เอเจนซีส์ - รูดี้ จูลีอานี นักการเมืองรุ่นใหญ่ที่สนิทสนมกับโดนัลด์ ทรัมป์ มานาน ออกมาคุยโอ่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯโชว์เหนือ จากการประกาศยกเลิกซัมมิต บีบให้คิมน้อยต้องคุกเข่าอ้อนวอนขอนัดประชุมสุดยอดตามเดิม ทางด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นบินตรงหารือประมุขทำเนียบขาว หวั่นถูกทิ้งหลังซัมมิตทรัมป์-คิมที่สิงคโปร์ต้นสัปดาห์หน้า
ระหว่างการปราศรัยในที่ประชุมธุรกิจที่กรุงเทลอาวีฟ ของอิสราเอลเมื่อวันพุธ (6 มิ.ย.) จูลีอานี อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 และปัจจุบันเป็นหนึ่งในทีมทนายความของทรัมป์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถบังคับให้คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนืออ้อนวอนขอให้กำหนดวันเวลาในการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ใหม่ หลังจากทรัมป์ประกาศยกเลิกแผนซัมมิตปุบปับ
ภายหลังการประชุม จูลีอานีให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพี โดยยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้ทำลายบรรยากาศก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดในวันอังคารหน้า (12) ที่สิงคโปร์อย่างที่บางคนกังวล และสำทับว่า คิมต้องเข้าใจว่า อเมริกาอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า
จูลีอานีแจงว่า เขาต้องการชี้ว่า ทรัมป์มีความเข้มแข็งกว่า และการเจรจาอันเป็นประโยชน์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เว้นแต่ทรัมป์เห็นด้วยเท่านั้น
เขายังบอกว่า ทรัมป์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากประกาศยกเลิกการประชุม หลังจากที่เกาหลีเหนือดูหมิ่นรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งยังขู่ทำลายล้างอเมริกาด้วยนิวเคลียร์
จูลีอานีซึ่งเป็นผู้ประกาศหนุนหลังตั้งแต่ช่วงต้นๆ ที่ทรัมป์รณรงค์หาเสียงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี กล่าวเสริมว่า หลังจากทรัมป์ประกาศยกเลิก คิมเปลี่ยนท่าทีทันควันมาเป็นเต็มใจที่จะหารือเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องอีกครั้งให้นัดหมายประชุมสุดยอด ซึ่งท่าทีนี้เองที่เขาเห็นว่า เท่ากับเป็นการอ้อนวอน
ทนายความของทรัมป์ในคดีสอบสวนเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียผู้นี้ ย้ำว่า สิ่งที่เขาพูดเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับทีมนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น เตรียมแถลงข่าวร่วมกับทรัมป์ภายหลังหารือกันที่ทำเนียบขาวในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี (7) ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มจี7 ที่แคนาดาในวันศุกร์และเสาร์ (8-9)
ทั้งนี้ นับจากเริ่มระแคะระคายครั้งแรกว่า ทรัมป์กับคิมจะนัดหารือกัน โตเกียวเฝ้าย้ำว่า วอชิงตันไม่ควรด่วนวางใจ หรือผ่อนคลายการเฝ้าระวังเปียงยาง
การเดินทางเยือนวอชิงตันเพื่อพบกับทรัมป์เป็นครั้งที่สองในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือนครั้งนี้ ยังบ่งชี้ว่า อาเบะต้องการความมั่นใจว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ลืมเลือนประเด็นที่ตนเคยฝากฝังไว้ ท่ามกลางการเดินเกมทางการทูตอย่างคึกคักเกี่ยวกับอนาคตของคาบสมุทรเกาหลี
ก่อนออกเดินทางจากโตเกียว อาเบะกล่าวว่า ระหว่างการเยือนวอชิงตันครั้งนี้ เขาหวังว่า จะได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดและตกลงกับทรัมป์เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการกับเกาหลีเหนือ
ผู้นำญี่ปุ่นยังเปิดเผยชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างซัมมิตที่สิงคโปร์ต้นสัปดาห์หน้า นั่นคือความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการจำกัดโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมถึงคำตอบเกี่ยวกับพลเมืองญี่ปุ่นที่ถูกเปียงยางลักพาตัวไปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และ 1980
แม้ในการพบกันครั้งสุดท้ายที่รีสอร์ทของทรัมป์ในฟลอริดาเมื่อเดือนเมษายน ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัญญากับอาเบะว่า จะหยิบยกประเด็นการลักพาตัวขึ้นหารือหากได้เจรจากับเกาหลีเหนือ แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่และยังห่างไกลมากจากเป้าหมายสำคัญสูงสุดของทรัมป์ ที่ดูเหมือนเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ตลอดเวลา และแสดงความกระตือรือร้นที่สุดตรงที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่มีโอกาสหารือโดยตรงกับผู้นำเกาหลีเหนือขณะดำรงตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน กระแสการทูตที่เชี่ยวกรากเกี่ยวกับเกาหลีเหนือทำให้อาเบะกลายเป็นตัวประหลาด เพราะทรัมป์กำลังจะได้พบกับคิม ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ ได้หารือกับประมุขโสมแดงกันคนละสองครั้ง ส่วนอาเบะยังไม่เคยแม้แต่จะมีการหารือเพื่อวางแผนประชุมสุดยอดกับคิมน้อย
ริชาร์ด อาร์มิเทจ อดีตนักการทูตอาวุโสในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช มองว่า มีความเสี่ยงอย่างมากที่โตเกียวจะถูกทิ้งภายหลังการประชุมทรัมป์-คิม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จีนและเกาหลีเหนือเล็งมานานแล้ว และอเมริกาไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นเนื่องจากจะเป็นการลดทอนความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างอเมริกาและญี่ปุ่น