xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ภารกิจที่ “ไม่ลุล่วง” ของสหรัฐฯ จากปฏิบัติการโจมตีซีเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท้องฟ้าเหนือกรุงดามัสกัสสว่างวาบด้วยแสงจากขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศที่สหรัฐฯ ใช้ถล่มเป้าหมายหลายแห่งในเมืองหลวงซีเรีย เมื่อช่วงกลางดึกของวันเสาร์ที่ 14 เม.ย.
หลังใช้เวลาทบทวนอยู่นานหลายวัน สหรัฐอเมริกาตัดสินใจหยิบยื่นบทลงโทษครั้งใหญ่ต่อซีเรียในค่ำคืนวันศุกร์ที่ 13 เม.ย. โทษฐานใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือนเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนหน้า กองกำลังสหรัฐฯ ร่วมมือกับอังกฤษและฝรั่งเศสสาดขีปนาวุธกว่า 100 ลูกถล่มฐานที่มั่น 3 แห่งของระบอบ บาชาร์ อัล-อัสซาด ก่อนจะออกมาอ้างว่าผลการโจมตีครั้งนี้ทำให้สมรรถนะในการใช้อาวุธเคมีซีเรียลดลงอย่างมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อระบอบอัสซาดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ฝ่ายตะวันตกเคยทำมา แต่หากวัดกันที่ผลลัพธ์ก็แทบไม่ต่างอะไรกับคำสั่งโจมตีฐานทัพซีเรียเมื่อ 1 ปีก่อนที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าทำเพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีเช่นกัน และเป็นการโจมตีแบบที่เรียกว่าจบแล้วจบเลย ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อสถานการณ์ในซีเรีย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายตะวันตกอ้างว่า การโจมตีโดยใช้ขีปนาวุธจำนวน 105 ลูกครั้งนี้มีเป้าหมายที่สำคัญคือ ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งในเขตบาร์เซห์ (Barzeh) ของกรุงดามัสกัส และอาคารสถานที่อีก 2 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองฮอมส์ (Homs) และผลการโจมตีครั้งนี้ทำให้สมรรถนะทางด้านอาวุธเคมีของ อัสซาด กลายเป็นอัมพาต ส่วนตัว ทรัมป์ เองก็ได้ทวีตถ้อยคำสั้นๆ ว่า “ภารกิจลุล่วง” (Mission Accomplished) ซึ่งเป็นวลีดังที่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยใช้ตอนที่สั่งให้ทหารอเมริกันบุกอิรักเมื่อปี 2003

สถานการณ์วุ่นวายที่ตามมาทำให้วลีดังกล่าวกลายเป็นเหมือนคำต้องห้ามสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หวังจะช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และยิ่งน่ากระอักกระอ่วนที่ ทรัมป์ เลือกใช้วลีนี้อีกครั้ง ทั้งที่ยังมองไม่เห็นความสำเร็จใดๆ จากปฏิบัติการโจมตีซีเรียครั้งล่าสุด

ภารกิจแบบ “ล็อกเป้าหมาย” ของสหรัฐฯ ทำลายอะไรไปได้บ้างยังคงเป็นที่ถกเถียง รายงานบางกระแสบอกว่าศักยภาพในการใช้อาวุธเคมีของ อัสซาด ไม่ได้ถูกบั่นทอนเลยแม้แต่น้อย และเช้าวันต่อมา (14 เม.ย.) กลุ่มผู้สนับสนุน อัสซาด ก็ยังออกมาชุมนุมบนท้องถนนใจกลางกรุงดามัสกัส พร้อมโบกสะบัดธงชาติและชูภาพถ่ายผู้นำที่พวกเขาเคารพรักเหมือนเดิม

ลิซ สไล ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษของวอชิงตันโพสต์ชี้ว่า ปฏิบัติการของสหรัฐฯ ถูกตีความว่าเป็นชัยชนะของอัสซาด เพราะการจู่โจมแบบจำกัดเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่ามหาอำนาจตะวันตกไม่มีเจตนาที่จะท้าทายอำนาจปกครองของเขาโดยตรง

หลังถูกตะวันตกยิงถล่มเพียง 2 วัน กองทัพซีเรียก็ประกาศในวันอาทิตย์ (15 เม.ย.) ว่าสามารถยึดเขตกูตาตะวันออก (Eastern Ghouta) ใกล้กรุงดามัสกัสไว้ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว พื้นที่แถบนี้เคยเป็นเขตอิทธิพลของกบฏที่ถูกกองทัพอัสซาดปิดล้อมมานานหลายปี และเป็นจุดที่อ้างว่ามีการใช้อาวุธเคมีหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย และสหรัฐฯ ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีทางอากาศ

รายงานระบุว่า นักรบกบฏที่หลงเหลืออยู่ตัดสินใจวางอาวุธ และยอมอพยพออกจากพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ซีเรียประกาศว่ากูตาตะวันออก “ปลอดจากผู้ก่อการร้ายอย่างสมบูรณ์แบบ”

แทนที่ อัสซาด จะเป็นฝ่ายเดือดร้อน ผู้ที่นั่งไม่ติดตลอดสุดสัปดาห์ที่แล้วกลับกลายเป็น ทรัมป์ ทั้งเรื่องทนายส่วนตัวที่ถูกอัยการพิเศษ โรเบิร์ต มุลเลอร์ สอบสวน รวมถึงการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ “A Higher Loyalty” ของ เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อทีวีสหรัฐฯ ว่า ทรัมป์ นั้น “ศีลธรรมบกพร่อง” ไม่คู่ควรกับตำแหน่งประธานาธิบดี อีกทั้งยังแฉเรื่องที่ประมุขทำเนียบขาวเคยมั่วกับโสเภณีรัสเซียระหว่างเดินทางไปมอสโกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จนอาจตกเป็นเหยื่อการแบล็กเมล์ของรัฐบาลรัสเซีย
เรือลาดตระเวน ยูเอสเอส มอนเทอเรย์ (CG 61) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยิงจรวดโทมาฮอว์กเข้าโจมตีเป้าหมายในซีเรียเมื่อกลางดึกของวันเสาร์ที่ 14 เม.ย.
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจโจมตีซีเรียแบบสายฟ้าแลบก็ช่วยกลบกระแสข่าวฉาวของ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ ไปได้บ้าง และยังแสดงให้เห็นว่าเขานั้นแตกต่างจากอดีตผู้นำคนก่อนอย่าง บารัค โอบามา ที่ไม่กล้าใช้ปฏิบัติการทางทหารลงโทษ อัสซาด ตรงๆ หลังจากที่มีการใช้อาวุธเคมีสังหารพลเรือนเมื่อปี 2013

คนวงในทำเนียบขาวเผยกับผู้สื่อข่าววอชิงตันโพสต์ว่า ทรัมป์ เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ซีเรียบานปลายมาถึงขั้นนี้ก็เพราะ โอบามา “ไม่เคยขีดเส้นแดง” ให้ อัสซาด เกรงกลัว

แม้ ทรัมป์ จะอุตส่าห์ยกเลิกแผนเยือนละตินอเมริกาเพื่ออยู่ปฏิบัติหน้าที่ “ผู้บัญชาการสูงสุด” ในช่วงที่มีการโจมตีซีเรีย แต่การที่เขามัวแต่ทวีตข้อความตอบโต้บทสัมภาษณ์ของ โคมีย์ ในวันอาทิตย์ (15 เม.ย.) รวมถึงผลลัพธ์ของการโจมตีที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทรัมป์ นั้นขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อปัญหาซีเรีย และสหรัฐฯ อาจเป็นฝ่ายตกที่นั่งลำบากหาก อัสซาด ยังกล้าที่จะนำก๊าซพิษทำลายประสาทหรืออาวุธต้องห้ามอื่นๆ ออกมาใช้อีก

เกร็ก แจฟฟ์ ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของวอชิงตันโพสต์ ชี้ว่า “หากการโจมตีแบบจำกัดของสหรัฐฯ และพันธมิตรไม่ได้ทำให้ อัสซาด เข็ดขยาด ที่จะนำอาวุธเคมีออกมาใช้ ทรัมป์จะต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบาก ถ้าเขาเลือกที่จะยกระดับการโจมตี ก็เท่ากับดึงกองทัพสหรัฐฯ เข้าไปถลำลึกกับสงครามซีเรียซึ่งตัวเขาเองเพิ่งจะประกาศหยกๆ ว่าต้องการถอนตัว แต่หากไม่ตอบโต้อะไรเลย ก็จะถูกมองว่าอ่อนแอ”

โอบามา ซึ่งเคยตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้เลือกที่จะทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ติดอาวุธและสนับสนุนกบฏซีเรียให้สู้รบกับ อัสซาด เอง โดยไม่นำกองทัพสหรัฐฯ เข้าไปพัวพันมากเกินไป ขณะที่ ทรัมป์ นั้นต้องการเลิกหนุนหลังพวกกบฏและมีแผนถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากซีเรีย แม้จะแสดงความกระตือรือร้นที่จะโจมตีคลังแสงเคมีของ อัสซาด เมื่อวันศุกร์ (13) ทว่าลึกๆ แล้ว ทรัมป์ ก็ไม่ได้มีแผนที่จะให้กองทัพสหรัฐฯ ใช้กำลังปิดฉากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี

อาเหม็ด พรีโม นักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองกาเซียนเท็ปของตุรกี ออกมาแสดงท่าทีผิดหวังต่อบทลงโทษที่เบาบางของสหรัฐฯ

“เราหวังว่าอเมริกาจะตอบโต้รุนแรงกว่านี้มาก... อัสซาด อาจใช้อาวุธเคมีจริงในคราวนี้ แต่เขาก็เข่นฆ่าประชาชนแบบไม่เลือกมาหลายปีแล้ว ผู้คนเป็นหมื่นเป็นแสนต้องล้มตายและสูญหาย หลังจากสงครามยืดเยื้อมา 7 ปี เราไม่หวังแล้วว่าจะมีใครเข้ามาช่วยเหลือชาวซีเรีย”
ประชาชนในกรุงดามัสกัสของซีเรียออกมาเดินขบวนโบกธงชาติ และชูป้ายสนับสนุนประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เมื่อวันที่ 16 เม.ย.


กำลังโหลดความคิดเห็น