xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่านกร้าวไม่ยอมทำข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ หลัง “ทรัมป์-มาครง” ออกมาเรียกร้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ขณะไปกล่าวปราศรัยที่เมืองตาบริซ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันพุธ (25 เม.ย.) </i>
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ออกมาแถลงในวันพุธ (25 เม.ย.) ปฏิเสธความพยายามของพวกมหาอำนาจตะวันตกที่จะเขียนข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ทั้งนี้ภายหลังผู้นำของสหรัฐฯ และฝรั่งเศสเรียกร้องให้จัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ที่จะมีเนื้อหาครอบคลุมโครงการขีปนาวุธของเตหะราน ตลอดจนเรื่องที่อิหร่านแทรกแซงกิจการของชาติต่างๆ ในตะวันออกกลาง

“เรามีข้อตกลงที่เรียกว่า JCPOA อยู่แล้ว” รูฮานีระบุในการกล่าวปราศรัยอันเผ็ดร้อน โดยใช้ชื่อทางเทคนิคของข้อตกลงฉบับปี 2015 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่อิหร่านยอมตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตนลงเพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนคลายมาตรการแซงก์ชั่นของยูเอ็นและฝ่ายตะวันตก

“ข้อตกลงนี้ต้องดำรงคงอยู่หรือไม่ก็เลิกไปเลย ถ้า JCPOA ยังดำรงคงอยู่ มันก็ต้องคงอยู่อย่างสมบูรณ์ทั้งฉบับ” เขาย้ำ

รูฮานีกำลังตอบโต้คำแถลงจากกรุงวอชิงตันในวันอังคาร (24) ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯกับประธานาธิบดีแอมมานูแอล มาครง เสนอให้จัดทำข้อตกลงใหม่ฉบับหนึ่งที่จะมีเนื้อหาจำกัดเข้มงวดต่ออิหร่านยิ่งขึ้นกว่า JCPOA ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ซึ่งยังคงไม่รับปากว่าจะรักษาข้อตกลงปี 2015 เอาไว้หรือไม่ ยังขู่จะตอบโต้หากอิหร่านรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง

ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับผู้นำฝรั่งเศสที่ไปเยือน ทรัมป์ ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงปี 2015 ที่อิหร่านทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจทั้ง 6 ซึ่งตนเห็นว่าไม่สามารถยับยั้งการแผ่อิทธิพลในตะวันออกกลาง หรือโครงการขีปนาวุธของเตหะรานได้

“มันคือข้อตกลงแย่ๆ ที่มีพื้นฐานง่อนแง่น... และมีแต่จะพัง”

ผู้นำสหรัฐฯ จะต้องตัดสินใจภายในวันที่ 12 พ.ค. ว่าจะฟื้นมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งหรือไม่

มาครง ระบุว่า ตนได้คุยกับ ทรัมป์ เกี่ยวกับ “ข้อตกลงใหม่” ซึ่งสหรัฐฯ และยุโรปจะร่วมกันแก้ไขข้อกังวลต่างๆ เกี่ยวกับอิหร่านที่นอกเหนือไปจากโครงการนิวเคลียร์

ผู้นำฝรั่งเศสซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ แบบรัฐพิธีเต็มขั้นเป็นเวลา 3 วัน หวังที่จะใช้โอกาสนี้ปกป้องข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ซึ่งตะวันตกยังเชื่อว่าเป็นกลไกที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เตหะรานครอบครองระเบิดนิวเคลียร์และจุดชนวนการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลาง

มาครง ยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯ และยุโรปปิดกั้นกิจกรรมนิวเคลียร์อิหร่านทุกรูปแบบจนกระทั่งถึงปี 2025 และหลังจากนั้นก็ให้ครอบคลุมไปถึงการควบคุมโครงการพัฒนาขีปนาวุธ และการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่กลไกการเมืองที่จะยับยั้งอิทธิพลของอิหร่านในเยเมน ซีเรีย อิรัก และเลบานอน
<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีแอมมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศส โพสท่าให้ถ่ายภาพแสดงออกถึงความสนิทสนมรู้ใจกัน ระหว่างร่วมกันแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันวันอังคาร (24 เม.ย.) </i>
ยังไม่ชัดเจนว่า มาครง ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการโน้มน้าว ทรัมป์ ไม่ให้ถอนตัวจากข้อตกลงปี 2015 ขณะที่ ทรัมป์ ประกาศกร้าวว่าหากอิหร่านรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์อีกครั้งก็จะต้องถูกตอบโต้อย่างสาสม

“ถ้าอิหร่านข่มขู่เราด้วยวิธีการใดก็ตาม พวกเขาจะต้องจ่ายราคาแพงชนิดที่แทบไม่มีประเทศใดเคยจ่ายมาก่อน” ทรัมป์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสคนหนึ่งระบุว่า “สิ่งที่สำคัญและเป็นเรื่องใหม่สำหรับเช้าวันนี้ก็คือ ประธานาธิบดีทรัมป์ เห็นด้วยกับแนวคิดในการทำข้อตกลงใหม่ ซึ่งควรถูกเสนอและดำเนินการร่วมกับฝ่ายอิหร่าน”

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าอนาคตของข้อตกลงปี 2015 จะเป็นอย่างไร และประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เช่น จีน และรัสเซียจะเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมอิหร่านที่รุนแรงกว่าเดิมหรือไม่

แหล่งข่าวซึ่งทราบเรื่องการเจรจาภายในทำเนียบขาว ระบุว่า ทรัมป์ กับ มาครง ได้พูดคุยถึงการให้เวลายุโรปปรับปรุงเงื่อนไขข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านฉบับเดิมให้เข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น

รัฐบาลอิหร่านประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะฟื้นโครงการนิวเคลียร์ทันทีหากข้อตกลงปี 2015 ล่มสลาย ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสอิหร่านคนหนึ่งออกมาขู่เมื่อวันอังคาร (24) ว่า เตหะรานอาจตัดสินใจถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยหาก ทรัมป์ เป็นฝ่ายฉีกข้อตกลงก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่าง ทรัมป์ และ มาครง ค่อนข้างอบอุ่นเมื่อเทียบกับผู้นำยุโรปอีกหลายประเทศซึ่งเลือกที่จะปลีกตัวออกห่างผู้นำสหรัฐฯ รายนี้

มาครง ในวัย 40 ปี ยังหวังที่จะใช้มิตรภาพเป็นกุญแจผลักดันความก้าวหน้า ไม่เฉพาะเรื่องอิหร่าน แต่ยังรวมถึงการขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นยุโรปจากมาตรการรีดภาษีนำเข้าเหล็กกล้า และปกป้องข้อตกลงภูมิอากาศปารีสปี 2016

ทั้งสองยังได้พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรีย หลังจากที่สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสได้ลงมือโจมตีทางอากาศถล่มศูนย์วิจัยและคลังแสงเคมีของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เมื่อวันที่ 13 เม.ย. เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าพลเรือน

ทรัมป์ ต้องการถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากซีเรีย และเชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ส่วนใหญ่พ่ายแพ้ไปหมดแล้ว ทว่า มาครง กับชาติพันธมิตรอื่นๆ แย้งว่ายังสมควรคงทหารเอาไว้อีกสักระยะเพื่อให้มั่นใจว่านักรบญิฮาดจะไม่ฟื้นคืนชีพ และป้องปรามการแผ่อิทธิพลของอิหร่านไปด้วยในตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น