(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Paltry US investment pledge hands PR victory to China in Southeast Asia
By Asia Times staff
04/08/2018
การที่สหรัฐฯประกาศใช้เงินลงทุน 113 ล้านดอลลาร์อเมริกัน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของตนนั้น เปรียบเทียบกันไม่ได้เลยกับยอดเม็ดเงินปริมาณมหาศาลที่จีนให้คำมั่นสัญญาจะอัดฉีดเข้าไปในเอเชีย
ในสัปดาห์นี้ ระหว่างการเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเข้าร่วมการประชุมของสมาคมอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ ได้เปิดตัวแผนการใช้เม็ดเงินลงทุน 113 ล้านดอลลาร์อเมริกัน เพื่อการพัฒนาภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific)
งบประมาณก้อนนี้สำหรับภูมิภาคซึ่งครอบคลุมทั้งเอเชียตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, และเอเชียใต้ เป็นจำนวนที่เล็กน้อยเหลือเกินจนแทบไม่คู่ควรแก่การเอ่ยอ้างถึง อย่าว่าแต่การออกมาประกาศป่าวร้องอย่างเอิกเกริกเลื่อนลั่น ทั้งนี้ตามความเห็นของพวกผู้สังเกตการณ์บางราย โดยที่เงินลงทุนก้อนนี้ครอบคลุมรวมเอาความช่วยเหลือด้านความมั่นคงปลอดภัยเอาไว้ด้วย และประกาศออกมาไม่กี่วันหลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯผ่านงบประมาณใช้จ่ายด้านกลาโหมที่มีมูลค่ามากกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน
ไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่การประกาศคราวนี้ ซึ่งช่างเข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะกับแบรนด์ “อเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง” (America First) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นการเปิดโอกาสอีกครั้งหนึ่งให้จีนวิพากษ์วิจารณ์วอชิงตัน
“บรรดาชาติสมาชิกอาเซียนไม่แน่ใจว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯจะก่อให้เกิดอะไรพัวพันติดตามมาอย่างไรบ้าง สหรัฐฯเพียงแค่ประกาศงบประมาณลงทุนเป็นจำนวน 113 ล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมถึงส่วนที่จะใช้จ่ายในอินเดียด้วย ปริมาณขนาดนี้ดูเหมือนเพียงพอแค่ที่จะสร้างสะพานข้ามทางแยกสักแห่งหนึ่งแถวๆ ใจกลางนครมุมไบกระมัง” โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อในเครือของ เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนเย้ยเอาไว้เช่นนี้ในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ส.ค. (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.globaltimes.cn/content/1113773.shtml)
“วอชิงตันกำลังใช้เล่ห์กลลูกเล่นในเชิงยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งอยู่ พวกเขาไม่มีความจริงใจในเรื่องการผลักดันเพื่อมุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นเป็นอะไรอย่างอื่นต่างหาก” บทวิจารณ์นี้สาธยายต่อ
บรรดาประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนนั้น ในขณะที่ยินดีต้อนรับอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาค ในฐานะที่เป็นเครื่องถ่วงดุลกับอิทธิพลบารมีที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวของจีน แต่พวกเขาก็มีเหตุผลทุกๆ ประการที่จะระแวงสงสัยในยุทธศาสตร์นี้ของคณะบริหารทรัมป์ บทวิจารณ์ชิ้นนี้บอก
“สิ่งที่อาเซียนได้เห็นมาแล้วก็คือ การที่คณะบริหารทรัมป์ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ทั้งที่สหรัฐฯได้ตกลงเห็นชอบด้วยไปแล้ว และการที่ทำเนียบขาวกำลังประกาศทำสงครามการค้าอย่างเต็มขั้นเต็มตัว เหล่าชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนต่างกำลังวิตกกันในเรื่องที่จะตกเป็นเป้าหมายถูกเล็งปืนใส่ หรือถูกยิงด้วย “กระสุน” ภาษีศุลกากรจากนโยบายการค้าของทรัมป์ ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียต่างได้ลดการคาดหมายอัตราเติบโตของจีดีพีประจำปี 2019 ของพวกเขาลงมาแล้ว ท่ามกลางสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นมา อินโดนีเซียก็มีความกังวลเช่นเดียวกันเนื่องจากก็เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯประเทศหนึ่ง”
ขณะที่พอมเพโอปฏิเสธว่า เงินก้อนดังกล่าวไม่ได้เสนอออกมาเพื่อเป็นการแข่งขันกับการลงทุนของปักกิ่ง แต่ขนาดที่ตัดแย้งกันอย่างชัดเจนเหลือเกินกับเม็ดเงินลงทุนจำนวนราว 900,000 ล้านดอลลาร์อเมริกันซึ่งจีนให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ว่าจะอัดฉีดเข้าไปในประเทศเอเชียต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเพิกเฉยละเลยได้ และถึงแม้สื่อทางการของจีนมีข้อเขียนในเชิงเย้ยหยันเช่นนี้ แต่ปักกิ่งเองก็ได้รีบรุดออกมาแสดงการต้อนรับการลงทุนนี้ของฝ่ายอเมริกัน พร้อมกับแสดงความหวังว่า สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และออสเตรเลียจะเพิ่มการลงทุนนี้ให้มากขึ้นไปอีก