xs
xsm
sm
md
lg

จีน-ญี่ปุ่นตกลงจัดตั้ง “สายฮอตไลน์ความมั่นคง” กันได้ หลังเจรจามาเป็นสิบปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>รัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ ของจีน (ด้านหน้าคนซ้าย) กับ รัฐมนตรีต่างประเทศ ทาโร โคโน ของญี่ปุ่น (ด้านหน้าคนขวา) และเปลี่ยนเอกสารที่ลงนามกันแล้ว โดยที่มีนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน (ด้านหลังคนซ้าย) และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น (ด้านหลังคนขวา) เป็นประจักษ์พยาน ณ กรุงโตเกียว วันพุธ (9 พ.ค.) </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - หลังจากพูดจาเรื่องนี้กันมาเป็นสิบปี ในที่สุดญี่ปุ่นกับจีนก็ตกลงเห็นพ้องกันในวันพุธ (9 พ.ค.) ที่จะจัดตั้งโทรศัพท์ฮอตไลน์เพื่อความมั่นคงขึ้นมา เพื่อคลี่คลายแก้ไขการประจันหน้ากันทางทะเลใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจเอเชีย 2 รายนี้

ข้อตกลงนี้ถือเป็นผลลัพธ์ล่าสุดของแรงผลักดันเพื่อปรับปรุงยกระดับสายสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งมีรอยมลทินฝังแน่นจากความเป็นศัตรูกันในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองแผ่นดินจีนผืนใหญ่ๆ ไปหลายผืน ตลอดจนการพิพาทโต้แย้งกันในปัจจุบันเพื่อช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออก

ในกรุงโตเกียววันพุธ (9) ภายหลังนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ประชุมซัมมิตกันแล้ว ก็ได้เป็นประจักษ์พยานในพิธีลงนามข้อตกลงจัดตั้งสายฮอตไลน์ขึ้นมาภายในวลา 30 วัน เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกลาโหมของสองประเทศติดต่อสื่อสารกัน ในระหว่างเกิดเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับเรือรบหรือเครื่องบินทหารของแต่ละฝ่าย

การหารือเรื่องจัดตั้งสายฮอตไลน์นี้ได้หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2012 หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนั้นเข้าซื้อหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งมีชื่อเรียกกันในญี่ปุ่นว่าเซงกากุ ส่วนฝ่ายจีนเรียกว่าเตี้ยวอี๋ว์ จากเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายญี่ปุ่นที่เป็นเอกชนชาวญี่ปุ่น

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของเรื่องนี้ ยังมาจากการที่จีนคัดค้านข้อเสนอยืนกรานของญี่ปุ่นที่ว่า ข้อตกลงตั้งฮอตไลน์นี้ไม่ควรครอบคลุมถึงน่านน้ำอาณาเขตรอบๆ หมู่เกาะเซงกากุ ซึ่งเวลานี้ควบคุมโดยฝ่ายญี่ปุ่น

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นผู้หนึ่งกล่าวระหว่างการแถลงสรุปก่อนหน้านี้ว่า ข้อตกลงซึ่งลงนามกันในวันพุธ “ไม่ได้ครอบคลุมเซงกากุด้วย”

นอกเหนือจากเรื่องสายฮอตไลน์แล้ว ข้อตกลงในวันพุธยังกำหนดให้จัดการพบปะหารือกันเป็นประจำระหว่างเจ้าหน้าที่กลาโหมของทั้งสองประเทศ และให้จัดตั้งกลไกสำหรับที่เรือจากกองทัพเรือแต่ละฝ่ายสามารถติดต่อสื่อสารกันขณะอยู่ในทะเล เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุในขณะเดินเรือขึ้นมา

กลไกลักษณะเช่นนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า กฎกติกาสำหรับการพบเจอกันในทะเลอย่างไม่คาดหมาย (Code for Unexpected Encounters at Sea หรือ CUES) เป็นระเบียบปฏิบัติซึ่งชาติอื่นๆ ก็ใช้อยู่ เป็นต้นว่า สหรัฐฯ
<i>นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน (ที่2 จากซ้าย) และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น (ที่2 จากขวา) ดื่มอวยพรกัน ระหว่างการเลี้ยงอาหารค่ำที่อาเบะเป็นเจ้าภาพ ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงโตเกียวเมื่อวันพุธ (9 พ.ค.) </i>


กำลังโหลดความคิดเห็น