รอยเตอร์ - ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเขย่าเกาะลอมบ็อก แหล่งท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดทะลุ 100 ศพแล้วในวันอังคาร (7 ส.ค.) ในขณะที่ทีมกู้ภัยพบร่างไร้วิญญาณของเหยื่อติดอยู่ใต้เศษซากอาคาร ส่วนประชาชนซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประสบภัยร้ายแรงกำลังเฝ้ารอความช่วยเหลือที่ยังคงมาไม่ถึง
ผู้หญิงคนหนึ่งถูกช่วยเหลือในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ หลังติดอยู่ใต้ซากหักพังของร้านขายของชำแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเกาะลอมบ็อก ใกล้ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวระดับ 6.9 มาตั้งแต่ตอนเกิดเหตุเมื่อวันอาทิตย์ (5 ส.ค.) นับเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ที่สั่นสะเทือนเกาะแห่งนี้
ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นข่าวดีเล็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย ด้วยความหวังพบผู้รอดชีวิตเพิ่มค่อยๆเลือนรางลงและเค้ารางแห่งวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมเริ่มปรากฏกับพวกผู้ไร้ที่อยู่อาศัยหลายหมื่นคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งต้องการความสะอาด, อาหาร, ยารักษาโรค และแหล่งพักพิงชั่วคราว
สุโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 105 ศพ ในนั้นรวมถึง 2 ศพที่เกาะบาหลีที่อยู่ใกล้ๆ กัน จุดที่สามารถสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พร้อมกับคาดหมายว่าตัวเลขเหยื่อจะสูงขึ้นกว่านี้อีก
เกาะลอมบ็อกเพิ่งจะเผชิญแผ่นดินไหว 6.4 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 17 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและไกด์นำทางจำนวนมากต้องติดอยู่บนภูเขาไฟรินจานี
ในแผ่นดินไหวล่าสุด พวกชาวบ้านเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่ามีอาคารเพียงไม่กี่หลังที่ยังยืนหยัดอยู่ได้ในเขตคายันกัน ทางเหนือสุดของเกาะ และเฉพาะพื้นที่นี้พบผู้เสียชีวิตมากสุดถึง 40 คน
พวกชาวบ้านบางส่วนใช้ค้อนขนาดใหญ่และเชือกเริ่มเข้าเคลียร์บ้านของตนเองที่เหลือแต่ซาก แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังคงกลัวไม่กล้าออกห่างจากเต็นท์และผ้าใบที่กางตรงพื้นที่โล่ง เหตุเพราะยังมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความช่วยเหลือจากรัฐบาลเข้าถึงพิ้นที่ดังกล่าวได้เพียงเล็กน้อย แม้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำและอาหารอย่างหนัก หลังจากแรงเขย่าของแผ่นดินไหวปิดกั้นแหล่งน้ำใต้ดิน และร้านค้าได้รับความเสียหายหนักหรือถูกทิ้งร้าง
เจ้าหน้าที่เผยว่าพื้นที่ราว 75% ของทางเหนือไม่มีไฟฟ้าใช้มาตั้งแต่วันอาทิตย์ (5 ส.ค.) และการเข้าถึงชุมชนบางแห่งเป็นเรื่องยากมากๆ สืบเนื่องจากสะพานได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันต้นไม้ หินและทรายก็ปิดกั้นถนนสายต่างๆ
“ชาวบ้านหลายหมื่นคนกระจัดกระจายกันไปยังจุดต่างๆ” สุโตโป กล่าวระหว่างแถลงข่าวในกรุงจาการ์ตา “ผู้คนพากันย้ายไปอยู่แถบเชิงเขา จุดที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยกว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงพวกเขา เราแนะนำให้ชาวบ้านลงมาและย้ายไปอยู่ในค่ายพักพิงที่อยู่ใกล้ๆ”
อ็อกแฟม องค์กรบรรเทาทุกข์ เผยว่าได้จัดเตรียมน้ำดื่มสะอาดและจัดที่พักพิงชั่วคราวที่สร้างจากผ้าใบแก่ผู้รอดชีวิต 5,000 คน แต่ต้องการมากกว่านี้ ด้วยคาดหมายว่ามีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยราวๆ 20,000 คน “หลายหมื่นคนที่ต้องอาศัยอยู่กลางแจ้ง มีความต้องการน้ำดื่ม, อาหาร และยารักษาโรค รวมถึงเสื้อผ้า” ถ้อยแถลงระบุ “น้ำดื่มสะอาดเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างาก เนื่องจากสภาพอากาศแล้งจัด”
ชาวบ้านในเขตเปเมนัง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของลอมบ็อก ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือมาจากซากคอนกรีตของมินิมาร์ทแห่งหนึ่งในวันอังคาร (7 ส.ค). และทำการแจ้งไปยังหน่วยกู้ภัย จากนั้น 4 ชั่วโมงต่อมาพวกเขาก็สามารถช่วยเหลือ นาเดีย เรวาเรล วัย 23 ปี ออกมาได้อย่างปลอดภัย
ขณะเดียวกัน หน่วยกู้ภัยยังได้ยินเสียงเบาๆ ออกมาจากใต้ซากหักพังของมัสยิดสูง 2 ชั้นที่อยู่ใกล้เคียง ด้วยเชื่อว่าน่าจะมีคนติดอยู่ภายใน 4 คนตอนที่อาคารแห่งนี้พังถล่มลงมา “เรากำลังหาทางเข้าไปภายใน ตอนนนี้เรามีเครื่องมือเจาะหรือตัดคอนกรีต ดังนั้นเราจะใช้มันไปก่อน เรากำลังรอเครื่องมือหนักอยู่” เจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุ
นักท่องเที่ยวหลายพันคนเดินทางโดยเรือเฟอร์รีและเครื่องบินออกจากเกาะลอมบ็อกตั้งแต่ช่วงค่ำวันอาทิตย์ (5 ส.ค.) เพราะเกรงจะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ ขณะที่สำนักงานค้นหาและช่วยชีวิตอินโดนีเซีย (Basarnas) ยืนยันผ่านทวิตเตอร์ว่าสามารถอพยพประชาชนออกจากหมู่เกาะกิลี (Gili Islands) นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของลอมบ็อกได้แล้วกว่า 3,000 คนเมื่อค่ำวันจันทร์ (6 ส.ค.) แต่ยังเหลือนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมากที่รอความช่วยเหลือ