xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายต่างประเทศของ‘ทรัมป์’ คือการปฏิบัติตามพิมพ์เขียวของจีน-รัสเซีย ซึ่งต้องการสร้างระเบียบโลกที่มี 3 ขั้วอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไมเคิล ที. แคลร์

<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขณะเข้าร่วมการประชุมนัดหนึ่ง ในการประชุมซัมมิตขององค์การนาโต้ ณ สำนักงานใหญ่นาโต้ ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2018 </i>
Entering a 1984 World, Trump-Style; Or Implementing the Sino-Russian Blueprint for a Tripolar World Order
By Michael T. Klare
24/07/2018

ผู้รู้และนักการเมืองมักมองว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีนโยบายการต่างประเทศชนิดสอดคล้องต่อเนื่องกัน แต่ที่จริงแล้วเขามี โดยข้อปฏิบัติสำคัญๆ ของเขาแทบเป็นอย่างเดียวกับหลักการต่างๆ ในพิมพ์เขียวสร้างระเบียบโลกที่มี 3 ขั้วอำนาจ ซึ่งรัสเซียกับจีนเริ่มผลักดันมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990

ทั้งบัณฑิตผู้รู้และทั้งนักการเมืองทั้งหลายโดยทั่วไปแล้วต่างทีกทักเอาง่ายๆ ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นไม่ได้มีนโยบายการต่างประเทศชนิดที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน พวกเขาเชื่อว่าทรัมป์ทำอะไรลงไปก็เพียงแค่เนื่องจากความอาฆาตพยาบาท, เป็นการทำอะไรตามอำเภอใจเอาแน่เอานอนไม่ได้, และอยู่ในลักษณะนักฉวยโอกาสนักการเมือง (political opportunism) –ทั้งนี้เห็นได้จากการที่เขาออกมาขู่เข็ญเฆี่ยนตีผู้ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร แต่กลับโอ๋เอาอกเอาใจพวกผู้ปกครองเผด็จการรวบอำนาจอย่างเช่น ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ลักษณะการแสดงความขุ่นเคืองอาฆาตตามสัญชาตญาณ และความหุนหันพลันแล่นตามใจของเขา ดูเหมือนปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเต็มที่ในระหว่างทริปเดินทางไปเยือนยุโรปของเขาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา [1] ซึ่งเขาทั้งวิจารณ์โจมตีแมร์เคิล, ทั้งบ่อนเซาะให้ร้ายเมย์, แล้วหลังจากนั้นในระหว่างการพบปะหารืออย่างพิเศษผิดธรรมดาของเขากับปูติน เขาบอกปัดไม่เห็นด้วยกับความวิตกกังวลใดๆ ในเรื่องรัสเซียเข้าแทรกแซงก้าวก่ายการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันปี 2016 (ทว่าจากนั้นไม่นานนักก็กล้ำกลืนลดทอนน้ำหนักความเห็นเช่นนี้ของเขาไปแบบครึ่งๆ กลางๆ)

“ไม่มีใครรู้เลยว่าเมื่อไหร่ที่ทรัมป์กำลังเดินแต้มคูทางการทูตระหว่างประเทศอยู่ และเมื่อไหร่ที่เขากำลังรณรงค์หาเสียงเอาอกเอาใจผู้ลงคะแนนในมอนแทนา” นี่เป็นเสียงวิจารณ์จากรัฐมนตรีกลาโหมเดนมาร์ก เคลาส์ ยอร์ท เฟรเดอริคเสน (Claus Hjort Frederiksen) ภายหลังการประชุมซัมมิตของนาโต้ (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) ในเดือนกรกฎาคมดังกล่าว “เป็นเรื่องยากที่จะถอดรหัสออกมาได้ว่าประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้กำลังส่งเสริมสนับสนุนนโยบายอะไรกันแน่ ในเรื่องนี้มีความคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้เอาเลยมากมายเต็มไปหมด” [2]

ขณะที่ปฏิกิริยาเช่นนี้อาจจะเป็นแบบฉบับที่พบเห็นได้บ่อยๆ กระนั้นมันก็เป็นความผิดพลาดที่จะสันนิษฐานว่าทรัมป์ขาดไร้พิมพ์เขียวด้านนโยบายการต่างประเทศที่มีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน ในความเป็นจริงแล้ว จากการตรวจสอบคำปราศรัยหาเสียงของเขาและการกระทำต่างๆ ของเขานับตั้งแต่ช่วงที่เข้าดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว – รวมทั้งตอนที่เขาปรากฏตัวพร้อมกับปูตินด้วย— มันกลับสะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องต่อเนื่องกันกับแนวความคิดแกนกลางทางยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง อันได้แก่ การเรียกร้องให้สถาปนาระเบียบโลกแบบมี 3 ขั้วอำนาจ (tripolar world order) ขึ้นมา ซึ่งออกจะแปลกประหลาดทีเดียว แนวความคิดแกนกลางเชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้ช่างเหมือนๆ กับวิสัยทัศน์ซึ่งปรากฏเปิดเผยออกมาเป็นครั้งแรกโดยผู้นำรัสเซียและผู้นำจีนเมื่อปี 1997 แล้วต่อมาเหล่าผู้นำของชาติทั้งสองก็ยังคงเฝ้าติดตามผลักดันอย่างไม่ลดละนับแต่นั้น

ระเบียบโลกแบบมี 3 ขั้วอำนาจดังกล่าว –ซึ่งก็คือรัสเซีย, จีน, และสหรัฐฯนั้น แต่ละฝ่ายต่างเข้าแบกรับความรับผิดชอบในการธำรงรักษาเสถียรภาพภายในเขตอิทธิพลของใครของมัน ขณะเดียวกันก็ร่วมมือประสานงานกันในการแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทต่างๆ ในจุดที่เขตอิทธิพลเหล่านี้เหลื่อมล้ำทับซ้อนกันอยู่ ทั้งนี้แนวความคิดเช่นนี้ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากกระบวนทัศน์ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น ซึ่งระหว่างหลายๆ ปีแห่งความตื่นเต้นมึนเมาในเวลานั้น สหรัฐฯคือมหาอำนาจผู้ครอบงำโลกแต่เพียงผู้เดียว และเป็นเจ้าเหนือส่วนอื่นๆ ทั้งหมดของพื้นพิภพ ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าชาติพันธมิตรนาโต้ผู้จงรักภักดีต่ออเมริกา

สำหรับพวกผู้นำของรัสเซียและจีนแล้ว ระบบ “โลกที่มีขั้วอำนาจเพียงขั้วเดียว” (“unipolar” system) เช่นนี้ย่อมถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งพึงประณามรังเกียจ เหนือสิ่งอื่นใดเลย ระบบนี้อนุญาตให้สหรัฐฯแสดงบทบาทเป็นเจ้าเหนือใครๆ ในกิจการโลก ขณะที่ปฏิเสธพวกเขาในสิ่งซึ่งพวกเขาพิจารณาเห็นว่าเป็นที่ทางอันชอบธรรมของพวกเขาในฐานะที่เป็นผู้มีฐานะเท่าเทียมกับอเมริกา ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่การทำลายระบบเช่นนี้ให้พินาศไป แล้วแทนที่ด้วยระบบ 3 ขั้วอำนาจ คือวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของพวกเขามาตั้งแต่ระยะปลายทศวรรษ 1990 แล้ว –และมาถึงเวลานี้ก็มีประธานาธิบดีอเมริกันผู้หนึ่งสวดกอดยอมรับอย่างกระตือรือร้นว่า โครงการที่ฉีกแยกออกไปจากสิ่งซึ่งเคยดำเนินมาเช่นนี้แหละคือสิ่งที่ตัวเขาเองมุ่งหวังปรารถนา

แผนแม่บทของจีน-รัสเซีย

โครงการร่วมของรัสเซีย-จีนที่จะบ่อนทำลายระบบโลกแบบมีขั้วอำนาจเดียว เริ่มต้นเคลื่อนไหวปรากฏตัวขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อ เจียง เจ๋อหมิน ผู้เป็นประธานาธิบดีของจีนในเวลานั้น ปรึกษาหารือกับ บอริส เยลตซิน ประธานาธิบดีของรัสเซียในขณะนั้น ระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นรัฐพิธีเต็มขั้นตามคำเชิญของประมุขแดนหมีขาวในเดือนเมษายน 1997 ทั้งนี้จุดประสงค์สำคัญในการเดินทางเที่ยวนั้นของเจียง มีรายงานว่าก็คือการฟื้นฟูความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัสเซีย ขณะเดียวกับที่สร้างแนวร่วมขึ้นมาต่อต้านคัดค้านฐานะครอบงำโลกของสหรัฐฯ [3]

“บางคนบางฝ่ายกำลังผลักดันให้ไปสู่โลกที่มีศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวเท่านั้น” เยลตซิน กล่าวเอาไว้ในตอนนั้น “เราต้องการโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ โลกที่มีจุดโฟกัสหลายๆ จุด เหล่านี้จะก่อรูปขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการสถาปนาระเบียบโลกแบบใหม่ขึ้นมา” [4]

ทัศนะแห่งอำนาจเช่นนี้ ได้รับการจารึกเอาไว้ในเอกสาร “ปฏิญญาร่วมว่าด้วยโลกที่มีหลายขั้วอำนาจและการสถาปนาระเบียบระหว่างประเทศแบบใหม่” (Joint Declaration on a Multipolar World and the Establishment of a New International Order) ซึ่งผู้นำทั้งสองร่วมกันลงนามเอาไว้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 1997 ถึงแม้ปฏิญญาฉบับนี้เต็มไปด้วยภาษาถ้อยคำสวยหรูอลังการ (อย่างที่ชื่อของเอกสารนี้ก็บ่งชี้ให้เห็น) แต่มันก็ยังคงคุ้มค่าแก่การอ่าน เนื่องจากบรรจุเอาไว้ด้วยหลักการสำคัญๆ แทบทั้งหมดซึ่งกลายเป็นพื้นฐานของนโยบายการต่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ในเวลานี้

หัวใจแกนกลางของเอกสารฉบับนี้ ได้แก่การประณามสาปแช่งการครองตัวเป็นเจ้าเหนือทั่วทั้งโลก (ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีชาติหนึ่งชาติใดเพียงชาติเดียวสามารถมีอำนาจอิทธิพลครอบงำกิจการต่างๆ ของโลกได้) พร้อมๆ กันนั้นก็เรียกร้องให้สถาปนาระเบียบระหว่างประเทศแบบ “หลายขั้วอำนาจ” ขึ้นมา [5] จากนั้นเนื้อหาของเอกสารฉบับนี้ได้แสดงการสนับสนุนข้อปฏิบัติสำคัญข้ออื่นๆ ซึ่งเมื่อมาถึงเวลานี้จะต้องถูกพิจารณาว่าเป็นแนวความคิดแบบชาวทรัมป์ (Trumpian) เป็นต้นว่า การให้ความเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไขต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐ, การไม่เข้าแทรกแซงในกิจการภายในของรัฐอื่นๆ (นี่คือคำรหัสซึ่งหมายถึงการไม่พูดจาอภิปรายถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐอื่นๆ), และ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

เยลตซินนั้นจะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียไปในเดือนธันวาคม 1999 ขณะที่ เจียง จะอยู่จนครบวาระการดำรงตำแหน่งของเขาในเดือนมีนาคม 2003 อย่างไรก็ตาม ทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งของพวกเขา ซึ่งก็คือ วลาดิมีร์ ปูติน และ หู จิ่นเทา ยังคงสืบสานเอกสารที่เป็นการวางรากฐานแห่งปี 1997 ฉบับนี้ต่อไปอีก โดยได้พวกเขายังได้จัดทำพิมพ์เขียวสำหรับโลกที่มี 3 ขั้วอำนาจของพวกเขาเองขึ้นมาในปี 2005 อีกด้วย

ทั้งนี้หลังจาก ปูติน กับ หู พบปะหารือกันที่วังเครมลินในเดือนกรกฎาคมของปีดังกล่าว ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันลงนามในเอกสารฉบับอัปเดต ที่ใช้ชื่อว่า “คำแถลงร่วมของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยระเบียบระหว่างประเทศของศตวรรษที่ 21” (Joint Statement of the People's Republic of China and the Russian Federation Regarding the International Order of the 21st Century) [6] เอกสารฉบับนี้ยิ่งเน้นหนักมากขึ้นไปอีกเกี่ยวกับพันธะผูกพันของพวกเขาในการสถาปนาโลกซึ่งสหรัฐฯจะต้องยินยอมเจรจากับมอสโกและปักกิ่ง ด้วยเงื่อนไขอันยอมรับฐานะที่ความเท่าเทียมกัน โดยที่ระบุในตอนหนึ่งดังนี้:

“ประชาคมระหว่างประเทศควรที่จะปฏิเสธอย่างทั่วถ้วนไม่ยอมรับความคิดจิตใจแบบมุ่งการเผชิญหน้ากันและการจับกลุ่มหาแนวร่วม, ควรที่จะไม่มุ่งแสวงหาสิทธิในการเข้าผูกขาดกิจการโลกหรือในการเข้าครอบงำกิจการโลก, และควรที่จะไม่แบ่งแยกประเทศต่างๆ ออกมาเป็นค่ายของพวกผู้นำ และค่ายของพวกผู้ตาม ... กิจการโลกควรที่จะตัดสินกันโดยผ่านการสนทนากันและการปรึกษาหารือกันบนพื้นฐานพหุภาคีและการรวมหมู่ร่วมไม้ร่วมมือกัน” [7]

จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของยุทธศาสตร์เช่นนี้ ยังคงเป็น (และกระทั่งเวลานี้ก็ยังจะเป็น) การทำลายระเบียบโลกที่สหรัฐฯมีฐานะครอบงำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบโลกซึ่งฐานะครอบงำดังกล่าวได้รับการค้ำประกันจากการที่อเมริกาสามารถไว้วางใจอาศัยพวกพันธมิตรยุโรปของตนและองค์การนาโต้ได้ ความสามารถที่จะระดมกำลังไม่เพียงส่วนที่อยู่ในอำนาจของตนเองเท่านั้น แต่ยังส่วนที่อยู่ในอำนาจของยุโรปด้วยนี่แหละ ที่ทำให้วอชิงตันสามารถมีบทบาทชนิดเกินขนาดขอบเขตของตนในกิจการระหว่างประเทศ [8] ถ้าความผูกพันดังกล่าวนี้ถูกทำให้กลายเป็นอัมพาตหรือถูกทำลายไปแล้ว ก็เป็นที่ชัดเจนว่าอิทธิพลบารมีของวอชิงตันจะต้องอ่อนด้อยถดถอยลงไป และดังนั้นสักวันหนึ่งสหรัฐฯก็อาจจะกลายเป็นเพียงแค่มหาอำนาจเฮฟวี่เวทระดับภูมิภาคอีกรายหนึ่งเท่านั้น

ตลอดช่วงหลายๆ ปีในเวลานั้น ปูตินคือผู้ที่ส่งเสียงดังแข็งขันเป็นพิเศษในการเรียกร้องให้ยุบเลิกองค์การนาโต้ แล้วแทนที่ด้วยระบบความมั่นคงของทั่วทั้งยุโรป ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่าจะต้องรวมเอาประเทศของเขาเข้าไว้ด้วย การแตกแยกกันในยุโรป “จะยังคงดำเนินต่อไป จวบจนกระทั่งมีอาณาบริเวณทางด้านความมั่นคงที่เป็นหนึ่งเดียวขึ้นมาในยุโรป” เขากล่าวเช่นนี้กับ คอร์เรียเร เดลลา เซรา (Corriere della Sera) หนังสือพิมพ์ในอิตาลีเมื่อปี 2001 [9] เขาหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโน้มน้าวว่า ในเมื่อกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact การรวมกลุ่มทางทหารที่นำโดยสหภาพโซเวียตและชาติแถบยุโรปตะวันออกซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียต –ผู้แปล) ได้ถูกยุบเลิกไปแล้วภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ดังนั้น นาโต้ ซึ่งก็เป็นกลุ่มพันธมิตรในยุคสงครามเย็นของยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ จึงควรถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างด้านความมั่นคงที่มีขนาดขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น

เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาร่วมขบวน

ไม่มีทางที่จะทราบว่า โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นเคยตระหนักมาก่อนหรือไม่ (ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยทางอ้อมอย่างเหลือเกินก็ตามที) ถึงเป้าหมายต่างๆ หรือการวางแผนเช่นนี้ของจีนกับรัสเซีย อย่างไรก็ดีไม่มีคำถามข้อสงสัยเลยว่า จากวิธีการในแบบของเขาเองและด้วยหลักเหตุผลของเขาเองนั้น เขาได้ดูดซับเอาหลักการพื้นฐานต่างๆ ของสิ่งซึ่งทางมอสโกกับปักกิ่งคิดกันขึ้นมานี้ อย่างที่ทรัมป์ทำการโจมตีองค์การนาโต้เมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งการที่เขาอ้าแขนโอบกอดประธานาธิบดีรัสเซียได้บ่งชี้ให้เห็นนั่นแหละ ชัดเจนว่าเขากำลังมุ่งแสวงหาทางสร้างโลกแบบที่มี 3 ขั้วอำนาจขึ้นมา เป็นระเบียบโลกอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยประกาศแสดงวิสัยทัศน์โดย บอริส เยลตซิน กับ เจียง เจ๋อหมิน แล้วต่อมาก็ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นโดย วลาดิมีร์ ปูติน นับตั้งแต่ที่เขาขึ้นครองตำแหน่ง

ข้อพิสูจน์ที่ว่าทรัมป์ได้เที่ยวเสาะแสวงหาทางให้เกิดระบบระหว่างประเทศดังกล่าว สามารถพบได้ในคำปราศรัยครั้งต่างๆ และในการให้สัมภาษณ์คราวต่างๆ ในช่วงรณรงค์หาเสียงปี 2016 ของเขา ในเวลาเดียวกับที่เขาประณามจีนครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และร้องทุกข์บ่นพึมเกี่ยวกับการที่รัสเซียยังคงสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ไม่หยุดหย่อนอยู่นั้น เขากลับไม่เคยเรียกประเทศเหล่านี้ว่าเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่ต้องทำลายล้างกันลงไป แต่กลับบอกว่าพวกเขาเป็นคู่ต่อสู้หรือเป็นคู่แข่งขัน ซึ่งตัวเขาสามารถที่จะติดต่อสื่อสารกับพวกผู้นำของชาติเหล่านี้ และเมื่อมีประโยชน์ ก็สามารถที่จะร่วมมือกันได้ด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาประณามนาโต้ว่าเป็นตัวสูบเลือดตัวเบียดบังความเจริญมั่งคั่งของอเมริกา ตลอดจนเป็นตัวรบกวนขัดขวางความสามารถของอเมริกาในการเคลื่อนไหวยักย้ายถ่ายเทเพื่อให้ประสบความสำเร็จขึ้นในโลก อันที่จริงแล้วเขามองกลุ่มพันธมิตรนี้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นเลยอย่างชัดแจ้ง ถ้าหากพวกสมาชิกของนาโต้ไม่มีความปรารถนาที่จะสนับสนุนไอเดียของเขาในเรื่องวิธีการที่จะโปรโมตส่งเสริมผลประโยชน์ของอเมริกาให้มากที่สุดในโลกซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างสูงลิ่วนี้

“ผมขอเสนอนโยบายการต่างประเทศแบบใหม่ ซึ่งมุ่งโฟกัสที่การผลักดันผลประโยชน์แห่งชาติระดับแกนกลางของอเมริกาให้คืบหน้าไป, ส่งเสริมสนับสนุนเสถียรภาพระดับภูมิภาค, และก่อให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดขึ้นในโลก” เขาประกาศเช่นนี้ในการปราศรัยที่เมืองฟิลาเดลเฟียเมื่อเดือนกันยายน 2016 [10] จากคำปราศรัยคราวนั้นและคำแถลงระหว่างรณรงค์หาเสียงครั้งอื่นๆ เราสามารถที่จะเข้าอกเข้าใจไอเดียในความคิดคิดจิตใจของเขาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

ประการแรกสุด คือ การทำให้สหรัฐฯ (ซึ่งก็เป็นชาติทรงอำนาจที่สุดในโลกอยู่แล้ว) ให้ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะด้านการทหาร ประการที่สอง ได้แก่ การพิทักษ์ปกป้องชายแดนของอเมริกา (“ความมั่นคงในเรื่องผู้อพยพ” เขาอธิบาย “คือส่วนสำคัญที่สุดของความมั่นคงแห่งชาติของเรา”) สำหรับประการที่สามนั้น ตรงกันข้ามกับลัทธิโลกนิยม (globalism แนวความคิดที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์) เวอร์ชั่นซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการหนุนหลังนำเอามาใช้โดย ระเบียบระหว่างประเทศแนวทางเสรีนิยมในเวอร์ชั่นอเมริกัน (American version of a liberal international order) ประเทศนี้จะต้องมุ่งเสาะแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น และเป็นผลประโยชน์แบบที่มีการนิยามจำกัดความเอาไว้แคบๆ ด้วย เขาหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า การแสดงบทบาทเป็นผู้ที่คอยใช้กำลังบังคับในขอบเขตทั่วโลก (global enforcer) ให้แก่เหล่าพันธมิตรทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯต้องยากจนลงและจะต้องยุติลงไป “เมื่อไปถึงบางจุด เราไม่สามารถที่จะทำตัวเป็นตำรวจของโลกได้หรอก” เขาพูดเช่นนี้กับ 2 ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทมส์ คือ แมกกี้ ฮาเบอร์แมน (Maggie Haberman) และ เดวิด แซงเกอร์ (David Sanger) ในเดือนมีนาคม 2016 [11]

ยิ่งสำหรับองค์การนาโต้ด้วยแล้ว เขามีความเห็นที่กระจ่างชัดเจนมากๆ กล่าวคือ มันกลายเป็นองค์การที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันไปแล้ว และการธำรงรักษามันเอาไว้จึงไม่ควรเป็นสิ่งที่อเมริกาพึงให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ อีกต่อไป “ล้าสมัยแล้ว” (obsolete) นี่แหละคือคำที่เขาใช้เมื่อพูดกับฮาเบอร์แมนและแซงเกอร์ “ตอนที่จัดตั้งนาโต้กันขึ้นมาเมื่อหลายๆ ทศวรรษก่อนนั้น ... มีภัยคุกคามที่แตกต่างออกไป (นั่นคือ สหภาพโซเวียต) ... ซึ่งมีความใหญ่โตกว่านักหนา ... (และ) แน่นอนทีเดียวว่าทรงอำนาจยิ่งกว่านักหนาแม้กระทั่งเมื่อเทียบกับรัสเซียในทุกวันนี้” เขาพูดต่อไปว่า ภัยคุกคามที่แท้จริงในปัจจุบันนั้นคือลัทธิก่อการร้าย ซึ่งองค์การนาโต้ไม่ได้มีบทบาทที่เป็นประโยชน์ใดๆ ในการสู้รบกับภัยอันตรายชนิดนี้ “ผมคิดว่า บางทีการมีสถาบันใหม่ๆ อาจจะเป็นการดีกว่าการใช้นาโต้ ซึ่งไม่ได้มุ่งที่จะให้ทำงานแบบนั้น”

แน่นอนทีเดียวว่า ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ช่างเหมาะเจาะสอดคล้องกับสิ่งที่ วลาดิมีร์ ปูติน กำลังพยายามเรียกร้องมานานนมแล้ว โดยที่ยังไม่ต้องเท้าความสาวไปถึงมหาแผนการซึ่งขบคิดออกมาโดย เยลตซิน กับ เจียง ในปี 1997 อันที่จริงแล้วระหว่างการดีเบตของคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรอบที่ 2 ทรัมป์ยังไปไกลยิ่งกว่านี้อีก โดยเขากล่าวว่า “ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องยอดเยี่ยมเลย ถ้าเราเข้ากันได้กับรัสเซีย เพราะเราจะสามารถต่อสู้กับพวกไอซิส (ISIS) ด้วยกัน” [12]

ถึงแม้จุดโฟกัสในชั่วขณะนี้คือเรื่องประธานาธิบดีทรัมป์กับรัสเซียล้วนๆ แต่เราก็อย่าได้หลงลืมจีนด้วย ขณะที่ทรัมป์เองคอยวิจารณ์โจมตีจีนในปริมณฑลด้านเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง ทว่าเขากลับแสวงหาความช่วยเหลือของปักกิ่งในการรับมือกับภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ตลอดจนภัยอันตรายร่วมกันอย่างอื่นๆ เขาพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อยู่บ่อยๆ และยืนยันว่าเขากับสีมีความสัมพันธ์แบบฉันมิตร อันที่จริงแล้ว เขากระทั่งกระทำสิ่งซึ่งสร้างความตื่นตกใจอย่างแรงให้แก่พวกพันธมิตรในพรรครีพับลิกันของเขาเป็นจำนวนมาก เมื่อยินยอมอนุญาตให้ แซดทีอี (ZTE) กิจการยักษ์ด้านสื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติจีน สามารถที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีอเมริกันสำคัญๆ ตลอดจนชิปคอมพิวเตอร์อเมริกันได้อีกครั้งหนึ่ง [13] หลังจากยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ ถึงแม้บริษัทแห่งนี้ถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่าละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรของสหรัฐฯในเรื่องการทำการค้ากับอิหร่านและเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ทรัมป์อ้างว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้เป็น “การสะท้อน” ความปรารถนาของเขาที่จะเจรจาทำข้อตกลงด้านการค้าอย่างประสบความสำเร็จกับจีน “และความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวที่ผมมีอยู่กับประธานาธิบดีสี” [14]

โลกของทรัมป์สะท้อนแผนการ 3 ขั้วอำนาจของจีน-รัสเซีย

ถึงแม้ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยรู้อะไรเกี่ยวกับพิมพ์เขียวของจีน-รัสเซียเพื่อการสถาปนาระเบียบโลกแบบ 3 ขั้วอำนาจเช่นนี้ขึ้นมา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขากระทำในฐานะประธานาธิบดีก็ล้วนส่งผลสะเทือนเป็นการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่โครงการเปลี่ยนแปลงโลกให้ผิดแผกไปจากเดิมดังกล่าว นี่มีหลักฐานอันน่าตื่นตะลึงยืนยัน ณ การประชุมหารือระหว่างทรัมป์-ปูตินที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทรัมป์พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงความปรารถนาของเขาที่จะร่วมมือประสานงานกับมอสโกในการแก้ไขคลี่คลายพวกปัญหาระดับโลก

“ความไม่ลงรอยกันระหว่างประเทศของเราทั้งสองนั้นเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และประธานาธิบดีปูตินกับผมได้หารืออภิปรายเรื่องเหล่านี้กันยืดยาวเลยในวันนี้” เขากล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวภายหลังการสนทนากันเป็นการส่วนตัวของพวกเขา (โดยที่แต่ละฝ่ายนำล่ามเข้าไปด้วยอีกฝ่ายละ 1 คนเท่านั้น) [15] แล้ว “แต่ถ้าเรากำลังจะแก้ไขคลี่คลายปัญหาจำนวนมากที่กำลังเผชิญโลกของเราอยู่ให้ได้แล้ว เราก็จะต้องค้นหาหนทางประสานร่วมมือกันเพื่อติดตามแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน” จากนั้นเขาก็พูดเสนอให้พวกเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันหารือถกเถียงในเรื่องดังกล่าว –ซึ่งต้องถือว่าเป็นข้อเสนอพิเศษผิดธรรมดาทีเดียวเมื่อพิจารณาถึงความไม่ไว้วางใจกันที่มีมาในประวัติศาสตร์ระหว่างวอชิงตันกับมอสโก

และถึงแม้การที่เขาแสดงความสนิทสนมมีมิตรไมตรีกับปูติน ได้จุดชนวนให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นในวอชิงตัน ทรัมป์ก็ยังคงเน้นย้ำแนวความคิดเชิงยุทธศาสตร์ของเขาไม่เลิกราด้วยการเชื้อเชิญผู้นำรัสเซียผู้นี้ให้มาทำเนียบขาวเพื่อการพูดจาหารือกันแบบสองต่อสองอีกรอบหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ตามการแถลงของ ซาราห์ แซนเดอร์ส (Sarah Sanders) เลขานุการฝ่ายหนังสือพิมพ์ของทำเนียบขาวนั้น จอห์น โบลตัน (John Bolton) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติมีความพรักพร้อมแล้วในการเดินทางไปพูดจาเตรียมการกับฝ่ายวังเครมลินสำหรับการพบปะหารือดังกล่าวนี้ [16]

แน่นอนทีเดียว คำถามใหญ่สำหรับเรื่องทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็คือ ทำไม? ทำไมประธานาธิบดีอเมริกันคนหนึ่งจึงมุ่งหาทางกำจัดโละทิ้งระเบียบโลกแบบที่สหรัฐฯกำลังเป็นเพลเยอร์ที่มีฐานะครอบงำ และได้รับความสนับสนุนจากพวกพันธมิตรที่จงรักภักดีและมั่งคั่งร่ำรวยเหลือเกินเป็นจำนวนมากมาย? ทำไมเขาจึงต้องการที่จะเปลี่ยนระเบียบโลกเช่นนี้ให้เป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย คือแบบที่มีมหาอำนาจเฮฟวี่เวทระดับภูมิภาค 3 ราย?

ไม่ต้องสงสัยเลย พวกนักประวัติศาสตร์จะต้องถกเถียงเกี่ยวกับคำถามนี้ไปอีกหลายสิบปี คำตอบที่ชัดเจนซึ่งพวกบัณฑิตผู้รู้จำนวนมากเสนอกันขึ้นมาก็คือ ทรัมป์นั้นไม่ได้รู้อะไรจริงๆ หรอกว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาเป็นเรื่องของการไม่พิจารณาไตร่ตรองและความหุนหันพลันแล่นเท่านั้น ทว่ายังมีคำตอบที่เป็นไปได้ในอีกทางหนึ่ง นั่นคือ เขาเกิดความหยั่งรู้ในแผนแม่แบบของจีน-รัสเซียนี้ และเห็นโมเดลที่สหรัฐฯสามารถลอกเลียนนำมาใช้ประโยชน์ได้

ในความคิดจิตใจของชาวทรัมป์นั้น สหรัฐฯได้กลายเป็นประเทศที่อ่อนแอและขยายความรับผิดชอบของตนเองจนมากเกินไปแล้ว สืบเนื่องจากยึดมั่นเหนียวแน่นในคำสั่งสอนต่างๆ ของระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยม ซึ่งเรียกร้องให้สหรัฐฯต้องเข้าแบกรับภารกิจในการเป็นตำรวจโลก ขณะที่ต้องยอมเปิดทางให้พวกพันธมิตรของตนเป็นฝ่ายได้เปรียบในทางเศรษฐกิจและการค้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับความจงรักภักดีของพวกเขา การประเมินในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตามที แต่แน่นอนทีเดียวมันเข้ากันได้อย่างเหมาะเหม็งกับเรื่องเล่าขานว่าด้วยการตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นที่จับจิตจับใจของพวกฐานเสียงระดับฮาร์ดคอร์ของเขาในแถบพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณตอนกลางของอเมริกา นอกจากนั้นการประเมินเช่นนี้ยังบ่งชี้ว่าภาระที่ตกทอดกันมานี้เมื่อมาถึงตอนนี้ก็สามารถปลดทิ้งไปได้แล้ว เพื่อเปิดทางให้อเมริกาที่แข็งแรงยิ่งขึ้นและมีเครื่องถ่วงรั้งน้อยลง สามารถปรากฏตัวออกมา –คล้ายๆ กันมากกับรัสเซียที่แข็งแรงยิ่งขึ้นได้ผงาดขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษนี้จากกองซากปรักหักพังของสหภาพโซเวียต และจีนที่แข็งแรงยิ่งขึ้นได้ก้าวขึ้นมาจากกองซากปรักหักพังของลัทธิเหมาอิสต์ อเมริกาที่กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งนี้ แน่นอนว่าจะยังคงสามารถแข่งขันกับมหาอำนาจอีก 2 รายนั้นได้ แถมยังเป็นการแข่งขันชิงชัยที่อเมริกาอยู่ในฐานะเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมมากๆ โดยสามารถอุทิศทรัพยากรทั้งหมดของตนเข้าไปในการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพิทักษ์คุ้มครองตนเอง โดยไม่มีพันธะผูกพันที่จะต้องปกป้องพื้นที่อื่นๆ ถึงครึ่งโลก

ลองฟังคำปราศรัยของทรัมป์ ลองอ่านคำสัมภาษณ์ของเขาให้ตลอด แล้วคุณจะพบข้อเสนอนี้ เรียกได้ว่าซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาพูดออกมาเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ “คุณรู้ไหม ... กำลังจะถึงจุดที่เราไม่สามารถทำเรื่องอย่างนี้ได้อีกต่อไปแล้ว” เขาบอกกับ ฮาเบอร์แมน และ แซงเกอร์ ในปี 2016 [17] โดยกำลังพูดถึงพันธะข้อผูกพันต่างๆ ที่อเมริกามีอยู่กับพวกชาติพันธมิตร “คุณรู้ไหม เมื่อตอนที่เราทำความตกลงต่างๆ พวกนั้นน่ะ เรายังเป็นประเทศรวยอยู่ ... เราเคยเป็นประเทศรวยซึ่งมีกองทัพที่แข็งแกร่งมากๆ และมีศักยภาพอย่างมหาศาลในเรื่องต่างๆ มากมายเหลือเกิน แต่เราไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว”

เขาพูดอย่างชัดเจนว่า การรับมือตอบโต้กับสภาพเช่นนี้ซึ่งสามารถเป็นที่ยอมรับได้นั้นมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น ได้แก่การโยนทิ้งพันธะข้อผูกพันกับต่างประเทศดังกล่าว แล้วหันมาโฟกัสที่ “การฟื้นฟู” สมรรถนะในการป้องกันตนเองของอเมริกา ด้วยการสั่งสมกองกำลังสู้รบของตนขึ้นมาใหม่ (ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า สหรัฐฯเป็นผู้ครอบครองอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีงามต่างๆ มากยิ่งกว่าคู่แข่งของตนไม่ว่ารายไหนก็ตามอยู่แล้ว รวมทั้งใช้จ่ายมากกว่าคู่แข่งเหล่านี้อย่างสำคัญในเรื่องการซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก [18] ทว่าทรัมป์ดูจะไม่ได้ใส่ใจอะไรเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหล่านี้)

ทัศนะมุมมองเช่นนี้จะถูกฝังแฝงอยู่ในเอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ของคณะบริหารของเขา [19] ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในเอกสารฉบับนี้ระบุว่า ภัยคุกคามใหญ่โตที่สุดต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาวอเมริกันนั้น ไม่ใช่ กลุ่มไอซิส หรือ กลุ่มอัลกออิดะห์ หากแต่เป็นความพยายามของรัสเซียและจีนที่จะค้ำจุนหนุนเนื่องแสนยานุภาพทางทหารของพวกเขาและที่จะขยายอิทธิพลบารมีทางภูมิรัฐศาสตร์ของพวกเขา ทว่าเอกสารนี้เสนอแนะว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะเชื่อว่า สหรัฐฯกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่มหาอัคคีภัยระหว่างมหาอำนาจอันร้ายแรงใหญ่โตที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ (“การแข่งขันกันไม่ได้หมายถึงความเป็นศัตรูกันเสมอไป แล้วก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะนำไปสู่การสู้รบขัดแย้งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อเมริกาที่สามารถแข่งขันอย่างประสบความสำเร็จคือหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดการสู้รบขัดแย้ง”)

ไม่ว่าข้อความเหล่านี้จะดูเหมือนมีลักษณะย้อนแย้งกันเองสักแค่ไหนก็ตามที แต่แน่นอนว่าข้อความเหล่านี้แหละคือใจความสำคัญของโมเดลโลกที่มี 3 ขั้วอำนาจซึ่งจีน-รัสเซียเสนอเอาไว้ และโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าโอบกอดเอาไว้ในอ้อมอก รวมทั้งยังตกแต่งประดับประดาเพิ่มเติมด้วย มันเสนอภาพวิสัยทัศน์ของโลกที่มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันในทางการทหารและทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอในระหว่างศูนย์อำนาจภูมิภาค 3 ศูนย์ ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ประเภทต่างๆ หลายหลาก ทว่าไม่ใช่การระเบิดสงครามใหญ่กันตรงๆ วิสัยทัศน์นี้มีสมมุติฐานว่าพวกผู้นำของศูนย์อำนาจทั้ง 3 เหล่านี้ยังจะร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ ที่กำลังส่งผลกระทบกระเทือนพวกเขาทั้งหมด เป็นต้นว่า ลัทธิการก่อการร้าย และพวกเขาจะเจรจากันเนื่องจากจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้การปะทะกันเล็กๆ น้อยๆ ปะทุแผ่ลามกลายเป็นศึกใหญ่

ระบบเช่นนี้จะสามารถพิสูจน์ตนเองให้เห็นได้หรือไม่ว่า มีเสถียรภาพและความคงทนยืนยาว ยิ่งกว่าระบบเดิมที่มันกำลังจะเข้าแทนที่ ซึ่งก็คือระเบียบโลกแบบมีศูนย์กลางเดียวที่กำลังอยู่ในสภาพแตกสลาย? ใครจะสามารถให้คำตอบได้ล่ะ? แต่ถ้ารัสเซีย, จีน, และสหรัฐฯมีความเข้มแข็งในระดับที่ค่อนข้างทัดเทียมกันแล้ว มันก็อาจมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีจริงๆ ที่จะป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปิดฉากการสู้รบขัดแย้งกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศที่ประสบความเสียหายถูกรุกรานก็จะเข้าร่วมกับมหาอำนาจรายที่สาม ซึ่งทำให้มีความเหนือกว่าประเทศผู้รุกรานอย่างท่วมท้น

น่าประหลาดจริงๆ ที่ว่า วิสัยทัศน์เช่นนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับโลกอนาคตซึ่งวาดเอาไว้โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ในนวนิยายจินตนาการสังคมอนาคตแบบมืดมน เรื่อง “1984” ของเขา ทั้งนี้โลกในเรื่อง 1984 นั้นประกอบด้วยกลุ่มมหาอำนาจยิ่งใหญ่รวม 3 กลุ่ม ได้แก่ โอเชียนเนีย (Oceania), ยูเรเชีย (Eurasia), และ อิสตาเซีย (Eastasia) คอยชิงดีชิงเด่นกันเพื่อให้มีฐานะครอบงำทั่วโลก โดยจะมีการจับมือกันเป็นพันธมิตรแบบ 2 รุม 1 อย่างใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม เวลานี้สหรัฐฯเป็นผู้ครอบครองแสนยานุภาพทางทหารอันยิ่งใหญ่กว่ามากนัก แม้เมื่อรวมเอาแสนยานุภาพของรัสเซียกับจีนเข้าด้วยกัน สมการดังกล่าวข้างต้นจึงไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงๆ และด้วยเหตุนี้ ถึงแม้เมื่อพิจารณาถึงคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์อันมหึมามโหฬารของทั้ง 3 ประเทศนี้ด้วยแล้ว ก็ยังไม่สามารถบอกปัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้เริ่มต้น ในระบบซึ่งพวกอภิรัฐ (super-state) แข่งขันชิงดีชิงเด่นกันไปตลอดกาลนั้น ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการณ์และการประจันหน้ากันขึ้นอยู่เสมอ พร้อมๆ กับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันทางนิวเคลียร์ซึ่งลุกลามบานปลาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งเราสามารถแน่ใจได้อย่างสมเหตุสมผล เมื่อขบคิดพิจารณาถึงระบบเช่นว่านี้ ก็คือ พวกรัฐที่มีขนาดเล็กกว่า, อ่อนแอกว่า และประชาชนส่วนข้างน้อยในทุกหนทุกแห่ง จะได้รับเวลาในการสารภาพผิดยอมรับโทษน้อยกว่าปัจจุบันเสียอีก เมื่อเกิดตกเข้าไปในท่ามกลางการประลองยุทธ์แข่งขันช่วงชิงอิทธิพลใดๆ ก็ตาม ในระหว่างคู่แข่งรายหลักทั้ง 3 (ตลอดจนพวกตัวแทนของชาติรายหลักเหล่านี้) นี่เป็นบทเรียนอันสำคัญยิ่งยวดที่สามารถสรุปออกมาได้จากการสู้รบอันหฤโหดซึ่งกำลังเดินหน้าอยู่เวลานี้ในซีเรียและยูเครนตะวันออก นั่นก็คือ คุณจะพอมีค่าอะไรอยู่บ้าง ตราบเท่าที่คุณสามารถเรียกให้มหาอำนาจผู้อุปถัมภ์ของคุณเข้ามาร่วมประมูลเสนอราคา แต่เมื่อประโยชน์โภชน์ผลของคุณเหือดแห้งลง (หรือคุณโชคร้ายจนกระทั่งต้องติดกับอยู่ในพื้นที่ของการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน) ชีวิตของคุณก็จะไม่มีค่าอะไรเลย ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ไม่มีทางที่จะเกิดสันติภาพอันยืนยาวขึ้นมาได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็อย่างที่บรรยายเอาไว้ในเรื่อง 1984 ของออร์เวลล์ นั่นแหละ สงคราม (ตลอดจนการเตรียมตัวเพื่อเข้าสงคราม) จะกลายเป็นเงื่อนไขตายตัวอย่างหนึ่งของชีวิต

ไมเคิล ที. แคลร์ เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) ณ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) และเป็นนักวิจัยอาคันตุกะอาวุโส ณ สมาคมอาวุธอาวุธ (Arms Control Association) เขาเป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left หนังสือเล่มต่อไปของเขาซึ่งจะใช้ชื่อเรื่องว่า All Hell Breaking Loose: Climate Change, Global Chaos, and American National Security มีกำหนดจะได้รับการตีพิมพ์ในปี 2019

(ข้อเขียนนี้เก็บความจากต้นฉบับภาษาอังกฤษใน ทอมดิสแพตช์ http://www.tomdispatch.com/)

เชิงอรรถ
[1]https://www.politico.eu/article/trump-threatens-to-pull-out-of-nato/
[2] https://www.politico.com/story/2018/07/12/donald-trump-behavior-nato-summit-europe-716035
[3] http://www.cnn.com/WORLD/9704/22/russia.china/index.html
[4] http://www.cnn.com/WORLD/9704/23/russia.china/
[5] http://www.un.org/documents/ga/docs/52/plenary/a52-153.htm
[6] http://www.chinadaily.com.cn/english/doc/2005-07/02/content_456571.htm
[7] http://www.politicalaffairs.net/china-russia-joint-statement-on-21st-century-world-order/
[8] https://www.nytimes.com/2018/07/15/world/europe/trump-europe-trip.html
[9] https://www.nytimes.com/2001/07/17/world/russia-and-china-sign-friendship-pact.html
[10] http://thehill.com/blogs/pundits-blog/campaign/294817-transcript-of-donald-trumps-speech-on-national-security-in
[11] https://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
[12] https://www.politico.com/story/2016/10/2016-presidential-debate-transcript-229519
[13] https://www.cbsnews.com/news/trump-administration-reaches-deal-to-save-chinas-zte-today/
[14] https://www.cbsnews.com/news/trump-defends-reversal-on-chinas-zte/
[15] http://time.com/5339848/donald-trump-vladimir-putin-summit-transcript/
[16] https://www.cnn.com/2018/07/19/politics/donald-trump-vladimir-putin-summit/index.html
[17] https://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
[18] https://theintercept.com/2017/09/18/the-senates-military-spending-increase-alone-is-enough-to-make-public-college-free/
[19] https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2017/12/NSS-Final-12-18-2017-0905.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น