เอเจนซี – โบอิ้งเผยแบบร่างเครื่องบินโดยสารไฮเปอร์โซนิค ทำความเร็วได้สูงสุด 6,115 กม./ชม. หรือเร็วกว่าเสียง 5 เท่า เผยจะสามารถลดเวลาการเดินทางระหว่างนิวยอร์ก-ลอนดอนจาก 7 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่โฆษกระบุต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 20-30 ปี กว่าจะสามารถใช้เชิงพาณิชย์ได้จริง
โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารรายใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่าทางบริษัทมีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องบินโดยสารแบบไฮเปอร์โซนิค ที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 3,800 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 6,115 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเร็วกว่าความเร็วเสียงเกือบ 5 เท่า ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปทุกที่ทั่วโลกได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยเส้นทางจากนิวยอร์กไปลอนดอนที่เครื่องบินปกติใช้เวลาเดินทางราว 7 ชั่วโมง จะลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 120 นาที หรือ 2 ชั่วโมงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ไบรอันนา แจ็คสัน โฆษกของโบอิ้งเปิดเผยเมื่อวันพุธ (27 มิ.ย.) ว่าเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงดังกล่าวยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนา โดยต้องใช้เวลาอีกราว 20-30 ปี เพื่อทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งนี้ความท้าทายสำคัญคือข้อจำกัดทางด้านเทคนิคที่ต้องแก้ปัญหาก่อนที่ทางโบอิ้งจะสร้างเครื่องบินต้นแบบ
“การพัฒนาใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ และใช้เวลามากขึ้นไปอีกสำหรับเทคโนโลยีที่ต้องการการทดลองใช้ และปรับแต่ง เพราะเราต้องทำความเข้าใจว่ามันเป็นที่ต้องการของตลาดหรือเปล่า” เธอระบุ และว่าโบอิ้งให้ความสำคัญกับการสร้างเครื่องบินโดยสารที่เร็วเหนือเสียงมาหลายทศวรรษแล้ว
สำหรับภาพเครื่องบินที่เผยแพร่ล่าสุดนั้นเป็นหนึ่งในภาพต้นแบบที่ทางโบอิ้งกำลังดำเนินการอยู่ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี โบอิ้งเคยเผยภาพต้นแบบของโดรนความเร็วสูงที่บินได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งใช้สำหรับการตรวจการทางทหาร โดยเครื่องบินโดยสารความเร็วสูงนี้ก็อาจจะมีการใช้งานในกองทัพสหรัฐฯ ก่อนที่จะถูกขายเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์เช่นกัน
หากเครื่องบินโดยสารไฮเปอร์โซนิคถูกสร้างขึ้นจริงจะกลายเป็นแชมป์เครื่องบินโดยสารที่บินได้เร็วที่สุดในโลกแทนคองคอร์ดทันที โดยคองคอร์ดซึ่งสร้างโดย บ.แอร์บัส สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 2,179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยคองคอร์ดทำการบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 2519 และทำการบินจนถึงปี 2546 เท่านั้น ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ไม่เพียงแต่โบอิ้งที่มีแผนจะพัฒนาเครื่องบินโดยสารความเร็วสูง แต่ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องบินอย่างล็อกฮีด มาร์ติน และ แอเรียน คอร์ปอเรชัน ก็กำลังพัฒนาเครื่องบินในลักษณะดังกล่าวอยู่เช่นกัน ส่วนบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอีลอน มัสก์ ก็เคยคุยโวระหว่างการประชุมด้านอวกาศเมื่อปีที่แล้วเช่นกันว่า บริษัทของเขาวางแผนที่จะพาผู้โดยสารเดินทางจากนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ไปยังเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ให้ได้ภายในครึ่งชั่วโมง