เอเอฟพี - ฟันของฉลามยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าฉลามขาวในปัจจุบันถึง 2 เท่าถูกพบโดยบังเอิญบนชายหาดออสเตรเลีย
ฟิลิป มัลลาลีย์ หนุ่มใหญ่ชาวออสซี่ผู้คลั่งไคล้ฟอสซิล ไปพบฟันชุดนี้เข้าขณะเดินเล่นอยู่บนชายหาด Jan Juc ซึ่งเป็นจุดที่พบร่องรอยของซากดึกดำบรรพ์อยู่บ่อยครั้ง ริมถนนเกรทโอเชียนโรด ห่างจากนครเมลเบิร์นประมาณ 100 กิโลเมตร
“ตอนที่กำลังเดินหาฟอสซิลอยู่บนชายหาด ผมหันไปเห็นแสงสะท้อนบนก้อนหินใหญ่ แล้วก็เจอฟันโผล่ออกมาประมาณ 1 ใน 4” เขากล่าว “ผมตื่นเต้นมาก มันมีรูปทรงสมบูรณ์แบบ และผมรู้ว่านี่คือการค้นพบครั้งสำคัญที่ผมจะต้องแชร์ให้คนอื่นรับรู้ด้วย”
มัลลาลีย์ ติดต่อไปยัง Museums Victoria และได้รับคำยืนยันจาก อีริก ฟิตซ์เจอรัลด์ ภัณฑารักษ์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยาเกี่ยวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังว่า ชิ้นส่วนฟันยาว 7 เซนติเมตรนี้เป็นของฉลามขนาดยักษ์ Carcharocles angustidens ซึ่งสูญพันธุ์ไปนานแล้ว
ฉลามชนิดนี้เคยอาศัยอยู่ในมหาสมุทรของออสเตรเลียเมื่อราวๆ 25 ล้านปีก่อน มันกินวาฬขนาดเล็กและนกเพนกวินเป็นอาหาร และเมื่อโตเต็มวัยอาจมีความยาวได้มากกว่า 9 เมตร หรือเกือบ 2 เท่าของฉลามขาว
“ฟันชุดนี้มีความสำคัญในระดับนานาชาติ เพราะมีการสำรวจพบฟันของฉลาม Carcharocles angustidens อยู่เพียง 3 ชุดทั่วโลก และนี่คือชุดแรกที่พบในออสเตรเลีย” ฟิตซ์เจอรัลด์ ระบุ
เขาอธิบายว่า ฟอสซิลฉลามที่พบส่วนใหญ่จะเป็นฟันซี่เดียว และน้อยมากที่จะพบฟันหลายซี่ซึ่งมาจากฉลามตัวเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากฉลามซึ่งเป็นสัตว์นักล่าอาจฟันหักบ่อยถึงวันละ 1 ซี่ และฟันที่เสียไปก็จะงอกขึ้นมาใหม่ได้ แต่กระดูกอ่อนของฉลาม (cartilage) นั้นไม่แปรสภาพเป็นฟอสซิลได้เสมอไป
ฟิตซ์เจอรัลด์ ได้นำทีมนักบรรพชีวินวิทยา อาสาสมัคร และ มัลลาลีย์ เดินทางไปสำรวจซ้ำอีก 2 ครั้งเมื่อต้นปี และเจอฟันเพิ่มเติมอีกกว่า 40 ซี่ ส่วนใหญ่มาจากฉลามยักษ์ตัวเดิม แต่ยังมีฟันของฉลามหกเหงือก (sixgill shark) ติดมาด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่ฉลามตัวอื่นๆ มารุมทึ้งซากของฉลามยักษ์หลังจากที่มันตายลง