รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – กรีซ กับ มาซิโดเนีย ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเมื่อวันอาทิตย์ (17 มิ.ย.) เปลี่ยนชื่อชาติบอลข่านเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็น สาธารณรัฐมาซิโดเนียเหนือ (North Macedonia) เพื่อยุติการทะเลาะวิวาทซึ่งสร้างความร้าวฉานให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติเพื่อนบ้านนี้มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี อีกทั้งยังจะเป็นการเปิดทางสะดวกให้อดีตสาธารณรัฐหนึ่งของยูโกสลาเวียแห่งนี้ เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และองค์การนาโต้
รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ชาติลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ถึงแม้มีคลื่นประท้วงคัดค้านอย่างรุนแรงจากบุคคลหลายฝ่ายในทั้งสองข้าง ซึ่งมองเห็นว่านี่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขายชาติ
ในพิธีลงนาม ณ หมู่บ้านพาราเดส ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งของทะเลสาบเพรสปา ที่สงบเงียบและมีธรรมชาติอันงดงาม อีกทั้งเป็นพื้นที่ซึ่งชายแดนของกรีซ, มาซิโดเนีย, และ แอลเบเนีย มาบรรจบกัน ผู้นำของประเทศทั้งสองได้เข้าสวมกอดกันและจับมือกันโดยมีพวกเจ้าหน้าที่อียูและสหประชาชาติร่วมเป็นสักขีพยาน
ข้อตกลงฉบับนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการรับรองให้สัตยาบันจากรัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศ และผ่านการลงประชามติในมาซิโดเนียด้วย การรับรองเห็นชอบดังกล่าวเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่ไม่นอน เนื่องจากมีแรงต่อต้านคัดค้านหนักจากสาธารณชนชาวกรีก ขณะที่ประธานาธิบดีของมาซิโดเนียก็ประกาศว่าจะใช้อำนาจสกัดกั้นดีลนี้
“แทบไม่มีใครเลยที่เชื่อว่าเราจะสามารถละทิ้งการพิพาทที่ไม่เกิดผลดีอะไรที่ดำเนินมาเป็นเวลา 26 ปีเอาไว้เบื้องหลังได้สำเร็จ” นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ กล่าว
“พวกเรามีความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ ที่จะต้องไม่ให้ข้อตกลงนี้ถูกระงับเอาไว้ในความชะงักงัน” ซีปราสกล่าว ขณะที่บรรดาผู้คนซึ่งอยู่ในพิธีพากันลุกขึ้นยืนปรบมือต้อนรับเขากับนายกรัฐมนตรี ซอรัน ซาเอฟ ของมาซิโดเนีย
ซีปราสนั้นเพิ่งรอดพ้นการโหวตไม่ไว้วางใจของพวกฝ่ายค้านในรัฐสภาของกรีซเมื่อวันเสาร์ (16) ที่ผ่านมา
แต่ยังคงมีชาวกรีกจำนวนมากถึง 70% ที่คัดค้านการประนีประนอมในเรื่องชื่อนี้ ผลโพลของหนังสือพิมพ์โปรโต เธมา ที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (16) ระบุ
ห่างจากหมู่บ้านซึ่งจัดพิธีลงนามไปราวๆ 30 กิโลเมตร ณ หมู่บ้านพิซอเดรี ของกรีซ มีผู้คนราว 3.000 คนจัดการชุมนุมเพื่อประท้วงคัดค้านข้อตกลงฉบับนี้ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 6 คนจากการปะทะกับตำรวจ ซึ่งยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่เพื่อขับไล่ฝูงชนผู้โกรธเกรี้ยว
“เราไม่ยอมรับอะไรทั้งนั้น เราไม่ยอมรับรองอะไรทั้งนั้น สำหรับเราแล้วไม่มีอะไรเลยที่ถูกต้องมีเหตุมีผล” คอสตัส เวเนติคิดิส ผู้ประท้วงคนหนึ่งบอก “มาซิโดเนียอยู่ในจิตวิญญาณของเรา นี่แหละคือเหตุผลที่เรามาชุมนุมกันที่นี่”
ไม่ไกลจากพรมแดนกรีซ ณ เมืองบิโตลา ในเขตมาซิโดเนีย ผู้คนหลายพันพากันประท้วงโดยนำเอาธงชาติมาห่มตัว พร้อมกับตะโกนว่า “ที่นี่คือมาซิโดเนีย”
“ข้อตกลงที่น่าอายนี้จะต้องไม่ให้ผ่านออกมา เราจะพิทักษ์ปกป้องชื่อและเกียรติของมาซิโดนีเวีย” เพเตร ฟิลิโพฟสกี วัย 40 ปี กล่าว
ชื่อมาซิโดนีเซีย
ภายหลังแยกตัวออกมาจากยูโกสลาเวียเมื่อปี 1991 สาธารณรัฐเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของกรีซแห่งนี้ก็เลือกที่จะเรียกตัวเองด้วยชื่อ มาซิโดเนีย แต่กรีซปฏิเสธไม่ยอมรับ โดยบอกว่ามันมีนัยของการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือจังหวัดมาซิโดเนียของกรีซ และการกล่าวตู่เพื่อมีส่วนในวัฒนธรรมและอารยธรรมของกรีกโบราณ --ทั้งนี้ในสมัยโบราณ มาซิโดเนียเป็นต้นกำเนิดแห่งจักรวรรดิของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งยังเป็นที่ภาคภูมิใจอย่างแรงกล้าของชาวกรีกในทุกวันนี้
ซาเอฟ ซึ่งเดินทางมาถึงหมู่บ้านพาราเดส ด้วยการนั่งเรือเร็วแล่นตัดข้ามทะเลสาบมา กล่าวว่าจากการทำข้อตกลงฉบับนี้ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองก็เหมือนกับได้ “เคลื่อนย้ายภูเขา” สำเร็จ พร้อมกับบอกว่ามันเป็น “หนทางแก้ไขอันมีเกียรติซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย”
ที่ผ่านมาข้อพิพาทเรื่องชื่อนี้ ทำให้กรีซคอยคัดค้านขัดขวางความวาดหวังของมาซิโดนีเซีย ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของอียูและนาโต้ ภายหลังดีลคราวนี้แล้ว การคัดค้านนี้ก็จะต้องยกเลิกไป