xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: ครบรอบ 10 ปี “อดีตผู้บริหาร เลห์แมน บราเธอร์ส” ช่วงล้มออกเตือน “วิกฤตรอบใหม่เริ่มแล้ว” ส่วน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เรียก “เพิร์ล ฮาร์เบอร์ทางเศรษฐกิจ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ส – เมื่อวานนี้(15 ก.ย) เป็นวันครบรอบ 10 ปีเกิดวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่รู้จักในนาม วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งทำให้ธนาคารวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ "เลห์แมน บราเธอร์ส" ได้ยื่นขอล้มลายเมื่อ 10 ปีก่อนหน้า และในวันศุกร์(14 ก.ย) อดีตผู้อำนวยการบริหารและหัวหน้าทีมกฎหมายของธนาคารในขณะเกิดเหตุ ทอม รุสโซ (Tom Russo) ได้ออกมาเตือนถึงวิกฤตการเงินรอบใหม่ที่ได้เริ่มต้นไปแล้ว ส่วนพ่อมดทางการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ออกมากล่าวถึงวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์สล้มปี 2008 ว่า เป็นเหมือนอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ทางเศรษฐกิจ

สื่อสกายนิวส์ของอังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(15 ก.ย) ถึงการออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งแรกกับสื่ออังกฤษของอดีตผู้บริหารธนาคารวาณิชกิจที่นำมาสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เรียกว่า วิกฤติซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) ซึ่งมีต้นตอมาจาก “สินเชื่อที่ปล่อยให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ”( Subprime Mortgages) จนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นและกลายเป็นภาวะฟองสบู่แตกในเซกเมนต์ตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ "เลห์แมน บราเธอร์ส" ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1850 ต้องยอมยื่นขอจดทะเบียนล้มละลายเมื่อวันที่ 15 ก.ย 2008 โดย ทอม รุสโซ(Tom Russo) อดีตผู้อำนวยการบริหารและหัวหน้าทีมกฎหมายของธนาคารในขณะเกิดเหตุเป็นผู้ยื่นด้วยตนเอง

และอีก 10 ปีให้หลังเขาได้ออกมาเตือนผ่านสื่ออังกฤษไปถึงสหรัฐฯว่า ***วิกฤตการเงินรอบใหม่ได้เริ่มไปแล้ว***

ซึ่งในทัศนะของรุสโซซึ่งได้ให้สัมภาษณ์จากรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้ออกมาชี้ว่า “เลห์แมน บราเธอร์” ตกเป็นเหยื่อของการเมืองและไม่สมควรที่จะต้องถูกปล่อยให้ล้มละลาย

ทั้งนี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 พบว่าธนาคารวาณิชธนกิจแห่งนี้ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในอเมริกา และถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก แต่ทว่าในช่วงสิ้นปี 2008 กลับพบว่า เลห์แมน บราเธอร์สได้หายไป ธนาคารต้องประกาศล้มละลาย ซึ่งถือเป็นการล้มครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทคอร์โปเรชันในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยมีมา และเมื่อเลห์แมน บราเธอร์สล้ม เศรษฐกิจสหรัฐฯก็ล้มครืน และทำให้โลกต้องเข้าสู่วิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงรอบใหม่

สื่ออังกฤษชี้ว่า อดีตผู้บริหารเลห์แมน บราเธอร์สรายนี้เชื่อว่า ปัจจัยจากหนี้มหาศาลของสหรัฐฯเป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤตการเงินรอบใหม่ขึ้น

ทั้งนี้สหรัฐฯมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อปี หรือ GDP อยู่ที่ 20 ล้านล้านดอลาร์ แต่ทว่ากลับมีหนี้สินมากกว่า 21 ล้านล้านดอลลาร์ ***และที่สำคัญพบว่า ในแต่ละปีมีหนี้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์***

ทอม รุสโซเปิดเผยว่า “เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤตการเงินรอบใหม่อย่างแน่นอน นั่นเป็นสิ่งที่เป็นความจริงเหมือนวิถีในชีวิต” และกล่าวต่อว่า “ให้ผมเดาว่าเมล็ดได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้วในวันนี้ในหนี้ “leveraged debt” ซึ่งค่อยๆโตขึ้นเรื่อยๆ”

และรุสโซยังย้ำว่า “ธรรมชาติของผมบอกว่า หากว่ามีหนี้มากจนเกินไป และเมื่อประเมินกับความสามารถในการชำระคืน ถือว่าไม่ค่อยดี”

“เราได้แต่ให้คำมั่นสัญญากับผู้คน แต่ไม่สามารถคิดหาวิธีว่าต้องจ่ายคืนคนเหล่านั้นได้อย่างไร” อดีตผู้บริหารเลห์แมน บราเธอร์สเสริม และกล่าวในช่วงปิดท้ายว่า “มันเป็นการยากที่จะคิดว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีเงิน แต่ในปี 2007 ตอนนั้นมันยากมากที่เราจะสามารถจินตนาการได้ว่า พวกเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤตจริงๆ”

ด้าน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าพ่อทางการเงินวอลสตรีทได้ออกมาแสดงความเห็นถึงวิกฤตการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สเมื่อปี 2008 ผ่านสื่อ Vice News เมื่อวันที่ 13 ก.ย ว่า “ผมขอเรียกมันว่าเป็นเพิร์ล ฮาร์เบอร์ทางเศรษฐกิจ”และกล่าวต่อว่า “มันเป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน และแม้กระทั่งเกิดภาวะความสับสนเมื่อปี 1929 แต่ไม่เหมือนเช่นนี้ ผมหมายความว่า ระบบหยุดทำงานลง”

ทั้งนี้บัฟเฟตต์ได้ให้เครดิตกับรัฐบาลสหรัฐฯของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่นำโดยรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ แฮงค์ พอลสัน( Hank Paulson) เป็นคนที่สามารถหยุดเลือดไหลไม่ให้เกิดภาวะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่รอบที่ 2

และที่สำคัญเจ้าพ่อวอลสตรีทที่เคยปฎิเสธให้ความช่วยเหลือจากซีอีโอ เลห์แมน บราเธอร์ส ดิค ฟูลด์(Dick Fuld) ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือเงินทุนฉุกเฉิน(emergency capital) ในช่วงต้นฤดูร้อนนั้น ได้กล่าวกับสื่อ Vice News ว่า เขาไม่เชื่อในลมปากพวกคนแวดวงการเงินการธนาคารที่อ้างไปถึง “อาร์มาเกดดอนทางการเงิน” (financial Armageddon) ที่คิดว่าจะสามารถหยุดการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ในอนาคต

“มนุษยจะยังคงพฤติกรรมที่โง่เง่าต่อไป และบางครั้งทำพลาดจนเละตุ้มเปะ และนั่นจะไม่มีวันเปลี่ยน พวกเราฉลาดขึ้นแต่ไม่ถึงกับทั้งหมด” วอเรน บัฟเฟตต์แสดงความเห็น







กำลังโหลดความคิดเห็น