(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China’s budget jet fighters on course for Asian airspace
By Asia Times staff
07/09/2018
เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบ FTC-2000G ของจีนโดดเด่นมากในเรื่องอัตราความคุ้มค่าระหว่างผลงานที่ได้กับต้นทุนค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงกำลังเป็นที่สนใจของพวกผู้ซื้อที่มีงบประมาณจำกัด แต่ถึงเวลาต้องเปลี่ยน MiG-21หรือ F-5 ที่ใกล้หมดอายุใช้งานแล้ว
หลังจากขายเรือดำน้ำให้ประเทศไทยและเรือตรวจการณ์ชายฝั่งให้มาเลเซียแล้ว เวลานี้กลุ่มกิจการอุตสาหกรรมกลาโหมรายยักษ์ของจีนยังคอยเก็บเกี่ยวออเดอร์ใบสั่งซื้อจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปอีกไม่ขาดสาย
บริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งประเทศจีน (Aviation Industry Corp of China หรือ AVIC) ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจของแดนมังกร บ่งบอกเอาไว้ในแอคเคานต์ “วีแชท” (WeChat) ของตนเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ได้รับใบสั่งซื้อจากชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายหนึ่งที่มิได้มีการระบุว่าเป็นแห่งใดกันแน่ ซึ่งต้องการได้เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบ เอฟทีซี-2000 จี (FTC-2000G) อันเป็นเวอร์ชั่นส่งออกของไอพ่นสกัดกั้นแบบ เจ-7 (J-7) ที่ได้ยุติการผลิตไปตั้งแต่ปี 2013 ทั้งนี้ เจ-7 ก็คือเวอร์ชั่นที่จีนได้รับไลเซนส์ผลิต ของเครื่องบิน มิก-21 (MiG-21) ที่ออกแบบโดยสำนักงานมิโคยัน-กูเรวิช (Mikoyan-Gurevich หรือ MiG) ยุคสหภาพโซเวียต
AVIC นั้นเน้นย้ำว่าตนเองเป็นเจ้าของ “สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของเครื่องบินแบบนี้อย่างเป็นเอกเทศ”
บริษัทแถลงว่า FTC-2000G ล็อตแรก ซึ่งจะมีรูปทรงที่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักอากาศพลศาสตร์มากขึ้น และศักยภาพด้านเชื้อเพลิงที่ยกระดับดีขึ้น มีกำหนดจะออกมาจากสายการผลิตของบริษัทที่เมืองอันซุน (Anshun) ในมณฑลกุ้ยโจว ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของแดนมังกร เพื่อขึ้นบินเที่ยวปฐมฤกษ์ภายในสิ้นเดือนนี้ แล้วจากนั้นเครื่องบินนี้ก็จะมุ่งหน้าไปยังเมืองจู๋ไห่ (Zhuhai) เมืองทางภาคใต้ที่อยู่ในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) เพื่อเข้าร่วมงาน ไชน่า แอร์โชว์ (China Airshow) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนก็รายงานเอาไว้ในวันพุธ (5 ก.ย.) ว่า งานการผลิต FTC-2000G เครื่องแรกเสร็จสิ้นแล้ว และมันถูกลากจูงจากโรงงานไปปรากฏตัวในพิธีเฉลิมฉลองซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิต คือ บริษัทอุตสาหกรรมการบินกุ้ยโจว (Guizhou Aviation Industry Corp) ที่เป็นกิจการหนึ่งในเครือ AVIC
ทาง AVIC ระบุว่า เครื่องบินที่มีความสามารถรอบตัวแบบนี้ เหมาะสมทั้งสำหรับภารกิจการตรวจการณ์, การฝึก, การสู้รบทางอากาศ, และการโจมตีภาคพื้นดิน รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้กลายเป็นเครื่องบินตรวจการณ์อย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย
เครื่องบินที่ปรับปรุงใหม่แบบนี้ ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นแบบ diverterless supersonic inlet (DSI), มีการติดตั้งแผ่นเสริมแผ่นแรกสุดที่ด้านนอกของปีก (large leading edge root extension), และมีจุดที่สามารถใช้ติดตั้งอาวุธได้สูงสุด 7 จุด โดยรับน้ำหนักสูงสุดได้ 3,000 กิโลกรัม ขณะที่มีความทรหดบินได้นาน 3 ชั่วโมงและพิสัยทำการ 2,500 กิโลเมตร
พวกผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า FTC-2000G น่าจะสามารถทำตลาดได้กว้างขวางทีเดียวตลอดทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา ซึ่งกองทัพอากาศของประเทศจำนวนมากอยู่ในภาวะแก่ชรามานานแล้ว จากการที่เครื่องบินซึ่งใช้งานอยู่ของพวกเขามีแต่แบบ มิก-21 ที่ล้าสมัย หรือ เอฟ-5 ที่เก่ามาก อะไรทำนองนี้ อันล้วนแล้วแต่ใกล้หมดอายุใช้งานเต็มที
เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันที่มีอยู่อย่างเช่น เอฟเอฟ-50 (FA-50) ของเกาหลีใต้ และ เอ็ม-346 (M-346) ของอิตาลีแล้ว FTC-2000G ก็มีอัตราความคุ้มค่าระหว่างผลงานที่ได้กับต้นทุนค่าใช้จ่ายซึ่งโดดเด่นมาก จึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจพวกกองทัพต่างประเทศที่มีงบประมาณจำกัดแต่ถึงเวลาต้องอัปเกรดฝูงบินของพวกตน
สำหรับประเทศที่เคยซื้อเครื่องบินทหารผลิตในจีนก่อนหน้านี้ อาทิเช่น พม่า และปากีสถาน ก็น่าจะเป็นลูกค้าที่จะซื้อหาเครื่องบินแบบนี้เช่นเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งบอกกับโกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์ในเครือของเหมินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน