xs
xsm
sm
md
lg

ศาลพม่าจำคุกนักข่าวรอยเตอร์ 7 ปี นานาประเทศประณาม-อัดยับชื่อเสียง “ซูจี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>2 นักข่าวของรอยเตอร์ คือ กอ โซ อู (ซ้าย) กับ วา โลน (ขวา) ในสภาพที่ถูกใส่กุญแจมือ ขณะถูกตำรวจนำตัวออกจากศาลในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อวันจันทร์ (3 ก.ย.)  ทั้งนี้ศาลชั้นต้นของพม่าได้ตัดสินจำคุกบุคคลทั้งสองคนละ 7 ปี </i>
เอเจนซีส์ - ศาลชั้นต้นพม่าตัดสินในวันจันทร์ (3 ก.ย.) จำคุกนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน คนละ 7 ปี ในความผิดฐานละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ จากการรายงานข่าวการสังหารหมู่มุสลิมโรฮิงญา ทำให้นานาชาติยิ่งพากันออกมาประณามอย่างรุนแรง หลังจากสัปดาห์ที่แล้วกองทัพพม่าเพิ่งถูกยูเอ็นกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนั้นคำพิพากษาในคดีนี้ยังทำลายชื่อเสียงของอองซานซูจี ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจนย่อยยับ

นักข่าวชาวพม่า 2 คนนี้ของรอยเตอร์ คือ วา โลน อายุ 32 ปี กับ กอ โซ อู อายุ 28 ปี ถูกจองจำในเรือนจำอินเส่ง มาตั้งแต่ที่ถูกจับกุมในเดือนธันวาคม ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ ซึ่งเป็นกฎเหล็กที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยอังกฤษยังเป็นเจ้าอาณานิคม และมีระวางโทษสูงสุดคือจำคุก 14 ปี

นานาชาติประณามพม่าว่า พยายามจำกัดขัดขวางการรายงานข่าวการปราบปรามชาวโรฮิงญาโดยกองกำลังความมั่นคงในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้ว

ปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพพม่าทำให้ชาวโรฮิงญา 700,000 คนหนีตายไปบังกลาเทศ และเปิดโปงเรื่องราวความโหดร้ายป่าเถื่อนของตำรวจทหารพม่า ตั้งแต่การข่มขืน การฆ่า และการวางเพลิง

นักข่าวทั้งสองคนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่าพวกเขาถูกจัดฉากระหว่างการเข้าไปทำข่าวเปิดโปงการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา 10 คนในหมู่บ้านอินดิน ในยะไข่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ทั้งคู่ให้การต่อศาลว่า ถูกจับหลังจากได้รับเชิญจากตำรวจในย่างกุ้งให้ไปร่วมกินอาหารเย็นและมอบเอกสารให้ แต่เมื่อออกจากร้านอาหาร ทั้งสองคนถูกควบคุมตัวทันทีด้วยข้อหาครอบครองเอกสารลับ

ทว่า ผู้พิพากษาเย ละวิน ไม่เชื่อคำให้การ และระบุว่า เอกสารที่ทั้งคู่ครอบครองจะเป็นประโยชน์ต่อศัตรูของประเทศและองค์การก่อการร้าย จึงเชื่อได้ว่า ผู้กระทำผิดต้องการทำลายผลประโยชน์ของประเทศซึ่งถือเป็นความผิดในการละเมิดกฎหมายความลับราชการ และต้องรับโทษคนละ 7 ปี

ระหว่างถูกนำตัวไปขึ้นรถของเรือนจำหลังฟังคำพิพากษาเมื่อวันจันทร์ (3) กอ โซ อู แถลงสั้นๆ ว่า รัฐบาลควบคุมตัวพวกเขาได้ แต่ไม่อาจปิดหูปิดตาประชาชน

ส่วน วา โลน สำทับว่า พวกเขาจะเผชิญหน้ากับคำตัดสินอย่างกล้าหาญและมั่นคง

ทนายความของจำเลยทั้งสองเผยว่า จะยื่นอุทธรณ์โดยเร็วที่สุด ขณะที่สตีเฟน เจ. แอดเลอร์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวรอยเตอร์ประณามว่า เป็นข้อกล่าวหาจอมปลอมเพื่อปิดปากและข่มขู่สื่อ
<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 13 พ.ย. 2017) อองซานซูจี ผู้นำฝ่ายพลเรือนของพม่า ถูกนานาชาติประณามหนัก </i>
ทางด้าน ผู้แทนขององค์การสหประชาชาติในพม่า สหภาพยุโรป (อียู) ตลอดจนถึงอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และกลุ่มสนับสนุนเสรีภาพสื่อ ต่างร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักข่าวทั้งสองคน

ทิรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือภาวะวิกฤตขององค์การนิรโทษกรรมสากล ออกคำแถลงว่า คำพิพากษาของศาลพม่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนถึงนักข่าวคนอื่นๆ ในประเทศว่า การพยายามตรวจสอบการใช้อำนาจโดยมิชอบของกองทัพ จะต้องเผชิญผลลัพธ์เลวร้าย

ทั้งนี้ กองทัพพม่าออกรายงานเหตุการณ์ในหมู่บ้านอินดิน ยอมรับว่า มีชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งถูกสังหารระหว่างการควบคุมตัวจริง แต่เป็นแค่กรณีเฉพาะที่เกิดจากการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องของกองกำลังความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ยะไข่

การตัดสินครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากสัปดาห์ที่แล้วมีการเผยแพร่รายงานที่ยูเอ็นเป็นแกนนำการจัดทำว่าด้วยเรื่องการล่วงละเมิดในยะไข่ ซึ่งกล่าวหาผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าว่าเป็นผู้รับผิดชอบการฆ่าล้างเผาพันธุ์ และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาวโรฮิงญา

รายงานฉบับนี้ยังวิจารณ์อองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายพลเรือนของพม่าอย่างรุนแรงว่า ล้มเหลวในการใช้อำนาจในเชิงคุณธรรม เพื่อต่อสู้ให้ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไร้สัญชาติ

วันเดียวกัน บริษัทเฟซบุ๊กได้ปิดเพจของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า และนายทหารระดับสูงคนอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านี้โหมกระพือความตึงเครียดทางชาติพันธุ์และศาสนา

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้นำตัวผู้นำทางทหารพม่าขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ บุคคลเหล่านี้ยังยืนกรานว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาเมื่อปีที่แล้วเป็นการตอบโต้อย่างเหมาะสมต่อการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินล่าสุด โดยบอกว่า ศาลของพม่ามีอำนาจโดยอิสระและคดีนี้พิจารณาภายใต้กระบวนการกฎหมาย

นอกจากนั้นแล้ว สื่อต่างแดนพากันระบุว่า ชื่อเสียงของซูจีในต่างประเทศ ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนยังถูกทำลายย่อยยับ หลังจากที่เธอปฏิเสธที่จะประณามแนวทางการจัดการวิกฤตโรฮิงญาของกองทัพ หรือออกหน้าสนับสนุนนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกคุมขัง


กำลังโหลดความคิดเห็น