ความขัดแย้งที่เลวร้ายลงระหว่างสหรัฐฯกับตุรกี กำลังสั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลก กระตุ้นเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และหว่านเพาะความไร้เสถียรภาพทั่วตะวันออกกลาง ขณะที่สัมพันธภาพในหมู่พันธมิตรนาโต้ใกล้ถึงจุดแตกหัก
วิกฤตการณ์เฉพาะหน้าที่มีทวิตท้าตีท้าต่อยจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในวันศุกร์ (10 ส.ค.) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ระเบิดขึ้นสืบเนื่องจากกรณีการกักตัว แอนดริว บรันสัน นักบวชศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ชาวอเมริกัน ตั้งแต่เมื่อ 21 เดือนที่แล้ว ตอนที่ตุรกีปราบปรามผู้ต่อต้านทั่วประเทศภายหลังมีการพยายามก่อรัฐประหารแต่ล้มเหลว
แต่การที่ความเคลื่อนไหวของทรัมป์ก่อให้เกิดผลกระทบที่ลุกลามบานปลายเช่นนี้ สะท้อนความกังวลอย่างลึกซึ้งซึ่งมีต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจตุรกีของประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิป แอร์โดอัน ผู้เพิ่งได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีอำนาจล้นเหลือจนใกล้เรียกได้ว่า เป็นเผด็จการ ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์เวลานี้ยังเพิ่มความเสี่ยงที่ปัญหาต่างๆ ในตุรกีซึ่งมีพรมแดนติดกับอิหร่าน อิรัก และซีเรีย อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพเศรษฐกิจของทั่วทั้งตะวันออกกลาง
เศรษฐกิจตุรกีมีขนาดใหญ่แค่เป็นอันดับ 17 ของโลกก็จริงอยู่ ทว่าปัญหาของตุรกีกำลังเพิ่มความเลวร้ายลงเรื่อยๆ ขณะที่ทรัมป์กำลังขยายสงครามการค้าซึ่งสั่นคลอนการพาณิชย์ของโลก และทำลายความสัมพันธ์กับเหล่าชาติพันธมิตรเก่าแก่ของตน รวมทั้งเป็นภัยคุกคามการเติบโตของเศรษฐกิจในขอบเขตทั่วโลก
ยังมีความกลัวอย่างกว้างขวางในบรรดานักลงทุนต่างชาติว่า รัฐบาลเผด็จการผสมประชานิยมของแอร์โดอันกำลังเดินหน้าแนวทางนโยบายเศรษฐกิจที่ไร้ความรับผิดชอบ ควบคู่ไปกับลิดรอนความเป็นอิสระของธนาคารกลาง นักวิเคราะห์แสดงความเป็นห่วงว่า สถานการณ์เหล่านี้จะขัดขวางตุรกีกระทั่งไม่สามารถดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ
เงินลีราตุรกีซึ่งเคยซื้อขายกันในระดับ 4.7 ลีราต่อดอลลาร์เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว ได้อ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วจนอยู่ที่ 6.4 ลีราต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ (10) ถือเป็นครั้งแรกที่สกุลเงินตุรกีอ่อนค่าลงถึงขีดต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 6 ลีราจึงจะแลกได้ 1 ดอลลาร์ นับเฉพาะเดือนนี้ลีราอ่อนลงมากกว่า 30% แล้วโดยครึ่งหนึ่งนั้นเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทรัมป์ดูเหมือนรู้สึกถึงความเปราะบางของตุรกี เขาจึงเพิ่มแรงบีบคั้นและประกาศเพิ่มการลงโทษเศรษฐกิจ ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรที่เก็บจากเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้าจากตุรกีอีกเท่าตัว คือจาก 25% และ 10% ตามลำดับกลายเป็น 50% และ 20%
ความเคลื่อนไหวนี้เท่ากับว่า เหล็กกล้าตุรกีหมดสิทธิ์เข้าสู่ตลาดอเมริกาโดยสิ้นเชิง
ในทวิตของเขาเมื่อวันศุกร์ ทรัมป์บอกว่าความสัมพันธ์กับตุรกีตอนนี้ไม่ดีเอาเลย
แต่การเผชิญหน้ากันที่ร้าวลึกลงเรื่อยๆ ในเวลานี้ก่อให้เกิดคำถามว่า ใช่หรือไม่ว่าผู้นำทั้ง 2 ซึ่งต่างต้องการแสดงความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของตน กำลังเสี่ยงทำให้สถานการณ์บานปลาย ขณะที่พวกเขามุ่งแข่งขันเอาชนะคะคานกันในการขัดแย้งทางการทูตซึ่งกำลังขยายวงออกไปเรื่อยๆ โดยที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากบุคลิกภาพส่วนตัวของสองผู้นำนี้แหละ
บรันสัน นักบวชนิกายอีแวนเจลิกที่อาศัยอยู่ในตุรกีมานาน 23 ปี เป็นหนึ่งในชาวอเมริกันราว 20 คนที่รวมถึงนักวิจัยของนาซาและศาสตราจารย์วิชาเคมีจากรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งถูกจับกุมในปฏิบัติการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามของแอร์โดอันนับจากการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อสองปีที่แล้ว
แอร์โดอันบอกว่า การรัฐประหารดังกล่าวถูกสั่งการมาจากอเมริกา โดยระบุเฉพาะเจาะจงชื่อของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำศาสนาอิสลามที่ลี้ภัยตัวเองอยูในเพนซิลเวเนีย ทางการอังการาเรียกร้องให้อเมริกาส่งตัวกูเลนให้ แต่วอชิงตันไม่เห็นด้วย และมองการจับกุมชาวอเมริกันในตุรกีว่าเพื่อใช้เป็นหมากต่อรองกับตน
จนถึงตอนนี้แอร์โดอันก็ยังไม่มีท่าทีอ่อนข้อ ในการปราศรัยสองครั้งเมื่อวันศุกร์ (10) เขาชักชวนประชาชนต่อต้านมหาอำนาจต่างชาติที่เขากล่าวหาว่า ชักใยให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในตุรกี และประกาศว่า จะไม่ยอมก้มหัวให้ตะวันตก
แอสลี ไอดินทาสบาส นักวิชาการอาวุโสของสภาวิเทศสัมพันธ์ยุโรป ฟันธงว่า ตุรกีไม่มีทางยอมแพ้เด็ดขาด เธอยังบอกว่า แปลกใจมากที่สองประเทศแตกหักกันทั้งที่ดูเหมือนทรัมป์ใกล้บรรลุข้อตกลงเพื่อให้แอร์โดอันปล่อยตัวบรันสันอยู่แล้ว ระหว่างที่ทั้งคู่เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดนาโต้เมื่อเดือนที่แล้ว
ตอนนั้นสหรัฐฯ ตกลงจะส่งตัวเมห์เม็ต ฮากันอาติลลา นายธนาคารตุรกีที่ถูกตัดสินจำคุกในอเมริกา กลับไปรับโทษที่เหลือในบ้านเกิด
หลังพบกับแอร์โดอัน ประมุขทำเนียบขาวยังเอาอกเอาใจด้วยการขอให้อิสราเอลปล่อยตัวโอบรู ออสกัน ชาวตุรกีที่ถูกอิสราเอลกักขังอยู่กลับคืนไปให้อังการา และรัฐบาลยิวก็ตอบสนองอย่างรวดเร็ว
อเมริกาต้องการให้อังการาปล่อยตัวบรันสันทันที แต่ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อส่งนายแบงก์ตุรกีกลับประเทศคาดหมายว่า ต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์
ไอดินทาสบาสสำทับว่า ในที่สุดข้อตกลงดังกล่าวก็แท้ง เนื่องจากตุรกีต้องการการรับประกันเพิ่มเติมซึ่งรวมถึงการลดค่าปรับที่กระทรวงคลังสหรัฐฯ เรียกเก็บจากฮัลค์แบงก์ที่เป็นธนาคารของรัฐบาลตุรกี โทษฐานสมรู้ร่วมคิดละเมิดมาตรการแซงก์ชันต่ออิหร่าน รวมทั้งต้องการคำสัญญาว่า จะยุติการฟ้องร้องเพิ่มเติมใดๆ
จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่ง อเมริกาขีดเส้นตายให้ตุรกีปล่อยบรันสันที่ปัจจุบันถูกกักบริเวณภายในบ้านพักในเมืองอิสมีร์ เวลา 18.00 น. วันพุธ (8) ที่ผ่านมา
อังการาพยายามหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ด้วยการส่งตัวแทนเดินทางไปเจรจาเพิ่มเติมที่วอชิงตันในวันเดียวกันนั้น
เจ้าหน้าที่อเมริกันอีกคนบอกว่า การเจรจาไม่ดีเท่าที่ควร
ฮีเทอร์ นอเอิร์ต โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงในเวลาต่อมาว่า การเจรจายังดำเนินอยู่
กระทั่งวันศุกร์ แอร์โดอันดูเหมือนตัดสินใจเด็ดขาดว่า จะปักหลักสู้ ด้วยการเรียกร้องให้คนตุรกีเทขายทองและดอลลลาร์ และซื้อลีราเพื่อหนุนค่าเงินของประเทศ รวมทั้งย้ำว่า นี่เป็นการต่อสู้เพื่อชาติ
ไอดินทาสบาสชี้ว่า คำปราศรัยดังกล่าวชี้ชัดว่า แอร์โดอันแข็งขืนต่อการคุกคามข่มขู่ของทรัมป์ ทั้งที่สถานการณ์เศรษฐกิจของตุรกีเปราะบางอย่างยิ่ง
เงินลีราอ่อนยวบและสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดการเงินเนื่องจากทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนในตุรกี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของตุรกีพุ่งขึ้นเป็นกว่า 20% หมายความว่า เทรดเดอร์เรียกร้องผลตอบแทนสูงขึ้นจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในประเทศนี้
วิกฤตการณ์นี้ยังพลอยทำให้เกิดความสงสัยในแบงก์เอเชียและยุโรปที่เข้าไปลงทุนอย่างคึกคักในตุรกี รวมทั้งฉุดตลาดหุ้นตกทั่วโลก หากเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินที่ปะทุจากปัญหาของกรีซในปี 2010 เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดที่สะท้อนว่า ปัญหาในประเทศเศรษฐกิจขนาดกลางแต่มีปัญหาระดับโลก สามารถคุกคามเสถียรภาพการเงินข้ามพรมแดนได้ขนาดไหน
บาร์ต ฮอร์ดจิก นักวิเคราะห์ตลาดการเงินของโมเน็กซ์ ยุโรป ในอัมสเตอร์ดัม ชี้ว่า ในตลาดการเงินทุกอย่างเชื่อมโยงกัน และความที่ไม่แน่ใจว่า อาจมีแบงก์หนึ่งแบงก์ใดลงทุนมหาศาลในเงินลีรา จึงทำให้นักลงทุนเลือกเทขายและย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า
ตลอด 15 ปีที่ปกครองประเทศ ความนิยมในตัวแอร์โดอันมาจากความสามารถของเขาในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง แม้ในทางการเมืองเขาลิดรอนเสรีภาพพลเมือง คุมขังฝ่ายตรงข้าม และควบคุมโซเชียลมีเดียอย่างเข้มงวดก็ตาม
เขาจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดถึงปีครึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณย่ำแย่ แต่กลายเป็นว่า ลีรายังคงอ่อนลงแม้ในช่วงการหาเสียงก็ตาม
ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาเศรษฐกิจดูเหมือนเลวร้ายลงอีก หลังจากแอร์โดอันรวบอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จภายหลังชนะเลือกตั้งและเริ่มต้นระบบประธานาธิบดีใหม่ในเดือนมิถุนายน
การดำดิ่งของค่าเงินลีรา สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจของแอร์โดอันที่อิงกับอุตสาหกรรมก่อสร้างตะกละตะกราม ซึ่งฝ่ายค้านกล่าวหาว่า ทำให้เหล่าบริวารวงในของแอร์โดอันร่ำรวยอู้ฟู่ตามๆ กัน แต่กลับทำให้ประเทศเป็นหนี้มากมายก่ายกอง
แล้วการที่เงินลีรายิ่งอ่อนค่าหนักข้อต่อไปอีกนับตั้งแต่แอร์โดอันได้รับเลือกตั้งอีกสมัย เวลานี้กลายเป็นเชื้อเพลิงสุมโหมความกังวลที่ว่า เขาแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวและกำลังบริหารเศรษฐกิจโดยไม่ฟังคำแนะนำจากใคร โดยตัวอย่างในเรื่องนี้ก็ดังเช่น การไม่ฟังเสียงเรียกร้องให้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและผ่อนคลายความกดดันต่อเงินลีรา
เบรัต อัลเบรัค ลูกเขยที่แอร์โดอันแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้ซึ่งควบรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีการเงินเข้าด้วยกัน พยายามคลายกังวลด้วยการแถลงข่าวว่า ตุรกีเคารพในการดำเนินงานอย่างอิสระของแบงก์ชาติ ถึงแม้ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าการแทรกแซงนโยบายการเงินของแอร์โดอันนั่นเองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินลีราอ่อน นอกจากนั้นอัลเบรัคยังยืนยันว่า เศรษฐกิจและการธนาคารของประเทศยังแข็งแกร่ง
ในอีกด้านหนึ่ง อังการายังประกาศว่า แอร์โดอันหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเมื่อวันศุกร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย เรื่องนี้เห็นชัดว่าเป็นการส่งสัญญาณตอกย้ำว่า ตุรกีมีทางเลือกนอกจากการคบหากับตะวันตก