รอยเตอร์ - ญี่ปุ่นกำลังวิเคราะห์ผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อตัดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านออกจากตลาด และจะคุยกับวอชิงตันและประเทศอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทญี่ปุ่นได้รับผลกระทบแง่ลบ โฆษกระดับสูงของรัฐบาล ระบุในวันนี้ (27)
หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ สุกะ บอกในการแถลงข่าว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ กำลังคุยเกี่ยวกับการคว่ำบาตรต่ออิหร่านแต่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียด เขากล่าวว่า โตเกียวก็กำลังติดต่อกับอิหร่านเช่นกัน
สหรัฐฯ บอกให้ประเทศต่างๆ ลดการนำเจ้าน้ำมันอิหร่านทั้งหมดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและไม่มีแนวโน้มที่จะเสนอข้อยกเว้นใดๆ เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเมื่อวานนี้ (26) ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์เพิ่มการกดดันพันธมิตรหยุดให้ทุนอิหร่าน
อิหร่านเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับสามในหมู่องค์การประเทศส่งปิโตรเลียม (โอเปก) และญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่นอกเหนือจากผู้ซื้อในเอเชียรายอื่นๆ รวมถึงจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย
ในระหว่างการคว่ำบาตรรอบล่าสุดที่เพิ่งจบลงในปี 2016 หลายประเทศในเอเชียได้รับการยกเว้นจากวอชิงตันให้สามารถซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้ในปริมาณจำกัด
ในเวลานี้ วอชิงตันบอกเป็นนัยเมื่อประกาศการคว่ำบาตรครั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคมว่า พวกเขาไม่ต้องการมีข้อยกเว้น และผู้ซื้อจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียเริ่มลดการซื้อน้ำมันจากอิหร่านแล้ว
ราคาน้ำมันไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากความเคลื่อนไหวของวอชิงตันที่จะลดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลงอีก เนื่องจากมันถูกคาดการณ์และคำนวณราคาไว้แล้ว
“แนวทางแข็งกร้าวขึ้นจากรัฐบาลทรัมป์น่าจะทำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เร่งลดการนำเข้า (จากอิหร่าน) จนเหลือศูนย์เร็วขึ้นเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม จีน อินเดีย และตุรกีน่าจะหยุดลดการนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน” Eurasia Group บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง ระบุในข้อความ
การส่งออกน้ำมันของอิหร่านไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นหลังจากการคว่ำบาตรต่อเตหะรานถูกยกเลิกตั้งแต่ปี 2016 แต่มันพุ่งถึง 700,000 บาร์เรลต่อวันในปลายปี 2016 และดิ่งลงมาเหลือที่ราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน ข้อมูลการขนส่งใน Thomson Reuters Eikon เผย
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเดินทางเยือนอิหร่านในเดือนกรกฎาคมเพื่อคุยกับประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี เกียวโดนิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน โดยอ้างแหล่งข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ระบุตัวตน