xs
xsm
sm
md
lg

จีนมีทางรถไฟไฮสปีดอยู่แล้ว 27,000 กม. และจะสร้างเพิ่มอีก 11,000 กม.ภายในปี 2025

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

<i>ภาพถ่ายจากทางอากาศแสดงให้เห็นสถานีรถไฟ กว่างโจว เซาท์ สเตชั่น (Guangzhou South Station) หนึ่งในสถานีทางรถไฟไฮสปีดที่ใหญ่ที่สุดของจีน </i>
China to add more than 11,000km of new high-speed lines by 2025
By Asia Times staff
15/09/2018

หลังจากเริ่มเดินขบวนรถไฟความเร็วสูงสายแรกเพียงเมื่อ 10 ปีก่อนนี้เอง ปัจจุบันเครือข่ายทางรถไฟไฮสปีดของจีนมีความยาวรวมทั้งสิ้น 27,000 กม. โดยที่มีขบวนรถหัวกระสุนเพรียวลมวิ่งกันในอัตราเฉลี่ย 250 กม.ต่อชั่วโมง แล้วก็มีแผนจะสร้างเพิ่มให้เป็น 38,000 กม.ภายในเวลา 7 ปีข้างหน้า

เครือข่ายเชื่อมต่อทางรถไฟไฮสปีดทั่วประเทศที่ประกอบด้วย “4 สายหลักแนวนอน, 4 สายหลักแนวตั้ง” ของจีน กำลังปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างด้วยอัตราเร็วจิ๊ดจ๊าดสุดๆ ระยะทางรวมทั้งสิ้นของเครือข่ายเหล่านี้กำลังแตะหลัก 27,000 กิโลเมตรแล้ว เท่ากับประมาณสองในสามของทางรถไฟไฮสปีดที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดของโลกในเวลานี้ทีเดียว --โดยที่ขบวนรถไฟที่ควบตะบึงบนรางเหล่านี้เป็นขบวนรถไฟทรงเพรียวลมความเร็วสูงที่วิ่งในอัตราเฉลี่ย 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
<i>แผนภูมิแสดงเครือข่ายระบบทางรถไฟไฮสปีดความยาวรวม 27,000 กม. ณ ช่วงสิ้นปี 2017 ซึ่งขบวนรถไฟแล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 250 กม.ต่อชั่วโมง </i>
เฉพาะปี 2017 เท่านั้น จีนก็เพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ๆ รวม 3,038 กิโลเมตร และกำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่าจะสร้างเพิ่มเติมต่อไปอีกจนทั้งระบบมีความยาว 38,000 กิโลเมตรในปี 2025

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า แดนมังกรเพิ่งเปิดดำเนินการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของตน ได้แก่ สายระหว่างปักกิ่งกับเทียนจิน (เทียนสิน) หรือ Beijing-Tianjin Intercity Rail เมื่อตอนกลางปี 2008 หรือก็คือ 10 ปีที่แล้วนี้เอง

เครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลกนี้ ยังเป็นเครือข่ายที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวางที่สุด ด้วยอัตราการบรรทุกผู้โดยสารทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่แถวๆ ระดับ 3.5 ล้านรายต่อวันทีเดียว ขณะที่ความคืบหน้าก้าวไกลของทางรถไฟไฮสปีดแดนมังกรมักได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นสัญญาณแห่งการคืนพลังกลับเป็นหนุ่มสาวขึ้นอีกครั้งของประเทศจีน และก็เป็นแหล่งที่มาแห่งความภาคภูมิใจของประเทศชาติ

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่โดดเด่นน่าจับตาในจีน มีดังเช่น ทางรถไฟไฮสปีดสายปักกิ่ง-กว่างโจว (Beijing–Guangzhou High-Speed Railway) ซึ่งมีความยาว 2,298 กิโลเมตร จึงกลายเป็นเส้นทางรถไฟประเภทนี้ที่กำลังมีการเดินรถกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งยาวที่สุดของโลก ส่วนขบวนรถไฟไฮสปีดในเส้นทางสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ คือบริการเดินรถไฟความเร็วสูงแบบปกติที่เร็วที่สุดของโลก ขณะที่ เซี่ยงไฮ้ แมกเลฟ (Shanghai Maglev) เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแบบใช้แรงยกตัวของแม่เหล็กไฟฟ้าให้ตัวขบวนรถลอยขึ้นเหนือรางแทนการใช้ล้อ (magnetic-levitation เรียกย่อๆ ว่า Maglev) สายแรกของโลก โดยที่ขบวนรถไฟแล่นไปกลับระหว่างท่าอากาศยานผู่ตงกับย่านใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้บนทางรถไฟซึ่งผิดไปจากธรรมดาสายนี้ สามารถทำอัตราเร็วสูงสุดที่ 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
<i>ขบวนรถไฟฝู่ซิ่ง (Fuxing) ซึ่งเป็นขบวนรถไฟไฮสปีดผลิตในจีนเองรุ่นใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนทำความเร็วได้สูงสุดที่ 380 กม.ต่อชั่วโมง </i>
รถไฟไฮสปีดขบวนแรกๆ ของจีนเป็นม้าเหล็กนำเข้าหรือไม่ก็สร้างขึ้นภายใต้ข้อตกลงถ่ายโอนเทคโนโลยีกับพวกผู้ผลิตต่างประเทศ เป็นต้นว่า อัลสตอม (Alstom) แห่งฝรั่งเศส, ซีเมนส์ (Siemens) แห่งเยอรมนี, บอมบาร์ดิเอร์ (Bombardier) แห่งแคนาดา, และ คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ (Kawasaki Heavy Industries) ของญี่ปุ่น ต่อมาพวกวิศวกรของจีนก็ได้ออกแบบส่วนประกอบต่างๆ ภายในรถไฟแบบนี้กันใหม่ และสร้างรถไฟไฮสปีดแบบของจีนเองขึ้นมาโดยบริษัท ซีอาร์อาร์ซี คอร์เปอเรชั่น (CRRC Corporation) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจแดนมังกร จากโรงงานต่างๆ ของบริษัทซึ่งตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ทางรถไฟความเร็วสูงของจีน 6 สาย ได้แก่ สายปักกิ่ง-เทียนจิน, เซี่ยงไฮ้-หนานจิง, ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้, เซี่ยงไฮ้-หนิงโป, เซี่ยงไฮ้-หนานจิง, และ กว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง ต่างรายงานว่ามีอัตราผลกำไรจากการดำเนินงานระดับพอสมควรตลอดช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการในสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้นั้นสามารถทำกำไรได้งดงามเป็นพิเศษ มีรายงานว่าทำกำไรสุทธิต่อปีได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านหยวน (1,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทีเดียว

นอกจากนั้นแผนแม่บท “เครือข่ายทางรถไฟในระยะกลางถึงระยะยาว” (“Mid-to-Long Term Railway Network” masterplan) ฉบับใหม่ของจีน ก็จัดทำกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยที่กำหนดให้มีเครือข่ายระบบทางรถไฟไฮสปีดขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก คือประกอบด้วย 8 สายหลักแนวนอน, 8 สายหลักแนวตั้ง เชื่อมต่อให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศยิ่งขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ขยายพวกเส้นทางระหว่างเมืองใหญ่สำหรับให้บริการในระดับภูมิภาค ตลอดจนบริการรถไฟความเร็วสูงชานเมืองสำหรับพื้นที่มหานครขนาดใหญ่ๆ ทั้งนี้กำหนดเวลาเสร็จสิ้นสำหรับเครือข่ายใหม่นี้ตามที่เสนอกันออกมาคือ ปี 2030
<i>ภายในสถานีรถไฟแห่งใหม่อันกว้างขวางของเมืองอู่ฮั่น เมืองสำคัญทางภาคกลางของจีน </i>
<i>ตัวเลขแสดงความเร็วสูงสุดของขบวนรถไฟไฮสปีดบนเส้นทางสายเซี่ยงไฮ้-หนิงโป ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของจีน </i>
มองในภาพรวมแล้ว เครือข่ายทางรถไฟแบบต่างๆ ของประเทศจีนมีความยาวทั้งสิ้นอยู่ที่ 127,000 กิโลเมตร ณ ตอนสิ้นสุดปี 2017 โดยที่เป็นทางรถไฟแบบใช้ไฟฟ้า 86,600 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางรถไฟรางคู่ 71,800 กิโลเมตร

เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของบริษัทเดินรถไฟแห่งประเทศจีน (China Railway Corp) กล่าวว่า ทางรถไฟที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐฯเวลานี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นทางรถไฟรางเดียว (นั่นคือขบวนรถไฟที่แล่นไปและแล่นกลับจะต้องคอยรอหลีก) ขณะที่ขบวนรถไฟในเส้นทางไฮสปีดที่มีอยู่เพียงสายเดียวในสหรัฐฯคือสายระหว่างกรุงวอชิงตันกับนครนิวยอร์ก ก็วิ่งกันด้วยระดับความเร็วแค่ราวๆ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น