เอเจนซีส์ - ทำเนียบสีฟ้าเกาหลีใต้ออกแถลงวันนี้(18 ก.ย) ปฎิเสธรายงานในประเทศอ้าง เกาหลีเหนือเจาะจงขอพบผู้บริหารธุรกิจชั้นนำ แชโบลของเกาหลีใต้ ในการประชุมซัมมิต 2 ชาติเกาหลี ซึ่งในบรรดาผู้บริหารธุรกิจใหญ่ที่เข้าร่วมรวมไปถึง ทายาทอาณาจักรซัมซุง ลี แจ-ยอง (Lee Jae-yong) คิม ยัง-ฮวาน( Kim Yong-hwan) รองประธานฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป และระธานบริหารจากกลุ่ม LG กรุ๊ป คู ควาง-โม (Koo Kwang-mo ) รวมอยู่ในนั้น
หนังสือพิมพ์โคเรีย จุงกัง เดลี (koreajoongangdaily) ของเกาหลีใต้รายงานวันนี้(18 ก.ย)ว่า บรรดาเหล่าแชโบลผู้ทรงอำนาจในโลกธุรกิจของเกาหลีใต้ได้บินเข้ากรุงเปียงยางพร้อมกับประธานาธิบดี มุน แจ-อิน สร้างความสงสัยถึงความเป็นไปได้ในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนว่า จะสามารถมีความเป็นไปได้หรือไม่ในเมื่อเกาหลีเหนือยังตกอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรในเวลานี้
ทั้งนี้ในเบื้องต้นพบว่า ทางโซลวางแผนจะเชิญผู้นำของบรรดาธุรกิจล็อบบี้ยิสต์ต่างๆ และบริษัทมหาชนแต่กลับกลายว่า ***ทางเปียงยางยื่นข้อเสนอขอพบบรรดาซีอีโอกลุ่มแชโบลซึ่งเป็นบรรดานักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลในเกาหลีใต้*** เพื่อให้คนเหล่านั้นเข้าร่วมการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือ โคเรีย จุงกัง เดลี รายงานโดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวภายในรัฐบาลเกาหลีใต้
ทั้งนี้พบว่า 4 อาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ ซัมซุง ฮุนได LG และ SK ต่างพร้อมใจตกลงยอมส่งผู้บริหารของตัวเองร่วมขบวนเพื่อเดินทางเข้าเกาหลีเหนือพร้อมกับมุน
ซึ่งสำหรับในกรณียักษ์ใหญ่ซัมซุง ถือว่าเป็นครั้งแรกที่สมาชิกตระกูลลีได้มีโอกาสเดินทางเข้าเกาหลีเหนือ เพราะในการประชุมซัมมิต 2 ชาติเกาหลีที่กรุงเปียงยางในปี 2000 และปี 2007 นั้น ซัมซุงได้แต่ส่งรองประธานในเวลานั้นคือ ยุน จอง-ยอง( Yun Jong-yong ) โดยที่ประธานลี คุน-ฮี (Lee Kun-hee)ไม่ได้เข้าร่วม
ทั้งนี้ในการที่ทางทำเนียบสีฟ้าได้ส่งเทียบเชิญเจาะจงไปที่ทายาทซัมซุง ลี แจ-ยอง (Lee Jae-yong) นั้นถือว่าไม่ธรรมดา เป็นเพราะเขาเกี่ยวข้องกับคดีสินบนและการใช้อำนาจมิชอบส่งผลทำให้อดีตผู้นำหญิงเกาหลีใต้ พัก กึน-ฮเย ต้องตกจากอำนาจ และถึงแม้ว่าลีจะได้ออกมาจากเรือนจำในเดือนกุมภาพันธ์ต้นปีนี้ แต่คดีของเขายังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการอุทธรณ์
หนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ชี้ว่า ในขณะที่ทางบริษัทซัมซุงไม่แสดงความเห็นในการร่วมคณะของลี โดยชี้ว่า ซัมซุงเป็นแค่หนึ่งในบริษัทที่ได้รับการรับเชิญจากทำเนียบสีฟ้าให้เข้าร่วม
แต่พบว่าตั้งแต่ปี 2009 บริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ ได้ให้โรงงานผู้ผลิตโทรทัศน์เกาหลีเหนือ แตดองกังทีวี(Taedonggang TV ) ตั้งอยู่นอกกรุงเปียงยาง ทำการประกอบทีวี รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุง และเครื่องเล่นเทปคาสเซตจากชิ้นส่วนที่ทางซัมซุงได้ผลิตขึ้น
โดยพบว่าโทรทัศน์สีที่ทางผู้ผลิตเกาหลีเหนือประกอบได้ในแต่ละปีตกอยู่ที่ราว 20,000 - 30,000 เครื่อง และสินค้าเหล่านี้ถูกส่งกลับเข้ามาจำหน่ายในเกาหลีใต้ แต่ทว่าทางบริษัทได้ยุติการประกอบไว้ชั่วคราวเมื่อปี 2010 ภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ลี เมียง บัค และหลังจากเรือพิฆาตของกองทัพเกาหลีใต้ เรือโชนัน(Cheonan )ถูกฝ่ายเหนือจมลง
ทั้งนี้สื่อ nknews.org ได้อ้างการแถลงของ ยุน ยัง-ชาน(Yoon Young-chan) เลขาธิการระดับอาวุโสของประธานาธิบดีมุนด้านประชาสัมพันธ์ที่ออกมาในวันนี้(18) โดยชี้ว่า ทางโซลเป็นผู้ตัดสินใจในการนำคณะนักธุรกิจชั้นนำของเกาหลีใต้ไปยังกรุงเปียงยาง
“ผมได้พบกับการรายงานของสื่อที่อ้างว่า ทางเกาหลีเหนือเป็นผู้ร้องขอให้นำกลุ่มนักธุรกิจเกาหลีใต้เดินทางไปเยือนด้วย ซึ่งไม่เป็นความจริง” ยุนกล่าวผ่านรายงานการสรุปประจำวันที่ศูนย์สื่อการประชุมซัมมิตในกรุงโซล
และนอกจากนี้ ยังกล่าวต่อถึงรูปแบบของคณะผู้ติดตาม เขากล่าวชี้แจงว่า “ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวจากรัฐบาลเกาหลีใต้” และกล่าวว่า “ซึ่งทางเราคิดว่า การเข้าร่วมของกลุ่มคนทางธุรกิจมีความจำเป็นต่ออนาคตของความสัมพันธ์ของ 2 ชาติเกาหลี”
ทั้งนี้พบว่า กลุ่มแชโบลมีกำหนดที่จะพบกับผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีเกาหลีเหนือด้านเศรษฐกิจ รี รยอง นัม(Ri Ryong Nam) ในช่วงบ่ายวันอังคาร(18)
ซึ่งนอกเหนือจากลี แจ-ยอง จากซัมซุงแล้ว พบว่าผู้ที่เดินทางไปเกาหลีเหนือครั้งนี้ยังรวมไปถึง คิม ยัง-ฮวาน( Kim Yong-hwan) รองประธานฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป โดยทางหนังสือพิมพ์โคเรีย จุงกัง เดลีชี้ว่า ในบรรดาแชโบลทั้งหมด ฮุนไดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือมากที่สุด
ในคณะยังมีประธานบริหารจากกลุ่ม LG กรุ๊ป คู ควาง-โม (Koo Kwang-mo ) และประธานบริหารกลุ่ม SK เชย์ แต-วอน( Chey Tae-won ) ติดตามไปเช่นกัน