เอเอฟพี - แม้ถูกกีดกันไม่ให้เข้าตลาดอเมริกา แต่ “หัวเหว่ย” ยังแผลงฤทธิ์ชิงตำแหน่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของโลกจาก “แอปเปิล” มาจนได้ในไตรมาสที่ผ่านมา และกำลังหมายตาโค่นแชมป์อย่าง “ซัมซุง” เป็นรายต่อไป
ส่วนหนึ่งของเคล็ดลับความสำเร็จคือการที่หัวเหว่ยต้องปรับโฟกัสออกจากการต่อสู้ที่ไร้ผลในการเข้าสู่อเมริกา และหันมาหาทางกอบโกยส่วนแบ่งตลาดในประเทศกำลังพัฒนาแทน ด้วยการตั้งราคาในระดับปานกลางแต่เพิ่มลูกเล่นให้สมาร์ทโฟนฉลาดยิ่งขึ้น
ตารัน ปาตัค นักวิเคราะห์ตลาดโลกของเคาน์เตอร์พอยต์ ชมว่า ภาพลักษณ์และการรู้จักแบรนด์หัวเหว่ยในตลาดและภูมิภาคต่างๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทแห่งนี้มีจุดเด่นและวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ในระดับราคาต่างๆ ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจในแง่การแข่งขันกับแอปเปิลและซัมซุง
หัวเหว่ยที่ก่อตั้งโดยเริ่น เจิ้งเฟย (ปัจจุบันอายุ 73 ปี) ด้วยทุนรอนแค่ไม่กี่พันดอลลาร์ในปี 1987 และในตอนแรกมุ่งมั่นกับการพัฒนาฮาร์ดแวร์สำหรับเครือข่ายสื่อสารนั้น กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนโลก โดยในไตรมาสที่ผ่านมา หรือ 15 ปีหลังจากเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นแรก หัวเหว่ยสามารถชิงตำแหน่งผู้เล่นเบอร์ 2 ในตลาดโลกจากแอปเปิล และถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 2010 ที่แอปเปิลของอเมริกาหลุดจากสองอันดับบนสุด ทั้งนี้ จากรายงานของอินเตอร์เนชันแนล ดาตา คอร์เปอเรชัน (ไอดีซี) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
วันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ส.ค.) ริชาร์ด หยู ประธานฝ่ายคอนซูเมอร์โปรดักต์ของหัวเหว่ย ยกระดับเป้าหมายโดยบอกว่า หัวเหว่ยจะโค่นเบอร์หนึ่งอย่างซัมซุงของเกาหลีใต้ภายในปลายปีหน้า
เบน สแตนตัน จากคานาลิส มองว่า การที่หัวเหว่ยเอาชนะแอปเปิลสำเร็จไม่ใช่การโอ้อวดเกินจริง แต่เป็นเพราะการถูกกีดกันจากอเมริกาทำให้บริษัทจากแดนมังกรแห่งนี้ต้องทุ่มเทหนักขึ้นในเอเชียและยุโรปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
อันที่จริงนั้น หัวเหว่ยซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น บุกหนักเจาะตลาดกำลังพัฒนาตั้งแต่ก่อนที่จะถูกกดดันด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งถึงจุดพีคสุดในปีนี้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้ากับจีน
การกีดกันหัวเหว่ยส่วนหนึ่งนั้นมาจากการที่อเมริกาไม่วางใจภูมิหลังของ เริ่น ที่เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของกองทัพจีน และกลัวว่า ปักกิ่งอาจบังคับให้บริษัทไฮเทคจีนเช่นนี้ช่วยสอดแนมในต่างแดน ซึ่งหัวเหว่ยปฏิเสธว่า บริษัทไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับรัฐบาลจีน
ขณะเดียวกัน หัวเหว่ยยังสร้างธุรกิจในตลาดที่ให้ความสำคัญกับราคาอย่างมาก ไล่ตั้งแต่อินโดนีเซียจนถึงซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ และแม้กระทั่งยุโรป
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ภาวะอิ่มตัวในตลาดเหล่านั้นประกอบกับการที่ผู้บริโภคตอบรับโทรศัพท์ที่ไฮเทคมากขึ้น เป็นเงื่อนไขเหมาะเจาะเข้าทางหัวเหว่ยพอดิบพอดี สแตนตันยังเตือนว่า ถ้าแอปเปิลและซัมซุงต้องการรักษาตำแหน่งของตัวเองก็จะต้องปรับปรุงพอร์ตผลิตภัณฑ์ของตนให้แข่งขันได้มากขึ้น
ไตรมาสที่ผ่านมา ซัมซุงจัดส่งสมาร์ทโฟน 71.5 ล้านเครื่อง ครองส่วนแบ่งตลาดโลก 20.9% เทียบกับยอดจัดส่งและส่วนแบ่งตลาดของหัวเหว่ยที่ 54.2 ล้านเครื่อง และ 15.8% ส่วนแอปเปิลขายได้ 41.3 ล้านเครื่อง และมีส่วนแบ่งตลาด 12.1%
สำหรับช่วง 6 เดือนแรก หัวเหว่ยจัดส่งโทรศัพท์ 95 ล้านเครื่อง และเล็งเป้าหมายตลอดทั้งปีไว้ที่ 200 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนนอกจากซัมซุงและแอปเปิล
ขณะเดียวกัน การเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่งจะทำให้หัวเหว่ยถูกอเมริกาจับตาเข้มงวดขึ้น
ปีนี้ คณะบริหารของทรัมป์เกือบทำให้แซดทีอี คู่แข่งร่วมชาติของหัวเหว่ย สิ้นชื่อมาแล้วจากการห้ามผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อเมริกันขายผลิตภัณฑ์ให้แซดทีอี เพื่อลงโทษฐานละเมิดมาตรการแซงก์ชันด้วยการขายสินค้าให้อิหร่านและเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม วอชิงตันอาจทำอะไรหัวเหว่ยไม่ได้มากนัก เนื่องจากบริษัทแห่งนี้ผลิตชิ้นส่วนหลักเอง
แต่ที่เป็นปัญหาน่าจะมาจากยอดขายในอุตสาหกรรมชะลอตัวและภาวะตลาดอิ่มตัวมากกว่า
ไอดีซีรายงานว่า ไตรมาสที่ผ่านมามีการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลก 342 ล้านเครื่อง ลดลง 1.8% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และเป็นการลดลงติดกันไตรมาสที่ 3
ในระยะยาว การที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดอเมริกาจะยังคงเป็นจุดอ่อนสำคัญสำหรับหัวเหว่ย นักวิเคราะห์บางคนยังคาดว่า แอปเปิลอาจทวงตำแหน่งคืนหลังจากเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ปลายปีนี้
นอกจากนั้น ขณะที่ลูกค้าหัวเหว่ยยกระดับรสนิยมฝักใฝ่ผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ที่มีราคา 600 ดอลลาร์ขึ้นไป ทำให้บริษัทต้องขับเคี่ยวโดยตรงในด้านคุณภาพและฟีเจอร์กับแอปเปิล
บททดสอบสำคัญจะเกิดขึ้นใน 2 ปีหน้า เมื่อระบบ5จี แพร่หลายและผู้ผลิตจะถูกตัดสินว่า สมาร์ทโฟนของบริษัทรองรับศักยภาพที่เพิ่มขึ้นได้ดีแค่ไหน
กระนั้น ดูเหมือนหัวเหว่ยกำลังเตรียมพร้อมเต็มที่เพื่อรับมือความท้าทายดังกล่าว ปีที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มงบพัฒนาและวิจัย 17% เป็น 13,800 ล้านดอลลาร์ พอๆ กับซัมซุง, แอมะซอน และแอลฟาเบต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ขณะที่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ดึงดูดความสนใจมากขึ้น
ปาตัคทิ้งท้ายว่า ความสามารถของกล้องและการรับมือความท้าทายในยุค 5จีจะชี้ขาดว่า หัวเหว่ยจะยังเกาะกลุ่มกับแอปเปิลและซัมซุงหรือไม่ ซึ่งสำหรับตัวเขาเองนั้นเชื่อว่า ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจีนแห่งนี้ไม่พลาดอย่างแน่นอน