xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำพรรคก๊กมิ่นตั๋งทำเอา‘ไต้หวัน’ปั่นป่วน เมื่อประกาศหนุนการรวมชาติกับ‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

<i>ห่าว หลงปิน รองประธานพรรคก๊กมิ่นตั๋งของไต้หวัน (ซ้าย) กล่าวยืนยันขณะพบปะหารือกับ หวัง หยาง ผู้นำสูงสุดอันดับ 4 ของปักกิ่ง ในเรื่องที่พรรคของเขามีจุดยืนต่อต้านการแยกไต้หวันออกไปเป็นเอกราช (ภาพจากสำนักข่าวเซนทรัลนิวส์เอเจนซี ของไต้หวัน) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

KMT leader creates storm by backing reunification with China
By Asia Times staff
07/08/2018

ห่าว หลงปิน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป ที่ถูกจับตามองว่าอาจจะเหมาะสมเป็นคู่ท้าชิงของพรรคก๊กมิ่นตั๋งฝ่ายค้าน ลงแข่งขันในการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันสมัยหน้าปี 2020 เดินทางไปประชุมกับฝ่ายแผ่นดินใหญ่และประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการเห็นการรวมชาติระหว่างไต้หวันกับจีน เรื่องนี้ทำให้พรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ ของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน เป็นเดือดเป็นแค้น บางคนถึงกับกล่าวหาว่าเขาทรยศกบฎชาติ

ห่าว หลงปิน (Hau Lung-pin) รองประธานของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง แสดงท่าทีที่แตกต่างตรงกันข้ามกับจุดยืนเอนเอียงมุ่งสู่การแยกตัวเป็นเอกราชของรัฐบาลไต้หวันชุดปัจจุบัน ในระหว่างการประชุมหารือกับผู้ปฏิบัติงานระดับท็อปคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เมืองเซี่ยเหมิน เมื่อเขาประกาศว่าเขาต้องการเห็นการรวมชาติกับจีน

อดีตนายกเทศมนตรีนครไทเปผู้นี้ยังส่งเสียงที่เป็นการสะท้อนการยืนกรานเสมอมาของปักกิ่งที่ว่า ไต้หวันต้องเคารพปฏิบัติตาม “ฉันทามติปี 1992” (1992 consensus) ซึ่งดูเหมือนเป็นเอกสารที่ทั้งไต้หวันและแผ่นดินใหญ่ยอมรับว่ามีจีนเพียงจีนเดียวเท่านั้น รัฐบาลไต้หวันในอดีตช่วงที่พรรคก๊กมิ่นตั๋งครองอำนาจต่างยืนยันว่ามีข้อตกลงนี้อยู่จริงๆ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันของพรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ปฏิเสธไม่ยอมรับแม้กระทั่งว่าเคยมีการตกลงกันเรื่องนี้

“ต้องขอบคุณการที่พรรคก๊กมิ่นตั๋งยึดมั่นอย่างแน่วแน่ไม่คลอนแคลนกับ ‘ฉันทามติปี 1992’ และคัดค้านเรื่องไต้หวันเป็นเอกราช ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (cross-strait relations ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งอยู่คนละฟากของช่องแคบไต้หวัน) จึงกระเตื้องปรับปรุงดีขึ้นระหว่างช่วง 8 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง นับตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2016” ห่าวบอกขณะยกย่องสรรเสริญหลักนโยบายสนับสนุนการรวมชาติของพรรคของเขา ในการกล่าวปราศรัยซึ่งเป็นที่เฝ้าจับตามองทั้งจากจีนและจากไต้หวัน ห่าวยังกล่าวอีกว่าเขาหวังว่าไต้หวันกับจีนจะสามารถ “รวมกันอีกครั้งในฐานะเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน”

พวกสมาชิกพรรค DPP หลายคนรีบออกมาประณามคำพูดความเห็นเช่นนี้ของห่าวในทันที โดยบางคนกระทั่งกล่าวหาเขาว่า “ทรยศกบฎชาติ” “มันเป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถคาดคิดจินตนาการได้อยู่แล้วที่จะมีอดีตนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งสักคนหนึ่งแสดงความเอนเอียงมาทางไต้หวันและให้ความสนับสนุนแก่การเป็นเอกราชของไต้หวัน ทว่าสิ่งที่ห่าวทำไปนั้นได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นอะไรบางอย่างทำนองเดียวกันนี้แหละ และเป็นการทรยศต่อไต้หวัน” สมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งของพรรค DPP ตั้งข้อกล่าวหา

ขณะเข้าร่วมเวทีการประชุมช่องแคบไต้หวันประจำปีครั้งที่ 10 (the 10th annual Straits Forum) ที่เซี่ยเหมิน คราวนี้ ห่าวได้พบหารือกับ หวัง หยาง (Wang Yang) ประธานของสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference) โดยที่เวลานี้ หวังอยู่ในอันดับ 4 ของ 7 สมาชิกถาวรแห่งคณะประจำของกรมการเมือง ที่เป็นผู้นำระดับวงในทรงอำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พรรค DPP มุ่งแสดงจุดยืนหนุนการแยกตัวเป็นเอกราช นับตั้งแต่ขึ้นครองอำนาจในปี 2016 จนกำลังทำให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับจีนเสื่อมถอยลงสู่จุดต่ำเตี้ยจุดใหม่ ในการกล่าวปราศรัยต่อเวทีประชุมที่เซี่ยเหมินของเขาคราวนี้ หวังได้ย้ำชี้ให้เห็นจุดนี้ โดยกล่าวเตือนอย่างขึงขังคัดค้านแรงผลักดันเข้าสู่ “กระบวนการแห่งการถอยห่างจากความเป็นจีน” (desinicization) ของรัฐบาลไทเป และประณามพวกที่เรียกร้องผลักดันให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราชว่าคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความชะงักงันและการเผชิญหน้ากันของทั้งสองฝ่ายขึ้นมาในปัจจุบัน

ห่าวนั้นเป็นหนึ่งในบุคลากรทางการเมืองระดับอาวุโสที่สุดของไต้หวันซึ่งเดินทางไปเยือนจีนแผ่นดินใหญ่นับตั้งแต่สายสัมพันธ์ข้ามช่องแคบมีอันต้องขาดวิ่นรุ่งริ่ง นอกจากนั้นนี่ยังเป็นครั้งแรกนับแต่ที่พรรคของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ต่อพรรค DPP ที่มีบุคคลสำคัญระดับเฮฟวี่เวตของก๊กมิ่นตั๋งส่งสัญญาณออกมาอย่างไม่กำกวมคลุมเครือว่าเขาคัดค้านการแยกเกาะแห่งนี้ออกไปจากจีน นอกจากห่าวแล้ว คณะที่ติดตามเขาไปยังเมืองเซี่ยเหมิน ของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 350 กิโลเมตรทางด้านตะวันตกของกรุงไทเป ยังประกอบด้วยพวกสมาชิกพรรคก๊กมิ่นตั๋ง, สมาชิกรัฐสภา, และนักวิชาการ

ถึงแม้เผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้กลับอย่างรุนแรงในไต้หวันจากการแสดงความเห็นของเขาครั้งนี้ แต่ห่าวก็ยังคงได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวางว่าสามารถเป็นคู่แข่งขันที่อาจน็อกเอาต์ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2020 และลบล้างความทรงจำแห่งความพ่ายแพ้ปราชัยอย่างน่าอัปยศอดสูของก๊กมิ่นตั๋งในปี 2016 ปักกิ่งเองก็กำลังแสดงท่าทีตั้งความวาดหวังเอาไว้อย่างสูงต่อพรรคก๊กมิ่นตั๋งที่จะเสนอชื่อบุคคลซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างเช่นห่าว ลงแข่งขันในอีก 2 ปีข้างหน้า

แต่เมื่อถูกซักไซ้เกี่ยวกับความมุ่งมาดปรารถนาในทางการเมืองของเขา ห่าวก็ให้คำตอบที่ก่อให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้ง ด้วยการชี้ว่า เทอร์รี เกา (Terry Gou) ประธานของบริษัทฟอกซ์คอนน์ (Foxconn) กิจการรับจ้างทำการผลิตพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายยักษ์ มีคุณสมบัติทุกอย่างพรักพร้อมสำหรับการเป็นประธานาธิบดี รวมทั้งให้สัญญาว่าพรรคก๊กมิ่นตั๋งควรที่จะต้องสามัคคีกันให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่เกาในปี 2020

กระนั้น พวกนักวิเคราะห์เชื่อกันว่าจากการที่เรตติ้งความนิยมของประชาชนซึ่งมีต่อห่าวกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาจะถูกมองว่าเป็นหนึ่งใน “ผู้แข่งขันที่สามารถคว้าชัยชนะได้” ที่มีอยู่น้อยคนเต็มที ซึ่งก๊กมิ่นตั้งอาจนำเอามาลงสู่สนามชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงแม้ว่านี่เป็นสิ่งที่ตัวเขาเองเวลานี้ยังคงพูดปฏิเสธไม่เห็นด้วยก็ตามที


กำลังโหลดความคิดเห็น