xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” จี้คองเกรสอนุมัติขาย “อาวุธนำวิถี” ล็อตใหญ่กว่า 120,000 ลูกให้ “ซาอุฯ-ยูเออี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - รัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้สภาคองเกรสพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายอาวุธนำวิถี (precision-guided munitions) กว่า 120,000 ลูกให้แก่สองชาติพันธมิตรในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตามรายงานจากแหล่งข่าวเมื่อวันอังคาร (22 พ.ค.)

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ มีนโยบายสนับสนุนการส่งออกอาวุธอย่างเต็มที่เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ และเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งอนุมัติขายอาวุธนำวิถีให้แก่ซาอุฯ มูลค่าถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาคองเกรสบางคนได้แสดงความเป็นห่วงว่าอาวุธที่ผลิตโดยอเมริกาอาจถูกซาอุฯ นำไปใช้กวาดล้างกบฏฮูตีในเยเมน และมีส่วนในสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตชาวเยเมนไปหลายพันคน ตั้งแต่ความขัดแย้งปะทุขึ้นเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2015

สำหรับมูลค่าการส่งออกอาวุธล็อตใหม่นี้ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจน

เจ้าหน้าที่จากบริษัท เรย์ธีออน โค ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธนำวิถีรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

แหล่งข่าวในรัฐบาลทรัมป์และสภาคองเกรสยืนยันตรงกันว่า โครงการจำหน่ายอาวุธนำวิถีให้แก่ซาอุฯ และยูเออีอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 40 วัน

เจ้าหน้าที่ซาอุฯ และยูเออียังไม่ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ปฏิเสธที่จะชี้แจงเกี่ยวกับแผนจำหน่ายอาวุธ จนกว่าจะมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังสภาคองเกรสเสียก่อน

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมเข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการกิจการความสัมพันธ์ต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาภายในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาสอบถาม

สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงส่งออกอาวุธให้ต่างชาติเป็นมูลค่านับหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2017

ทรัมป์ มองว่าการขายอาวุธเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการจ้างงานในอเมริกา และบางครั้งก็เข้าไปมีส่วนผลักดันข้อตกลงกับต่างชาติด้วยตนเอง ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้สหรัฐฯ ซึ่งส่งออกอาวุธมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้วกลายเป็น “พ่อค้าอาวุธ” รายใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก แม้จะมีเสียงทัดทานจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวควบคุมอาวุธก็ตาม

สมาชิกอาวุโสของสภาคองเกรส รวมถึงประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศทั้ง 2 สภา มีสิทธิ์ที่จะทบทวนข้อตกลงจำหน่ายอาวุธแบบไม่เป็นทางการ แต่บางครั้งก็คัดค้านจนทำให้กระบวนการจำหน่ายต้องหยุดชะงักไปหลายเดือน

หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนกรานที่ผลักดันต่อโดยไม่ฟังเสียงค้าน ก็จำเป็นต้องให้สภาคองเกรสออกกฎหมายห้ามการส่งออก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีมาตรการเช่นนี้มาก่อน
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น