xs
xsm
sm
md
lg

‘อเมริกา’ดึง‘ชาติยุโรป’ร่วมส่งเรือรบเข้า‘ทะเลจีนใต้’ ไม่สามารถเปลี่ยนจุดยืนของ‘ปักกิ่ง’ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เคน โมค

<i>รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมตทิส ขณะขึ้นพูดบนเวทีสนทนา แชงกรีลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา </b>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US-led naval operation will not change China’s posture
By Ken Moak
12/06/2018

ฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรประกาศจะส่งเรือรบของพวกเขาเข้าร่วมการปฏิบัติการ “สำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ” ของสหรัฐฯ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ไม่สามารถป้องปรามทัดทานการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในน่านน้ำแห่งนั้นได้

ณ เวทีการสนทนาหารือประจำปีด้านความมั่นคงของเอเชียที่สิงคโปร์ ซึ่งใช้ชื่อว่า “แชงกรีลา ไดอะล็อก” (Shangri-La Dialogue ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Shangri-La_Dialogue) ปี 2018 นี้ ทั้งรัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศสและของสหราชอาณาจักรต่างประกาศว่า รัฐบาลของพวกเขาจะจัดส่งเรือรบเข้าร่วมกับกองนาวีของสหรัฐฯ เพื่อแสดงออกซึ่งการท้าทายจีนที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนใต้ (ดูเพิ่มเติมที่ Naval Today, June 6) อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ระบุเจาะจงชัดเจนว่ามหาอำนาจยุโรป 2 รายนี้ให้คำมั่นที่จะส่งเรือเป็นจำนวนกี่ลำเพื่อเข้าร่วม “การปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ” (freedom of navigation operations หรือ FNOPs) ที่นำโดยสหรัฐฯดังกล่าวนี้ หรือว่าเรือรบของพวกเขาจะแล่นเข้าไปภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 119 กิโลเมตรของเกาะต่างๆ ซึ่งแดนมังกรอ้างกรรมสิทธิ์หรือไม่ จึงเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ไม่ได้มีใครต้องการที่จะทำให้จีนรู้สึกขุ่นเคือง

กระนั้นก็ตาม จุดยืนอันกำกวมคลุมเครือของสหราชอาณาจักร/ฝรั่งเศสเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดการกะเก็งคาดเดากันขึ้นมาว่า หรือพวกเขา “ถูกกดดันบังคับ” ให้ต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการปฏิบัติการเช่นนี้ สืบเนื่องจากไม่มีชาติเอเชียที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้รายใดๆ เลย –ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, หรือเวียดนาม— ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความกระหายใดๆ ที่จะสำแดงแสนยานุภาพทางทหารเข้าใส่จีน ในทางตรงกันข้าม ชาติเหล่านี้กลับเข้าร่วมกับรัฐสมาชิกรายอื่นๆ ของสมาคมอาเซียน ในการเจรจาหารือกับจีน เพื่อจัดทำ “คู่มือแนวทางปฏิบัติ” (code of conduct) ในทะเลจีนใต้ตามที่ได้เสนอกันขึ้นมาเมื่อปี 2017 นั่นก็คือพวกเขาปรารถนาที่จะแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหานี้ผ่านการสนทนาหารือกันมากกว่าการเผชิญหน้ากัน (Reuters, February 6)

ญี่ปุ่นกับอินเดียก็ดูเหมือนมีความลังเลใจพอๆ กันในเรื่องการเข้าประจันหน้ากับจีน ซึ่งถึงอย่างไรก็มีฐานะเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของทั้ง 2 ประเทศนี้ ในความเป็นจริง นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้พบปะถึง 2 ครั้งกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพื่อพูดคุยหารือกันในเรื่องที่ว่าประเทศทั้งสองจะสามารถร่วมมือกันต่อไปได้อย่างไรในอนาคต (Bloomberg, May 26) ขณะที่ญี่ปุ่นก็แสดงออกว่าพอใจกับการมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าการเผชิญหน้ากับจีน ด้วยการจัดส่งคณะเจ้าหน้าที่ไปยังชาติยักษ์ใหญ่ “คอมมิวนิสต์” รายนี้ อีกทั้งเชื้อเชิญนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีนไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อสมานความร้าวฉานที่มีอยู่ระหว่างกัน (Bloomberg, May 13)

ส่วนในออสเตรเลียนั้น ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนจะเห็นดีเห็นงามกับจุดยืนต่อต้านจีนของนายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบุลล์ กระทั่ง สตีเวน ซีโอโบ (Steven Ciobo) รัฐมนตรีการค้าของเขา ก็ยังไปกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ที่สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งชาติออสเตรเลีย (Australia National Press Club) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน (People’s Daily Online, June 11) ว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ประเทศของเขามีอยู่กับจีนนั้น “ทั้งลึกซึ้งและทั้งกว้างขวาง” และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เขายังชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียจะเข้าไปร่วมในแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าโครงการเส้นทางสายไหมใหม่) ของจีน อันเป็นการแสดงความคิดเห็นปฏิเสธไม่เห็นด้วยอย่างตรงๆ ต่อนโยบายในปัจจุบันของรัฐบาลของเขา

ในสภาวการณ์เช่นนี้ เราจึงอาจที่จะเสนอเหตุผลสนับสนุนให้เห็นได้ว่า สหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนสร้างกลุ่มพันธมิตรร่วมปฏิบัติการขึ้นมา ดังนั้นจึงกดดันบังคับ 2 พันธมิตรของตนซึ่งเข้าร่วมในการถล่มทิ้งระเบิดใส่ซีเรียอยู่แล้ว ให้ช่วยเหลือเข้าร่วมต่อต้านการก้าวผงาดขึ้นมาของจีนในเอเชีย-แปซิฟิกด้วย

ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ นั่นคือ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องการที่จะ “ยืนเคียงบ่าเคียงไหล” กับสหรัฐฯ ในการควบคุมปิดล้อมจีน คล้ายๆ กันอยู่มากกับเมื่อตอนที่กลุ่มพันธมิตร 8 ชาติ (Eight Nation alliance) ร่วมกันยกกำลังเข้าไปปราบปราม “กบฏนักมวย” (Boxer Rebellion) ในประเทศจีน เมื่อปี 1901 (David O’Conner, The Boxer Rebellion, London, Robert Hale & Company, 1973) การก่อกบฏคราวนั้นนำโดยกลุ่มชาวบ้านชนบทวัยหนุ่มสาวของจีนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทนไม่ไหวที่ถูกปฏิบัติจากพวกมิชชันนารีคริสเตียนและพวกนักจักรวรรดินิยมยุโรป ราวกับพวกเขาเป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ตามเส้นทางมุ่งเข้าสู่กรุงปักกิ่งเพื่อขับไล่ไสส่งพวกนักจักรวรรดินิยม พวกเขาได้เข่นฆ่ามิชชันนารี และชาวจีนคริสเตียน ซึ่งถูกพวกเขาตราหน้าว่าเป็น “สุนัขรับใช้” ไปเป็นจำนวนมาก (Moak and Lee, China’s Economic Rise and Its Global Impact, Palgrave McMillan, 2015)

แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลความเป็นไปได้ข้อใดก็ตามที “ไตรพันธมิตร” (triple alliance) ระหว่างสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, และฝรั่งเศสนี้ ไม่น่าที่จะสามารถป้องปรามทัดทานการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ได้สำเร็จ แถมการเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรืออย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ในเส้นทางน้ำที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่งเช่นนี้ จริงๆ แล้วก็ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางความมั่นคงของสหราชอาณาจักร/ฝรั่งเศส ตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยซ้ำไป

เข้าร่วม‘สหรัฐฯ’นั้นขัดกับผลประโยชน์ของ‘สหราชอาณาจักร/ฝรั่งเศส’

การเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์แห่งชาติของมหาอำนาจยุโรปทั้งสอง โดยที่ในปัจจุบันทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต่างกำลังเข้าหาเข้าสานสัมพันธ์กับจีน ในความพยายามที่จะพลิกตัวเองให้หลุดออกมาจากอาการเศรษฐกิจชะงักงันซึ่งติดแหง็กอยู่เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทั้งนี้ตามข้อมูลของ “เทรดดิ้ง อีโคโนมิกส์” (Trading Economics) องค์การการวิจัยที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ เศรษฐกิจของฝรั่งเศสเติบโตได้อย่างต่ำเตี้ยในอัตราเฉลี่ยปีละแค่ 0.7% ระหว่างช่วงปี 1949 ถึงปี 2018 ขณะที่ของสหราชอาณาจักรก็ขยายตัวได้เฉลี่ยแค่ 0.6% ระหว่างปี 1955 ถึงปี 2018

ในไตรมาสแรกของปี 2018 เศรษฐกิจของประเทศทั้งสองเติบโตขยายตัวได้เพียง 0.2% เท่านั้น ทั้งนี้ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ขณะที่ภาวะหนี้สินอันสูงลิ่วทั้งในภาครัฐบาลและภาคผู้บริโภค สมทบกับการที่ลัทธิกีดกันการค้าและลัทธิประชานิยมต่างกำลังเฟื่องฟูในทั้งสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ก็ตัดความหวังที่จะมีการกระเตื้องดีขึ้นใดๆ ในการผ่อนเพลาบรรเทาความลำบากทางเศรษฐกิจของทั้งสองชาติ

การขาดไร้ตลาดที่ทั้งค่อนข้าง “อุดมเงินสด” และ “แข็งแรงกำยำ” อาจจะเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมพวกผู้นำของประเทศทั้งสองจึงได้เดินทางไปเยือนจีนต่อเนื่องกันอย่างชนิดหัวกระไดไม่แห้งในช่วงต้นปีนี้ ถึงแม้ว่าวิกฤตภาคการเงินปี 2008 (หรือที่ในเมืองไทยรู้จักกันในชื่อว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ –ผู้แปล) ผ่านพ้นไปแล้วราวสิบปี แต่อาฟเตอร์ช็อกของมันก็ยังคงเป็นที่รู้สึกได้ในเศรษฐกิจทั้งหลายของโลกพัฒนาแล้ว ซึ่งเวลานี้มีอัตราการเติบโตเพียงปีละไม่ถึง 1% (ข้อมูลของธนาคารโลก) แล้วนโยบาย “อเมริกาอันดับหนึ่ง” (America First) ของทรัมป์ ยังกำลังขึ้นภาษีศุลกากรเอากับเหล็กกล้าและอลูมิเนียมของอียู ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้กำลังประกาศอีกว่าจะมีการขึ้นภาษีต่อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของอียูติดตามมาอีก โดยที่เขากล่าวหาว่าพวกชาติพันธมิตรยุโรปของอเมริกาเหล่านี้ มีการปฏิบัติทางการค้าอย่าง “ไม่เป็นธรรม” หรือ “กำลังฉีกกระชาก” ชาวอเมริกันออกเป็นชิ้นๆ นอกจากนั้นแล้วยังมี “เบร็กซิต” (Brexit) ซึ่งกำลังตัดลดโอกาสในการส่งออกสินค้าของสหราชอาณาจักรเข้าสู่อียู ส่วนพวกชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนารายใหญ่ๆ อื่นๆ เป็นต้นว่า อินเดีย, บราซิล, รัสเซีย ถ้าหากไม่ใช่ “ขาดไร้เงินสด” เกินกว่าที่จะซื้อสินค้าต่างประเทศเข้าไปเป็นปริมาณมากๆ ได้ ก็ถึงขั้นกำลังต่อสู้ดิ้นรนหนักเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจของตนให้ยังคงพอไปได้

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักร เดินทางไปจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม เพื่อโปรโมตส่งเสริมการค้า และรายการประเภท “อำนาจละมุน” (soft power) เป็นต้นว่า วัฒนธรรม, การศึกษา, และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พร้อมกับกล่าวยกย่องสรรเสริญ “ยุคทอง” ของความสัมพันธ์จีน-สหราชอาณาจักร ระหว่างการเยือนของเธอคราวนี้ มีรายงานว่าได้มีการลงนามในข้อตกลงต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 9,000 ล้านปอนด์ (12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) รวมทั้งมีคำมั่นสัญญาที่จะเจรจากันเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรกับจีนอีกด้วย (The Guardian, February 2)

ทางด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ก็ไปเยือนจีนในช่วงต้นๆ ของเดือนมกราคม เพื่อสานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้มีความชิดใกล้กันยิ่งขึ้น โดยเขาประกาศว่าจะเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดของแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) ของจีน (Singapore Strait Times, January 10) มาครงยังให้คำมั่นที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีนกลับฟื้นคืนดีหรือกระทั่งกระเตื้องยิ่งขึ้นอีก หลังจากที่ความสัมพันธ์นี้ต้องร้าวฉานเนื่องจากข้อกล่าวหาที่ว่าจีนโจรกรรมเทคโนโลยี และการที่แดนมังกรมีสายสัมพันธ์ซึ่งงอกงามขึ้นเรื่อยๆ กับพวกชาติในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง

‘ไตรพันธมิตร’คงไม่สามารถหยุดยั้งจีนได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศจีนในทุกวันนี้มีความแตกต่างอย่างมากมายเหลือเกินจากประเทศจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 อันเป็นช่วงเวลาที่แดนมังกรถูกแบ่งแยกเป็นเสี่ยงๆ และอ่อนแอเหมือนคนขี้โรค ด้วยเหตุนี้จึงเปราะบางไม่อาจต้านทานการรุกรานของต่างชาติได้ ทว่าในปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธขั้นก้าวหน้า ซึ่งอาจที่จะผลักไสลัทธิผจญภัยทางการทหารของฝ่ายตะวันตกให้ถอยกรูดกลับไปได้ อันที่จริงแล้ว พลเรือเอก ฟิลิป เดวิดสัน (Admiral Philip Davidson) ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Indo-Pacific Command) คนใหม่ ได้กล่าวยอมรับว่า จีนมี “ศักยภาพที่จะควบคุมทะเลจีนใต้ในทุกๆ ฉากทัศน์ (scenarios) ยกเว้นเฉพาะฉากทัศน์แห่งการทำสงครามกับสหรัฐฯเท่านั้น” (Asia Times, June 6) แล้วเนื่องจากถ้าเกิดการสู้รบขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐฯกับจีนขึ้นมา มันก็อาจนำไปสู่วันโลกาวินาศ ด้วยเหตุนี้โอกาสความน่าจะเป็นที่สหรัฐฯกับจีนตกลงไปสู่ “กับดักทิวซิดิดิส” (Thucydides’ Trap) จึงเท่ากับศูนย์

จีนไม่เคยขัดขวางประเทศไหนที่ต้องการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ

มิหนำซ้ำ จีนไม่เคยสกัดกั้นขัดขวางเรือพาณิชย์หรือเรือทหารลำใดๆ ไม่ให้แล่นไปในทะเลจีนใต้ ฝ่ายทหารของจีนมีแต่ขับไล่พวกเรือรบสหรัฐฯ ซึ่งเจตนายั่วยุจีนด้วยการเดินเรือท่ามกลางการโหมป่าวร้องโฆษณาเข้าไปภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 119 กิโลเมตรของเกาะต่างๆ ที่อยู่ด้านในของ “เส้นประ 9 เส้น” (ดูคำอธิบายได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Nine-Dash_Line) ตัวอย่างเช่น จีนไม่เคยต่อว่าต่อขานเลยเรื่องที่เรือฟริเกตแคนาดาลำหนึ่งเดินทางผ่านทะลุทะเลจีนใต้ในปี 2017 บางทีอาจจะเป็นเพราะแคนาดาไม่ได้โฆษณาป่าวร้องว่าเป็นการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ อีกทั้งเรือรบลำนั้นก็แล่นอยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่จีนประกาศอ้างสิทธิ์ (National Post, July14, 2017)

ข้อถกเถียงว่าด้วยการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของแดนมังกร

อย่างไรก็ตาม การที่จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราตีความประวัติศาสตร์กันอย่างไรและใช้จุดยืนและทัศนะมุมมองแบบไหน ชาวเรือจีนได้เคยเดินทางท่องไปในน่านน้ำเหล่านี้มาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1300 เป็นอย่างน้อย หากว่าไม่ใช่ก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก เส้นประ 9 เส้นในแผนที่ทะเลจีนใต้ ลากขึ้นมาเมื่อปี 1947 โดยรัฐบาลก๊กมิ่นตั๋งที่ฝักใฝ่อยู่กับสหรัฐฯ และกล่าวกันว่าการขีดลากนี้อิงอยู่กับหลักฐานบันทึกต่างๆ ซึ่งยกทอดมาจากราชวงศ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้

ยิ่งไปกว่านั้น ชาติอื่นๆ ที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์, หรือเวียดนาม ต่างรับช่วงสืบทอดเส้นพรมแดนที่กล่าวอ้างนี้มาจากพวกเจ้าอาณานิคมของพวกเขา ซึ่งเข้าผนวกเอาดินแดนเหล่านี้ไปเมื่อตอนที่จีนอยู่ในสภาพอ่อนแอ ด้วยเหตุนี้เองจึงสามารถที่จะโต้แย้งได้ว่า ความถูกต้องชอบธรรมของเส้นพรมแดนของชาติเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจจะต้องขึ้นเครื่องหมายคำถามเอาไว้

และเฉพาะสำหรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีนนั้น จีนก็เพียงแค่กำลังอ้างกรรมสิทธิ์อีกครั้งเหนือ “มรดกตกทอด” ของตนเท่านั้น เนื่องจาก “เส้นประ 9 เส้น” ถูกลากขึ้นมาโดยรัฐบาลก๊กมิ่นตั๋งก่อนหน้านี้ โดยอิงอยู่กับหลักฐานบันทึกในประวัติศาสตร์ มันก็น่าจะเป็นการปลอดภัยหากจะถือว่ารัฐบาลจีนในอนาคตข้างหน้าก็จะไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่จะประพฤติวางตัวแตกต่างออกไป

สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสไม่ได้มีแสนยานุภาพที่จะป้องปรามทัดทานจีน

นอกจากนั้นแล้ว การปรากฏตัวของเรือรบสหราชอาณาจักรและเรือรบฝรั่งเศสในทะเลจีนใต้ ย่อมไม่ได้ทำให้จีน “ตัวสั่นงันงก” อะไร อันที่จริงประเทศทั้งสองได้เปลือยให้เห็นความอ่อนแอทางทหารของพวกตนจนล่อนจ้อนแล้วตั้งแต่ตอนที่เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซปี 1956 (the 1956 Suez Canal crisis) จนพวกเขาถูกบังคับให้ต้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ History.com) ตามข้อมูลในเว็บไซต์เน้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ แทนที่จะให้ความช่วยเหลือตามที่ถูกร้องขอ ประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) ของสหรัฐฯในเวลานั้น กลับเรียกร้องให้ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรถอยออกจากอียิปต์

เติ้ง เสี่ยวผิง (ดูประวัติของผู้นำจีนผู้นี้ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Deng_Xiaoping) บางทีอาจจะทราบดีว่าสหราชอาณาจักรนั้นมีกองทหารที่ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี ทว่าประกอบอาวุธไม่เพียงพอ สหราชอาณาจักรจะไม่มีทางเอาชนะใน “สงครามฟอล์กแลนด์” (Falklands War ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Falklands_War) หากปราศจากความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ซึ่งได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องกระสุนที่สหราชอาณาจักรต้องการเหลือเกินไปให้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ London Evening Standard, April 4, 2012 และ Washington Post, March 7, 1984)

บางทีอาจจะเป็นด้วยตระหนักดีว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วสหราชอาณาจักรอ่อนแอกว่าจีนในทางการทหาร ดังนั้น นายกรัฐมนตรี มาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) ในตอนนั้น (ผู้ซึ่งอาจจะเป็นด้วยไม่มีหนทางเลือกอย่างอื่นๆ อีกแล้ว) จึงได้เสนอแนะต่อรัฐสภาสหราชอาณาจักร ให้ส่งคืนฮ่องกงแก่จีนเมื่อปี 1997 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ The Quora) สหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้ต้องการส่งฮ่องกงกลับคืนให้จีนเลย เพราะอดีตอาณานิคมแห่งนี้ คือ “แหล่งทำเงินทำทอง” (cash cow) ของสหราชอาณาจักรโดยแท้ –แค่เข้ายึดครองดินแดนนี้ จากนั้นก็ปล่อยกลับไปให้พวกเจ้าของทั้งหลายเช่า มันจึงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้อย่างมหาศาล

ฝรั่งเศสนั้นก็เคยปะทะในทางการทหารกับจีนมาแล้ว ในหนังสือเรื่อง “China and the Vietnam Wars, 1950 – 1975” (จีนกับสงครามเวียดนามปี 1950-1975) ของเขา นักประวัติศาสตร์ชาวจีน เฉียง ไจ้ (Qiang Zhai) ชี้ว่า จีนเป็นผู้ที่แสดงบทบาทอันสำคัญรายหนึ่งในการทำให้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสพ่ายแพ้ (Wilson Center) ตามหนังสือของไจ้ ถ้าไม่มีจีนแล้ว เวียดนามก็อาจจะไม่สามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่ฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟูในปี 1954 ได้

“การสร้างเสริมแสนยานุภาพ” ในทะเลจีนใต้

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จีนกับสหรัฐฯก็กำลังกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่า “ใช้การกดดันบังคับ”, “ก้าวร้าวรุกราน”, หรือ “สร้างเสริมแสนยานุภาพ” ในทะเลจีนใต้ ส่วนประเทศไหนเป็นฝ่ายถูกนั้นดูจะขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าข้างใคร และประวัติศาสตร์จะอยู่ข้างประเทศใดนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์

แต่สิ่งซึ่งน่าสนใจสมควรที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาไฮไลต์ไว้ก็คือว่า สหรัฐฯผู้ซึ่งจัดตั้งและกำลังมีฐานทัพทหารจำนวนมากมาย รวมทั้งกำลังโชว์ออฟกำลังทางนาวีและทางอากาศของตนในทะเลจีนใต้อยู่บ่อยครั้งมากนั้น กำลังกล่าวหาจีนว่า “เสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร” ในทางน้ำแห่งนี้

หรือว่าฝรั่งเศส/สหราชอาณาจักรไม่ได้ “ถูกกดดันบังคับ”

ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะเชื่อว่าฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรกำลังเข้าร่วมอย่างเต็มอกเต็มใจในการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและในทางความมั่นคง ทั้งสองประเทศนี้ไม่สามารถคาดหวังได้หรอกว่า จีนที่ถูกถือเป็นคู่แข่งในทางภูมิรัฐศาสตร์ไปแล้ว จะยังคงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของพวกเขาไปด้วยได้ในเวลาเดียวกันนั้น มันเป็นการเล่นไม่ซื่อซึ่งไม่สามารถสร้างความไว้วางใจขึ้นมาได้

พล.ร.อ.เดวิดสัน ของสหรัฐฯ พูดเอาไว้ถูกต้องแล้ว --การที่จะเตะจีนให้ออกไปจากทางน้ำนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยสงคราม และเป็นไปได้มากว่าต้องเป็นสงครามนิวเคลียร์ด้วย มันไม่น่าจะเป็นไปได้หรอกที่ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรหรือชาวฝรั่งเศส (หรือชาวอเมริกันก็ตามที) จะสนับสนุนสงครามดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสงครามที่จุดชนวนให้เกิดการสู้รบกันได้ ก็โดยอาศัย “ข่าวปลอม” แบบในสงครามเวียดนามและสงครามอิรัก

ยิ่งกว่านั้น ชาติต่างๆ ย่อมจะดูแลรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอาไว้ก่อนเป็นอันดับแรกอยู่เสมอ กลุ่มพันธมิตรต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจัดตั้งขึ้นมาได้โดยอิงอยู่กับผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นกำลังต้องการการพิทักษ์คุ้มครองของสหรัฐฯในการต่อต้านเล่นงานจีน

แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนต่างหากที่เป็นพันธมิตรรายหนึ่งของสหรัฐฯ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นศัตรูของอเมริกา เนื่องจากสหรัฐฯกับจีนต่างจำเป็นที่จะต้องอาศัยกันและกันมากกว่าจะอาศัยญี่ปุ่น และมีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าที่แตกต่างกัน การรอมชอมกันระหว่างสหรัฐฯกับจีนจึงอาจจะยังคงเกิดขึ้นได้ในอนาคตข้างหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกที่นำเอานโยบาย “อเมริกา เฟิร์สต์” มาใช้ในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่เป็นคณะบริหารของประธานาธิบดี (แฮร์รี่ เอส) ทรูแมน (Harry S Truman) ต่างหากซึ่งได้ปฏิเสธไม่ยอมให้มีการก่อตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ขึ้นมา และหันไปผลักดันให้มีการจัดทำ ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade หรือ GATT แกตต์) ขึ้นมาแทน แล้วก็เป็นคณะบริหารของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ต่างหาก ซึ่งประเด็นเรื่องกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร (non-tariff barriers ตัวอย่างเช่น เหตุผลข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ) ได้ถูกบรรจุเอาไว้ในกรอบข้อตกลงแกตต์ด้วย เพื่อการสกัดกั้นขัดขวางการนำเข้าโดยอ้างเหตุผลว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของตน (Ken Moak, Developed Economies and the Impact of Globalization, Springer Nature, 2017) ความแตกต่างที่สำคัญเพียงอย่างเดียวระหว่างทรัปม์กับพวกประธานาธิบดีอเมริกันก่อนหน้าเขาก็คือ เขา “มีความซื่อตรงมากกว่า”

เมื่อนำเอาข้อถกเถียงเหล่านี้มาสู่ข้อสรุปที่เป็นไปตามหลักเหตุผลแล้ว เราย่อมมองเห็นได้ว่า การที่ฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการท้าทายจีนในทะเลจีนใต้นั้น จะไม่ได้เป็น “ปัจจัยที่ทำให้เกมเปลี่ยน” (game changer) แต่อย่างใด ทว่ามันอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความพินาศหายนะทางนิวเคลียร์ขึ้นมา ดังนั้นพวกที่คอยส่งเสียงเชียร์พวกเขาจึงควรที่จะระมัดระวังให้ดีถึงสิ่งที่ตนเองกำลังมุ่งมาดวาดหวัง

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer


กำลังโหลดความคิดเห็น