เอเจนซีส์ - สื่อเกาหลีเหนือโอ่ซัมมิต “คิม-ทรัมป์” เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของเปียงยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อ่อนข้อให้หลายอย่าง อีกทั้งยังเป็นยุคใหม่แห่งสันติภาพและความมั่งคั่งบนคาบสมุทรเกาหลี สอดรับกับนักวิจารณ์ในอเมริกาที่ชี้ว่า ทรัมป์ยอมมากเกินไป
ตามรายงานในวันพุธ (13 มิ.ย.) ของสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงเจตนารมณ์ในการระงับการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ เสนอการรับประกันความมั่นคงปลอดภัยให้แก่โสมแดง รวมทั้งยกเลิกมาตรการแซงก์ชันต่อเกาหลีเหนือ หากความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ด้านประมุขทำเนียบขาวก็แถลงหลังการประชุมสุดยอดกับคิม จองอึน เมื่อวันอังคาร (12) ว่า อาจยกเลิกมาตรการแซงก์ชันเกาหลีเหนือ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้
ทรัมป์ทวิตว่า การประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่างผู้นำในตำแหน่งของสองชาติศัตรูยุคสงครามเย็นมีนัยว่า โลกสามารถถอยห่างจากแนวโน้มหายนะนิวเคลียร์ครั้งสำคัญ
เคซีเอ็นเอนั้นยังรายงานว่า คิมและทรัมป์ต่างเชื้อเชิญอีกฝ่ายเดินทางเยือนประเทศตน และผู้นำทั้งคู่ต่างตอบรับด้วยความยินดี
“คิมและทรัมป์ต่างตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามหลักการแบบทีละขั้นตอนและการดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ และการปลดอาวุธบนคาบสมุทรเกาหลี” เคซีเอ็นเอระบุ
ทรัมป์ยืนยันระหว่างการให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์ นิวส์ ขณะที่เขายังอยู่ในสิงคโปร์เมื่อวันอังคารว่า สหรัฐฯ จะไม่ซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ หากเกาหลีเหนือเดินหน้าเจรจาเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสุจริตใจ และว่า หนึ่งในข้อดีของเรื่องนี้คือการประหยัดงบประมาณจำนวนมาก เขายังบอกว่า อาจถอนทหารออกจากเกาหลีใต้
ปรากฏว่า ลินด์ซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกอาวุโสของพรรครีพับลิกัน วิจารณ์ประเด็นนี้ทันทีว่า น่าขัน และว่า การประจำการของทหารอเมริกันในเกาหลีใต้ไม่ถือเป็นภาระของคนอเมริกันที่เสียภาษี แต่เพื่อรักษาเสถียรภาพ อีกทั้งเป็นการเตือนจีนไม่ให้เข้าครอบงำภูมิภาคดังกล่าว
นอกจากนั้น นักวิจารณ์ในอเมริกาหลายคนบอกว่า ทรัมป์ยอมอ่อนข้อมากเกินไป ขณะที่บางคนสงสัยว่า ความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีใต้ส่วนใดบ้างที่ทรัมป์ให้สัญญากับคิมว่า จะระงับเอาไว้ก่อน
ทั้งนี้ ทุกปีอเมริกาและเกาหลีใต้จะร่วมซ้อมรบใหญ่ในปฏิบัติการ “โฟล อีเกิล” และ “แม็กซ์ ธันเดอร์” ซึ่งทั้งสองปฏิบัติการเพิ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนที่แล้ว และจะมีการซ้อมรบใหญ่อีกครั้งในเดือนสิงหาคม
ปัจจุบัน อเมริกามีทหารประจำการในเกาหลีใต้ราว 28,500 คน
ทรัมป์บอกว่า อเมริกาจะตรวจสอบความคืบหน้าในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างเข้มงวดมาก กระนั้น ต้องไม่ลืมว่าในอดีตที่ผ่านมา ที่สุดแล้วเปียงยางมักฉีกข้อตกลงทิ้งอย่างไม่ใยดี
มหาอำนาจทั่วโลกตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และรัสเซีย ต่างแสดงความยินดีกับผลการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพียงขั้นตอนแรกในการคลี่คลายการเผชิญหน้ากับเปียงยางเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คำประกาศเรื่องระงับการซ้อมรบของทรัมป์ได้สร้างความประหลาดใจให้เหล่าพันธมิตร แม้กระทั่งกับรัฐบาลของประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ ที่ทุ่มเทอย่างมากเพื่อทำให้ซัมมิตคิม-ทรัมป์เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ คณะบริหารของทรัมป์ยืนยันว่า จะไม่มีการอ่อนข้อใดๆ หรือยกเลิกมาตรการแซงก์ชัน หากเกาหลีเหนือไม่ให้คำมั่นในการทำลายคลังแสงนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และไม่สามารถฟื้นคืนได้
คิม อุย-คยอม โฆษกประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการประกาศระงับการซ้อมรบร่วมของทรัมป์ว่า จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อช่วยปรับปรุงการเกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการยืนยันนัยของสิ่งที่ทรัมป์ประกาศด้วย
ทั้งนี้ มุนจะเป็นประธานการประชุมความมั่นคงแห่งชาติโสมขาวช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (14) เพื่อหารือเกี่ยวกับผลการประชุมสุดยอดอเมริกา-เกาหลีเหนือ
นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางถึงโซลเย็นวันพุธ (13) และจะเข้าพบมุนเช้าวันพฤหัสบดี ก่อนประชุม 3 ฝ่ายกับคัง คยุง-วา รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ และและทาโร โคโนะ ของญี่ปุ่น
มุน เซงมุก อดีตเจ้าหน้าที่ทหารเกาหลีใต้และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์การรวมชาติในโซล ชี้ว่า เปียงยางได้ทุกอย่างที่ต้องการ ทั้งการประชุมสุดยอดในฐานะประเทศที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง โดยที่คิมอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกับทรัมป์ และยังทำให้อเมริกาตกลงระงับการซ้อมรบกับเกาหลีใต้อีกด้วย
ส่วนที่โตเกียว อิสึโนริ โอโนเดระ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น แสดงความเห็นคล้ายกันว่า แม้เปียงยางให้คำมั่นปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ได้เสนอขั้นตอนรูปธรรมในการดำเนินการดังกล่าว และว่า ญี่ปุ่นจะยังคงเฝ้าระวังต่อไป รวมทั้งไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงการซ้อมรบร่วมกับอเมริกา เขายังบอกว่า การซ้อมรบระหว่างวอชิงตันกับโซล และการประจำการของทหารอเมริกันในเกาหลีใต้มีความสำคัญต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออก
ญี่ปุ่นถูกคาดหมายว่า จะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเช่นเดียวกับจีน ทว่า โยชิอิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรียืนกรานว่า ญี่ปุ่นจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวหลังจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เริ่มต้นการตรวจสอบใหม่เท่านั้น
สื่อมวลชนบางสำนักของญี่ปุ่น ประเทศซึ่งเคยถูกเกาหลีเหนือขู่ “ถล่มให้จมทะเล” เป็นต้นว่า ไมนิชิ ชิมบุน แสดงความเห็นว่า การต่อรองที่แท้จริงระหว่างอเมริกาและเกาหลีเหนือเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น และปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการโอ้อวดทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย
ขณะที่หนังสือพิมพ์ในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มองแง่ดีแกมระมัดระวัง ผิดกับหนังสือพิมพ์ในจีนที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับซัมมิตคิม-ทรัมป์เหมือนประเทศอื่นๆ เช่น หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า ของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่รายงานข่าวนี้ในบทความสั้นๆ หน้า 3 เกี่ยวกับปฏิกิริยาจากกระทรวงการต่างประเทศจีนต่อการประชุมสุดยอดเท่านั้น