xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ อวย ‘ปูติน’ สุดลิ่ม เมินโวยหมีขาวแทรกแซงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยื่นลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ให้แก่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระหว่างแถลงข่าวร่วมที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ถูกมรสุมการเมืองซัดถล่มอีกระลอก หลังการประชุมซัมมิตกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียที่กรุงเฮลซิงกิปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น ไร้ถ้อยคำประณามเรื่องที่รัสเซียแทรกแซงศึกเลือกตั้ง มิหนำซ้ำผู้นำสหรัฐฯ ยังหักหน้าประชาคมข่าวกรองอเมริกันด้วยการยกย่อง ปูติน ว่าปฏิเสธข้อครหาทั้งหมดได้อย่าง “แข็งแรงและทรงพลัง”

การประชุมซัมมิตครั้งนี้ถือเป็นการหารือทวิภาคีกับ ปูติน ครั้งแรกตั้งแต่ ทรัมป์ ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2017 และหลายฝ่ายต่างคาดหวังให้ผู้นำสหรัฐฯ หยิบยกเรื่องมอสโกป่วนเลือกตั้งขึ้นมาฉีกหน้า ปูติน

อันที่จริง ทรัมป์ มีโอกาสที่จะใช้เวทีซัมมิตครั้งนี้กดดัน ปูติน ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รัสเซียช่วงชิงคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครน, เหตุเครื่องบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สถูกขีปนาวุธที่ผลิตในรัสเซียยิงตกในยูเครนตะวันออก รวมถึงเรื่องที่แฮกเกอร์รัสเซียเจาะอีเมลพรรคเดโมแครตและเผยแพร่เอกสารทำลายชื่อเสียงของ ฮิลลารี คลินตัน ในช่วงโค้งสุดท้ายของศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016

ทรัมป์ และ ปูติน ใช้เวลาหารือแบบเป็นส่วนตัวพร้อมคู่ล่ามนานถึง 2 ชั่วโมง ก่อนจะแถลงข้อตกลงรื้อฟื้นความร่วมมือซึ่งก็ไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่สำหรับผู้สังเกตการณ์บางคนที่กลัวว่า ทรัมป์ จะถูก ปูติน หว่านล้อมจนยอมทำข้อตกลงที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเรื่องไครเมียหรือสงครามซีเรียแล้ว นี่ถือเป็นบทสรุปที่น่าโล่งใจพอสมควร

อย่างไรก็ตาม การประชุมที่เฮลซิงกิคราวนี้ไม่ได้ช่วยคลี่คลายข้อสงสัยเรื่องทีมหาเสียง ทรัมป์ อาจสมคบคิดกับเครมลินเพื่อแกว่งผลเลือกตั้ง และแม้จะถูกกดดันจากนักวิจารณ์ ชาติพันธมิตร หรือแม้แต่ทีมงานของตนเองให้แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับรัสเซียมากกว่านี้ แต่ ทรัมป์ กลับไม่ตำหนิมอสโกแม้แต่คำเดียวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจตกต่ำที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น

ขณะที่ยืนแถลงข่าวคู่กับผู้นำหมีขาว ทรัมป์ บอกกับสื่อว่า “ผมไม่เห็นเหตุผลเลยว่าทำไมถึงจะใช่รัสเซีย” ที่อยู่เบื้องหลังการแฮ็กเลือกตั้ง แถมยังชม ปูติน ว่าตอบปฏิเสธข้อครหาเหล่านี้ด้วยถ้อยคำที่ “แข็งแรงและทรงพลัง”

สมาชิกสภาคองเกรสทั้งสายเดโมแครตและรีพับลิกันต่างออกมาประสานเสียงตำหนิประธานาธิบดีว่า “อ่อนแอ” และ “ขี้ขลาดตาขาว” บ้างก็หาว่าเข้าข้างศัตรูมากกว่าบ้านเกิดเมืองนอน จน ทรัมป์ ทนไม่ไหวต้องออกมาแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ในอีก 27 ชั่วโมงให้หลังว่า “พูดผิดไป”

“ผมพูดคำว่า ‘จะ’ แทนที่จะเป็น ‘จะไม่’... จริงๆ แล้วประโยคที่ถูกต้องคือ ผมไม่เห็นเหตุผลเลยว่าทำไมถึงจะไม่ใช่รัสเซีย” ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันอังคาร (17 ก.ค.)

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า “ยังศรัทธาเต็มเปี่ยม และพร้อมสนับสนุนการทำงานของหน่วยข่าวกรองอเมริกัน” แต่ก็ไม่วายโต้แย้งว่า “สิ่งที่รัสเซียทำไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้นต่อผลการเลือกตั้ง” แถมยังเสนอไอเดียอีกว่า “อาจจะเป็นคนอื่นทำก็ได้”

อย่างไรก็ดี การกลับคำพูดของ ทรัมป์ ดูเหมือนจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าไหร่

อดัม ชิฟฟ์ แกนนำเดโมแครตในคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า เรื่องวุ่นวายที่ ทรัมป์ ก่อขึ้นนั้นไม่อาจแก้ไขได้ด้วยแถลงการณ์สั้นๆ ขณะที่ ชัค ชูเมอร์ แกนนำ ส.ว.เดโมแครต ระบุว่า คำพูดที่กลับไปกลับมาเช่นนี้ยิ่งบ่งบอกว่า ทรัมป์ อ่อนแอไม่กล้าเผชิญหน้ากับ ปูติน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาออกมาโบ้ยว่า “อาจจะเป็นคนอื่น” ที่แทรกแซงเลือกตั้ง ไม่ใช่รัสเซีย

มิตช์ แมคคอนเนลล์ แกนนำ ส.ว.รีพับลิกัน ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า รัสเซีย “ไม่ใช่มิตรของสหรัฐอเมริกา” อย่างแน่นอน พร้อมฝากเตือนมอสโกว่าอย่าได้คิดก้าวก่ายศึกเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. ปีนี้

ก่อนจะเดินทางไปถึงเฮลซิงกิ ผู้นำสหรัฐฯ ได้สร้างวีรกรรมอื้อฉาวไว้ที่บรัสเซลส์ด้วยการตำหนิชาติพันธมิตรนาโตว่าอุดหนุนงบกลาโหมน้อยเกินไป, กล่าวหาเยอรมนีว่าพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียจนแทบจะตกเป็น ‘เชลย’ และยังวิจารณ์แผนเจรจาเบร็กซิตของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ แห่งอังกฤษว่าจะทำให้ลอนดอนหมดสิทธิ์ทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ

ทั้งหมดนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับถ้อยคำหวานระรื่นและมิตรภาพที่ ทรัมป์ แสดงออกต่อ ปูติน

เออร์แวน ลากาเด็ก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า ทรัมป์ พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาสัญญา และต่อต้านสิ่งที่รัฐบาล บารัค โอบามา เคยทำเอาไว้โดยไม่แคร์ว่าจะเป็นการล้มล้างวัฒนธรรมการทูตที่สหรัฐฯ ยึดถือมาอย่างยาวนานหรือไม่ ขณะที่ โทมัส ไรต์ ผู้อำนวยการศูนย์สหรัฐฯ และยุโรปแห่งสถาบันบรุกกิงส์ ระบุว่า ทรัมป์ ใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวมากำหนดบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลก จนแม้แต่บรรดาที่ปรึกษาคนสนิทก็ยัง “เอาไม่อยู่”

แอรอน เดวิด มิลเลอร์ อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ซึ่งทำงานกับสถาบันวูดโรว์วิลสัน ชี้ว่า คำพูดยกยอ ปูติน ที่เฮลซิงกินั้นเทียบได้กับเมื่อตอนที่ ทรัมป์ หลีกเลี่ยงไม่วิจารณ์พวกเหยียดผิว “ไวท์ซูพรีเมซิสต์” ที่ก่อเหตุประท้วงนองเลือดในเมืองชาร์ล็อตสวิลล์เมื่อปีที่แล้ว แต่กลับไปตำหนิผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านว่ามีความผิดพอๆ กัน

“ประธานาธิบดีอ้างความเท่าเทียมทางศีลธรรม ไม่ประณามศัตรูของสหรัฐฯ และกลุ่มที่สร้างความเกลียดชัง และเลือกที่จะทรยศต่อค่านิยมและผลประโยชน์ของชาติ” มิลเลอร์ กล่าว

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยรอยเตอร์/อิปซอสภายหลังการแถลงข่าวระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียพบว่า ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 55% ไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดการความสัมพันธ์รัสเซียของทรัมป์ และมีแค่ 37% ที่เห็นด้วย

นักการเมืองและสื่อมวลชนแดนหมีขาวต่างยกย่องผลการประชุมซัมมิตที่เฮลซิงกิว่าเป็นชัยชนะสำหรับปูติน โดยหนังสือพิมพ์รอสซิสกายาซึ่งเป็นสื่อของเครมลินได้ลงพาดหัวข่าวว่า “ความพยายามของตะวันตกที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียล้มเหลว”


กำลังโหลดความคิดเห็น