xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ เปิดฉากย่ำยี ‘ปาเลสไตน์’ บีบรับเงื่อนไขสันติภาพ ‘ยิว’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์
บทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะคนกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เริ่มถูกตั้งคำถาม หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งระงับความช่วยเหลือต่างๆ ที่เคยให้ต่อปาเลสไตน์ และยังสั่งปิดสำนักงานการทูตขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization - PLO) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในสัปดาห์นี้ โดยอ้างว่าขบวนการซึ่งมีเป้าหมายสร้างรัฐเอกราชของชาวปาเลสไตน์ไม่ให้ความร่วมมือกับแผนสันติภาพที่อเมริกาหยิบยื่นให้

ในขณะที่อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน เคยร่วมเป็นสักขีพยานตอนที่ ยัตเซอร์ อาราฟัต อดีตผู้นำปาเลสไตน์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ยิตซัค ราบิน แห่งอิสราเอลร่วมกันลงนาม ‘ข้อตกลงสันติภาพออสโลฉบับที่ 1’ บริเวณสนามหญ้าหน้าทำเนียบขาวเมื่อปี 1993 และอดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ก็เป็นเจ้าภาพต้อนรับคณะผู้นำอิสราเอลและอียิปต์ที่แคมป์เดวิด ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การทูตของอเมริกา ภาพความปรองดองเหล่านี้อาจจะเป็นได้แค่เพียงความฝันในยุคของทรัมป์

อดีตพิธีกรเรียลลิตีโชว์วัย 72 ปี ผู้ไม่มีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศมาก่อน ได้ให้สัญญาตั้งแต่ตอนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ ว่า เขาเองจะเป็นผู้นำมาซึ่ง ‘ข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์’ ระหว่างชาวยิวและปาเลสไตน์

ทรัมป์ มอบหมายให้ เจเร็ด คุชเนอร์ บุตรเขยและที่ปรึกษาคนสนิทเป็นหัวหน้าคณะทำงานไหล่เกลี่ยและผลักดันข้อตกลงสันติภาพ แต่ปัญหามีอยู่ว่า คุชเนอร์ นั้นนับถือศาสนายิวและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอลมากเกินไป อีกทั้งยังอ่อนประสบการณ์เกินกว่าจะจัดการกับปัญหาการทูตที่รุนแรงระดับนี้

ทรัมป์ เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้วว่า การยุติความขัดแย้งยิว-ปาเลสไตน์ “อาจไม่ได้ยากเย็นอย่างที่ใครๆ คิด” แต่หลังจากผ่านมาเพียงปีเศษ ดูเหมือนผู้นำสหรัฐฯ จะเริ่มเล็งเห็นถึงความยุ่งยากซับซ้อน

“ผมได้ยินมาว่ามันเป็นดีลที่ตกลงกันยากสุดๆ และผมก็เริ่มจะเชื่อบ้างแล้ว” ทรัมป์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยิวและปาเลสไตน์ทวีความรุนแรงขึ้นในยุคของทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ประกาศรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว

ปาเลสไตน์ถือว่านี่คือการ ‘ข้ามเส้น’ ที่พวกเขายอมไม่ได้ และตัดสินใจระงับการติดต่อสื่อสารกับวอชิงตันตั้งแต่นั้นมา

สิ่งที่สหรัฐฯ ทำยังเป็นการฝ่าฝืนมติร่วมของนานาชาติที่ระบุว่า สถานะของนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะต้องถูกตัดสินผ่านการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง คืออิสราเอลกับปาเลสไตน์เท่านั้น

สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกดดันสารพัดเพื่อบีบให้ผู้นำปาเลสไตน์ยอมเจรจาด้วย เช่น สั่งตัดงบช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ปาเลสไตน์กว่า 200 ล้านดอลลาร์ และระงับเงินอุดหนุนที่เคยจ่ายให้แก่สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติ (UNRWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของยูเอ็นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ โดยอ้างว่าหน่วยงานแห่งนี้มีข้อบกพร่องด้านการบริหาร “จนสุดที่จะเยียวยา”

ล่าสุด ทำเนียบขาวได้สั่งปิดสำนักงานการทูต PLO ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ PLO ออกมาโวยว่าสหรัฐฯ จงใจ ‘แบล็คเมล’ และลำเอียงเข้าข้างอิสราเอลอย่างโจ่งแจ้ง

สาเหตุสำคัญอีกประการที่กระตุ้นให้รัฐบาล ทรัมป์ หันมาใช้บทลงโทษก็คือ การที่ปาเลสไตน์ยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ให้สอบสวนและเอาผิดกับรัฐบาลอิสราเอลในประเด็นต่างๆ เช่น การขยายถิ่นฐานชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ และการสังหารหมู่พลเรือนในสงครามกาซาเมื่อปี 2014 เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลได้ออกมาทวีตชื่นชมการกระทำของรัฐบาลอเมริกัน “ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนให้ปาเลสไตน์ทราบว่า การปฏิเสธเจรจาและพยายามโจมตีอิสราเอลในเวทีโลกนั้นไม่ช่วยให้เกิดสันติภาพ”

มิเชลล์ ดันน์ (Michele Dunne) นักวิจัยจากสถาบันคาร์เนกีเพื่อสันติภาพนานาชาติ ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า คนในรัฐบาล ทรัมป์ ยังคิดว่าจะสามารถกล่อมผู้นำปาเลสไตน์ให้เชื่อว่าพวกเขาต้องเป็นฝ่ายแพ้วันยันค่ำ และควรยอมรับข้อเสนอใดๆ ก็ตามที่สหรัฐฯ และอิสราเอลหยิบยื่นให้ ซึ่งอาจจะเป็นอำนาจปกครองตนเองอย่างจำกัด หรือความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ

ดันน์ มองว่าสหรัฐฯ จงใจหลบเลี่ยงไม่นำประเด็นที่ตกลงกันได้ยากเข้าสู่โต๊ะเจรจา เช่น สถานะของนครเยรูซาเลม, สิทธิ์ของชาวปาเลสไตน์ในการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมของตน และการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ เป็นต้น

“ประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในมุมของปาเลสไตน์ รวมไปถึงประเทศอาหรับและชาวมุสลิมด้วย... ปาเลสไตน์คงจะไม่ยอมอ่อนข้อง่ายๆ” ดันน์ กล่าว

แอรอน เดวิด มิลเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางของสถาบันวิลสัน (Wilson Center) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) ออกมาประกาศบอยค็อตต์ทรัมป์ และอันที่จริงสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่คนกลางที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาสักเท่าไหร่

“ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลทำให้เราไม่อาจเป็นคนกลางที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา (honest broker) ได้ แต่อาจจะเป็นคนกลางที่มีประสิทธิภาพ (effective broker) ได้บ้างในบางครั้ง เช่นตอนที่เราใช้ความสัมพันธ์เป็นตัวเชื่อมให้ชาติอาหรับกับอิสราเอลตกลงกันได้” มิลเลอร์ ซึ่งเคยเป็นอดีตทูตเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางให้กับรัฐบาลอเมริกันทั้งสายเดโมแครตและรีพับลิกัน กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ทรัมป์ กำลังทำให้สหรัฐฯ สูญเสียแม้กระทั่งความเป็น ‘effective broker’

“ตลอด 40 ปีที่ผมติดตามนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งจากภายในและภายนอกรัฐบาล ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนหนุนหลังอิสราเอลอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูโดยไม่มีการตั้งคำถาม และกดขี่ชาวปาเลสไตน์อย่างหนักโดยไร้ตรรกะ เป้าหมาย และเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติเช่นนี้มาก่อนเลย” มิลเลอร์ กล่าวผ่านทวิตเตอร์

ในส่วนของแผนสันติภาพที่ทีมงาน คุชเนอร์ จัดทำขึ้นและยังไม่ถูกเปิดเผยนั้น มิลเลอร์ ชี้ว่าหากสหรัฐฯ ไม่มีข้อเสนอที่น่าเซอร์ไพรส์จริงๆ ตัวอย่างเช่น โรดแมปในการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่มีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง คำตอบที่น่าจะได้รับจากปาเลสไตน์แน่นอนก็คือ ‘ไม่เอา’ ในขณะที่ ดันน์ มองว่า คำปฏิเสธของปาเลสไตน์อาจจะเป็นสิ่งที่ ทรัมป์ คาดหวังอยู่ลึกๆ เพื่อที่สหรัฐฯ จะได้ใช้เป็นข้ออ้างปรับจุดยืนไปหนุนหลังอิสราเอลมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น