เอพี - รัฐมนตรีพาณิชย์จาก 16 ชาติเอเชีย เห็นพ้องเร่งรัดการเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์ซีอีพี) ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่กำลังคุกรุ่นจากมาตรการกีดกันการค้าและแนวโน้มสงครามการค้า
ญี่ปุ่นเป็นแกนนำในการผลักดันข้อตกลงนี้เพื่อเป็นทางเลือกแทนที่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวไปเมื่อต้นปี ปล่อยให้ 11 ประเทศที่เหลือ ซึ่งมีตั้งแต่ชิลีจนถึงนิวซีแลนด์ ฝ่าฟันแก้ไขข้อตกลง และญี่ปุ่นเป็นสมาชิกแกนนำในการเจรจา ทีพีพีที่ไม่มีสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ในการแถลงข่าวร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่จัดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อวันอาทิตย์ (1 ก.ค.) ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และ ชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีพาณิชย์สิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้มีความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งยังต้องแก้ไขกันต่อไป แต่ผู้ร่วมประชุมต่างมองว่า การบรรลุข้อตกลงอาร์ซีอีพีจะเป็นประจักษ์พยานถึงความมุ่งมั่นของเอเชียในการปกป้องการค้าเสรี
ขณะที่ แถลงการณ์ร่วมของการประชุม เหล่ารัฐมนตรีจาก 16 ชาติระบุว่า การบรรลุข้อตกลงมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมการค้าโลกในปัจจุบันที่กำลังเผชิญความเสี่ยงสำคัญจากการดำเนินการทางการค้าและการตอบโต้ทางการค้าตามอำเภอใจฝ่ายเดียว รวมถึงผลกระทบในทางบ่อนทำลายของการดำเนินการเช่นนี้ที่มีต่อระบบการค้าพหุภาคี นอกจากนั้นที่ประชุมยังให้คำมั่นว่า จะแสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์สำหรับประเด็นท้าทายทางการเมือง
ก่อนหน้านั้น เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ (1) นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น กล่าวปราศรัยเปิดการประชุมครั้งนี้ว่า อาร์ซีอีพี ซึ่งครอบคลุมประชากรโลกครึ่งหนึ่งนั้น มีศักยภาพการเติบโตมหาศาล และยังบอกว่า เอเชียควรเป็นหนึ่งเดียวกันในท่ามกลางสถานการณ์ที่กระแสกีดกันการค้ากำลังสร้างความกังวลทั่วโลก และอนาคตของเอเชียขึ้นอยู่กับการยึดมั่นในหลักการการค้าเสรีและเป็นธรรม
ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าว ย่อมหมายถึงการที่ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีศุลกากรจากหล็กกล้าและอลูมิเนียมนำเข้าสหรัฐฯ รวมทั้งขู่เล่นงานอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยบอกว่าเพื่อลดการขาดดุลการค้าของอเมริกา การดำเนินการเหล่านี้พุ่งเป้าที่จีนเป็นหลักแต่ก็ส่งผลกระทบถึงชาติอื่นๆ ด้วย ขณะที่ปักกิ่งก็ขู่ตอบโต้และส่อเค้าว่า สงครามการค้ากำลังจะระเบิดขึ้น
สำหรับญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรเหล็กกล้าและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ นั้น ได้แจ้งองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ว่าอาจตอบโต้ขึ้นภาษีศุลกากรเอาจากสินค้านำเข้าอเมริกัน คิดเป็นมูลค่ารวม 450 ล้านดอลลาร์
วันศุกร์ที่ผ่านมา (29 มิ.ย.) โตเกียวยังเตือนกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ว่า การขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจะส่งผลย้อนกลับต่อตำแหน่งงานนับแสนในอเมริกาเอง รวมทั้งทำให้ผู้บริโภคอเมริกันต้องซื้อรถในราคาแพงขึ้น และทำให้ทั้งเศรษฐกิจอเมริกาและเศรษฐกิจโลกประสบหายนะ
มาตรการของทรัมป์สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วเอเชีย เนื่องจากหลายประเทศมั่งคั่งขึ้นมาจากการค้าเสรีและการขยายห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา สมาชิกรุ่นริเริ่มของอาร์ซีอีพีที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ยังตกลงกันไม่ได้ในหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงภาษีศุลกากร ภาคบริการ และกฎการลงทุน รวมทั้งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังกังวลกับอิทธิพลของจีน ขณะที่ปักกิ่งที่ไม่มีส่วนร่วมในทีพีพี แต่มีบทบาทหลักในอาร์ซีพี ซึ่งมีสมาชิกรวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และเกาหลีใต้