สถานการณ์ในตะวันออกกลางส่อแววตึงเครียด หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศนำอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 และจ่อรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากพันธมิตร ขณะที่ชาติยุโรปรวมไปถึงจีนและรัสเซียยืนยันว่าข้อตกลงฉบับนี้ “ยังอยู่” แม้จะขาดหัวเรือใหญ่อย่างวอชิงตันไปก็ตาม
ทรัมป์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารที่ 8 พ.ค. โดยประกาศจะฟื้นมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านเพื่อบ่อนทำลาย “ข้อตกลงฝ่ายเดียวที่สุดแสนจะแย่ และไม่ควรเกิดขึ้น”
แผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (Joint Comprehensive Plan of Action - JCPOA) ที่สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี ร่วมกันเจรจากับอิหร่านเมื่อปี 2015 กำหนดให้มีการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ แลกกับการที่เตหะรานจะต้องลดทอนกิจกรรมนิวเคลียร์ลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถพัฒนาระเบิดปรมาณูได้
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงซึ่งเป็นผลงานด้านต่างประเทศชิ้นโบแดงของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา กลับถูก ทรัมป์ วิจารณ์ว่าไม่ได้ปิดกั้นโครงการขีปนาวุธและการสยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง ทั้งยังมีข้อความแบบ “sunset clause” ที่เปิดทางให้เตหะรานสามารถดำเนินกิจกรรมนิวเคลียร์ต่อได้ หลังข้อตกลงหมดอายุลงในปี 2025
การตัดสินใจของ ทรัมป์ เสี่ยงที่จะกระพือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และทำให้สหรัฐฯ ต้องหมางใจกับรัฐบาลและภาคธุรกิจของยุโรปที่ได้ประโยชน์จากเงื่อนไขของ JCPOA ซึ่งเปิดทางให้มีการติดต่อค้าขายกับอิหร่าน
ฌ็อง-อีฟส์ เลอ ดริย็อง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ยืนยันว่าข้อตกลงฉบับนี้ “ยังไม่ตาย” ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง บรูโน เลอ แมร์ ของเมืองน้ำหอมก็วิจารณ์สหรัฐฯ ว่าไม่ควรหลงคิดว่าตัวเองเป็น “ตำรวจฝ่ายเศรษฐกิจของโลก”
ทั้ง 5 รัฐภาคีที่เหลือนั้นทราบดีว่าอิหร่านมีมุมที่น่ากังวลนอกเหนือไปจากโครงการนิวเคลียร์ แต่เชื่อว่าประเด็นเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ผ่านการเจรจาเพิ่มเติม โดยไม่ต้องฉีกข้อตกลงทิ้ง
ผู้นำอังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ได้มีถ้อยแถลงร่วมว่าการตัดสินใจของ ทรัมป์ “น่าเสียใจและน่าวิตก” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันว่า ปักกิ่งพร้อมที่จะปกป้อง JCPOA และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “แสดงทัศนคติอย่างผู้ที่มีความรับผิดชอบ” ส่วนรัสเซียก็ประกาศว่าพร้อมที่จะรักษาพันธกรณีตามข้อตกลงฉบับนี้ต่อไป
ความอยู่รอดของ JCPOA นั้นขึ้นอยู่กับว่า บริษัทต่างชาติจะยังเต็มใจทำธุรกิจกับอิหร่านต่อไปหรือไม่ หลังจากที่สหรัฐฯ ฟื้นมาตรการคว่ำบาตร
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. สมาชิกรัฐสภาอิหร่านได้จุดไฟเผาธงชาติสหรัฐฯ และเอกสารที่จำลองขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนข้อตกลงนิวเคลียร์ รวมถึงตะโกนขับไล่อเมริกาให้ “ไปตายเสีย” ขณะที่ประธานรัฐสภาอิหร่านวิจารณ์ ทรัมป์ ว่าขาดสมรรถภาพทางด้านจิตใจ (mental capacity) ที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างที่ผู้นำประเทศพึงมี
อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน แถลงผ่านเว็บไซต์ว่าคำประกาศของผู้นำสหรัฐฯ สะท้อนความ “โง่เขลาและตื้นเขิน” ส่วนประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ยังยืนยันว่าอิหร่านพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขของ JCPOA ต่อไป แต่ก็ยอมรับว่าท่าทีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลอำนาจในอิหร่านเอนเอียงเข้าหากลุ่มการเมืองฮาร์ดไลน์ที่ต่อต้านตะวันตก
รูฮานี ย้ำว่า หากอิหร่านยังได้รับประโยชน์จากความร่วมมือกับรัฐภาคีทั้ง 5 ชาติที่เหลือก็อาจจะรักษา JCPOA ไว้ได้ และการที่อเมริกาถอนตัวนั้นเท่ากับว่าพวกเขาเอง “เป็นฝ่ายละเมิดพันธกรณี”
การหันหลังให้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านถือเป็นการตัดสินใจของ ทรัมป์ ตามนโยบาย “อเมริกาเฟิร์สต์” ซึ่งอาจมีผลกระทบเป็นวงกว้างมากที่สุด หลังจากที่เขาเคยนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงภูมิอากาศปารีส, ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และใช้มาตรการทางภาษีจนเกือบกลายเป็นสงครามการค้ากับจีน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดยังสะท้อนอิทธิพลของสมาชิกสายเหยี่ยวในคณะบริหารของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ และ จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ที่ต่างสนับสนุนให้ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์
อิหร่านยืนยันมาโดยตลอดว่า โครงการนิวเคลียร์มีวัตถุประสงค์ในเชิงสันติ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของยูเอ็นก็ยอมรับว่าเตหะรานไม่ได้ละเมิดข้อตกลง แม้แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ ก็ยังพูดหลายครั้งว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงด้วยดีในทางเทคนิค
อิหร่านเป็นสมาชิกรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และผลิตน้ำมันดิบราว 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) หรือราว 4% ของอุปทานทั่วโลก โดยมีลูกค้าที่สำคัญคือจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่ซื้อน้ำมันส่วนใหญ่จากทั้งหมด 2.5 ล้านบีพีดีที่อิหร่านส่งออก
มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ คาดว่าจะพุ่งเป้าเล่นงานอุตสาหกรรมน้ำมันและการขนส่งของอิหร่านอย่างแน่นอน ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่า เตหะรานอาจแก้แค้นด้วยการบั่นทอนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เนื่องจากอิหร่านมีอิทธิพลและกลุ่มติดอาวุธที่เป็นเสมือน “ตัวแทน” กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อิหร่านระบุว่ามาตรการตอบโต้ที่เป็นไปได้ในเวลานี้มีอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่ การหวนกลับไปผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะเข้มข้นอย่างไม่มีขีดจำกัด, รักษาข้อตกลง JCPOA ให้คงอยู่ด้วยการเจรจากับรัฐภาคีที่เหลืออยู่ และหันไปพึ่งพามหาอำนาจฝ่ายตะวันออกอย่างจีนและรัสเซีย ซึ่งมีพลังทางเศรษฐกิจมากพอที่จะต้านแรงกดดันของสหรัฐฯ ได้
ผลสำรวจความคิดเห็นที่รอยเตอร์/อิปซอสจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พ.ค. พบว่า มีชาวอเมริกันเพียงแค่ 29% ที่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ ทรัมป์ ขณะที่ 42% เห็นว่าสหรัฐฯ ควรเป็นภาคีข้อตกลงนิวเคลียร์ต่อไป ส่วนอีก 28% ตอบว่า “ไม่รู้”