xs
xsm
sm
md
lg

“ไบเออร์” ผนึก “มอนซานโต” ชูเพิ่มผลผลิตเกษตร กลุ่มรณรงค์หวั่นทำลายสิ่งแวดล้อม-ครอบงำตลาดอาหารโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ผู้ประท้วงตั้งรูปยาเม็ดขนาดยักษ์ เขียนชื่อของไบเออร์ และมอนซานโต เอาไว้ ระหว่างการชุมนุมประท้วงไบเออร์ซื้อกิจการมอนซานโต ที่ด้านนอกของศูนย์ประชุมเวิลด์คอนเฟอเรนซ์เซนเตอร์ ในเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมใหญ่ประจำปีของไบเออร์ (ภาพถ่ายเมื่อ 25 พ.ค. 2018) </i>
เอเอฟพี - ไบเออร์ บริษัทเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ประทับตรายืนยันครั้งสุดท้ายเมื่อวันพฤหัสบดี (7 มิ.ย.) ในข้อตกลงมูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้าผนวกกิจการมอนซานโตแห่งอเมริกา ผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์จีเอ็ม และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านเคมีภัณฑ์เกษตรที่วางเป้าหมายสูงส่งในการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทำให้โลกอยู่ดีกินดี ทว่ากลับถูกประณามต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย

“เราจะอยู่ในฐานะที่ดียิ่งขึ้นด้วยซ้ำในการช่วยเหลือเกษตรกรของทั่วโลกเพาะปลูกอาหารที่เป็นผลดีต่อสุขภาพมากขึ้นและจับจ่ายซื้อหาได้มากยิ่งขึ้น ในลักษณะที่มีความยั่งยืน” แวร์เนอร์ บาวมันน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไบเออร์ แวร์เนอร์ บาวมันน์ กล่าวในคำแถลง

บริษัทเยอรมันแห่งนี้จะชำระเงินให้ผู้ถือหุ้นของมอนซานโตในราคาหุ้นละ 128 ดอลลาร์โดยทันที

แต่การดำเนินการกิจการซึ่งผนวกรวมกันนี้จะยังไม่สามารถกระทำได้ จนกว่าไบเออร์เสร็จสิ้นการตัดแบ่งกิจกรรมทางด้านเมล็ดพันธุ์และยาปราบศัตรูพืชไปให้แก่ บาสฟ์ (BASF) ที่เป็นบริษัทคู่แข่ง ตามข้อตกลงยินยอมอ่อนข้อซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจาต่อรองกันอย่างยืดเยื้อกับพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบด้านการแข่งขันทั้งของสหรัฐฯและอียู

หนังสือพิมพ์แฟรงก์เฟิร์ตเตอร์ อัลเจอไมน์ ไซตุง ฉบับวันพฤหัสบดี (7 มิ.ย.) แสดงความคิดเห็นว่า การเข้าซื้อมอนซานโตแม้นำมาซึ่งความเสี่ยงมโหฬารเรื่องชื่อเสียง แต่ก็พ่วงด้วยโอกาสมหาศาลในตลาดเช่นเดียวกัน

ขณะที่ผู้บริหารไบเออร์ วางเดิมพันกับการคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี 2050 โลกจะมีประชากรถึงราว 10,000 ล้านคน ซึ่งหมายความว่า ต้องมีการเพิ่มผลผลิตบนพื้นที่ที่เพาะปลูกได้จำนวนเท่าเดิม และวิธีการที่สามารถประสบความสำเร็จได้มากที่สุดคือ การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่นักการเมืองและองค์กรสิ่งแวดล้อมเคยต่อต้าน ซึ่งรวมถึงเมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็ม) ที่พัฒนาขึ้นมาให้สามารถต้านทานยาฆ่าแมลงชนิดเข้มข้น

พืชตัดต่อพันธุกรรมและเครื่องมือดิจิตอลที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและติดตามตรวจสอบสภาพไร่นาของตัวเอง ยังช่วยเพิ่มผลผลิตที่ถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

บาวแมนน์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (4) ว่า บริษัทจะช่วยให้ลูกค้าเพิ่มผลผลิตโดยใช้ทรัพยากรลดลง และจะใช้แนวทางที่เคร่งครัดเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืนแบบเดียวกับที่ใช้กับเป้าหมายทางการเงิน
<i>ภาพถ่ายเมื่อ 25 พ.ค. 2018 แสดงให้เห็นผู้ประท้วงคนหนึ่งสวมชุดแต่งงานถือแผ่นป้ายเขียนว่า “ไบเออร์+มอนซานโต = การแต่งงานแห่งความตาย” </i>
การจับคู่ระหว่างไบเออร์กับมอนซานโตถือเป็นการผนวกกิจการขนาดใหญ่รายล่าสุดในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ดาว กับ ดูปองท์ เพิ่งตกลงผนวกกัน ส่วน เคมไชน่า เข้าซื้อ ซินเจนตา ของสวิตเซอร์แลนด์

มูลนิธิไฮน์ริช โบเอลล์ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคกรีนของเยอรมนี เตือนตั้งแต่ปีที่แล้วว่า นับวันจะเหลือบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่แบ่งปันอำนาจครอบงำภาคเกษตรกรรมและควบคุมชนิดและราคาอาหารที่จะจำหน่าย

การรวมตัวระหว่างไบเออร์กับมอนซานโตที่ริเริ่มมาเมื่อปี 2016 จะทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านชีววิทยาศาสตร์ที่ว่าจ้างพนักงาน 115,000 คน มีรายได้ต่อปี 53,000 ล้านดอลลาร์

หน่วยงานด้านการแข่งขันบังคับให้ไบเออร์ขายธุรกิจเมล็ดพันธุ์และเคมีภัณฑ์เกษตรที่ทำรายได้ 2,588 ล้านดอลลาร์ต่อปี ให้บีเอเอสเอฟ ก่อนที่จะอนุญาตให้ผนวกกับมอนซานโต กระนั้น ธุรกิจเกษตรกรรมของไบเออร์และมอนซานโตยังมียอดขายถึง 23,177 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว มากกว่าดาวดูปองท์ และเคมไชน่า

ไบเออร์ยังพยายามผ่อนคลายความกดดันจากนักการเมืองและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้นักลงทุนพอใจ โดยการประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า จะเลิกใช้ชื่อมอนซานโต

กลุ่มสิ่งแวดล้อมรณรงค์มาเป็นสิบปีเพื่อต่อต้านมอนซานโตและผลิตภัณฑ์ของบริษัท เช่น ยากำจัดวัชพืชไกลโฟเสต ที่สงสัยว่าเป็นสารก่อมะเร็งและจุดชนวนการถกเถียงทางการเมืองในอียู

ขณะเดียวกัน เมล็ดพันธุ์จีเอ็มของมอนซานโตก็เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก กระทั่งไบเออร์ต้องให้สัญญาเมื่อสองปีที่แล้วว่า จะไม่นำพืชตัดต่อพันธุกรรมเข้าสู่ยุโรป

กระนั้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกับผลิตภัณฑ์มอนซานโต อาทิ ราวด์อัพที่มีสารไกลโฟเสต หรือแบรนด์เมล็ดพันธุ์ ดีคาล์บและดี ไรเตอร์ ภายหลังการผนวกกิจการ

กลุ่มเฟรนด์ส ออฟ ดิ เอิร์ธ วิจารณ์ว่า ถ้าไบเออร์ต้องการลบล้างชื่อเสียงที่เสียหายของมอนซานโต ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า บริษัทต่างจากมอนซานโต เช่น ยุติการขายผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเสต และยุติการล็อบบี้ให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎควบคุมเทคโนโลยีใหม่ด้านจีเอ็ม
<i>หุ่นรูปผึ้งสวมหน้ากากกันไอพิษถูกแขวนอยู่กับไม้กางเขน  ซึ่งผู้ประท้วงนำมาตั้งแสดง ระหว่างการชุมนุมประท้วงไบเออร์เทคโอเวอร์มอนซานโต  ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ของไบเออร์ในกรุงเบอร์ลิน (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 18 ม.ค. 2017) </i>


กำลังโหลดความคิดเห็น