xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” คุยชนะ ภายหลังที่ยื่นคำขาดในที่ประชุมซัมมิต พันธมิตรนาโตยอมเพิ่มงบกลาโหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ (กลาง) พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ไมค์ พอมเพโอ (ซ้าย) และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จอห์น โบลตัน (ขวา) แถลงข่าวในวันที่ 2 ของการประชุมซัมมิตองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่กรุงบรัสเซลส์ วันพฤหัสบดี (12 ก.ค.) </i>
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศอ้างว่าได้รับชัยชนะเป็นการส่วนตัว ในการประชุมซัมมิตขององค์การนาโตเมื่อวันพฤหัสบดี (12 ก.ค.) หลังจากบอกกับพวกผู้นำชาติพันธมิตรยุโรปให้เพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม ไม่เช่นนั้นวอชิงตันก็จะเลิกให้การสนับสนุนด้านการทหาร โดยปรากฏว่าการยื่นคำขาดเช่นนี้บีบบังคับให้พวกผู้นำอื่นๆ ต้องรีบเร่งจัดการประชุมวาระวิกฤตกับประมุขอเมริกัน และทรัมป์ยืนยันว่าเขาได้รับในสิ่งที่ต้องการ

ทรัมป์ปรากฏตัวภายหลังการหารือวาระฉุกเฉินนี้ โดยประกาศว่าเขายังคงผูกพันกับกลุ่มพันธมิตรนี้ต่อไป ทั้งนี้นาโตหรือองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ เป็นกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกที่สร้างขึ้นบนแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯด้วยวัตถุประสงค์ที่จะต้านทานสหภาพโซเวียตในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ผู้คนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้กล่าวเตือนว่า เขาจะ “เดินไปคนเดียวตามลำพัง” ถ้าหากพวกชาติพันธมิตรนาโต้ โดยเฉพาะเยอรมนี ยังไม่เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายด้านกลาโหมในปีหน้า

“ผมบอกให้พวกเขารู้ว่าผมไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และพวกเขาก็ได้เพิ่มคำมั่นสัญญาของพวกเขาขึ้นไปอย่างสำคัญ และเวลานี้เราก็กำลังมีความสบายใจมาก และมีองค์การนาโตที่ทรงอำนาจขึ้นมากๆ นาโตที่แข็งแรงขึ้นมากๆ มากกว่านักหนาจากที่เป็นอยู่เมื่อ 2 วันที่แล้ว” เขากล่าวหลังการประชุมวาระฉุกเฉิน

“มีความก้าวหน้าไปอย่างมหาศาล ทุกๆ คนต่างเห็นชอบที่จะเพิ่มคำมั่นสัญญาของพวกเขาให้สูงขึ้นไปอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง พวกเขากำลังขึ้นไปสู่ระดับที่พวกเขาไม่เคยขบคิดมาก่อน มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นจิตใจในระดับนั้นในห้องนั้น”

ด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ก็กล่าวว่า นาโต “มีความแข็งแกร่งขึ้นมาก” หลังซัมมิตคราวนี้ ถึงแม้ด้านนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้พูดถึงซัมมิตคราวนี้ว่า “ตึงเครียดมาก” ทั้งเธอและผู้นำคนอื่นๆ รวมถึงมาครงด้วย ดูเหมือนต่างพยายามพูดลดทอนขนาดขอบเขตของสิ่งที่พวกเขาได้ให้คำมั่นในเรื่องการเร่งแผนใช้จ่ายด้านกลาโหมให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างที่ทรัมป์เรียกร้องต้องการ

ขณะเดียวกัน มาครงและคนอื่นๆ กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ตีความคำพูดของทรัมป์ว่าเป็นการคุกคามโดยตรงในเรื่องที่จะลาออกจากนาโต โดยที่ตัวทรัมป์เอง เมื่อถูกถามในที่ประชุมแถลงข่าวว่า เขาคิดว่าเขาสามารถที่จะนำสหรัฐฯลาออกจากนาโตได้โดยไม่ต้องขอความสนับสนุนเห็นชอบจากรัฐสภาอเมริกันใช่หรือไม่ ทรัมป์ก็ตอบว่าเขาเชื่อว่าเขามีอำนาจที่จะทำได้ แต่ว่ามัน “ไม่มีความจำป็น”

ทว่าคนอื่นๆ บอกว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติรับรองจากรัฐสภาเสียก่อน และจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

ทรัมป์กล่าวอย่างดีอกดีใจกับชัยชนะเป็นส่วนตัวของเขา ในการใช้ยุทธศาสตร์ของเขาเองที่บ่นดังๆ เรื่องงบประมาณของนาโตซึ่งไม่เป็นธรรมต่อพวกผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน แล้วปรากฏผลออกมาเป็นสิ่งที่เขาระบุว่าคือฉันทามติอันอบอุ่นที่แวดล้อมรอบๆ ตัวของเขา

อย่างไรก็ดี พวกนักการทูตและพวกเจ้าหน้าที่จำนวนมากกล่าวว่า การแสดงบทบาทอย่างไม่ได้เป็นการดำเนินการทางการทูตของเขาเช่นนี้ รวมไปถึงการที่เขาชี้นิ้วเจาะจงไปยังผู้นำคนอื่นๆ และเรียกแมร์เคิลว่า “คุณ, อังเกลา” ได้สร้างความขุ่นเคืองให้แก่คนจำนวนมาก

รอยเตอร์อ้างคำบอกเล่าของ บุคคลผู้หนึ่ง ถึงการปะทะกันที่สำนักงานใหญ่ของนาโตในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อตอนที่ทรัมป์ขึ้นพูดอภิปรายในวันพฤหัสบดี (12) ซึ่งตามวาระแล้วในการประชุมซัมมิตวันที่ 2 นี้ควรจะต้องหันไปพูดเรื่องอื่นๆ แล้ว ภายหลังได้วิวาทกันเกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายนี้ในวันพุธ (11) มาแล้ว ทั้งนี้“เขา (ทรัมป์) บอกว่าคนอื่นๆ ต้องเร่งเพิ่มการใช้จ่ายภายในเดือนมกราคม 2019 ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯก็จะเดินไปตามลำพังฝ่ายเดียว”

หลังจากนั้น เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการของนาโตก็ต้องรีบเคลียร์ห้องประชุม โดยขอเชิญเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งพวกผู้นำของ จอร์เจีย และ อัฟกานสถาน ซึ่งเป็นชาติที่อยู่นอกนาโตและได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 2 ให้ออกจากห้องไปก่อน จากนั้นบรรดาผู้นำอื่นๆ อีก 28 ชาติของนาโตก็จัดการประชุมวาระฉุกเฉินกับทรัมป์
<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ขณะเดินทางมายังที่ประชุมแถลงข่าว ภายหลังเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของนาโต ในวันพฤหัสบดี (12 ม.ค.) </i>
เป้าหมายงบประมาณทหาร

บรรดาสมาชิกนาโตให้คำมั่นสัญญาที่จะใช้จ่ายงบประมาณกลาโหมอย่างน้อยเท่ากับ 2% ของรายได้ประชาชาติของพวกเขาภายในปี 2024 ถึงแม้มีเงื่อนไขผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนออกไปได้ในบางกรณีจนกระทั่งถึงปี 2030 สหรัฐฯซึ่งเป็นชาตินาโตที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดนั้นใช้จ่ายเท่ากับ 3.6% ในปีแล้ว ขณะที่เยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในหมู่พันธมิตรนาโต กลับใช้จ่ายเพียงแค่เท่ากับ 1.2% และมีชาติพันธมิตรเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่สามารถทำตามเป้าหมาย 2% ซึ่งวางกันไว้

ทรัมป์บอกกับพวกผู้นำนาโตคนอื่นๆ ว่า เขาต้องการให้พวกเขาทั้งหมดทำตามเป้าหมายดังกล่าวได้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งทำให้เกิดความตะลึงงันไปทั่ว ประเทศจำนวนมากได้จัดทำงบประมาณประจำปี 2019 เสร็จสิ้นไปแล้ว ขณะที่หากพวกเขาต้องการทำตาม เงินงบประมาณกลาโหมที่จะต้องเพิ่มขึ้นมาก็ยังคงเป็นก้อนโตมาก รวมทั้งยังมีปัญหาว่าจะนำไปใช้จ่ายจัดซื้อจัดจ้างกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

แมร์เคิลบอกกับพวกผู้สื่อข่าวภายหลังซัมมิตว่า ได้มีการพูดให้ทรัมป์มั่นใจว่าชาติอื่นๆ กำลังใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

“ท่านประธานาธิบดีอเมริกันเรียกร้องในสิ่งที่มีการหารือกันมาเป็นเดือนๆ แล้ว ในเรื่องที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในการแบ่งปันภาระค่าใช้จ่าย” แมร์เคิลกล่าว “ดิฉันพูดชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในเส้นทางนี้แล้ว และนี่เป็นผลประโยชน์ของพวกเราเอง และมันจะทำให้พวกเราเข้มแข็งยิ่งขึ้น”

เมื่อถูกถามว่ามาถึงตอนนี้พวกชาติพันธมิตรอื่นๆ ตกลงจะบรรลุถึงเป้าหมายใช้จ่ายทางทหารในระดับ 2% ของจีดีพีกันเมื่อใดแน่ๆ ทรัมป์ตอบว่ามันจะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ขณะที่ มาครงตอบในเวลาต่อมาว่า ฝรั่งเศสซึ่งปีที่แล้วใช้จ่ายในระดับเท่ากับ 1.8% จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวภายในเส้นตายเดิมคือปี 2024

ด้านนายกรัฐมนตรีจูเซปเป คองเต แห่งอิตาลีกล่าวตรงๆ ว่า เขาได้ตกลงเห็นพ้องที่จะ “ไม่เพิ่มการใช้จ่าย” มากกว่าที่อิตาลีได้เคยตกลงเอาไว้ ทั้งนี้ในปีที่แล้ว โรมใช้จ่ายด้านกลาโหมแค่ 1.1% และเวลานี้ก็กำลังเผชิญภาระหนี้สินหนักหน่วง

สำหรับนายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปน ซึ่งก็เช่นเดียวกับเจ้าภาพการประชุมซัมมิตครั้งนี้ นั่นคือนายกรัฐมนตรี ชาร์ลส์ มิเชล ของเบลเยียม และได้ถูกทรัมป์ชี้นิ้วใส่ขณะอยู่ในห้องประชุม จากการที่ใช้จ่ายด้านการทหารไม่ถึง 1% ของจีดีพี กล่าวว่ามาดริดก็จะทำตามเป้าหมายให้ได้ภายในปี 2024
<i> ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ (ขวา) สนทนากับ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต (ซ้าย) เมื่อวันพุธ (11 ม.ค.) </i>
ทรัมป์ยัวะเยอรมนี

ก่อนหน้านี้ในวันพุธ (11 ) ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมสุดยอดของนาโตคราวนี้ ทรัมป์ โอดโอยผ่านทวิตเตอร์ว่า เยอรมนีและสมาชิกชาติอื่นๆ สมทบทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันยุโรปเพียงน้อยนิด ปล่อยให้อเมริกาแบกภาระหลังแอ่น

“เยอรมนีเพิ่งเริ่มจ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้รัสเซีย ประเทศที่ทำให้พวกเขาต้องการการปกป้อง เป็นค่าพลังงานที่มาจากท่อส่งใหม่จากรัสเซีย รับไม่ได้! สมาชิกนาโตทั้งหมดต้องจ่ายเงินสมทบ 2% และเพิ่มเป็น 4% ในที่สุด” ทรัมป์ทวิตเดือด

ทั้งนี้นอกจากอเมริกา มีสมาชิกอีกเพียง 3 ประเทศจากทั้งหมด 29 ประเทศ คืออังกฤษ กรีซ และเอสโตเนีย ที่จ่ายสมทบตามเป้าหมาย 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตั้งแต่ปีที่แล้ว และอีก 4 ประเทศที่คาดว่า จะบรรลุเป้าหมายในปีนี้

ทว่า มีเพียงประเทศเดียวคืออังกฤษที่เออออกับทรัมป์ว่า สมาชิกอื่นๆ ควรจ่ายเงินสมทบมากขึ้น

การประชุมครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นอย่างดุเดือดด้วยการที่ทรัมป์โจมตีเยอรมนีว่า เป็น “เชลยมอสโก” ซึ่งพาดพิงถึงข้อตกลงท่อส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านใต้ทะเลบอลติกไปเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล ตอบโต้ว่า ตนรู้ดีว่า การอยู่ภายใต้การครอบงำของเครมลินเป็นอย่างไร และดีใจที่เยอรมนีสามารถตัดสินใจนโยบายของตัวเองอย่างอิสระ

ด้านประธานาธิบดีรูเมน ราเดฟของบัลแกเรีย ยังตอกประมุขทำเนียบขาวเรื่องการเพิ่มเงินสมทบว่า นาโตไม่ใช่ตลาดหุ้นที่ใครจะมาหาซื้อความมั่นคงได้

ขณะที่ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต บอกว่า จะโฟกัสเป้าหมายที่ตกลงกันเดิมคือ 2% มากกว่าสนองตอบข้อเรียกร้องของทรัมป์

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงงานเลี้ยงอาหารค่ำดูเหมือนบรรยากาศผ่อนคลายลงมาก ผู้นำหลายชาติ อาทิ ประธานาธิบดีโคลินดา กราบาร์-คีทาโรวิกของโครเอเชีย บอกว่า ดินเนอร์เป็นไปอย่างเปิดกว้าง สร้างสรรค์ และดีมาก

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังร่วมกับผู้นำอีก 28 ชาติสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมในการช่วยกันแบ่งเบาความรับผิดชอบมากขึ้น และพันธะสัญญาเมื่อแรกก่อตั้งที่ว่า การโจมตีประเทศสมาชิกชาติหนึ่งชาติใดหมายถึงการโจมตีนาโตทั้งหมด โดยไม่พาดพิงถึงเป้าหมายการเพิ่มงบสนับสนุนเป็น 4% แต่อย่างใด

สำหรับในวันพฤหัสบดี การประชุมมีวาระจะหารือประเด็นยูเครนและอัฟกานิสถาน ซึ่งนาโตยังคงภารกิจฝึกฝนและให้การสนับสนุนเพื่อช่วยกองทัพอัฟกันต่อสู้กับกลุ่มตอลีบาน

บรรดาผู้นำเห็นพ้องขยายเวลาการสนับสนุนทางการเงินให้แก่กองทัพอัฟกานิสถานจนถึงปี 2024 และประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส คาดว่า การหารือในวันพฤหัสบดีจะสงบเรียบร้อยกว่าที่ใครๆ อาจคาดคิด

ภายหลังซัมมิตนาโตในวันพฤหัสบดีแล้ว ทรัมป์มีกำหนดจะเดินทางเยือนอังกฤษทันที ขณะที่ลอนดอนกำลังปีนเกลียวอย่างหนักกับมอสโก จากกรณีการเสียชีวิตของหญิงอังกฤษคนหนึ่งหลังสัมผัสสารทำลายประสาท โนวิช็อก ที่รัสเซียเป็นผู้พัฒนาขึ้นมา และเป็นสารพิษชนิดเดียวกับที่ทำร้ายอดีตสายลับสองหน้าของรัสเซียและลูกสาวเมื่อต้นปี

จากนั้นในวันจันทร์ (16) ทรัมป์มีกำหนดประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่กรุงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ ซึ่งนักการทูตในนาโตบอกว่า ถือเป็นบททดสอบที่แท้จริงถึงความมุ่งมั่นของทรัมป์ที่มีต่อพันธมิตรตะวันตก

กล่าวคือหากทรัมป์ตกลงระงับการร่วมซ้อมรบในบอลติกหรือถอนทหารออกจากภูมิภาคดังกล่าว จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อนโยบายของตะวันตกต่อมอสโก ทว่า นักการทูต เจ้าหน้าที่ และนักวิเคราะห์ย้ำว่า นี่เป็นเพียงสถานการณ์จำลองเลวร้ายที่สุดที่ไม่ได้อิงกับจุดยืนอย่างเป็นทางการของตะวันตก

กระนั้น เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ 3 คนเผยว่า ไม่มีใครในเพนตากอน แม้แต่จิม แมตทิส เจ้ากระทรวงฯ รู้ว่า ทรัมป์จะคุยอะไรกับปูตินที่เฮลซิงกิ


กำลังโหลดความคิดเห็น