รอยเตอร์/เอเอฟพี - สหรัฐฯและเม็กซิโก บรรลุข้อตกลงหนึ่งในวันจันทร์(27ส.ค.) สำหรับแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(North American Free Trade Agreement - NAFTA) และคาดหมายว่าจะเริ่มเจรจากับแคนาดาในทันที จากการเปิดเผยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
"เราเคยเรียกมันว่า NAFTA ตอนนี้เรากำลังจะเรียกมันว่าข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก เราจะกำจัดชื่อ NAFTA" ทรัมป์บอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมระบุว่าชื่อนั้นมีความหมายแฝงแย่ๆ
ข้อตกลงดังกล่าวสร้างความคึกคักในตลาดเงินและเปิดประตูให้ แคนาดา กลับสู่การเจรจาเพื่อปรับปรุงข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-แคนาดา-เม็กซิโก ปี 1994 ในขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านการค้าระดับสูงของอเมริกาแสดงความหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในขั้นท้ายสุดในวันศุกร์(31ส.ค.)
การเจรจาระหว่าง 3 พันธมิตรทางการค้าลากยาวมานานกว่า 1 ปี และคำขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของทรัมป์ว่าจะฉีกข้อตกลง ก่อความสั่นคลอนแก่ตลาดเงิน รวมถึงถาโถมแรงกดดันเข้าใส่ค่าเงินเปโซของเม็กซิโกและดอลลาร์แคนาดา
ทรัมป์บอกว่าเขาจะพูดคุยกับ จัสติน ทรูโด ของแคนาดาเร็วๆนี้ แม้เคยขู่ว่าเขาสามารถรีดภาษีรถยนต์นำเข้าจากแคนาดาอย่างง่ายๆและไม่จำเป็นต้องนับรวม แคนาดา ในข้อตกลงกับเม็กซิโก
ทั้งนี้การหารือระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ ได้มุ่งเน้นไปที่การปรับแต่งกฎระเบียบใหม่ในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทรัมป์วางมันอยู่ในฐานะแก่นกลางของการแก้ไขข้อตกลง ซึ่งเขาย้ำหลายครั้งว่ามันเป็นหายนะสำหรับแรงงานอเมริกา
ข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก มีการปรับเกณฑ์ขั้นต่ำของรถยนต์ต้องมีส่วนประกอบที่ผลิตในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 75% จากระดับปัจจุบัน 62.5% ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่วอชิงตัน
"ตอนนี้เรากำลังเชิญแคนาดาเข้าร่วม และหวังว่าเราจะได้ข้อสรุปที่ยุติธรรมและประสบความสำเร็จกับพวกเขาเช่นเดียวกัน" เจ้าหน้าที่ด้านการค้าระดับสูงของสหรรัฐฯบอกกับรอยเตอร์ "กับแคนาดายังคงมีหลายประเด็น แต่ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้จะสามารถคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว"
โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนทางการค้าของสหรัฐฯ เปิดเผยในวันจันทร์(27ส.ค.) ว่าอเมริกาและเม็กซิโก ตกลงว่าความตกลงการค้าอเมริกาเหนือจะมีอายุ 16 ปี และจะมีการทบทวนทุกๆ 6 ปี ซึ่งสามารถขยายกรอบเวลาไปมากกว่า 16 ปี
ทั้งนี้ความตกลงการค้าอเมริกาเหนือจะไม่ได้ใส่ sunset clause (กำหนดระยะเวลาบังคับใช้หรือวันสิ้นอายุโดยอัตโนมัติ) ตามข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ของสหรัฐฯ
คาดหมายว่า ทรัมป์ จะส่งหนังสือแจ้งถึงสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการในช่วงปลายสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับความตั้งใจของเขาในการลงนามข้อตกลงการค้าใหม่ภายใน 90 วัน ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้ ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปนญา เนียโต แห่งเม็กซิโก ลงนามในข้อตกลงก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่ง
ด้าน เอ็นริเก เปนญา เนียโต กล่าวในวันจันทร์(27ส.ค.) คาดหมายว่าอาจได้ข้อตกลงการค้าขั้นท้ายสุดกับ สหรัฐฯและแคนาดา ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ สหรัฐฯและเม็กซิโก บรรลุข้อตกลงปรับปรุง NAFTA
เปนญา เนียโต เขียนบนทวิตเตอร์ว่าเขาได้พูดคุยกับ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ทางโทรศัพท์แล้ว และกระตุ้นให้เขากลับสู่โต๊ะเจรจา เพื่อเร่งสปีดสัปดาห์สุดท้ายของการยกเครื่องความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
"ผมพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด เกี่ยวกับสถานะของการเจรจา NAFTA และความคืบหน้าระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ" เปนญา เนียโต เขียนบนทวิตเตอร์ "ผมบอกเขาไปว่า มันสำคัญมากที่แคนาดาจะกลับเข้าร่วมกระบวนการนี้ ด้วยเป้าหมายได้ข้อสรุปข้อตกลง 3 ฝ่ายในสัปดาห์นี้"
สหรัฐฯ, เม็กซิโฏและแคนาดา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
ทั้ง 3 ประเทศ ดำเนินการเจรจา นาฟตา ใหม่มานานกว่า 1 ปี หลังมีคำขู่ถอนสหรัฐฯพ้นจากข้อตกลงมาจาก ทรัมป์ โดยประธานาธิบดีอเมริการายนี้เรียกข้อตกลงเมื่อปี 1994 ว่าเป็นข้อตกลงการค้าที่เลวร้าย ซึ่งทำให้สหรัฐฯสูญเสียตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมให้เม็กซิโก
อาดัม ออสเทน โฆษกของนางคริสเทีย ฟรีแลนด์ รมว.ต่างประเทศแคนาดา กล่าวว่า แคนาดามีความยินดีต่อความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ของประเทศสมาชิกในข้อตกลง NAFTA
อย่างไรก็ดี ออสเทนกล่าวว่า แคนาดาจะลงนามในข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ก็ต่อเมื่อเป็นข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่แคนาดา
"ความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างสหรัฐและเม็กซิโกถือว่ามีความจำเป็นสำหรับการทำข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ โดยเรายังคงติดต่อกับประเทศคู่เจรจาของเราอย่างต่อเนื่อง และเราจะยังคงดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ แต่เราจะลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ก็ต่อเมื่อเป็นข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่อแคนาดา และดีสำหรับชนชั้นกลาง" ออสเทนกล่าว