เอพี/เอเจนซีส์ – มัลคอม เทิร์นบูล นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แถลงล่าสุดวันนี้(3 พ.ค)ว่า ภรรยา ลูซี เทิร์นบูล วัย 38 ปี รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างมากที่ถูกประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานุแอล มาครง เรียกขานเธอว่า “ภรรยาสุดอร่อย” หรือ The Delicious Wife” ในระหว่างการกล่าวขอบคุณที่ผู้นำออสเตรเลียและภรรยาเป็นเจ้าภาพต้อนรับการเยือนอย่างเป็นทางการ สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วถึงคำเรียกขาน
เอพีรายงานวันนี้(3 พ.ค)ว่า ผู้นำฝรั่งเศสสร้างเสียงฮือฮาไปทั่วในวันพุธ(2) ในคำกล่าวขอบคุณต่อนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย มัลคอม เทิร์นบูล ด้วยการเรียกภริยา ลูซี เทิร์นบูล วัย 38 ปีว่า “อร่อย” หรือ Delicious เกิดขึ้นที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย
“ผมขอขอบคุณในการต้อนรับของท่าน ขอขอบคุณทั้งตัวท่านและภรรยาที่สุดอร่อยของท่านสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น” มาครงกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่กำลังยืนฟังอยู่ข้างๆ
เอพีรายงานว่า ผู้นำออสเตรเลียไม่แสดงอาการหึงหวงให้ปรากฎในระหว่างการแถลงข่าววันพฤหัสบดี(3) โดยเทิร์นบูลได้เปิดเผยว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติที่ทางมาครงกล่าวชื่นชมในตัวภรรยา
“ลูซีรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก” เทิร์นบูลกล่าวและเสริมต่อว่า “เธอขอให้ผมช่วยเปิดเผยคำพูดของเธอว่า เธอรู้สึกว่าคำชื่นชมของประธานาธิบดีนั้นทั้งมีเสน่ห์ และเป็นที่น่าจดจำ”
นอกจากนี้เทิร์นบูลยังกล่าวต่อว่า “ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้นทำให้ทั้งออสเตรเลียหลงรัก เขาแน่นอนที่สุดที่สามารถเอาชนะพวกเราทุกคน และพวกเทิร์นบูลทุกคน” และชี้ว่า “นางเทิร์นบูลทั้งรู้สึกยินดีและถูกทำให้หลงรักไปพร้อมกันเหมือนกับพวกเราทุกคน”
เอพีชี้ว่า มีบางส่วนได้วิเคราะห์คำกล่าวของมาครง ซึ่งในภาษาฝรั่งเศส delicieux ที่ตรงกันกับภาษาอังกฤษ delicious นั้นสามารถถูกแปลได้ว่า ด้วยความปิติยินดี หรือ delightful
ทั้งนี้มาครงจะเสร็จสิ้นการเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการที่เมืองซิดนีย์ในวันพฤหัสบดี(3) และมีกำหนดจะเดินทางต่อไปยังนิวแคลิโดเนีย(New Caledonia) หรือ นูแวล-กาเลดอนี(Nouvelle-Calédonie) ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ที่กำลังจะมีการจัดการลงประชามติที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง เพื่อต้องการถามประชาชนบนเกาะว่า จะยังคงเป็นดินแดนของฝรั่งเศสต่อไป หรือจะประกาศอิสรภาพแยกตัวจากฝรั่งเศส
ด้านสำนักงานทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ในระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ มาครงจะไม่ให้คำแนะนำต่อประชามติที่จะเกิดขึ้น แต่เขาจะมอบเอกสารที่แสดงว่าดินแดนนูแวล-กาเลดอนีแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 1853 เอบีซีนิวส์ สื่อสหรัฐฯรายงาน
ซึ่งในแถลงการณ์ของสำนักงานทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสยังชี้ว่า การมอบเอกสารหลักฐานให้นั้นเป็นการส่งสัญญาณในบทสุดท้ายของช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคม แต่กระบวนการที่มีความมุ่งมั่นอย่างตั้งใจมายาวนานจะนำดินแดนนูแวล-กาเลดอนีไปสู่ “การตัดสินใจอย่างเป็นอิสระต่ออนาคตของตัวเอง” ในวันที่ 4 พ.ย
ทั้งนี้แถลงการณ์ทำเนียบผู้นำฝรั่งเศสได้อ้างอิงไปถึงระยะเวลาร่วม 30 ปีที่ทางดินแดนอาณานิคมแห่งนี้เตรียมการที่จะจบบทสุดท้ายของการเป็นดินแดนอาณานิคมของแดนน้ำหอม ซึ่งสื่อสหรัฐฯชี้ว่า การลงประชามติถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย
แต่อย่างไรผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า จากผลการเลือกตั้ง และผลโพลสำรวจที่ออกมาล่าสุด ดูเหมือนว่าประชาชนบนเกาะแห่งนี้จะเลือกที่อยู่กับฝรั่งเศสต่อไป