xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ เซ็นคำสั่งคว่ำบาตร ‘ต่างชาติ’ ที่แทรกแซงศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งบริหารอนุมัติให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อชาวต่างชาติที่แทรกแซงศึกเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) หลังจากที่รัสเซียถูกครหาว่าจงใจแกว่งผลเลือกตั้งเพื่อช่วย ทรัมป์ เมื่อ 2 ปีก่อน

คำสั่งของ ทรัมป์ ได้กำหนดขั้นตอนในการพิจารณาลงโทษต่อธุรกิจและทรัพย์สินของผู้ที่พยายามแฮกระบบเลือกตั้ง หรือปล่อยข่าวลวงผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ล้วนเกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016

เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า เวลานี้เริ่มมีปฏิบัติการแทรกแซงจากทั้งรัสเซีย จีน และชาติอื่นๆ ก่อนที่ศึกเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. หรืออีกเพียง 50 วันเศษๆ

“เราจะใช้มาตรการตอบโต้ที่หนักหน่วง เพื่อปกป้องระบบและกระบวนการเลือกตั้งของเรา” ทรัมป์ ระบุในถ้อยแถลง พร้อมชี้ว่าการโฆษณาชวนเชื่อและปล่อยข่าวลวงเพื่อแทรกแซงระบบเลือกตั้งนั้น “ถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา”

ทรัมป์ ยังคงปฏิเสธเสียงซุบซิบนินทาที่ว่า ชัยชนะของเขาได้มาจากการแทรกแซงของต่างชาติ

“ไม่ปรากฏหลักฐานเลยว่า มหาอำนาจต่างชาติได้เปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือตารางผลโหวตในศึกเลือกตั้งครั้งใดๆ ของสหรัฐอเมริกา”

แดน โคตส์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (12) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 เป็น ‘สัญญาณเตือน’ ให้เพิ่มความระมัดระวังป้องกันศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทั้งในปีนี้และปี 2020

โคตส์ เผยว่า เจ้าหน้าที่พบสัญญาณการแทรกแซงจากทั้งรัสเซียและจีน แม้แต่อิหร่านและเกาหลีเหนือก็อาจมีศักยภาพพอที่จะลงมือป่วนศึกเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ได้

คำสั่งของ ทรัมป์ ได้กำหนดกรอบเวลา 90 วันในการประเมินตรวจสอบรายงานการแทรกแซงจากบุคคลหรือบริษัทต่างชาติ ก่อนจะประกาศบทลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นการอายัดทรัพย์สิน ห้ามทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกัน และกีดกันผู้ก่อการเหล่านั้นออกจากระบบการเงินของสหรัฐฯ

แม้ทำเนียบขาวและกระทรวงการคลังจะมีอำนาจใช้บทลงโทษเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ โคตส์ อธิบายว่า คำสั่งบริหารครั้งนี้จะสร้างกลไกการทบทวนแบบอัตโนมัติและเป็นทางการ และยังเปิดโอกาสให้ ทรัมป์ พิจารณาว่าจะดำเนินการตอบโต้อย่างไร

จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ระบุวานนี้ (12) ว่า “เราจำเป็นต้องแสดงให้ผู้คนเห็นว่า ประธานาธิบดีเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง”

มาร์โก รูบิโอ และ คริส ฟาน ฮอลเลน สองวุฒิสมาชิกซึ่งเคยเสนอให้ออกกฎหมายโจมตีองค์กรต่างชาติที่แทรกแซงศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ วิจารณ์คำสั่งของ ทรัมป์ ว่ายังอ่อนปวกเปียกเกินไป และเห็นว่าข้อบังคับคว่ำบาตร (mandatory sanctions) ต่อบุคคลที่โจมตีระบบเลือกตั้งน่าจะเป็นเครื่องมือป้องปรามที่มีประสิทธิภาพกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น