xs
xsm
sm
md
lg

นักการทูตเผยจีนเดินเกมล็อบบี้หนัก เสี้ยมอียูคัดง้างนโยบายการค้าทรัมป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดนัลด์ ทัสก์ (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน (ขวา)  ขณะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอียู-จีน ในกรุงบรัสเซลส์, เบลเยียม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนปีที่แล้ว  ทั้งนี้คาดหมายกันว่าผู้นำทั้งสอง รวมทั้งผู้นำคนอื่นๆของอียูและจีนจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปีนี้ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 16-17 นี้ที่กรุงปักกิ่ง
รอยเตอร์ - จีนกดดันหนัก หวังให้อียูออกแถลงการณ์แข็งกร้าวต่อต้านนโยบายการค้าของทรัมป์ระหว่างการประชุมสุดยอดของทั้งสองฝ่ายปลายเดือนนี้ แต่บรัสเซลส์ไม่เล่นด้วย เพราะถ้าว่ากันตามตรงแล้ว อียูกังวลกับการปิดตลาดและการบิดเบือนทางการค้าเพื่อครอบงำตลาดโลกของจีนเช่นเดียวกับวอชิงตัน เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดการของทรัมป์เท่านั้น

เจ้าหน้าที่หลายคนของยุโรปเผยว่า ระหว่างการหารือที่ผ่านมาทั้งที่บรัสเซลส์ เบอร์ลิน และปักกิ่ง เจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ซึ่งรวมถึง หลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ตลอดจน หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ พยายามเสนอการที่จีนจะจับมือเป็นพันธมิตรกับสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งเสนอเปิดตลาดกว้างขึ้น และเสนอให้ออกมาตรการร่วมกันเพื่อต่อต้านอเมริกาในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

หลิวนั้นถึงขั้นปรารภเป็นการส่วนตัวว่า จีนพร้อมกำหนดภาคอุตสาหกรรมที่จะเปิดรับการลงทุนจากยุโรปเป็นครั้งแรกในระหว่างการประชุมสุดยอดจีน-ยุโรปที่จะมีขึ้นที่ปักกิ่งวันที่ 16-17 นี้ ซึ่งคาดว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียู จะร่วมหารือด้วย

ทว่า เจ้าหน้าที่และนักการทูตอียู 5 คนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า อียู ซึ่งเป็นเขตการค้าใหญ่ที่สุดของโลก ปฏิเสธแนวคิดในการร่วมกับจีนงัดข้อวอชิงตัน แต่คาดหมายว่า แถลงการณ์ร่วมจะระบุถึงการส่งเสริมระบบพหุภาคีและการให้คำมั่นในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงดับเบิลยูทีโอให้เป็นองค์กรที่ทันยุคสมัยมากขึ้นแทน

กระนั้น สื่อของทางการแดนมังกรยังคงเผยแพร่ข่าวสารว่า อียูอยู่ข้างเดียวกับปักกิ่ง ซึ่งทำให้บรัสเซลส์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวมาก

ทั้งนี้ในการประชุมสุดยอด 2 ครั้งที่แล้วคือปี 2016 และ 2017 ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมเนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ลงรอยในประเด็นทะเลจีนใต้และการค้า

ในวันพุธ (4 ก.ค.) สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนเผยแพร่บทความระบุว่า จีนและยุโรปควรร่วมกันต่อต้านลัทธิกีดกันการค้า เพราะต่างเชื่อว่า การค้าเสรีคือเครื่องมือทรงพลังสร้างสรรค์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก

วันเดียวกัน ลู่ คัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงว่า รัฐบาลกำลังเตรียมจัดการประชุมสุดยอดกับอียู และจะประกาศรายละเอียดในเวลาที่เหมาะสม แต่สำทับว่า ในการหารือประเด็นเศรษฐกิจของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนและอียูเห็นพ้องในการคัดค้านมาตรการตามอำเภอใจฝ่ายเดียว รวมทั้งการกีดกันการค้าและการลงทุน
(แฟ้มภาพ)  ประธานคณะมนตรียุโรป โดนัลด์ ทัสก์ (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน (กลาง) และ ฌอง โคลด จุงเกอร์(ขวา)  ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระหว่างพิธีลงนามในการประชุมซัมมิตอียู-จีน ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทว่า ถึงแม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งขึ้นภาษีศุลกากรจากเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้า ซึ่งครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์จากอียูและจีน รวมทั้งขู่เล่นงานอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป แต่อียูมีความกังวลเช่นเดียวกับวอชิงตันเกี่ยวกับการที่จีนยังคงปิดตลาดบางส่วน และมีการบิดเบือนทางการค้าเพื่อครอบงำตลาดโลก

นักการทูตคนหนึ่งระบุว่า อียูเห็นด้วยกับข้อร้องเรียนเกือบทั้งหมดของอเมริกาที่มีต่อจีน แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการของอเมริกาเท่านั้น

กระนั้น ต้องยอมรับว่า จีนเดินหมากเหนือชั้นมาก หากพิจารณาว่า ความสัมพันธ์ของอเมริกากับยุโรปกำลังแตกร้าวอย่างหนักทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง แต่ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวนี้ก็สะท้อนว่า ปักกิ่งกังวลกับสงครามการค้า หลังจากทรัมป์เตรียมประกาศรีดภาษีสินค้าเมดอินไชน่ารวมมูลค่า 34,000 ฃ่สยดอลลาร์ในวันที่ 6 นี้

นอกจากนั้นยังตอกย้ำความกล้าหาญของปักกิ่งที่พยายามแย่งชิงความเป็นผู้นำ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น จากประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนโยบายต่างประเทศ

พวกเจ้าหน้าที่ยุโรปที่เกี่ยวข้องกับเกมการทูตอียู-จีน วิเคราะห์ตรงประเด็นว่า ทรัมป์ทำให้ตะวันตกแตกแยก และจีนกำลังฉกฉวยประโยชน์จากสถานการณ์นี้ด้วยการพยายามดึงยุโรปมาเป็นพวกในประเด็นต่างๆ เช่น การค้า และสิทธิมนุษยชน

เจ้าหน้าที่อีกคนกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างทรัมป์กับพันธมิตรตะวันตกในซัมมิตจี7 เดือนที่แล้วว่า เป็นของขวัญชั้นเลิศสำหรับปักกิ่ง เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า ผู้นำยุโรปสูญเสียพันธมิตรเก่าแก่ไปแล้ว อย่างน้อยก็ในด้านนโยบายการค้า

นักการทูตยุโรปหลายคนบอกว่า รับรู้ได้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า จีนกำลังเร่งเสาะแสวงหาประเทศที่ยินดีร่วมกับตนคัดง้างนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์

ขณะเดียวกัน รายงานจากโรเดียม กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยในนิวยอร์ก ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนแสดงให้เห็นว่า จีนเพิ่มข้อจำกัดด้านการลงทุนของต่างชาติทุกเดือนและในทุกภาคอุตสาหกรรม ด้วยความประสงค์ที่จะช่วยปกป้องภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอียู ขณะที่บริษัทอียูไม่สามารถเข้าผนวกกิจการขนาดใหญ่ในจีนแบบที่บริษัทจีนทำในอียูได้

แม้จีนให้สัญญาเปิดตลาดมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่อียูเชื่อว่า เป็นคำพูดเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ยกตัวอย่างที่จีนประกาศลดภาษีรถยนต์นำเข้าเมื่อเดือนพฤษภาคม ทว่ามีแนวโน้มสร้างความแตกต่างน้อยมาก เนื่องจากรถยนต์นำเข้าคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในตลาดแดนมังกร และจีนยังมีแผนเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าอย่างรวดเร็วมาก

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเปิดตลาดรับสินค้าอียูบางประเภทที่จะหารือในที่ประชุมสุดยอดสะท้อนว่า ปักกิ่งกังวลว่า ตนเองจะต้องเผชิญการคุมเข้มด้านการลงทุนจากอียูมากขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ กำลังขัดขวางความพยายามของบริษัทจีนในการเข้าฮุบกิจการบริษัทอเมริกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น