xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ไฟเขียวให้‘อิสราเอล’ถล่ม‘อิหร่าน’ใน‘ซีเรีย’จริงหรือ

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The Russian-Israeli-Iranian conundrum in Syria
By M.K. Bhadrakumar
15/05/2018

เกิดข่าวลือสะพัดว่าจากการพบปะหารือในกรุงมอสโกระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล มอสโกได้เปิดไฟเขียวให้อิสราเอลถล่มโจมตีที่มั่นของอิหร่านในซีเรีย รวมทั้งยังระงับการส่งระบบป้องกันอากาศยาน เอส-300 ไปให้ซีเรียอีกด้วย แต่ความเป็นจริงดูจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย โดยมอสโกเพียงแต่กำลังเล่นเกมทางการทูตอย่างฉลาดเฉียบแหลม และบริหารจัดการเพื่อรักษาความสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กับเพลเยอร์รายสำคัญทุกๆ รายเอาไว้

ในชีวิตของคนเรานั้น มีบ่อยครั้งมากกว่าที่สามารถใช้คำอธิบายอย่างง่ายๆ ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ อย่างไรก็ดี ข่าวลือยังคงเป็นสิ่งที่แพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง เนื่องจากเสน่ห์ดึงดูดใจของมัน

การเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา และการพบปะหารือระหว่างเขากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กลายเป็นเชื้อเพลิงโหมกระพือข่าวลืออันอื้ออึงที่ว่า ทั้งคู่สามารถทำข้อตกลงชนิด “ขายวิญญาณ” (Faustian) ซึ่งเปิดทางให้เทลอาวีฟมีอิสรเสรีในการทำลายกองกำลังกูดส์ (Quds Force) ของอิหร่าน[1] และกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่อิหร่านหนุนหลังเรียกระดมจัดตั้งขึ้นมาในซีเรีย

ข่าวลือดังกล่าวแพร่กระจายออกไปสืบเนื่องจากเหตุผล 2 ประการ ประการแรก ทันทีที่เนทันยาฮูเดินทางกลับไปยังเทลอาวีฟ อิสราเอลก็ได้เปิดการถล่มโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยกระทำต่อเป้าหมายศัตรูไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตามในโลกนี้ ภายหลังจากสงครามยมคิปปูร์เมื่อปี 1973 (1973 Yom Kippur War) เป็นต้นมา โดยที่อิสราเอลได้จัดส่งเครื่องบินไอพ่นจำนวน 30 ลำเข้าเล่นงานฐานทัพต่างๆ ในซีเรียในวันที่ 10 พฤษภาคม และก็ช่างเหมือนกับนิยายนักสืบเชอร์ล็อก โฮมส์ ตรงที่สุนัขของบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ส่งเสียงเห่าอะไรเลย ปรากฏว่าในครั้งนี้มอสโกก็เงียบเฉยไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ

ประการที่สอง สื่อมวลชนของรัสเซียรายงานในวันถัดมาว่า มอสโกจะไม่จัดส่งระบบจรวดป้องกันภัยทางอากาศแบบ เอส-300 (S-300) อันก้าวหน้าทันสมัยไปให้แก่ซีเรียแล้ว เอาล่ะซี นี่ไม่ได้ส่อแสดงนัยหรอกหรือว่า ปูตินได้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ในเรื่องนี้หลังจากการพูดจากับเนทันยาฮูเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม?

อย่างไรก็ดี ขอให้พิจารณาเรื่องราวต่อไปนี้ให้ดีกันก่อน มอสโกนั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่าการที่อิสราเอลทำการถล่มโจมตีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ก็เนื่องจากถูกยั่วยุด้วยการที่มีจรวดถูกยิงจากดินแดนของซีเรียเข้าไปยังที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) โดยที่ว่าไปแล้ว การยิงจรวดใส่ที่ราบสูงโกลานนี้ก็เป็นการตอบโต้แก้เผ็ดต่อการที่อิสราเอลเข้าโจมตีฐานทัพหลายแห่งของซีเรียเมื่อวันที่ 8 เมษายน ซึ่งสังหารบุคลาการชาวอิหร่านไป 7 คน
พูดง่ายๆ ก็คือ มอสโกเฝ้ามองดูเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเมื่อมีการยิงจรวดเป็นห่าฝนตอบโต้กันไปมาระหว่างวันที่ 8 เมษาบน ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม โดยที่มองไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่จะประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การเงียบเฉยของรัสเซียก็คืออาการหูอื้อไม่เห็นว่าจะโทษใครได้

ระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรีย

การแสดงท่าทีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นความฉลาดหลักแหลม เนื่องจากรัสเซียไม่ต้องการหลงเข้าไปพัวพันยุ่งเหยิงกับสิ่งที่ควรจำกัดวงอย่างเคร่งครัดให้ยังคงเป็นการวิวาทเบาะแว้งระหว่างฝ่ายซีเรีย-อิหร่านกับอิสราเอล พร้อมๆ กันนั้นในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ออกคำแถลงซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเฝ้าติดตามสังเกตการณ์อย่างระมัดระวัง ในเรื่องที่อาวุธปล่อยจำนวนมากกว่า 60 ลูกซึ่งเครื่องบินไอพ่นอิสราเอลยิงโจมตีออกมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมนั้น ราวครึ่งหนึ่งทีเดียวได้ถูกยิงตกก่อนจะไปถึงเป้าหมาย แน่นอนทีเดียวเรื่องนี้มีความหมาย 2 ประการ

ประการแรก ระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียได้รับการพิสูจน์ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าอุดมไปด้วยความกล้าหาญฮึกเหิม โดยที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้เคยแถลงเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ระหว่างที่สหรัฐฯ, อังกฤษ, และฝรั่งเศส ระดมโจมตีทางอากาศใส่ซีเรียเมื่อวันที่ 14 เมษายนนั้น อาวุธปล่อยที่พวกเขายิงออกมารวม 130 ลูก มีมากกว่า 70 ลูกทีเดียวที่ถูกสอยตกลงมา

ประการที่สอง พิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ มอสโกจึงประเมินสถานการณ์ว่า ยังไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องปรับปรุงยกระดับระบบป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียครั้งใหญ่ในขณะนี้

แต่ทั้งนี้มอสโกแถลงอย่างชัดเจนว่า ถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา รัสเซียก็อยู่ในฐานะที่สามารถจัดส่งจรวด เอส-300 และแท่นยิงไปยังซีเรียโดยใช้เวลาบอกกล่าวกันแค่ช่วงสั้นๆ เพียงประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ในทางทฤษฎีแล้ว สถานการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นมาเมื่อเกิดกรณีที่ซีเรียเผชิญกับภัยคุกคามจะถูกฝ่ายตะวันตกโจมตีอีกครั้งหนึ่ง ทว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยว่าเรื่องเช่นนี้กำลังจะเกิดขึ้นมาในอนาคตอันใกล้นี้

ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยเมื่อวังเครมลิมออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อข่าวลือที่ว่า รัสเซียตัดสินใจไม่จัดส่งจรวด เอส-300 ไปยังซีเรียเนื่องจากคำขอร้องของเนทันยาฮู โดยที่ ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียแถลงแจกแจงในวันที่ 11 พฤษภาคมว่า การตัดสินใจในเรื่องนี้ของรัสเซียมีขึ้นก่อนที่เนทันยาฮูจะไปเยือนมอสโก แล้วสำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของทางการรัสเซีย ยังรายงานอธิบายแจกแจงอย่างละเอียดว่า ตั้งแต่เริ่มแรกเลยก็ไม่ได้เคยมีการตัดสินใจอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ ว่ารัสเซียจะส่ง เอส-300 ไปให้ซีเรีย ด้วยเหตุนี้ คำถามต่อเนื่องเกี่ยวกับการยกเลิกการตัดสินใจจัดส่งใดๆ ก็ตามที จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย

หลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า รากเหง้าของข่าวลือทั้งหมดที่แพร่กระจายทางสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางนี้ก็คือความร้อนรนรีบเร่งอย่างไม่สมควรซึ่งมุ่งที่จะปั่นกระแสที่ว่า ปูตินเป็น “ผู้ที่โปรอิสราเอล” ทว่าจริงๆ แล้วมันเป็นความพยายามที่แสนจะเด๋อด๋าเคอะเขิน ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าชาวรัสเซียนั้นไม่ใช่คนที่มีเพียงมิติเดียว

การทูตของรัสเซียมีประเพณีอันยิ่งใหญ่ในเรื่อง “จักกลิ้ง” (juggling) หรือเทคนิคการคอยโยนและการคอยรับของหลายๆ ชิ้นให้ลอยอยู่บนอากาศโดยไม่ให้ชิ้นใดร่วงตกลงมาที่พื้น รัสเซียเก่งกาจในเรื่องการบริหารจัดการความสัมพันธ์อย่างฉันมิตรที่ตนมีอยู่กับพวกชาติซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์กันอยู่ เป็นต้นว่า จีนกับเวียดนาม, ตุรกีกับกรีซ (และไซปรัส), อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์กับซาอุดีอาระเบีย, ตุรกีกับอียิปต์, อิหร่านกับจอร์แดน –แล้วในอนาคตอันไม่ไกลนักนี้ บางทีอาจจะมีคู่อินเดียกับปากีสถานอีกด้วย

พูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่อิหร่านสามารถให้แก่มอสโกนั้น อิสราเอลไม่อาจให้ได้ และในทางกลับกัน สิ่งที่อิสราเอลสามารถให้แก่มอสโก ก็เป็นสิ่งที่อิหร่านไม่อาจให้ได้ มอสโกต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งอิหร่านและอิสราเอล เพราะพวกเขาสนองวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปในนโยบายการต่างประเทศของรัสเซีย เมื่อพูดเช่นนี้แล้วก็ควรต้องเน้นย้ำว่า รัสเซียนั้นไม่ได้เคยนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่อิหร่านเรียกชื่อว่า “แนวร่วมฝ่ายต่อต้าน” (resistance front) ในซีเรีย แต่อย่างใดทั้งสิ้น

กระนั้น รัสเซียก็มีความเข้าใจซาบซึ้งว่าการปรากฏตัวในซีเรียของอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) นั้นเป็นการเชื้อเชิญของรัฐบาลซีเรียในกรุงดามัสกัส และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสู้รบต่อต้านปราบปรามพวกกลุ่มสุดโต่งทั้งหลาย เห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียวว่า รัสเซียปฏิเสธไม่เอาด้วยกับความรับรู้ความเข้าใจของฝ่ายอิสราเอลที่ระบุว่าฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามที ผลการเลือกตั้งในเลบานอนเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีแต่จะทำให้รัสเซียยิ่งมีความเชื่อแน่วแน่มากขึ้นว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ถูกกฎหมายกลุ่มหนึ่งซึ่งพึงได้รับความนับถือ

ความขัดแย้งที่มีอยู่อย่างมากมาย

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในสภาวการณ์อันสลับซ้อนเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลยที่จะคาดหมายว่ารัสเซียจะเข้าร่วมอยู่ในวาระใดๆ ของฝ่ายอิสราเอลซึ่งมุ่งหมายจะกำจัดอิหร่านและฮิซบอลเลาะห์ออกไปจากดินแดนซีเรีย ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียก็จะไม่ต่อต้านคัดค้านความต้องการของอิสราเอลหรือของซีเรียที่จะปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยของพวกเขา และ/หรือการกระทำของพวกเขาในการป้องกันตนเอง

ด้วยเหตุนี้เอง พร้อมๆ กับที่รัสเซียวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลเรื่องทำการโจมตีด้วยจรวดในดินแดนซีเรียเมื่อวันที่ 8 เมษายน ซึ่งจุดชนวนให้เกิดโรคเรื้อรังแห่งการโจมตีและการตอบโต้การโจมตีวนเวียนไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันขึ้นมา โดยเรียกการกระทำดังกล่าวว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่มีอันตราย แต่มอสโกก็ปฏิเสธไม่ขอแตกตื่นตกใจอะไรไปด้วย ไม่ว่าเรื่องที่มีการยิงจรวดจากซีเรียเข้าไปในอิสราเอลเพื่อตอบโต้แก้เผ็ดในวันที่ 9 พฤษภาคม หรือการที่อิสราเอลเปิดการโจมตีกลับคืนต่อซีเรียอย่างรวดเร็วในอีกวันหนึ่งถัดจากนั้น

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งนี้ไปไกลยิ่งกว่านี้อีก ประเด็นก็คือรัสเซียนั้นยังมีผลประโยชน์อย่างสอดคล้องต้องกันกับดามัสกัสและเตหะรานในเรื่องการสงวนรักษาความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของซีเรียเอาไว้ และในการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่อธิปไตยแห่งชาติของซีเรีย ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงไม่สามารถเอาอภัยฝ่ายต่างๆ ภายนอกซึ่งกำลังพยายามที่จะแบ่งแยกเฉือนซีเรียออกเป็นชิ้นๆ หรือกีดขวางแรงขับดันของดามัสกัสที่จะกลับเข้าควบคุมทั่วทั้งประเทศซีเรียเอาไว้ให้ได้อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องนี้นำไปสู่เหตุผลที่ว่าทำไมรัสเซียจึงจะช่วยเหลือกองทัพซีเรียให้พัฒนาสมรรถนะในการทำให้สถานการณ์ภายในประเทศนั้นกลับมีเสถียรภาพ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัสเซียเชื่อว่ามันเป็นอภิสิทธิ์ในทางอธิปไตยของซีเรียที่จะพัฒนาพลังอำนาจแห่งการป้องปรามขึ้นมา –ทำนองเดียวกับที่อิสราเอลหรือเลบานอนกกระทำอยู่ในภูมิภาคนี้นั่นเอง

สิ่งซึ่งไม่สามารถมองข้ามผ่านเลยไปก็คือ กระทั่งไม่มีจรวด เอส-300 ของรัสเซีย สมรรถนะในการป้องกันภัยทางอากาศของซีเรียก็จะยังคงได้รับการยกระดับเพิ่มพูนขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากภายนอก ซึ่งก็รวมถึงความช่วยเหลือจากอิหร่านด้วย บางทีเรื่องเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้วก็เป็นไปได้ และมอสโกก็จะต้องตระหนักรับรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ขณะที่ทำการประเมินผลซึ่งผ่านการพิจารณาขบคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าในปัจจุบันไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องจัดส่ง จรวดเอส-300 ไปยังซีเรีย ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีสิ่งใดซึ่งเกี่ยวข้องกับดุลอำนาจทางทหารในซีเรีย จะรอดพ้นจากการสังเกตสังกาของรัสเซียหรอก

สมควรที่จะกล่าวด้วยว่า ในบันทึกข้อความที่วังเครมลินถอดมาจากการสนทนาระหว่างปูตินกับเนทันยาฮูในกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมนั้น ช่างชวนให้รู้สึกซาบซึ้งตรึงใจอย่างน่าเซอร์ไพรซ์ทีเดียว ใครๆ คงไม่สามารถระลึกได้เลยว่าปูตินได้เคยพูดด้วยความรู้สึกอบอุ่นอย่างพรั่งพรูในการสนทนาระดับบุคคลเช่นนี้กับผู้นำต่างประเทศคนไหนบ้างในช่วงระยะใกล้ๆ นี้ –แม้กระทั่งกับ ฮัสซัน รูฮานี ผู้นำของอิหร่าน หรือกับประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ซึ่งต่างก็เป็นพันธมิตรรายสำคัญยิ่งของมอสโก นี่แหละคือการทูตแบบรัสเซียที่แสดงออกอย่างยอดเยี่ยมในช่วงเวลาซึ่งกำลังบังเกิดความลำบากยากยิ่ง

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

หมายเหตุผู้แปล

[1] กองกำลังกูดส์ (Quds Force) เป็นหน่วยรบพิเศษรับผิดชอบการปฏิบัติการภายนอกประเทศของ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน (Iran’s Revolutionary Guards) กองกำลังกูดส์ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งปัจจุบันคือ อาลี คาเมเนอี สำหรับผู้บัญชาการกองกำลังคือ พลตรี กอเซม โซเลมานี และรองผู้บัญชาการคือ ฮอสเซน ฮามาดานี ขณะที่โลกภายนอกแทบไม่มีใครมีความรู้อย่างน่าเชื่อถือเกี่ยวกับกองกำลังกูดส์ แต่ประมาณการกันว่า ณ ปี 2007 กองกำลังนี้มีทหารจำนวน 15,000 คน สหรัฐฯได้ประทับตราให้กองกำลังกูดส์เป็นผู้สนับสนุนลัทธิก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 2007

สำหรับบทบาทของกองกำลังนี้ในซีเรียนั้น จาฟารี ผู้บัญชาการของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน ได้ประกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายนปี 2012 ว่า กองกำลังกูดส์ “ปรากฏตัว” อยู่ในซีเรียแล้ว ในปี 2014 อิหร่านได้เพิ่มการปรากฏตัวของกองกำลังนี้ในซีเรีย โดยที่มีผู้ชำนาญการด้านการทหารจำนวนหลายร้อยคน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้บังคับบัญชาระดับอาวุโสของกองกำลังกูดส์ด้วย ทั้งนี้ตามการบอกเล่าของแหล่งข่าวชาวอิหร่านหลายรายตลอดจนพวกผู้เชียวชาญด้านความมั่นคง ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บัญชาการอาวุโสที่เกษียณอายุแล้วของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านรายหนึ่งบอกว่า ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง จะต้องมีผู้บังคับบัญชากองกำลังกูดส์อย่างน้อยที่สุด 60-70 คนอยู่ในภาคพื้นดินในซีเรีย บทบาทสำคัญที่สุดของกองกำลังเหล่านี้คือการหาข่าวกรอง และการบริหารการส่งกำลังบำรุงของสมรภูมิให้แก่รัฐบาลซีเรีย
(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Quds_Force#Syria)



กำลังโหลดความคิดเห็น