xs
xsm
sm
md
lg

In Pics :อาร์เมเนียได้นายกฯคนใหม่ แต่รอยเตอร์ชี้ “รัสเซีย” อาจอยู่เบื้องหลังการประท้วงโค่นผู้นำคนเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/รอยเตอร์ – นิโคล พาชิเนียน(Nikol Pashinyan)ผู้นำฝ่ายค้านและผู้นำการประท้วง เอาชนะมติการลงคะแนนรัฐสภาอาร์เมเนียวันอังคาร(8 พ.ค)ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ส่งให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียคนใหม่ สิ้นสุดยุคการอยู่ใต้ปกครองของ เซร์ช ซาร์กสยาน (Serzh Sargsyan) ยาวนานร่วม 10 ปี ด้านรอยเตอร์เปิดเผย “รัสเซีย” แอบอยู่เบื้องหลังการปฎิวัติอาร์เมเนีย แฉไม่กี่วันก่อนที่ซาร์กสยานจะยอมลสาออก พบมีการติดต่อทางโทรศัพท์ระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่รัสเซียและแกนนำการประท้วง

บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(8 พ.ค)ว่า การออกเสียงภายในรัฐสภาอาร์เมเนียเมื่อวานนี้(8 ) ด้วยคะแนนสนับสนุน 59 ต่อ 42 เสียง ส่งให้ นิโคล พาชิเนียน(Nikol Pashinyan)ผู้นำฝ่ายค้านและผู้นำการประท้วงกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่อดีตนายกรัฐมนตรี เซร์ช ซาร์กสยาน (Serzh Sargsyan) ที่ลาออกไปก่อนหน้า

การได้เสียงมติสนับสนุนให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้น 1 สัปดาห์หลังจากการลงมติรอบแรกที่พาชิเนียนไม่ผ่านการสนับสนุน ซึ่งในครั้งแรกเขาไปได้เพียงแค่ 45 เสียงจากสมาชิกทั้งหมด 105 คน สื่ออังกฤษชี้ว่า นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียคนใหม่ประกาศให้คำมั่น จะให้มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าเร็วที่สุดตราบเท่าที่เขามีความพึงพอใจในเงื่อนไข “สิทธิสำหรับการออกเสียงอย่างถูกฎหมายนั้นเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ผู้นำอาร์เมเนียคนใหม่กล่าวว่า เขาไม่ติดอยู่ในอำนาจ แต่ทว่าพาชิเนียนจำเป็นต้องหว่านล้อมรัฐสภาอาร์เมเนียให้อนุมัติคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเขาเสียก่อน

ซึ่งหลังจากที่ผลการลงมติในวันอังคาร(8) ออกมา ประชาชนอาร์เมเนียที่อยู่ข้างพาชิเนียนต่างไปรวมตัวกลางจัตุรัสของเมือง แสดงความยินดีในชัยชนะถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ที่พาชิเนียนสามารถนำ > “ปฏิวัติกำมะหยี่” ได้สำเร็จ ซึ่งอาร์เมเนียที่อยู่ภายใต้ซาร์กสยานในฐานะประธานาธิบดีมายาวนานถึง 10 ปี เต็ม ประเทศแห่งนี้ต้องพบว่าเซร์ช ซาร์กสยานได้ออกจากตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีในเดือนที่ผ่านมา เพื่อต้องการที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการถูกเลือกโดยสภาที่มีพรรครีพับลิกันของเขานั่งคุมเป็นเสียงส่วนใหญ่

การก้าวข้ามจากตำแหน่งประธานาธิบดีมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของซาร์กสยานครั้งนี้ เป็นเสมือนสัญญาณส่อให้เห็นว่าเขาติดอยู่ในอำนาจ ซึ่งภายใต้การทำประชามติปี 2015 ที่มีความผิดปกติหลายประการเป็นตัวขัดขวาง อาร์เมเนียได้ย้ายอำนาจจากประธานาธิบดีมาอยู่ที่รัฐสภา

ซึ่งสำหรับประเทศเล็กๆเช่นอาร์เมเนียที่มีประชากรอยู่แค่ 2.9 ล้านคน อาร์เมเนียพึ่งพิงรัสเซียในด้านความมั่นคง และมีฐานทัพของรัสเซียตั้งอยู่ในดินแดนของอาร์เมเนีย และอาร์เมเนียยังอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจยูเรเชียที่มีรัสเซียเป็นผู้นำ

บีบีซีรายงานว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้แสดงความยินดีต่อนายกรัฐมนตรี นิโคล พาชิเนียน ทันที พร้อมกับกล่าวว่า เขาตั้งความหวังถึงความสัมพันธ์ความเป็นมิตรที่ดีต่อกันระหว่างทั้ง 2 ชาติ

อย่างไรก็ตามรอยเตอร์รายงานวันนี้(9)ว่า ดูเหมือน “รัสเซีย” จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฎิวัติกำมะหยี่ของนิโคล พาชิเนียน เป็นเพราะอ้างอิงจากแหล่งข่าว 3 คนที่ใกล้ชิดให้ข้อมูลว่า ไม่กี่วันก่อนที่ซาร์กสยานจะยอมลาออก พบมีการติดต่อทางโทรศัพท์ระดับสูงระหว่างเจ้าหน้าที่รัสเซียและแกนนำการประท้วง

ซึ่งในการเปิดเผย พาชิเนียนกล่าวยืนยันว่า เขาไม่มีความต้องการที่จะนำอาร์เมเนียออกห่างจากมอสโก พร้อมกันนั้นพาชิเนียนได้ให้การรับรองกับมอสโก ซึ่งรวมไปถึงการติดต่อโดยตรง อ้างอิงจากแหล่งข่าว 2 คนที่รู้เรื่องนี้

และพบว่าในช่วงระหว่างการประท้วงที่ยืดเยื้อที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค พบว่าพาชิเนียนได้เคยพูดคุยกับสถานทูตรัสเซียประจำกรุงเยเรวาน และพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำกระทรวงต่างประเทศรัสเซียในกรุงมอสโก อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่เป็น 1 ในกลุ่มแกนนำการประท้วง อาร์เมน กริกอร์ยาน(Armen Grigoryan) และนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับวงในของพาชิเนียน

กริกอร์ยานยังกล่าวอย่างยอมรับกับรอยเตอร์ว่า “พวกเราทำงานร่วมกับพวกเขา” โดยได้อ้างไปถึงเจ้าหน้าที่รัสเซีย และกล่าวว่า กลุ่มแกนนำการประท้วงได้อธิบายต่อมอสโกถึงลักษณะการประท้วงของพวกเขา และกล่าวยืนยันว่า ผลประโยชน์ของรัสเซียจะไม่มีการได้รับหากขัดขวางพวกเขา

นอกจากนี้ รอยเตอร์ชี้ว่า ภายใน 24 ช.ม ก่อนที่อดีตนายกรัฐมนตรี เซร์ช ซาร์กสยาน จะลาออกในวันที่ 23 เม.ย พบว่าเขาได้โทรศัพท์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในกรุงมอสโก แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่การทูตให้ข้อมูล แต่อย่างใดก็ตาม รอยเตอร์กล่าวว่า แหล่งข่าวรายนี้ไม่ได้เปิดเผยถึงเนื้อหาของการสนทนา

ซึ่งการที่มีรัสเซียเข้ามาพัวพันและมีการสื่อสารเกิดขึ้นกับทั้งตัวอดีตผู้นำ เซร์ช ซาร์กสยาน และแกนนำการประท้วง พาชิเนียน รอยเตอร์ชี้ว่า อาจเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดการโค่นล้มผู้นำคนเก่าที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 10 ปีจึงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสันติที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ยอมรับว่า ไม่สามารถหาหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการเข้ามาแทรกแซงของรัสเซียได้ ซึ่งในช่วงเวลาหลังจากที่พาชิเนียนได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียคนใหม่แล้ว เขาประกาศว่าต้องการที่จะพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินให้เร็วที่สุด














กำลังโหลดความคิดเห็น