เอพี – ผู้เชี่ยวชาญชี้การที่ทรัมป์บ้าเลือดขู่ขูดภาษีสินค้าจีนมูลค่าเป็นแสนล้านดอลลาร์เพื่อพยายามลดยอดขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐฯ บริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจในแดนมังกรอาจโดนลูกหลงอย่างจัง นอกจากนั้นปักกิ่งยังมีทางเลือกในการเอาคืนอเมริกาอีกมากมาย ซึ่งรวมถึงการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการยกเลิกความร่วมมือในการใช้การทูตจัดการโครงการอาวุธนิวเคลียร์โสมแดง
ขณะที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามผลักดันให้จีนลดยอดเกินดุลการค้าต่อสหรัฐฯ ลง 200,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 รวมทั้งยกเลิกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทท้องถิ่น และสองประเทศกำลังห้ำหั่นกันด้วยการขู่รีดภาษีศุลกากรนั้น ดูเหมือนรายการสินค้านำเข้าที่จีนจะตอบโต้คงหมดบัญชีเร็วกว่า จากข้อเท็จจริงว่า จีนเกินดุลการค้าอเมริกามากมายมหาศาล
กระนั้น ปักกิ่งยังมีทางเลือกตอบโต้อีกหลายวิธี เช่น การข่มขู่บริษัทอเมริกันที่ผลิตรถ บริหารเชนร้านอาหาร จำหน่ายซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ และทำธุรกิจอื่นๆ อยู่ในระบบเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในความควบคุมเคร่งครัดของรัฐบาล
ทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ ยังรวมถึงการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือขัดขวางความพยายามทางการทูตต่อเกาหลีเหนือ แต่ทั้งสองวิธีนี้จะบ่อนทำลายผลประโยชน์ของจีนด้วยเช่นกัน
ทรัมป์นั้นขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดการกับข้อร้องเรียนว่า ปักกิ่งละเมิดพันธะสัญญาการค้าเสรีด้วยการขโมยหรือกดดันให้บริษัทต่างชาติส่งมอบเทคโนโลยีให้
ปักกิ่งตอบโต้มาตรการภาษียกแรกของทรัมป์ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าอเมริกันมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงเครื่องบิน ถั่วเหลือง เนื้อหมู และหากจีนขยายผลมาตรการนี้ให้เท่าเทียมกับมูลค่าสินค้าจีนที่ถูกทรัมป์รีดภาษี จะเท่ากับยอดการนำเข้าสินค้าอเมริกันเกือบทั้งหมดในปีที่ผ่านมา
บริษัทอเมริกันรับเคราะห์
ผู้คุมกฎจีนมีเครื่องมือมากมายที่จะทำลายธุรกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่การระงับใบอนุญาตไปจนถึงการตรวจสอบภาษี การต่อต้านการผูกขาด หรือการตรวจสอบอื่นๆ
ตัวอย่างเช่นจีนเป็นประเทศใหญ่อันดับสุดท้ายที่ยังไม่ยอมอนุมัติข้อเสนอของควอลคอมม์ ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ของอเมริกา ในการซื้อกิจการคู่แข่งคือ เอ็นเอ็กซ์พี เซมิคอนดักเตอร์ของเนเธอร์แลนด์ มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์
เดือนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงว่า ข้อเสนอของควอลคอมม์ไม่สามารถปัดเป่าข้อกังวลของผู้คุมกฎการผูกขาดของจีน และทั้งสองบริษัทยอมทำตามคำขอของปักกิ่งด้วยการยกเลิกและยื่นคำร้องใหม่ให้จีนพิจารณาอนุมัติการซื้อกิจการ
ก่อนหน้านี้ สื่อของรัฐบาลจีนเคยปลุกเร้าให้ผู้บริโภคคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ระหว่างที่ปักกิ่งมีข้อพิพาทกับรัฐบาลประเทศเหล่านั้น
จิน กันหรง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเหรินหมินในปักกิ่ง แสดงความเห็นบนเว็บไซต์ wallstreetcn.com ว่า จีนอาจบ่อนทำลายผลประโยชน์ของอเมริกาด้วยการจำกัดการดำเนินงานของบรรษัทข้ามชาติ และยกตัวอย่างห้างล็อตเต้ของเกาหลีใต้ที่ขายที่ดินให้รัฐบาลเกาหลีใต้เพื่อใช้เป็นสถานที่ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ “ทาด” ของอเมริกา โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากผู้นำจีน จึงถูกปักกิ่งตอบโต้ด้วยการปิดซูเปอร์มาร์เก็ต 99 แห่งและช่องทางขายอื่นๆ ในจีน
แม้ในภายหลังโซลและปักกิ่งปรับความเข้าใจกันแล้ว แต่ข่าวระบุว่า ล็อตเต้ถอดใจและกำลังพยายามขายกิจการซูเปอร์มาร์เก็ตในจีน
ยูเรเซีย กรุ๊ปสำทับว่า ขณะนี้มีข่าวว่า จีนชะลอการอนุมัติใบอนุญาตบางประเภทให้บริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจในแดนมังกร
อาวุธทางการเงิน
นักวิจารณ์หลายคนของจีนมองว่า ปักกิ่งยังมีอาวุธทางการเงินแม้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของจีนเองก็ตาม
อาวุธเหล่านั้นรวมถึงการที่จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หากเทขายในมูลค่าที่จะกระทบต่อต้นทุนการชำระหนี้ของอเมริกา จีนก็อาจขาดทุนไปด้วย นอกจากนี้จีนยังมีทางเลือกไม่มากนักสำหรับการจัดเก็บทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากมายมหาศาลขนาดนั้น
ปักกิ่งยังอาจขัดขวางการลงทุนของอเมริกาในจีน แต่นั่นก็อาจทำให้มูลค่าการลงทุนลดลง สวนทางกับความต้องการของผู้นำจีน
ผู้คุมกฎจีนอาจเลือกวิธีลดค่าเงินหยวน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมผู้ส่งออกจีนและทำให้สินค้านำเข้าจากอเมริการาคาแพงขึ้น แต่วิธีนี้อาจนำมาซึ่งต้นทุนทางการเมืองเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าอื่นๆ ด้วย และทำให้ปักกิ่งถูกมองว่า สะเพร่าและอาจทำให้ตลาดการเงินไร้เสถียรภาพ
กดดันทางการทูต
ปักกิ่งอาจขอการสนับสนุนจากพันธมิตรของอเมริกาที่ไม่พอใจแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ และการที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน รวมทั้งความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)
การดำเนินการฝ่ายเดียวของทรัมป์ทำให้จีนสามารถวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้ปกป้องการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยให้ปักกิ่งเอาชนะใจประเทศอื่นๆ ที่วิจารณ์ทรัมป์ว่า ไม่ยอมเล่นตามกฎกติกาขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)
แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวระหว่างเยือนปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนเป็นเสาหลักของระบบการค้าโลก และยูเอ็นต้องการร่วมมือกับจีนอย่างเต็มที่
ปักกิ่งยังมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนจากบริษัทและกลุ่มธุรกิจอเมริกันที่วิจารณ์แนวทางของทรัมป์ และสนับสนุนหลักการโลกาภิวัตน์
นักวิจารณ์หลายคนของจีนแนะนำให้ปักกิ่งขัดขวางกระบวนการทางการทูตที่มุ่งจัดการกับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธเกาหลีเหนือ แต่นักวิเคราะห์ท้วงว่า อาจกระทบต่อภารกิจสำคัญที่ผู้นำจีนกำหนดไว้