xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ควรทำตาม ‘สี จิ้นผิง’ --ศึกษาเรียนรู้‘แผนการมาร์แชล’ที่ทำให้สหรัฐฯก้าวผงาดยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เคน โมค


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Trump should learn from Marshall Plan – like Xi
By Ken Moak
04/09/2018

โดนัลด์ ทรัมป์ ควรศึกษาเรียนรู้ “แผนการมาร์แชล” ในยุคประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ซึ่งเห็นกันว่าเป็นนโยบาย “อเมริกา เฟิร์สต์” ของแท้ และเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้สหรัฐฯก้าวผงาดขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกันมันยังมีข้อเทียบเคียงกับ “แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง” ของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในเวลานี้

โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่กำหนดจัดวางนโยบายการต่างประเทศแบบ “อเมริกาอันดับที่หนึ่ง” (America First) ขึ้นมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรอก แฮร์รี ทรูแมน (Harry Truman) เคยทำมาก่อนแล้วด้วย “แผนการมาร์แชล” (Marshall Plan) ของเขา ข้อที่แตกต่างกันคือเรื่องของสไตล์ ทรูแมนนั้นมุ่งโปรโมตส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯด้วยการให้ความช่วยเหลือต่างๆ/เงินให้เปล่าต่างๆ และการทำให้การค้าและการลงทุนเปิดเสรีลดคลายข้อบังคับจำกัดทั้งหลายลงไป ขณะที่ทรัมป์กำลังหันเข้าไปพึ่งพาอาศัยลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) และการข่มขู่คุกคาม

ทางด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนนั้น เมื่อพิจารณาจากความพยายามของเขาที่จะสร้าง “ความฝันของชาวจีน” (Chinese Dream) ขึ้นมาแล้ว ดูเหมือนเขาจะทำในสิ่งที่ทรูแมนได้เคยกระทำมา กล่าวคือ สี “กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่” ด้วยการเข้าไปลงทุนและการส่งเสริมสนับสนุนการทำการค้ากับประเทศต่างๆ ซึ่งเข้าร่วมในแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) ที่กำลังกลายเป็นซิกเนเจอร์ของเขาไปแล้ว

ทั้ง แผนการมาร์แชล และ แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง ต่างได้รับการยกย่องชมเชยอย่างกว้างขวาง แผนการมาร์แชลนั้นได้รับเครดิตว่าเป็นผู้ทำให้ยุโรปและเอเชียตะวันออกกลับฟื้นตัวขึ้นมา และ/หรือ มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างโดดเด่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่แผนการริเริ่มแถบและเส้นทางถูกจับตามองจากเหล่าผู้นำของชาติที่กำลังเข้าร่วมแผนการนี้ตลอดจนพวกองค์การระหว่างประเทศว่า เป็นแชมเปี้ยนผู้ปกป้องกระแสโลกาภิวัตน์

ระหว่างแผนการมาร์แชล กับ แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง มีข้อแตกต่างที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง ได้แก่ แผนการมาร์แชลนั้นมีเงื่อนไขข้อบังคับในด้านแนวคิดอุดมการณ์ กล่าวคือ พวกประเทศผู้ขอรับประโยชน์จากแผนการนี้จะต้องทำตัวให้อยู่ใน “แบบเดียวกับอเมริกา” แต่แผนการริเริ่มแถบและเส้นทางมีลักษณะมุ่งเน้นไปในทางธุรกิจมากกว่า โดยกำลังเสนอตัดแบ่งขนมเค้กออกเป็นชิ้นๆ และนำมาแบ่งปันแก่บรรดาชาติผู้เข้าร่วม อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มชนนักต่อต้านจีนทั้งหลาย เป็นเรื่องคาดทายได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า พวกเขาจะต้องมีความคิดเห็นเสนอแนะไปเป็นอย่างอื่น โดยกล่าวหาจีนว่า กำลังมีพฤติการณ์ “การลงทุนแบบนักล่าเหยื่อ” เพื่อหวังสูบรีดเอาแต่ประโยชน์ของตนบนความทุกข์ยากเดือดร้อนของประเทศอื่นๆ , กำลังวาง “กับดักแห่งหนี้สิน” ไว้ล่อหลอกชาติต่างๆ ให้กู้ยืมเพื่อดำเนินโครงการอันใหญ่โตเกินตัวที่ไม่ได้เอื้ออำนวยผลประโยชน์แก่ชาติเหล่านี้อย่างแท้จริง, กำลังหันกลับไปดำเนิน “ลัทธิล่าอาณานิคม” และอื่นๆ อีกทำนองเดียวกัน แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ก็ถูกบรรดาประเทศที่กำลังรับการลงทุนของจีนเขี่ยทิ้งมองข้าม ในฐานะที่เป็นความคิดเห็นประเภท “องุ่นเปรี้ยว” เท่านั้น

แผนการริเริ่มแถบและเส้นทางของ สี จิ้นผิง

สี ประกาศตัวก่อตั้งแผนการริเริ่มแถบและเส้นทางขึ้นเมื่อปี 2013 โดยบางทีอาจเนื่องจากมองเห็นว่านี่เป็นหนทางประการหนึ่งที่จะทำให้จีนสามารถลดการพึ่งพาอาศัยการส่งออกไปยังพวกประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นลงได้ และนับตั้งแต่นั้นมา แผนการริเริ่มแถบและเส้นทางก็ได้ให้ผลประโยชน์แก่ชาติต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งนี่แหละคือเหตุผลที่ว่า ทำไมพวกบุคคลผู้ทรงอิทธิพลอย่างเช่น คริสทีน ลาการ์ด (Christine Legarde) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ จิม คิม (Jim Kim) ประธานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จึงมองแผนการนี้ในฐานะที่เป็นอนาคตของเศรษฐกิจโลก

ตามข้อมูลของสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีของจีน (China’s State Council (cabinet) Information Bureau) นับจากปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งไปจนถึงปี 2017 การค้าทั้งสองทางระหว่างจีนกับกว่า 60 ประเทศที่กำลังเข้าร่วมแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง มีมูลค่าสูงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว หน่วยงานแห่งนี้เปิดเผยด้วยว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีเดียวกันดังกล่าว จีนยังได้ไปลงทุนในประเทศเหล่านี้เป็นจำนวนมากกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งกำลังวางแผนจะทำการลงทุนต่อไปจนอยู่ในระดับ 500,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2029

มีบางคนบางฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าผู้นำในแอฟริกาและละตินอเมริกา ไปไกลถึงขนาดเสนอแนะว่าแผนการริเริ่มแถบและเส้นทางนี้ คือเครื่องพิสูจน์ว่า สี จิ้นผิง กำลังทำให้เห็นจริงๆ ตามจุดยืนที่เขาประกาศเอาไว้เกี่ยวกับ “อนาคตที่มีการแบ่งปันกัน” ตามรายงานชิ้นหนึ่งซึ่งนำเสนอเมื่อวันที่ 2 กันยายน โดย “เครือข่ายโทรทัศน์ภาคบริการโลกแห่งประเทศจีน” (China Global Television Network หรือ CGTN) สื่อทีวีของทางการจีนซึ่งมุ่งเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศจีนได้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ทางรถไฟสายไนโรบี-มอมบาซา (Nairobi-Mombasa railway) ที่ช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่าง 2 เมืองสำคัญของเคนยาลงไปราวครึ่งหนึ่ง และสร้างงานขึ้นมาได้ราว 46,000 ตำแหน่ง ทำให้ช่วยเพิ่มพูนอัตราเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในแอฟริกาตะวันออกแห่งนี้ในช่วงตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปีนี้

อันที่จริงแล้ว เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับสำคัญของฮ่องกง ได้รายงานเอาไว้เมื่อวันที่ 2 กันยายนว่า จีนได้ให้ความช่วยเหลือ/เงินให้เปล่า/เงินกู้ ประเภทต่างๆ เป็นจำนวนรวม 120,000 ล้านดอลลาร์แก่แอฟริกาตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเงินกู้นั้น ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในลักษณะที่ตั้งเงื่อนไขแบบผ่อนปรน, อัตราดอกเบี้ยต่ำ, และในบางกรณีก็มีการยกหนี้ให้ด้วยซ้ำ

แผนการมาร์แชล

แผนการมาร์แชลนั้นสามารถวิเคราะห์ตีความได้ว่าเป็นนโยบาย “อเมริกา เฟิร์สต์” อย่างหนึ่ง เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งตั้งเอาไว้ต่อพวกประเทศผู้ขอรับประโยชน์นั้น กำหนดให้พวกเขาต้องยอมรับลัทธิทุนนิยมเสรีนิยมแบบสหรัฐฯไปใช้ รวมทั้งต้องใช้เงินทุนเหล่านี้ไปซื้อสินค้าอเมริกัน แต่หนทางวิธีการในการนำเอาแผนการมาร์แชลไปปฏิบัติและบริหารจัดการ (มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้ยอมรับการลงทุนจากต่างประเทศและการค้ากับต่างประเทศอย่างอิสรเสรี) ก็ได้เพิ่มพูนลู่ทางโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกประเทศผู้ขอรับประโยชน์ด้วย ถึงแม้เพิ่มลู่ทางโอกาสของสหรัฐฯเองมากกว่าก็ตามที

ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยุโรปอยู่ในสภาพเสียหายย่อยยับจากการถูกโจมตีทิ้งระเบิด และสหภาพโซเวียตก็ถูกจับตามองว่ากำลังพยายามเผยแพร่ความคิดอุดมการณ์และอิทธิพลของตนเข้าไปในยุโรปตะวันตก ดังนั้น เพื่อสร้างยุโรปขึ้นมาใหม่และปิดล้อมจำกัดควบคุมการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์โซเวียต ประธานาธิบดีทรูแมนได้ลงนามในโครงการบูรณะฟื้นฟูยุโรป (European Recovery Program หรือ ERP) ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในชื่อว่า แผนการมาร์แชล (ตามชื่อของ จอร์จ มาร์แชล รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในเวลานั้น ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานให้โครงการนี้เกิดขึ้นมา) ในเดือนเมษายน 1948 ซึ่งได้ให้เงินทุนจำนวนระหว่าง 12,000 ล้าน ถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ในการบูรณะก่อสร้างนครต่างๆ, อุตสาหกรรมต่างๆ , และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของยุโรปขึ้นมาใหม่

ขณะที่แทบไม่มีข้อสงสัยกันเลยว่า แผนการมาร์แชลมีบทบาทอันสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรป แต่ผลกระทบของมันมีขนาดขอบเขตแค่ไหนกันแน่ๆ ยังเป็นที่ถกเถียงอภิปรายกันอยู่ในหมู่นักวิชาการในทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติก

แบร์รี ไอเชนกรีน (Barry Eichengreen) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The European Economy since 1945: Coordinated Capitalism and Beyond (เศรษฐกิจยุโรปตั้งแต่ปี 1945: ลัทธิทุนนิยมแบบร่วมมือประสานงานกัน และนอกเหนือจากนั้น) ได้หยิบยกเหตุผลข้อเท็จจริงต่างๆ ขึ้นมาเสนอว่า โครงการนี้เป็นโครงการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศซึ่งประสบความสำเร็จที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสามารถทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีและของพวกประเทศผู้ขอรับประโยชน์รายอื่นๆ เติบโตเพิ่มขึ้นมา 6% และ 45% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เจค็อบ แมกิด (Jacob Magid) นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) โต้แย้งเอาไว้ในบทความของเขาซึ่งเผยแพร่ทางวารสาร Advances in Historical Studies, Vol. 1, No. 1, 1-7 เวอร์ชั่นออนไลน์ปี 2012 ว่า แผนการริเริ่มต่างๆ ในทางการเมือง (นั่นคือ แผนการในการมุ่งบูรณาการยุโรป) และเครื่องมือกลไกในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐบาลกับภาคธุรกิจทั้งหลายในยุโรปต่างหาก ซึ่งมีบทบาทรับผิดชอบให้ยุโรปมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างดีเยี่ยมเช่นนั้น

อลัน กรีนสแปน (Alan Greenspan) อดีตประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve Chairman) ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงส่วนใหญ่ที่ว่า แผนการมาร์แชลไม่ได้เป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดซึ่งกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในยุคหลังสงคราม ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาที่ใช้ชื่อเรื่องว่า The Age of Turbulence กรีนสแปนเสนอว่าเป็นเพราะพวกนโยบายลดเลิกระเบียบบังคับควบคุม ซึ่ง ลุดวิก เอร์ฮาร์ด (Ludwig Erhard) นายกรัฐมนตรีเยอรมันในตอนนั้นผลักดันนำออกมาใช้ต่างหาก ซึ่งเป็นปัจจัยรับผิดชอบใหญ่ไม่เฉพาะต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมันเท่านั้น แต่ยังเศรษฐกิจของประเทศยุโรปอื่นๆ อีกด้วย เขาแสดงความคิดเห็นว่าจากการลดเลิกระเบียบบังคับควบคุมต่างๆ ได้เปิดทางให้การลงทุนมีการสะสมตัวในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งนี่ก็ต้องขอบคุณอัตราการออมที่อยู่ในระดับสูงและอัตราภาษีที่อยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

แผนการมาร์แชลได้ถูกขยายนำเข้ามาใช้ที่เอเชียตะวันออกในปี 1953 เมื่อตอนสิ้นสงครามเกาหลี (ปี 1950 – 53) โดยมีการใช้จ่ายผ่านโครงการนี้ในเอเชียในรูปของความช่วยเหลือและเงินให้เปล่ารวมทั้งสิ้น 5,900 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตามเอกสารข้อมูลสถิติโดยสรุปของสหรัฐฯประจำปี 1954 ของสำนักงานสำมะโนสหรัฐฯ (US Bureau of the Census’s Statistical Abstract of the United States: 1954) ทั้งนี้ผู้รับความช่วยเหลือไปมากที่สุดคือญี่ปุ่น (2,440 ล้านดอลลาร์) , ไต้หวัน (1,050 ล้านดอลลาร์), และเกาหลีใต้ (894 ล้านดอลลาร์)

ตามความเห็นของ แอรอน ฟอร์สเบิร์ก (Aaron Forsberg) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Japanese Miracle: the Cold War Context of Japan’s Post War Economic Revival, 1950-1960 (ปาฏิหาริย์ของญี่ปุ่น: บริบทแห่งสงครามเย็นของการฟื้นชีพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงคราม ปี 1950 – 1960) การที่สหรัฐฯเข้าลงทุนอย่างใหญ่โตมหึมาในญี่ปุ่นในระหว่างเกิดสงครามเกาหลี บางทีอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้ญี่ปุ่นมีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว โดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่า 7% ต่อปีในตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษจวบจนกระทั่งถึงทศวรรษ 1990 การลงทุนของสหรัฐฯนั่นเองที่ช่วยญี่ปุ่นให้ฟื้นชีพและสร้างฐานอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่

ในบทความเรื่อง Singapore the Top Destination for US Investment in Asia (สิงคโปร์คือจุดหมายปลายทางสำคัญที่สุดของการลงทุนของสหรัฐฯในเอเชีย) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ (Strait Times) ของสิงคโปร์ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2013 ผู้เขียน คือ รวี เวลลูร์ (Ravi Velloor) เสนอแนะว่า การลงทุนของอเมริกันอาจจะเป็นปัจจัยรับผิดชอบสำคัญ สำหรับการที่รายได้เฉลี่ยต่อปีต่อประชากรแต่ละคนของนครรัฐแห่งนี้อยู่ในระดับสูงลิ่วถึงกว่า 57,000 ดอลลาร์

ด้านที่มีลักษณะ ‘จักรวรรดินิยม’ ของแผนการมาร์แชล

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิชาการในทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติกต่างพากันพูดอ้อมๆ ว่า ภายใต้ผิวหน้าอันสวยงามของการช่วยเหลือในการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้น แผนการมาร์แชลก็ดูจะมีลักษณะของนโยบายแบบ “นักจักรวรรดินิยม” อยู่ด้วย พวกนักวิชาการในสำนักลัทธิแก้ (Revisionist school หมายถึงสำนักซึ่งนิยมนำเอาบันทึกทางประวัติศาสตร์ต่างๆ มาตีความให้ความหมายกันใหม่) เป็นต้นว่า วอลเตอร์ ลาเฟเบอร์ (Walter Lafeber) ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) ร้องเรียนขึ้นมาว่า แผนการมาร์แชลมีการอุดหนุนให้เงินทุนแก่การปฏิบัติการลับๆ ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งมุ่งที่จะบงการชักโยกิจการทางการเมืองภายในประเทศของพวกรัฐที่ถูกถือว่า “ไม่เป็นมิตร” ตามการศึกษาของลาเฟเบอร์ ซีไอเอได้รับเงินทุนเกือบๆ 900 ล้านดอลลาร์ทีเดียวสำหรับการกระทำที่ชั่วร้ายเหล่านี้

ทางด้านสหภาพโซเวียตในเวลานั้นก็กล่าวหาสหรัฐฯว่ากำลังใช้แผนการมาร์แชลเพื่อปิดล้อมจำกัดควบคุมการก้าวผงาดขึ้นมาของตน ในความเป็นจริงแล้ว โซเวียตถึงขนาดยื่นคำร้องเรียนกล่าวหาสหรัฐฯต่อองค์การสหประชาชาติทีเดียว โดยระบุว่าแผนการมาร์แชลไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากเป็นการที่อเมริกาใช้ความเข้มแข็งทางการเงินและทางการทหารของตนเพื่อเข้าควบคุมยุโรปตะวันตก ถ้าหากไม่ใช่ถึงกับเพื่อเข้าควบคุมโลกทั้งโลก

อิทธิพลในระดับทั่วโลกของสหรัฐฯ

ถึงแม้มีข้อบกพร่องผิดพลาดและความขัดแย้งกันเองทั้งหลายทั้งปวง แผนการมาร์แชลก็ยังคงสามารถที่จะวิเคราะห์ตีความได้ว่าเป็น “รากฐาน” ซึ่งทำให้สหรัฐฯสามารถสร้างเสริมต่อเติมฐานะครอบงำโลกของตนได้ อิทธิพลของอเมริกันบนเวทีโลกไม่ได้ถูกท้าทายและกระทั่งได้รับการต้อนรับด้วยยินดีด้วยซ้ำ จวบจนกระทั่งถึงสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช นั่นแหละ และด้วยความช่วยเหลือของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ จากฮอลลีวู้ด ผู้คนจำนวนมากในโลกต่างต้องการที่จะเลียบแบบทุกสิ่งทุกอย่างของอเมริกัน ตั้งแต่วัฒนธรรมไปจนถึงความคิดอุดมการณ์

พวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการ, นักหนังสือพิมพ์, นักวิเคราะห์ของสำนักคลังสมอง, นักการเมือง, และเจ้าหน้าที่รัฐบาลชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่ง ได้เปลี่ยนแปลงทิศทางนี้ของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ พวกเขามีความเชื่อว่าไม่ควรยินยอมให้ชาติใดๆ ทั้งนั้นขึ้นมาท้าทายฐานะสูงสุดของสหรัฐฯไม่ว่าในสภาวการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ในสมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช พวกนีโอคอนอย่างเช่น จอห์น โบลตัน (John Bolton) และ พอล โวลฟอวิตซ์ (Paul Wolfowitz) เป็นต้น คือพวกที่เข้ากุมบังเหียนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯเอาไว้โดยแท้ ทำให้สหรัฐฯเข้ารุกรานอิรักโดยที่ไม่มีเหตุผลอื่นใดเลยนอกเหนือจาก “ข่าวปลอม” ที่ว่า ซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธเพื่อทำลายล้างอยู่ในความครอบครอง

ตัดฉับกลับมาสู่ปัจจุบันกันอย่างว่องไว เวลานี้พวกนีโอคอนดูเหมือนยังคงมีชีวิตอยู่และอยู่ดีมีสุขด้วยในคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้นว่า จอห์น บอลตัน และ ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ได้กลายเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ และที่ปรึกษาใหญ่ด้านการค้าของทรัมป์ตามลำดับ พวกเขาดูเหมือนจะเป็นฝ่ายที่กุมความเหนือกว่าในคณะบริหารชุดนี้อยู่ในเวลานี้ เราจึงได้เห็นนโยบายต่างๆ อย่างเช่น การก่อสงครามการค้าขึ้นมา, การข่มเหงรังแก “เพื่อนมิตร” ให้ยอมจำนนอ่อนข้อ, และการตีตราประทับใส่รัสเซียและจีนว่าเป็น “ภัยอันตรายที่กำลังจะมาถึงอยู่รอมร่อ” จากการกระทำเช่นนี้ สหรัฐฯก็กำลังโดดเดี่ยวตัวเองและกำลังทำร้ายผลประโยชน์ของชาติต่างๆ ที่ตกเป็นเป้าหมายของคณะบริหารทรัมป์ รวมทั้งตัวคณะบริหารทรัมป์เองด้วย

ทรัมป์กำลังก่อให้เกิดสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในประวัติศาสตร์โดยไม่มีความจำเป็นเลย เป็นสงครามซึ่งมีศักยภาพที่จะทำให้การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั่วโลกต้องตกอยู่ในอันตราย รวมทั้งเศรษฐกิจของจีนและของสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯตีตราประทับใส่รัสเซียและจีนว่าเป็น “ศัตรู” ได้กระตุ้นฟูมฟักความเป็นพันธมิตรทางการทหารระหว่างทั้งสองประเทศดังกล่าว ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่สร้างความน่าปวดหัวทางด้านความมั่นคงให้แก่สหรัฐฯและพวกหุ้นส่วนนาโต้ (รัฐสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ)

การกล่าวหาพวกประเทศคู่ค้าอย่างผิดๆ ว่า กำลังมีความประพฤติปฏิบัติที่ “ไม่เป็นธรรม” ต่ออเมริกา กลายเป็นการขับไล่พวกที่เป็น “พันธมิตร/เพื่อนมิตร” ให้ถอยห่างออกไป โดยเวลานี้ทั้งอินเดียและญี่ปุ่นต่างส่งสัญญาณว่าต้องการที่จะปรองดองรอมชอมกับจีนแล้ว

แม้กระทั่งประธานาธิบดีทรูแมนก็คงไม่อาจสุขสงบในสัมปรายภพ

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer


กำลังโหลดความคิดเห็น