xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ ออกงิ้วใส่ ‘อิหร่าน’ หลังโดนขู่เจอ ‘แม่สงคราม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่าน
สหรัฐฯ และอิหร่านระเบิดสงครามน้ำลายใส่กันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตเตือนเตหะรานให้หยุดข่มขู่อเมริกาถ้าไม่อยากเจ็บปวดชนิดที่น้อยชาติจะเคยโดน หลังจากที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ตำหนินโยบายก้าวร้าวของวอชิงตันว่าจะนำไปสู่ ‘แม่ของสงครามทั้งปวง’ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีขึงขังของ ทรัมป์ อาจเป็นแค่ปาหี่การเมืองเพื่อเบนความสนใจจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรัสเซียและเกาหลีเหนือ

หลายฝ่ายอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าสหรัฐฯ จะเดินเกมต่อไปอย่างไร หลังจากที่ ทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (22 ก.ค.) ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ซึ่งให้ความหมายเทียบเท่ากับการตะโกนใส่หน้าผู้นำอิหร่าน

สงครามปากเริ่มขึ้นเมื่อประธานาธิบดี รูฮานี ได้กล่าวระหว่างการประชุมกับพวกนักการทูตของอิหร่านว่า ทรัมป์ ไม่ควรจะ “แหย่หางสิงโต” และอเมริกาควรตระหนักว่าการสู้รบกับอิหร่านจะเป็น “มารดาแห่งสงครามทั้งหลาย” (mother of all wars)

รูฮานี ยังย้ำด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่มีทางประสบความสำเร็จในการปลุกปั่นยุยงชาวอิหร่านให้เกลียดชังรัฐบาล เพราะเท่ากับว่าพวกเขาต่อต้านความมั่นคงปลอดภัยและผลประโยชน์ของตนเอง

ทรัมป์ ออกมาโวยวายผ่านทวิตเตอร์ในค่ำวันเดียวกัน โดยเขียนเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดว่า “จงอย่าได้ข่มขู่สหรัฐอเมริกาอีก ไม่เช่นนั้นคุณจะต้องได้รับผลตอบแทนที่เจ็บปวดที่น้อยชาติจะเคยโดนมาในประวัติศาสตร์ เราจะไม่อดทนกับคำพูดรุนแรงและการขู่ฆ่าแบบเสียสติของพวกคุณอีกต่อไป จงระวังไว้!”

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศ จาวัด ซารีฟ ของอิหร่าน ก็ออกมาทวีตโต้กลับเป็นตัวพิมพ์ใหญ่บ้างว่า “COLOR US UNIMPRESSED” พร้อมเตือนให้สหรัฐฯ ตระหนักว่าอิหร่านเป็นชาติที่เก่าแก่และเก๋าเกมขนาดไหน

“เราอยู่มาเป็นพันปี เห็นอาณาจักรต่างๆ ล่มสลายมาแล้วนับไม่ถ้วน แม้แต่อาณาจักรของพวกเราเองซึ่งอยู่มายาวนานยิ่งกว่าบางประเทศเสียอีก จงระวังไว้!” ซารีฟ กล่าว

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลได้ออกมาสรรเสริญเยินยอ ทรัมป์ ที่แสดงจุดยืนแข็งกร้าวกับเตหะราน แต่ก็มีคำถามตามมาว่าบรรยากาศตึงเครียดที่เกิดขึ้นมีนัยสำคัญอย่างไร และจะส่งผลกระทบในระยะยาวจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามโฆษกทำเนียบขาว ซาราห์ แซนเดอร์ส ว่าอะไรคือเหตุจูงใจให้ ทรัมป์ กล่าวเช่นนี้ ซึ่งเธอก็ชี้แจงว่า ผู้นำสหรัฐฯ เป็นห่วงความมั่นคงปลอดภัยของชาวอเมริกัน และต้องการยับยั้งไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ขณะเดียวกันก็บอกเป็นนัยๆ ว่าท่าทีขึงขังของ ทรัมป์ นั้นไม่มีอะไรน่ากังวล

“ท่านใช้วาจาแข็งกร้าวกับอิหร่านมาตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งแล้ว” เธอกล่าว

ด้าน ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ออกมาวิจารณ์ผู้นำอิหร่านว่าทำตัวเหมือน ‘มาเฟีย’ พร้อมยืนยันว่าวอชิงตันจะให้การสนับสนุนประชาชนชาวอิหร่านที่ไม่พอใจรัฐบาลของตน

ทรัมป์ ยกให้อิหร่านเป็นศัตรูเบอร์หนึ่ง และเมื่อเดือน พ.ค. ก็ได้ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งเขามองว่าเป็น “ดีลสุดห่วย” ก่อนจะเริ่มบังคับใช้บทลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเตหะรานอีกครั้ง

แม้เป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าสหรัฐฯ มีแผนยุให้ชาวอิหร่านล้มล้างรัฐบาลตัวเอง แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กลับเชื่อว่า ท่าทีล่าสุดของ ทรัมป์ ไม่มีอะไรมากไปกว่าความพยายามกลบเกลื่อนเรื่องที่เขาถูกวิจารณ์ว่านอบน้อมต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แบบสุดลิ่มทิ่มประตูในการประชุมซัมมิตที่กรุงเฮลซิงกิ รวมไปถึงข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์โสมแดงที่ไร้วี่แววคืบหน้า

แอรอน เดวิด มิลเลอร์ อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นผู้แทนรัฐบาลอเมริกัน เจรจากับชาติตะวันออกกลาง มองว่า ทรัมป์ กำลังหัวเสียที่กระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ซ้ำยังถูกพวกผู้นำคองเกรสรุมสวดยับเยินที่ไปยกย่องผู้นำชาติศัตรูอย่าง ปูติน และไม่ประณามเรื่องที่รัสเซียแทรกแซงศึกเลือกตั้งปี 2016 แม้แต่คำเดียว

“เขาก็เลยต้องหาทางปลดปล่อย ทำท่าทีขึงขัง และเบี่ยงเบนความสนใจ” มิลเลอร์ กล่าว พร้อมเตือนว่าหาก ทรัมป์ ไม่ทำอะไรมากไปกว่าขู่ก็เท่ากับก็ประจานตัวเองว่ายังไร้ยุทธศาสตร์จัดการอิหร่าน

ร็อบ มัลลีย์ ประธานองค์กรไม่แสวงผลกำไร International Crisis Group ระบุว่า นักการทูตยุโรปส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับคำพูด ทรัมป์ มากนัก โดยมองว่าเป็นความพยายามเบรกเสียงวิจารณ์เรื่องซัมมิตปูติน และเบนความสนใจจากคดีรัสเซียแทรกแซงเลือกตั้งที่อัยการพิเศษ โรเบิร์ต มุลเลอร์ เริ่มสืบสาวเข้าใกล้ตัวคนสนิท ทรัมป์ มากขึ้นเรื่อยๆ

นักวิเคราะห์บางคนยังตั้งข้อสังเกตว่า ถ้อยคำรุนแรงที่ ทรัมป์ ใช้กับอิหร่านนั้นไม่แตกต่างจากเมื่อตอนที่เขาทวีตด่าผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเมื่อช่วงเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว

ทรัมป์ ประกาศจะใช้ “มาตรการกดดันขั้นสูงสุด” บังคับให้เปียงยางล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ และยังกล่าวบนเวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2017 ว่าจะทำลายเกาหลีเหนือ “ให้สิ้นซาก” หากถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์

ผ่านไปไม่ถึงปี ทรัมป์ กลับเซอร์ไพรส์ชาวโลกด้วยการจัดประชุมซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์กับ คิม จองอึน ผู้ซึ่งเขาเคยเย้ยหยันว่าเป็น “มนุษย์จรวด” ที่กำลังปฏิบัติ “ภารกิจฆ่าตัวตาย”

อย่างไรก็ตาม มีเสียงเตือนจากพรรคเดโมแครตว่า การข่มขู่อิหร่านนั้นอาจส่งผลร้ายมากกว่าที่ ทรัมป์ คิด

“การยั่วยุอิหร่านอย่างปราศจากขาดความยั้งคิดนั้นถือว่าเสี่ยงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำพูดนั้นไม่มียุทธศาสตร์ที่สามารถปฏิบัติได้จริงมารองรับ” ส.ว.ริชาร์ด บลูเมนธัล จากพรรคเดโมแครตให้ความเห็น

สหรัฐฯ เคยมีแผนกดดันให้ทุกประเทศหยุดซื้อน้ำมันอิหร่านตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไป เพื่อตัดขาดอิหร่านจากตลาดน้ำมันโลกอย่างสมบูรณ์ ทว่าต่อมากลับบอกว่าจะยอมผ่อนปรนให้ชาติพันธมิตรบางรายที่ต้องพึ่งพาน้ำมันอิหร่านจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น