/asia/china-trade-war-trump-xi-jinping-.html
[65] http://thehill.com/policy/finance/397470-fed-chief-lays-out-risks-of-trade-war
[66] https://www.amazon.com/Endless-Empire-Retreat-Europes-Americas/dp/0299290247
[67]http://www.tomdispatch.com/blog/176426/tomgram%3A_alfred_mccoy%2C_the_hidden_meaning_of_american_decline/
[68] https://www.encyclopedia.com/history/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/southeast-asia-japanese-occupation
[69] http://www.pcacases.com/pcadocs/PH-CN%20-%2020160712%20-%20Award.pdf
[70] https://www.nytimes.com/2016/07/13/world/asia/south-china-sea-hague-ruling-philippines.html
[71] https://www.theguardian.com/world/2016/jul/12/philippines-wins-south-china-sea-case-against-china
[72] https://www.theguardian.com/world/2016/jul/12/philippines-wins-south-china-sea-case-against-china
[73] https://www.nytimes.com/2018/07/30/climate/record-heat-waves.html
[74] https://www.nytimes.com/2018/08/04/world/europe/europe-heat-wave.html
[75] https://news.nationalgeographic.com/2018/01/hottest-year-record-global-warming-oceans-spd/
[76] https://www.cbsnews.com/news/record-breaking-heat-and-fires-are-worsened-by-climate-change-scientists-say/
[77] https://www.theguardian.com/cities/2017/nov/03/miami-shanghai-3c-warming-cities-underwater
[78] https://www.theguardian.com/environment/2018/jul/31/chinas-most-populous-area-could-be-uninhabitable-by-end-of-century


กำลังโหลดความคิดเห็น