xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ลั่นเริ่มแซงก์ชันอิหร่าน 7 ส.ค. อียูสั่งรับมือ-ยันคบค้าเตหะรานต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ
เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันประกาศกร้าว สหรัฐฯ เริ่มต้นแซงก์ชันอิหร่านเต็มรูปแบบอีกครั้งตั้งแต่วันอังคาร (7 ส.ค.) ด้านอียูแสดงความเสียใจและประกาศดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อปกป้องบริษัทยุโรปจากผลกระทบของมาตรการแซงก์ชันทันที พร้อมกันนี้ยังจะร่วมกับเตหะรานเพื่อปกป้องข้อตกลงนิวเคลียร์ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ (5 ส.ค.) ภายหลังเดินทางกลับจากเอเชียว่า ทำเนียบขาวจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการลงโทษเตหะรานนี้ตอนช่วงเช้าวันจันทร์ (6)

ขณะที่มีรายงานระบุว่า นับจากเวลา 04.01 น. วันอังคารตามเวลามาตรฐานเมืองกรีนิช (11.00 น.ตามเวลาเมืองไทย) อิหร่านจะไม่สามารถซื้อธนบัตรสหรัฐฯ และอเมริกาจะเริ่มต้นบังคับใช้มาตรการแซงก์ชันที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลายแขนงเพื่อกดดันให้อิหร่านยุติกิจกรรมประสงค์ร้าย

วอชิงตันยังแจ้งประเทศต่างๆ ให้ระงับการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษด้วยมาตรการทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนีแถลงว่า จะยังคงเสนอการรับประกันการส่งออกและการลงทุนสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจกับอิหร่านต่อไป และเสริมว่า เบอร์ลินยังคงหารือกับวอชิงตันเพื่อให้ยอมยกเว้นบริษัทเยอรมนีจากมาตรการแซงก์ชันอิหร่าน

วันเดียวกันนั้น ยังมีแถลงการณ์ร่วมจากเฟเดอริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) และรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ระบุว่า จะร่วมมือกันเพื่อเปิดช่องทางการติดต่อทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพกับอิหร่านต่อไป

แถลงการณ์ดังกล่าวแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจฟื้นมาตรการแซงก์ชันของอเมริกา พร้อมระบุว่า อียูจะปรับปรุง “คำสั่งยับยั้ง” ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคาร เพื่อปกป้องบริษัทอียูที่ทำธุรกิจโดยถูกต้องตามกฎหมายกับอิหร่าน จากผลกระทบของมาตรการแซงก์ชันของอเมริกาที่บังคับใช้นอกอาณาเขต

ทั้งนี้ “คำสั่งยับยั้ง” มีเนื้อหาห้ามไม่ให้บริษัทอียูปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชันของอเมริกา รวมทั้งเปิดทางให้บริษทเหล่านี้สามารถเรียกค่าเสียหายจากมาตรการลงโทษดังกล่าว ตลอดจนทำให้คำวินิจฉัยยของศาลในต่างประเทศเพื่อเอาผิดบริษัทอียูกลายเป็นโมฆะ
 ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่าน
แถลงการณ์จากยุโรปยังระบุว่า จะร่วมกับอิหร่านเพื่อปกป้องข้อตกลงนิวเคลียร์ต่อไป

ขณะเดียวกัน สถานีทีวีอิหร่านรายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า เตหะรานจะผ่อนคลายกฎการปริวรรตเงินตราเพื่อป้องกันการล่มสลายของเงินเรียลที่อ่อนยวบลงตั้งแต่เดือนเมษายนจากความกังวลว่า อเมริกากำลังจะฟื้นมาตรการแซงก์ชันอิหร่าน

เมื่อปี 2015 อิหร่านกับมหาอำนาจ 6 ประเทศ ซึ่งก็รวมถึงสหรัฐฯในยุคคณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้จัดทำข้อตกลงที่อิหร่านจะจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของตนแลกเปลี่ยนกับการที่นานาชาติจะยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่น แต่ในเดือนพฤษภาคมนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนำอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงฉบับนี้ ท่ามกลางการคัดค้านของชาติร่วมลงนามรายอื่นๆ รวมทั้งเหล่าพันธมิตรยุโรป

ทรัมป์ประณามว่า ข้อตกลงดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่ออิหร่าน และไม่เข้มงวดพอในการจำกัดยับยั้งเตหะราน

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี กล่าวหาว่า การถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของทรัมป์ผิดกฎหมาย และยืนกรานว่า อิหร่านจะไม่ยอมศิโรราบต่อแผนการของวอชิงตันในการปิดกั้นการส่งออกน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญอย่างเด็ดขาด

นอกจากกล่าวถึงมาตรการแซงก์ชันแล้ว พอมเพโอยังระบุว่า ขณะนี้ ชาวอิหร่านไม่พอใจกับผู้นำที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามที่รับปากไว้ และสำทับว่า ทรัมป์มีจุดยืนชัดเจนว่า ต้องการให้ชาวอิหร่านมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกผู้นำของตนเอง

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังทวีตในเวลาต่อมาว่า อเมริกากังวลอย่างลึกซึ้งกับการที่รัฐบาลอิหร่านใช้ความรุนแรงกับพลเมืองที่ไม่มีอาวุธ และเรียกร้องให้เตหะรานเคารพสิทธิมนุษยชน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกิดเหตุประท้วงในเมืองต่างๆ ของอิหร่านเมื่อคืนวันอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นคืนที่ 6 และมีผู้ประท้วงเสียชีวิตรายแรกโดยถูกยิงตายในเมืองคารัช ทางตะวันตกของเตหะราน กระนั้น เจ้าหน้าที่อิหร่านปฏิเสธว่า กองกำลังความมั่นคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

การประท้วงในอิหร่านมักเริ่มต้นด้วยคำคมโจมตีค่าครองชีพที่สูงลิบและข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน และลุกลามกลายเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างรวดเร็ว แต่แล้วก็ถูกปราบปรามอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยทางการอิหร่านกล่าวหาว่าการประท้วงเหล่านี้เป็นฝีมือก่อกวนบ่อนทำลายของฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ

พอมเพโอสำทับว่า อิหร่านจะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อประพฤติปฏิบัติเฉกเช่นประเทศปกติทั่วไป เพื่อให้หลุดพ้นจากมาตรการแซงก์ชันครั้งใหม่ของอเมริกา

เขายังพาดพิงข้อเสนอแนะของทรัมป์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเจรจาในอนาคตกับเตหะราน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนของอิหร่านออกมาปฏิเสธทันควัน โดยพอมเพโอกล่าวว่า สหรัฐฯ ยินดีหารือหากมีการจัดการอย่างเหมาะสมที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น