xs
xsm
sm
md
lg

กูรูไซเบอร์ชี้ “สิงคโปร์” ถูกแฮกฐานข้อมูลสุขภาพครั้งใหญ่อาจเป็นฝีมือ “รบ.ต่างชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์
เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญเผยการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่งทำให้ประวัติการรักษาโรคของประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนถูกขโมย น่าจะเป็นฝีมือผู้ก่อการระดับรัฐ (state actors) เมื่อพิจารณาจากขนาดและความซับซ้อนในการเจาะข้อมูล

รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาแถลงยอมรับเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) ว่า กลุ่มแฮกเกอร์ได้โจมตีฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และเข้าถึงประวัติการรักษาโรคของชาวสิงคโปร์ราว 1.5 ล้านคน รวมถึงนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ซึ่งตกเป็นเป้าหมายแบบ ‘เฉพาะเจาะจง’ ของคนร้ายกลุ่มนี้

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้ “ผ่านการวางแผนมาอย่างรัดกุม และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่แฮกเกอร์มือสมัครเล่นหรือแก๊งอาชญากรทั่วๆ ไป”

เจ้าหน้าที่สิงคโปร์ยังปฏิเสธที่จะระบุตัวตนของแฮกเกอร์กลุ่มนี้ โดยอ้าง ‘ปฏิบัติการด้านความมั่นคง’ แต่ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์ให้ความเห็นว่า รูปแบบการโจมตีที่สลับซับซ้อนและเน้นเป้าหมายระดับไฮโปรไฟล์อย่างนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง บ่งชี้ว่า น่าจะเป็นฝีมือ ‘ผู้ก่อการระดับรัฐ’

อีริค โฮห์ (Eric Hoh) ประธานประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของบริษัทความมั่นคงไซเบอร์ FireEye เผยกับสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย ว่า การโจมตีครั้งนี้ถือเป็น “ภัยคุกคามที่ก้าวหน้า”

“ลักษณะการโจมตีบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำโดยรัฐ และใช้เครื่องมือที่ทันสมัยมาก... พวกเขามีทั้งทรัพยากร แหล่งทุน และมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง”

เจฟฟ์ มิดเดิลตัน ซีอีโอบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงไซเบอร์ Lantium ชี้ว่า ประวัติการรักษาโรคถือเป็นข้อมูลสำคัญที่พวกแฮกเกอร์ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะสามารถนำไปใช้แบล็กเมลบุคคลผู้มีอำนาจได้

“เราสามารถรู้ได้ว่าสุขภาพของคนๆ หนึ่งเป็นอย่างไร โดยดูจากยาที่เขารับประทาน ข้อมูลสุขภาพที่ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่ หน่วยข่าวกรองรัสเซียมีประวัติในการทำแบบนี้มานานแล้ว” มิดเดิลตัน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีวันนี้ (21)

รัฐบาลสิงคโปร์พยายามสร้างฐานข้อมูลดิจิทัล ซึ่งรวมถึงประวัติการรักษาโรคของประชาชน เพื่อให้สถานพยาบาลและคลินิกของรัฐสามารถสืบค้นได้โดยตรง แต่ล่าสุดแผนเหล่านี้ได้ถูกสั่งระงับทันทีหลังเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่
แฮกเกอร์กลุ่มนี้ใช้คอมพิวเตอร์ที่มีมัลแวร์เข้าถึงฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระหว่างวันที่ 27 มิ.ย. ถึง 4 ก.ค. ก่อนที่ภาครัฐจะเริ่มตรวจพบการทำที่ไม่ชอบมาพากล

แม้จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ทันสมัยเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยอมรับว่าต้องต่อสู้กับอาชญากรไซเบอร์ที่พยายามเจาะเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายพันครั้งในแต่ละวัน โดยมีตั้งแต่เด็กมัธยมเรื่อยไปยันรัฐบาลต่างชาติ



กำลังโหลดความคิดเห็น