xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันพุ่ง-ทองลง หุ้นสหรัฐฯ ดิ่งผวาทรัมป์จำกัดการลงทุนจากจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มาร์เกตวอตช์/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันพุ่งแรงในวันพุธ (27 มิ.ย.) หลังพบคลังปิโตรเลียมสำรองสหรัฐฯ ลดฮวบฮาบ ส่วนวอลล์สตรีทดิ่งหนัก กังวลต่อแผนจำกัดการลงทุนของจีนในภาคเทคโนโลยีของอเมริกา ขณะที่ทองคำขยับลง

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 2.23 ดอลลาร์ ปิดที่ 72.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 1.31 ดอลลาร์ ปิดที่ 77.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (อีไอเอ) เผยแพร่รายงานในวันพุธ (27 มิ.ย.) ระบุว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มิถุนายน ลดลงถึง 9.9 ล้านบาร์เรล มากสุดในรอบปี ในขณะที่พวกนักวิเคราะห์คาดหมายว่าจะลดลงเพียง 2.3 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้แล้วนักลงทุนยังกังวลกับคำเตือนของสหรัฐฯ ที่ขู่คว่ำบาตรปรเทศต่างๆ หากว่าไม่หยุดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันพุธ (27 มิ.ย.) ปิดลบแรง จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อแผนจำกัดการลงทุนในภาคเทคโนโลยีของอเมริกา

ดาวโจนส์ ลดลง 165.52 จุด (0.68 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 24,117.59 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 23.43 จุด (0.86 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,699.63 จุด แนสแดค ลดลง 116.54 จุด (1.54 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 7,445.09 จุด

ตลาดเปิดซื้อขายในแดนบวก หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าเขาจะใช้คณะกรรมการกำกับดูแลการลงทุนของต่างชาติในสหรัฐฯ (CFIUS) จัดการกับภัยคุกคามต่างๆ จากการเข้าซื้อกิจการด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยจีน แทนการออกมาตรการข้อจำกัดต่างๆ เล่นงานปักกิ่งโดยตรง

การตัดสินใจดังกล่าวถูกมองจากนักลงทุนว่าเป็นแนวทางที่เบากว่าแผนเดิมก่อนหน้านี้ซึ่งมีข่าวหลุดออกมาว่าทรัมป์จะห้ามไม่ให้บริษัทที่มีชาวจีนถือหุ้นอยู่อย่างน้อย 25% เข้าซื้อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในภาคอุตสาหกรรมของอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันพุธ แลร์รุ คุดโลว์ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ว่า แผนที่แถลงออกมาของทรัมป์ ไม่ได้บ่งชี้ว่ามีท่าทีอ่อนลงกับจีน

ส่วนราคาทองคำในวันพุธ (27 มิ.ย.) ปิดลบ 3 วันติด หลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 3.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,256.10 ดอลลาร์ต่ออออนซ์


กำลังโหลดความคิดเห็น