xs
xsm
sm
md
lg

มาครง-ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชำแหละสารพัดนโยบายทรัมป์ ฉะ “อเมริกาเฟิสต์” สวนทางโลกยุคใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีแอมมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ ณ อาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน วันพุธ (25 เม.ย.) </i>
เอเจนซีส์ - เพียงหนึ่งวันหลังภาพการต้อนรับชื่นมื่นปรากฏต่อสายตาชาวโลก ประธานาธิบดีแอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ก็ใช้โอกาสที่ขึ้นปราศรัยต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ท้าทายนโยบายสำคัญๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มจากเรียกร้องให้อเมริกามีส่วนร่วมกับโลกมากขึ้น ร่วมต่อสู้ภาวะโลกร้อน ยุติสงครามการค้า และสนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านต่อ

มาครง ปิดฉากการได้เป็นผู้นำต่างประเทศคนแรก ที่ทรัมป์เชื้อเชิญให้มาเยือนอเมริกาอย่างเป็นรัฐพิธีเต็มรูปแบบเป็นเวลา 3 วัน ด้วยการวิจารณ์หลักการโดดเดี่ยวตัวเองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการปราศรัยในคองเกรสวันพุธ (25 เม.ย.)

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า การมีส่วนร่วมในประชาคมโลกของอเมริกา เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และการที่ทรัมป์ต่อต้านข้อตกลงโลกร้อน รวมทั้งข้อตกลงการค้าพหุภาคี นับเป็นการมองการณ์แบบระยะสั้นเท่านั้น

ที่ผ่านมา ทรัมป์ขู่ฉีกข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ สบประมาทสหประชาชาติ กล่าวหาประเทศพันธมิตรว่าไม่ร่วมรับภาระด้านความมั่นคง ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเพื่อลดโลกร้อน และรังเกียจการเสวนากับสถาบันระหว่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป

ผู้นำแดนน้ำหอมกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับทรัมป์ในขณะที่ผู้นำหลายชาติในยุโรปพยายามรักษาระยะห่าง ระหว่างการเยือนครั้งนี้ ทั้งคู่จับมือลูบหลังลูบไหล่กันหลายครั้ง

แต่เมื่ออยู่ต่อหน้ารัฐสภาอันทรงเกียรติของสหรัฐฯ มาครงกลับท้าทายประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันโดยไม่เอ่ยชื่อตรงๆ ทั้งเรื่องการกีดกันการค้าและแนวทางชาตินิยม “อเมริกาต้องมาก่อน” พร้อมสำทับว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในยุคสมัยใหม่ต้องการการร่วมรับผิดชอบระดับโลกที่อิงกับระบบพหุภาคีสายพันธุ์ใหม่

เขายอมรับว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่าง 6 ชาติมหาอำนาจกับอิหร่านที่ตกลงกันในปี 2015 ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ชาติภาคีจำเป็นต้องยึดมั่นต่อไปจนกระทั่งมีข้อตกลงใหม่ที่ดีกว่ามาแทน

ทรัมป์นั้นขู่หลายครั้งว่า จะถอนตัวจากข้อตกลงนี้โดยจะประกาศการตัดสินใจในวันที่ 12 พฤษภาคมว่า จะนำมาตรการแซงก์ชันกลับมาใช้กับเตหะรานหรือไม่ อันจะถือเป็นขั้นตอนแรกในการยุติข้อตกลง

มาครงกล่าวถึงเรื่องนี้ภายหลังการปราศรัยว่า โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะถอนตัวจากข้อตกลงนี้ด้วยเหตุผลภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ในระหว่างกล่าวกับสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เขาสำทับว่า เชื่อมั่นว่า ที่สุดแล้วอเมริกาจะกลับมาสนับสนุนข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน “เพื่อทำให้โลกยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ซึ่งพาดพิงถึงนโยบายของทรัมป์ในการฟื้นความยิ่งใหญ่ของอเมริกา

การปราศรัยของมาครงเรียกเสียงปรบมือดังสนั่นหลายครั้งโดยเฉพาะจากสมาชิกพรรคเดโมแครต เช่น ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเดโมแครตในวุฒิสภา ที่บอกว่า การเรียกร้องให้อเมริกามีส่วนร่วมกับโลกของมาครงมาถูกจังหวะเวลาอย่างมาก

ขณะที่เควิน แมกคาร์ธี ผู้นำเสียงข้างมากของรีพับลิกัน ไม่คิดว่า มาครงตำหนิทรัมป์ ส่วนทำเนียบขาวยังไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ ต่อการปราศรัยของผู้นำฝรั่งเศส

การเยือนวอชิงตันของมาครงยังมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ทรัมป์ยกเว้นการเก็บภาษีเหล็กกล้าและอลูมิเนียมกับยุโรป รวมถึงกล่อมให้อเมริกาคงทหารไว้ในซีเรีย

ในเดือนนี้ฝรั่งเศสได้ร่วมกับอเมริกาและอังกฤษโจมตีทางอากาศเพื่อ “สั่งสอน” ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรียที่ถูกฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่า ใช้อาวุธเคมีโจมตีประชาชนของตัวเอง

แต่ไฮไลต์ของการเยือนครั้งนี้คือข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โดยมาครงและทรัมป์เห็นพ้องว่า ต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดขึ้นในการควบคุมเตหะราน ติดที่ว่า ผู้นำสหรัฐฯ ไม่รับปากว่า จะสนับสนุนข้อตกลงต่อ ซ้ำขู่ตอบโต้ถ้าอิหร่านฟื้นโครงการนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่

ด้านมาครงกำลังพยายามหาแนวทางใหม่เพื่อโน้มน้าวให้ยุโรปและอเมริกาเห็นด้วยในการจัดการกับกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านหลังปี 2025 รวมทั้งหาทางออกทางการเมืองเพื่อจำกัดบทบาทของอิหร่านในเยเมน ซีเรีย อิรัก และเลบานอน โดยยืนยันว่า ฝรั่งเศสยังมุ่งมั่นกับเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งขณะนี้และในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น